--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อย่านิ่งดูดาย !!?

ประเทศไทยกลายเป็นข่าวฉาวไปทั่วโลกอีกครั้งเมื่อภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกจัดอยู่ในอันดับ 8 จาก 10 อันดับภาพช็อกโลก จากเว็บไซต์ Top tenz.net ซึ่งแต่ละภาพในเหตุการณ์สำคัญๆของโลกที่ถูกจัดอันดับสามารถบ่งบอกความรู้สึกได้มากมายเกินจะบรรยาย อย่างภาพเหตุการณ์ 9/11 ที่ติดอันดับ 5 และเหตุการณ์ลี้ภัยในสงครามกลางเมืองของโคโซโวอยู่อันดับ 10 ส่วนอันดับ 1 เป็นภาพผู้ประสบภัยติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังในเหตุการณ์โคลนถล่มที่โคลอมเบียเมื่อปี 1985 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 25,000 คน

สำหรับคนไทยคงมีน้อยคนมากที่ยังคิดถึงหรือจำเหตุการณ์ความโหดร้ายการสังหารหมู่ประชาชนคนไทยด้วยกันเองเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์นิยม และเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจว่าภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะถูกจัดอันดับเป็นภาพช็อกโลก

โดยเฉพาะภาพการใช้ “เก้าอี้” ฟาดไปบนร่างไร้วิญญาณของนักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกแขวนคอใต้ต้นไม้บริเวณสนามหลวง ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพชุดที่ถ่ายโดยนีล อูลเลวิช (Neil Ulevich) และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1977 โดยมีหลายภาพบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร หนึ่งในรัฐบาลเผด็จการทหาร ท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ซึ่งเป็นการวางแผนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขทำลายขบวนการนักศึกษาขณะนั้น โดยการจุดชนวนให้ประชาชนเกลียดชังนักศึกษาว่าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ หนึ่งในการสร้างความเกลียดชังคือการนำสถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำอย่างโหดเหี้ยมรุนแรงเยี่ยงสัตว์ป่า ทั้งทุบตี ทรมาน แขวนคอ และเผาทั้งเป็น ซึ่งครั้งนั้นมีทั้งตำรวจตระเวนชายแดนจากค่ายนเรศวร กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มที่จัดตั้งโดยงบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) คือกลุ่มนวพลและกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการจับกุมหรือดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสั่งการในเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยแม้แต่คนเดียว

เมษา-พฤษภาอำมหิต

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านมา 35 ปี แม้จะมีน้อยคนที่จำได้ และหลายคนไม่เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์โหดเหี้ยมทารุณเช่นนี้อีก แต่สังคมไทยได้เห็นภาพความโหดเหี้ยมของผู้มีอำนาจอีกครั้งจากเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ครั้งนี้เป็นการฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็น เพราะใช้กำลังทหารนับหมื่นนายพร้อมอาวุธสงครามฆ่าประชาชนกลางกรุงเทพฯ ท่ามกลางภาพที่ถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก

หนึ่งในเหตุผลของการใช้กำลังทหารของรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) คือกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นเครือข่ายขบวนการล้มเจ้า

จนถึงวันนี้การสอบสวนคดี 91 ศพที่ถูกสังหาร บาดเจ็บและพิการเกือบ 2,000 คน ยังไม่มีคำตอบ ขณะที่อีกหลายร้อยคนถูกจับกุมและถูกดำเนินคดี ทั้งในข้อหาก่อการร้ายและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งยังไม่มีการดำเนินคดีอย่างเป็นรูปธรรมใดๆกับ “ผู้สั่ง” และ “ผู้ฆ่า” ประชาชน

ปราชญ์ชี้หายนะสังคมไทย

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มองว่า สังคมไทยในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชั้นคือ ชั้นบนที่เต็มไปด้วยเดรัจฉาน แต่ความเป็นมนุษย์อยู่ชั้นล่าง สังคมไทยขณะนี้กำลังสูญเสียความเป็นมนุษย์ ชั้นบนจะเป็นปัจเจกเห็นแก่ตัว ไม่เคยฟังคนอื่น การปก-ครองก็รวมศูนย์ ไม่มีการกระจายอำนาจ จึงเชื่อว่าอนาคต ประเทศไทยจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่อย่างอียิปต์โมเดลหรือลิเบียโมเดล หากไม่สามารถทำให้คนข้างล่างซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีสติปัญญาเพื่อฟื้นสังคมขึ้นใหม่ (อ่านเพิ่มเติมในคอลัมน์ “ฟังจากปาก” หน้า 16)

