นักวิชาการในคณะนิติราษฎร์ให้ความมั่นใจกับประชาชนที่จะร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่มีความผิด ชี้ลงชื่อเสนอแก้เป็นแค่การเปิดประตูให้มีการถกเถียงกันตามระบอบประชาธิปไตยในสภาเท่านั้น ส่วนจะแก้หรือไม่เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ระบุหากแก้สำเร็จจะเป็นแค่ก้าวแรก ในอนาคตต้องพูดกันเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าช่วงที่กลุ่มระดมสมองในการทำข้อเสนอนี้ พบว่ามีความคิดเห็นแตกออกเป็น 2 ส่วน โดยบางส่วนอยากให้ยกเลิกมาตรานี้ไปเลย ขณะที่บางส่วนอยากให้กลับไปใช้หมิ่นประมาทแบบบุคคลทั่วไป เพียงแต่การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ก็ให้เป็นเหตุเพิ่มโทษให้มากขึ้นได้เท่านั้นเอง
“สุดท้ายเราก็เลือกเสนอแนวทางที่ประนีประนอมมากที่สุดกับบุคคลทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายนี้คงอยู่ต่อไปและฝ่ายที่ต้องการให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแบบคนปรกติธรรมดา โดยให้ปรับลดโทษลงมาตามความเหมาะสม”
นายปิยบุตรกล่าวว่า ที่ประนีประนอมก็ถอยจนถึงที่สุดแล้ว เรียกว่าเป็นขั้นต่ำแล้ว ต่ำกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะในมุมของนักวิชาการที่ต้องการให้ยกเลิกกฎหมายนี้ เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 แม้ทำสำเร็จ ต่อให้แก้ได้สวยหรูอย่างไร สุดท้ายถ้าคนที่ใช้กฎหมายยังมีอุดมการณ์ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะใช้มาตรานี้ต่อไปเต็มสูบ ไม่เป็นคุณต่อการแสดงสิทธิเสรีภาพอยู่ดี
“ถามว่าเราทำเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเดียวเพียงพอหรือไม่ ในอนาคตจำเป็นต้องพูดเรื่องอื่นๆต่อไปอีกคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” นายปิยบุตรกล่าว พร้อมย้ำว่า การเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่เป็นการผิดกฎหมาย เมื่อยื่นเรื่องเข้าสู่สภาแล้วจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมือง ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ถกเถียงกันตามระบอบประชาธิปไตย และหากมีประชาชนลงชื่อมากพอ แสดงว่ามาตรานี้อาจมีปัญหา
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น