--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภารกิจด่วนภายในหนึ่งปี !!?

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย วีรพงษ์ รามางกูร

อยู่ ๆ ก็ต้องกลับมาทำงานหลวงอีก ทั้ง ๆ ที่เว้นว่างมาหลายปี หลังจากต้องเข้าไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ซึ่งก่อขึ้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายนายกรัฐมนตรี ลาออกก็เป็นอันพ้นหน้าที่

มาครั้งนี้ เกิดภาวะน้ำท่วมภาคกลางของประเทศไทยอย่างหนัก นั่งดูภาพทางโทรทัศน์นาน ๆ เข้าก็รู้สึกเครียด มีอารมณ์ร่วมกับประชาชนที่ถูกน้ำท่วม เพราะเคยมีประสบการณ์คราวเมื่อเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ไปจนถึงวันเฉลิมฯจึงค่อยยังชั่ว ไปไหนมาไหนพอได้ ที่แห้งจริง ๆ ก็วันขึ้นปีใหม่

เมื่อนายกรัฐมนตรีเอ่ยปากขอให้ช่วยกันฟื้นฟูบ้านเมือง ฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตอบรับทันทีโดยไม่รีรอ รับทำงานให้ด้วยความเต็มใจ เพราะเห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน ของประเทศชาติ เคยให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่าถ้าไม่รับก็คงจะใจดำกับประเทศชาติเกินไป

เมื่อรับแล้วก็ต้องตั้งใจทำงานเต็มที่ หลายคนบอกว่าจะมีปัญหาอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง ก็บอกไปว่าทำงานก็ต้องมีปัญหา ปัญหานั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ ให้หนี ปัญหานั้นเกิดจากมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์ก็ต้องแก้ปัญหาได้ ท่านนายกฯชาติชายจึงบอกว่า "ไม่มีปัญหา" หรือ "No Problem" เมื่อนักข่าวไปถามว่า จะมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่

เมื่อได้รับมอบหมายแล้วก็ต้องรีบทำการศึกษา ทำความเข้าใจภายในเวลาจำกัด เพราะได้ประกาศให้สัญญากับประชาชนไปแล้วว่า ปีหน้าแม้ฝนจะตกหนักเช่นปีนี้ น้ำก็จะต้องไม่ท่วมอย่างสาหัสสากรรจŒอย่างนี้

เป็นหมากบังคับว่า ภารกิจแรกก็คือ ต้องดำเนินการป้องกันอย่างสุดความสามารถตามหลักวิชาการ ไม่ให้น้ำท่วมอย่างปีนี้อีก

มีคนถามว่าจะทำอย่างไรกับเวลาแค่ 9 เดือน 10 เดือน ในช่วงเวลาอันสั้น ๆ นี้ ก็คงจะต้องใช้ของเดิมที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ระบบที่มีอยู่ที่ได้ลงทุนทำเพื่อป้องกันน้ำท่วมมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่หลังน้ำท่วมปี 2526 และปี 2538

เริ่มต้นจากการเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ต่อไปนี้ต้องยอมรับว่าภูมิอากาศมีความแปรปรวนมากกว่าแต่ก่อนมาก แม้แต่ประธานบริษัท Lloyd of London หรือ ลอยด์แห่งลอนดอน ซึ่งได้พบกันเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เขาก็บอกว่าบริษัทลอยด์และบริษัทประกันภัยทั่วโลกต้องทบทวนเรื่องภัยธรรมชาติเสียใหม่ เพราะน้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว สึนามิ ทุกอย่างเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นเมื่อทั่วโลกเขายอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เราก็คงต้องยอมรับเช่นกัน

เมื่อยอมรับในเรื่องภูมิอากาศ ทัศนคติของหน่วยงานทั้งของรัฐบาลและของเอกชนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือเมื่อก่อนกรมชลประทานก็ดี องค์การบริหารราชการส่วนภูมิภาคก็ดี หรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ดี มีแนวโน้มที่จะคิดหาน้ำหรือเก็บกักน้ำไว้ให้เกษตรกร อุตสาหกรรม ไฟฟ้า มีน้ำไว้ใช้เพาะปลูก มีน้ำไว้เดินเครื่องจักรหรือปั่นไฟ เพราะโดยปกติปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ในเรื่องต่าง ๆ ตลอดทั้งปีจะมีปริมาณสูงกว่าปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ได้ เคยได้ยินว่าเรากักเก็บไว้ได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น อีก 80 เปอร์เซ็นต์เราปล่อยลงทะเล ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทัศนคติจึงมีแนวโน้มไปในทางกักเก็บน้ำมากกว่าระบายน้ำ

