--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เพื่อไทยขยับแก้ปม รธน.50 สู่เกมเสี่ยง-สู้แนวต้านใน-นอกพรรค !!?


ปี 2555 จะเป็นปีแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินคู่กับขาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขยับไปพร้อมกับการออก พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ

เกมในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจึงร้อนแรง ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยไปถึงทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา

ทันทีที่เปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ การเปิดฉากเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจึงครึกโครม

เป็นเหตุผลให้บรรยากาศในห้องประชุมพรรคเพื่อไทยช่วงบ่ายวันที่ 20 ธันวาคมร้อนระอุดุเดือดเต็มไปด้วยการถกเถียง-อภิปราย

จนวงประชุมแตกเป็น 2 ก๊ก 2 เหล่า

ก๊ก 1 แห่ง "บ้านริมคอลง" มี "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรีเป็นแกนนำให้ชะลอดึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน ปะทะกับความคิดฝ่ายสีแดง มี "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" และ น.พ.เหวง โตจิราการ-พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ที่ยืนกรานว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่หาเสียงไว้

ทั้ง 2 ฝ่ายปะทะความคิดถึงระดับที่หัวขบวนแนวต้านขอคืนเก้าอี้รัฐมนตรี หากพรรคยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีต้องลงมาหย่าศึก

แม้เสียงส่วนใหญ่ในเพื่อไทยไม่สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปตามแนวทางของ "ร.ต.อ.เฉลิม"

แต่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิป) มีมติร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแก้ไข ทั้งฉบับ

โดยมอบหมายให้ "พีรพันธุ์ พาลุสุข" ส.ส.ยโสธร เป็นหัวหอกในการชี้แจงกับสาธารณะ และระดมนักกฎหมายเพื่อกำหนดร่างในการเฟ้นคุณสมบัติของ ส.ส.ร. 99 คนที่มาจาก 2 ส่วนคือ 1.เลือกตั้ง 77 คน 2.นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม 22 คน

ทั้งนี้ วัน-เวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกกำหนดไว้เป็นคู่มือในการขับเคลื่อนพรรคดังนี้

ปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ยื่นญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... (แก้ไขมาตรา 291 เพียงมาตราเดียว) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยต้นร่างอาจมีทั้งร่างที่มาจาก ครม. และร่างที่มาจากการเข้าชื่อกันของ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือ 130 คน และร่างที่มาจากการเข้าชื่อกันของภาคประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

กุมภาพันธ์ 2555 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ สมาชิกรัฐสภา หรือ 325 คน จากนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาพิจารณาเป็นรายมาตรา พร้อมกำหนดกรอบเวลาในการทำหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญ

ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน 2555 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 ซึ่งใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา จากนั้นทิ้งร่างไว้ 15 วันเพื่อขอความเห็นชอบในวาระที่ 3 ซึ่งต้องใช้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา

กระบวนการผ่านร่างแก้ไขมาตรา 291 ควรเสร็จก่อนปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในวันที่ 18 เมษายน แต่ถ้าดำเนินการไม่ทันรัฐบาลจะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เพื่อให้กระบวนการสรรหา ส.ส.ร. 3 เริ่มต้นได้

โดยตั้งธงว่า "99 อรหันต์" ที่จะเข้ามาเป็น "มือยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่" ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 77 คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 22 คน ต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2555

จากนั้นคาดว่าจะปล่อยให้ ส.ส.ร. 3 ทำหน้าที่ของตนไป ซึ่งหากเทียบเคียงเวลากับ ส.ส.ร.รุ่นพี่จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 เดือน

เมษายน-พฤษภาคม 2556 คาดว่า จะได้ต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พฤษภาคม-มิถุนายน 2556 เผยแพร่ร่างให้ประชาชนรับทราบก่อนจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

มิถุนายน 2556 นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับมติมหาชนกลับมาที่รัฐสภาเพื่อ รับทราบก่อนประธานรัฐสภาจะนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

หากไม่มีอุบัติเหตุการเมืองขัดขากันเองในพรรคเพื่อไทย ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ในช่วงกลางปี 2556

เพราะแนวร่วมในการแก้ไขรัฐธรรม นูญมีครบเครื่องทั้งมวลชนเสื้อแดง แนวร่วมเพื่อไทย และ 3 พรรคร่วมรัฐบาล

นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และทีมนักฎหมายประจำพรรค ที่ร่วมวง "มอร์นิ่งบรีฟ" เหตุผลและหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบบอกว่า หาก "เพื่อไทย" ยังชักช้า-รีรอ ไม่เริ่มเสนอแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญ 2550 ในที่สุดอาจถูกฝ่ายตรงข้ามรุมถล่มจนพ้นกระดานต้องตั้งหลักเลือกตั้งใหม่

"ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำอะไรก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเดินหน้าไปได้ ทุกเรื่อง ไม่มีอะไรต้องกลัว เกิดเรื่องก็ เกิดกัน เราไม่ได้สั่งฆ่าประชาชน ถ้าทหารยึดอำนาจเพราะแก้รัฐธรรมนูญ ยึดก็ให้ยึดไป เมื่อมีเลือกตั้งพรรค ประชาธิปัตย์ก็แพ้อีก พรรคเพื่อไทยต้องกล้า ๆ ทำเรื่องที่ควรทำ ถ้าปล่อยไว้โดนเชือดอีก"

คนในฝ่ายเพื่อไทยวิเคราะห์ด้วยว่า หากเกิดเหตุ จตุพร พรหมพันธุ์ ถูกพิพากษาพ้นจากการเป็น ส.ส. จากนั้นปัญหาจะลุกลามบานปลายโยงไปถึงขั้น "ยุบพรรคเพื่อไทย"

นอกจากนี้ ยังมีคดีที่พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหาว่าเป็นวาระของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" ในสำนวน "ซื้อสื่อ" เข้าข่ายทำผิดรัฐธรรมนูญ มีโทษถึงขั้น "ยุบพรรค" ค้างคาอยู่

ข้อเสนอของผู้มีบารมีในเพื่อไทยจึงต้องใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับแนวรบ แนวต้าน จากทั้งฝ่ายค้านประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย และฝ่ายอำมาตย์ แกนนำพรรคเพื่อไทยคำนวณว่า

"การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นการวัดดวงครั้งใหญ่ของบ้านเมือง เพราะไม่สามารถคาดการณ์ทำนายผลเรื่ององค์ประกอบ ส.ส.ร.ได้ว่าแต่ละคนจะ มีข้อเสนออะไร ในฝ่ายเพื่อไทย 20 เปอร์เซ็นต์อาจเป็นพวกที่คิดจะ แก้เพื่อทักษิณอย่างเดียว หรือไม่ให้มี ส.ว.เลย หรือให้นายกฯมาจากการเลือกตั้งทางตรง มีได้สารพัด"
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น