--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เดินหน้าแก้ไข ม.112 เปิดตัวทีมรณรงค์ล่ารายชื่อ 15 ม.ค.55..

คณะนิติราษฎร์เดินหน้าผลักดันแก้ไขมาตรา 112 วันที่ 15 ม.ค. นัดเปิดตัวคณะรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนยื่นร่างแก้ไขต่อสภา นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยินดีตอบทุกข้อซักถามเกี่ยวกับข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 พร้อมแจกคู่มือลบล้างผลพวงรัฐประหารให้ผู้สนใจ “ยิ่งลักษณ์” ย้ำไม่แทรกแซงแก้รัฐธรรมนูญ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ตัวแทนประชาชน ระบุหากฝ่ายการเมืองไม่ยุ่งไม่มีทางเกิดความขัดแย้ง “อภิสิทธิ์” จี้ถามเป้าหมายที่แท้จริงของความพยายามยกเลิกมาตรา 309 ทำเพื่ออะไร ชี้หากไม่อยากให้วุ่นวายต้องไม่แตกหมวดพระมหากษัตริย์

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ออกประกาศเชิญชวนผ่านเว็บไซต์ http://www.enlightened-jurists.com/ ให้เข้าร่วมกิจกรรมในเดือน ม.ค. 2555 ของคณะนิติราษฎร์ โดยระบุ ขอเรียนเชิญประชาชนผู้สนใจ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมทางวิชาการและการรณรงค์ที่เกี่ยวกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ในเดือน ม.ค. 2555 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีรายละเอียดของงานดังต่อไปนี้
วันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. 2555 การรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยจะเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 (ครก.112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ซึ่งจะมีกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก)

วันอาทิตย์ที่ 22 ม.ค. 2555 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี คณะ ร.ศ. 130 และโอกาสเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัตน์ 24 มิ.ย. 2475 เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” คณะนิติราษฎร์จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในงานมีการอภิปรายหัวข้อ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง” แนวคำถาม-คำตอบ เรื่อง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549” “โต้” ปฏิกิริยาที่มีต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และเผยแพร่คู่มือลบล้างผลพวงรัฐประหาร พร้อมข้อเสนอวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ งานเริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT 1) และห้องปรีดี เกษมทรัพย์ (LT 2) คณะนิติศาสตร์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าทำเพื่ออะไร มีวิธีการอย่างไร ซึ่งต้องไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรมล้างผิด

“ถ้าจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ไม่ควรพูดว่าจะแก้มาตราไหน เพราะต้องให้อิสระ ส.ส.ร. พิจารณา ยกเว้นบางหมวดที่เสี่ยงต่อความขัดแย้ง โดยเฉพาะหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ต้องพูดให้ชัดว่าไม่แก้”

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า เรื่องมาตรา 309 ส่วนตัวเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ไปแล้ว จบไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องของบทเฉพาะกาล ถ้าบอกว่ายังไม่จบก็จะมีคำถามตามออกมาอีกมากมาย

“ความจริงเรื่องมาตรา 309 เกิดขึ้นก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2550 คือเกิดหลังรัฐประหาร รัฐธรรมนูญนี้ผ่านการลงประชามติ หากเราบอกว่าไม่ยอมรับก็แสดงว่าไม่เคยมีรัฐธรรมนูญปี 2550 ถ้าเราบอกว่าอะไรที่มาจากรัฐประหารไม่ยอมรับ ซึ่งจะยุ่งขึ้นไปอีก”

นายอภิสิทธิ์ตั้งคำถามว่าความพยายามลบล้างผลพวงรัฐประหารความจริงต้องการลบล้างอะไร เท่าที่เห็นคือพยายามไปผูกโยงกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่เอาเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลสมัยนั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งบางเรื่องศาลก็ไม่ได้ตัดสินตรงกับมติของ คตส. อย่างคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพาราที่ คตส. บอกผิด แต่ศาลบอกไม่ผิด จึงควรเอาความจริงมาพูดกันดีกว่าว่ากำลังพยายามจะทำอะไร

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าสมควรทำเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติมา 14 ล้านเสียง

“ถ้าจะทำประชามติต้องทำหลังจากได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว หากไปทำก่อนก็เหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้กรอกตัวเลข จึงควรได้เนื้อหาที่สมบูรณ์ก่อนไปถามประชาชน”

นายเทพไทกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องดีที่พรรคเพื่อไทยประกาศไม่แก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และอยากให้ส่งสัญญาณนี้ไปยังมวลชนที่สนับสนุนด้วย เพราะคนเสื้อแดงยังเดินหน้ารณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ตลอดเวลา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะไม่ยุ่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปล่อยให้เป็นเรื่องของตัวแทนประชาชนเป็นผู้พิจารณาประเด็นแก้ไข เมื่อได้รายละเอียดแล้วต้องกลับไปถามประชาชนว่ารับหรือไม่ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชนอย่างแท้จริง

“การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกหากฝ่ายการเมืองไม่เข้าไปแทรกแซง ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนประชาชนและประชาชน”

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น