บัดนี้ ถ้าภูมิอากาศเปลี่ยนไป มีแล้ง มีท่วมถี่ขึ้น ทัศนคติต้องเปลี่ยนจากการหาน้ำกักเก็บน้ำมาเป็นการ "บริหารน้ำ" ให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณทั้งที่ไหลลงมาจากทางเหนือกับการกักเก็บน้ำและระบายลงทะเล การจัดการกับปริมาณน้ำในแต่ละสัปดาห์ ในแต่ละเดือน การเมืองจะเข้ามายุ่งไม่ได้ ทำอย่างไรไม่ให้การเมืองเข้ามายุ่งก็คงต้องมีองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการอิสระตัดสินใจและต้องอิสระจริง ๆ

หลังจากนั้นในเวลาอันจำกัด งานขุดลอก คู คลอง หนอง บึง ต้องรีบระดมกันทำอย่างรีบเร่ง เพราะระบบที่มีอยู่ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทุ่งช้าง เรื่องระบบป้องกัน น้ำท่วมค่อนข้างสมบูรณ์ จะขาดก็แต่ทางระบายน้ำท่วม หรือ Floodway ลงทะเลเท่านั้นที่ยังไม่ได้ทำ

ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์เต็มที่ ก็เพราะเราละเลย ไม่ได้ดูแลขุดลอก ห้วยหนองคลองบึงที่ขุดไว้เป็นระบบในฤดูแล้ง เต็มไปด้วยวัชพืชขยะ ที่คลองบางซื่อน้ำไม่ไหลมาให้สูบออก เพราะพบที่นอนฟูก 6 หลังขยะมูลฝอยมาอุดตันคูคลองอยู่เต็ม

คลองหลักฝั่งต่าง ๆ ตั้งแต่อยุธยา เช่น ระบบคลองรังสิต คลองรพีพัฒน์ คลองหกวา คลองสามวา ควรจะขุดลอก คันกั้นน้ำก็ควรต้องเสริมให้สูงขึ้นให้แข็งแรงขึ้น

ประตูน้ำต่าง ๆ ก็เก่าแก่ชำรุดทรุดโทรม อาจจะต้องรื้อทำใหม่ ประตูน้ำสำคัญ ๆ มีตาแก่คนเดียวคอยเปิดคอยปิดประตูน้ำ ในรอบหนึ่งวันก็จะมีน้ำขึ้น น้ำลง ถ้าเกิดช่วงน้ำลง 2 ชั่วโมงเป็นตอนดึก ถ้าคนเฝ้าประตูน้ำนอนหลับ แกก็ไม่เปิดประตูน้ำให้น้ำไหลลงแม่น้ำ จึงมีภาพเครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากที่ระดับสูงข้ามประตูน้ำไปที่ระดับต่ำกว่า

นอกจากนั้นคราวนี้ก็เห็นแล้วว่า พื้นที่ตรงไหนสูง ตรงไหนต่ำ น้ำท่วมสูงสุดระดับไหน คงไม่ต้องเสียเวลาทำวิจัย ออกแบบอะไรนัก ริมตลิ่ง ริมแม่น้ำคงต้องทำคันดิน ผนังซีเมนต์ตรงไหนทรุดก็ต้องเสริมขึ้นไป คันคูคงต้องเสริมขึ้นทั้งที่แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังโหว่อยู่ตั้งแต่ฝั่งกรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีก็คงต้องทำอย่างเร่งรีบ

เรื่องที่ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น ก็ควรจะได้มีการจัดตั้งขึ้น เพื่อจะได้มาตรการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนทั่วไปเป็นส่วนรวม ไม่ใช่ดีที่สุดสำหรับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งอย่างที่ทำกันในปีนี้

ทางด้านฝั่งธนบุรี หรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีคลองหลัก คือคลองมหาสวัสดิ์ คลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญ และคลองซอยและคลองสาขามากมาย แต่ไม่เป็นระบบเหมือนระบบคลองรังสิต คลองทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯและในจังหวัดสมุทรปราการ มาตรการเร่งด่วนก็คงเป็นเรื่องขุดลอก เก็บขยะวัชพืช เสริมคันดินให้สูงขึ้น หาทางส่งน้ำลงแม่น้ำท่าจีนให้เร็วขึ้น

