ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งของพม่าจะถูกจับตาว่าเป็นการลอกคราบจากรัฐบาลเผด็จการทหารสู่รัฐบาลพลเรือน ที่มีระบอบการปกครองในรูปแบบของประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยในกฎกติกาการจัดให้มีการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมาว่ามีความความบริสุทธิ์ ยุติธรรมเพียงใด? แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปประเทศของพม่าที่ใช้ได้ทีเดียว...
เกิดคำถามขึ้นมากมายในช่วงระยะเวลาหลังจากสิ้นสุดการถอดเครื่องแบบทหารลงสนามเลือกตั้งแล้ว?...ทั้งนางออง ซาน ซู จี เปิดแนวทางการเจรจากับรัฐบาลพม่าเพื่อป้องกันการคว่ำบาตรจากโลกฝ่ายตะวันตกที่ทำกับรัฐบาลพม่ามาหลายปี? เป็นเพราะนางซู จี เองคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่มากกว่าจะเกิดกับรัฐบาล หรือการดึงดันที่จะให้โลกตะวันตกคว่ำบาตรพม่าอย่างไรก็ไม่ได้ผล หรือเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในแบบโลกาภิวัตน์ที่วิ่งเข้าชนพม่าจนต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือนางซู จี ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า โดยอาจมีเงื่อนไขการปล่อยนักโทษการเมืองเพื่อสิทธิมนุษยชนแลกเปลี่ยน หรือจะเป็นเหตุผลอื่นๆที่อยู่เบื้องหลังการจับมือกันครั้งนี้?
การกักบริเวณนางซู จี ตามคำสั่งของรัฐบาลพม่า ก็ไม่เคยลดบทบาทสำคัญในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าเลย การปล่อยตัวนางซู จี ในฐานะที่เป็นนักสู้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2534 น่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของการเริ่มต้นประชาธิปไตยต่อจากการจัดให้มีการเลือกตั้งตามแบบอย่างของระบอบประชาธิปไตย
การที่รัฐบาลพยายามจูนคลื่นเข้าหานางซู จี และกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อประสานความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลง โดยการเจรจายุติการยิงของกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย สิ่งนี้ช่วยยืนยันได้ถึงการยุติสงครามภายในประเทศของรัฐต่างๆในพม่าที่จะแสดงถึงความมีเสถียรภาพของประเทศที่เป็นไปได้...ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าได้ผลไม่น้อย โดยดูได้จากการเดินทางมาเยือนของนานาชาติ และรัฐบาลพม่าให้บทบาทในการเจรจากับนางซู จี ทั้งสหรัฐ อียู จีน ไทย และล่าสุดนายโคอิจิโร เกมบะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางมายังดินแดนพม่าเพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศของพม่าและการเจรจาทางเศรษฐกิจ...ทั้งๆที่นางซู จี ไม่มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลเลย แม้กระทั่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหรัฐ หรืออียู สิ่งนั้นคืออะไร ทำไมถึงมีเสียงตอบรับจากรัฐบาลพม่า สหรัฐอเมริกาและนานาชาติเป็นอย่างดี?
เข้าใจได้ว่านี่คือก้าวย่างหนึ่งของประธิปไตยในพม่าที่พร้อมจะขับเคลื่อนตัวเองออกจากเงามืดของเผด็จการทหารเข้าสู่ประเทศประชาธิปไตยใหม่ และพร้อมที่จะเปิดรับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในทุกประเทศมหาอำนาจที่พยายามแผ่เข้ามายังพม่า...
นอกจากรัฐบาลพม่าจะเดินหมากด้านนางซู จี และการเจรจาเพื่อยุติการยิงแล้ว การเตรียมพรรคการเมืองใหม่ของนางซู จี เพื่อลงเลือกตั้งซ่อมยังเป็นอีกภาพลักษณ์ที่ช่วยสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพม่าได้...
ประชาธิปไตยของพม่าจึงยังเป็นสิ่งที่เคลือบแคลงสงสัยว่าจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หรือเป็นเพียงแผนการของนายพลตัน ฉ่วย กันแน่? ถ้าเป็นเพียงแค่การวางแผนของรัฐบาลทหารในคราบรัฐบาลพลเรือน ยังคงต้องมองต่อว่า นางซู จี จะยอมเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งเท่านั้นหรือ? หรือเป็นการแลกเปลี่ยนเงื่อนไขที่สามารถตกลงกันได้ ที่เรียกว่าผลประโยชน์ลงตัว...แล้วอะไรเล่าคือผลประโยชน์ที่เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพยอมตกลงด้วย?...
จะอย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเพียงหน้ากากประชาธิปไตยหรือจะเป็นประชาธิปไตยในระยะเริ่มต้น...หากเมื่อพม่าได้ลิ้มรสความเป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิและเสรีภาพแล้ว จะต้องมีก้าวที่มากกว่าอย่างแน่นอน...ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณจากนายพลตัน ฉ่วย ว่าหากอำนาจของรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมได้ พล.อ.มิน ออง หล่าย ก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงทุกเวลา! นี่ยังเป็นอีกสัญญาณที่รอวันปะทุ!
เมื่อพม่าเริ่มตื่นและพาตัวเองออกจากเงามืด แล้วนานาชาติกำลังให้ความสนใจด้วย เพราะปัจจัยหลายอย่างทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่ถือว่ายังอุดมสมบูรณ์ แรงงาน ค่าแรง ค่าขนส่ง ทุกอย่างเป็นของใหม่ที่นานาชาติพร้อมจะกระโจนเข้าหา รวมถึงแหล่งพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมหาศาล...
และหากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างพม่ากับนานาชาติเกิดขึ้นแล้ว จะสามารถพลิกพม่าให้เป็นประเทศที่น่าสนใจได้ไม่น้อย...ความน่ากลัวจะมาตกอยู่กับประเทศไทยเรา อีกหน่อยอาจมีแรงงานไทยไปขายแรงงานในพม่าบ้างก็ได้...
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น