น้ำท่วมเที่ยวนี้เห็นจุดอ่อนในเรื่องระบบการสูบน้ำ นอกจากไม่เพียงพอแล้ว หลายแห่งมีแต่หน้ากากตัวเครื่องสูบไม่มี บางแห่งภายในหน้ากากมีเครื่องสูบแต่เสียไม่ได้ซ่อมไว้ หลายแห่งเดินเครื่องจนเครื่องร้อนเพราะไม่ได้พักเครื่องจึงเสีย หลายแห่งพนักงานสูบน้ำไม่มีความรู้ เพราะจ้างชั่วคราวเอากับผู้ที่ปลูกบ้านรุกล้ำคูคลองลำน้ำ ถ้าสูบเต็มที่ก็กลัวจะท่วมบ้านตนเอง ก็เลยค่อย ๆ สูบ

ได้ยินว่ามีห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งแถวฝั่งธนบุรีสร้างขวางคลองอันเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้รื้อถอน ก็ยอมเสียค่าปรับเป็นรายวัน ไม่ยอมรื้อถอนเพราะค่าปรับรายวันถูกกว่าการรื้อถอนไปสร้างใหม่

บางที่กฎหมายต่าง ๆ อาจจะต้องทบทวนให้รัฐบาลกลางและรัฐบาล ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งการและดำเนินการรื้อถอนได้เลยโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล หากความผิดนั้นชัดแจ้งและสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงกับประชาชนโดยส่วนรวม การบังคับใช้กฎหมายไม่รู้จะทำอย่างไรให้มันกระฉับกระเฉงมากกว่านี้

ภายในเวลาอันสั้นนี้มีเรื่องหลายเรื่องที่จะต้องทำแข่งกับเวลาพร้อม ๆ กันไป ทั้งเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินและเรื่องที่ต้องลงทุนใช้เงิน ฐานะการเงินของประเทศมั่นคงเพียงพอที่จะทำได้ ไม่ลำบากอะไร

เครื่องสูบน้ำนั้นเดี๋ยวนี้เขาทำเป็นระบบ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เครื่องไหนร้อนต้องพัก เครื่องไหนเสีย เครื่องไหนถูกขยะ ถูกยางรถยนต์อุดตัน คอมพิวเตอร์จะบอกเสร็จ ประตูน้ำ ถ้าระดับน้ำในแม่น้ำต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง เพราะน้ำลง ประตูน้ำก็เปิดโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ต้องไปปลุกตาแก่ลูกจ้างชั่วคราวเดินมาเปิดให้น้ำไหลลงแม่น้ำ แล้วอีก 2 ชั่วโมงกลับมาปิด ประตูน้ำ เพราะน้ำในแม่น้ำสูงกว่าน้ำในคลองที่สำคัญต้องซื้อของที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เอาแต่ราคาถูกอย่างเดียว ต้องมีเครื่องสูบจริง ๆ ไม่ใช่มีแต่หน้ากากเหมือนอย่าง CCTV หรือกล้องวงจรปิด อุโมงค์ยักษ์ที่คุยนักคุยหนาคงต้องหาโอกาสไปเยี่ยมชม ทำอย่างไรจึงจะใช้งานได้เต็มที่ ดูเงียบ ๆ ไม่เหมือนตอนประมูลก่อสร้าง

สำหรับระยะยาวต้องลงทุนหลายอย่าง ในระยะจากนี้ไปถึง 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปีข้างหน้า ซึ่งมีงานศึกษาไว้หลายฉบับแล้ว อ่านดูก็มีแนวไปใน ทางเดียวกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน เมื่อจะ ตัดสินใจลงทุนก็คงต้องมีแผนหลัก หรือ master plan แล้วก็มีแผนรองแล้วแปลเป็นโครงการเปิดประมูล ถ้าเป็นไปได้เป็นการประมูลระหว่างประเทศ น่าจะได้ของดี ราคาเหมาะสม

ดูแล้วไม่ใช่เรื่องเหลือกำลัง อยู่ที่ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังและความกล้าหาญทางการเมือง พวกที่รุกล้ำแม่น้ำลำคลองที่สาธารณะ ผมพร้อมแอ่นหน้าอกรับกระสุน ขอให้ฝ่ายการเมืองเอาจริงก็แล้วกัน

ที่พูดอย่างนี้ได้ เพราะไม่ได้คิดจะเล่นการเมือง

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น