ด้านนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดและนักเขียน มองว่า สังคมไทยไม่ยอมรับความจริง แต่ยอมรับสิ่งที่กึ่งจริงกึ่งเท็จ จึงเป็นเหตุให้สังคมไทยกะล่อนโดยไม่รู้ตัว ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ตก ปัญหาอื่นก็แก้ไม่ตก

“เมื่อคุณไม่ยอมรับความจริงแล้วคุณจะแก้ปัญหาอะไรได้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณก็ทรงรู้แจ้งถึงอริยสัจ 4 ความจริงทั้ง 4 คือต้องเอาความจริงมาจับว่าอันนี้คือทุกข์ เมืองไทยตอนนี้กำลังอยู่ในความทุกข์ อันนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ แล้วจะดับทุกข์ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสสอนมรรคมีองค์ 8 ที่สามารถเข้าใจโครงสร้างของสังคมและนำไปแก้ปัญหาได้ แต่เมื่อคุณไม่ยอมรับความจริง ความทุกข์ของสังคม เราไปเชื่อว่าถ้ามีรัฐบาลที่สามารถมีคนดี มีคนซื่อสัตย์สุจริตจะแก้ปัญหาได้ อันนั้นไม่ใช่”

รายงาน คอป. ต้นตอวิกฤต

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้ออกรายงานความคืบหน้าเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ฉบับที่ 2 (17 มกราคม-16 กรกฎาคม 2554) โดยวิเคราะห์วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นว่า เป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน โดยให้น้ำหนักจุดเริ่มต้นตั้งแต่คดี “ซุกหุ้น” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายว่ามีการละเมิดหลักนิติธรรมโดยตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่กลับละเลยและไม่มีการตรวจสอบรากเหง้าความไม่ชอบมาพากลเรื่องนี้ คอป. จึงเสนอแนะให้รัฐและสังคมตรวจสอบการยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง

ขณะที่ความรุนแรงในปี 2553 คอป. ระบุว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 2540 การกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันเชิงนโยบายสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ การเกิดขบวนการเสื้อเหลือง การประกาศไม่ลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ การตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเกิดขบวนการเสื้อแดง การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

กังวลคดีหมิ่นเบื้องสูง
ที่น่าสนใจคือรายงานของ คอป. ได้แสดงความกังวล ต่อคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพค่อนข้างมาก เพราะมีการฟ้องคดีเพิ่มขึ้นอย่างมาก อีกทั้งการดำเนินคดีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ขณะที่นานาชาติก็จับตามองและติด ตามสถานการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงเรียกร้อง

1.ให้ทุกฝ่ายยุติการอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และมีกลไกที่สามารถกำหนดนโยบายในทางอาญาที่เหมาะสม

2.อัยการควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลยพินิจ (Opportunity Principle) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล แม้ว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอในการสั่งฟ้อง แต่อัยการต้องให้ความสำคัญกับการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลดีผลเสียในการดำเนินคดี โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์สูงสุดในการปกป้องและถวายพระเกียรติยศที่เหมาะสม แด่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ เช่น เนเธอร์แลนด์

3.รัฐบาลควรดำเนินการให้ผู้ต้องหาและจำเลยใน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

4.รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการดำเนินคดีที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ “ล้มเจ้า” ซึ่งตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไป และอาจส่งผลต่อความปรองดองในชาติ ไม่เป็นผลดีต่อการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนการดำเนินคดีจะต้องมีการพิจารณาโดยมีพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเฉพาะบุคคลที่ชัดเจนและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม

5.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทุกสังคม

ปรากฏการณ์ “อากง”

โดยเฉพาะคดี “อากง” หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 61 ปี ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากการส่งเอสเอ็มเอส 4 ข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นถือเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของมาตรา 112 ที่วันนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการเมืองและสังคมไทยที่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างมากเท่านั้น แต่ประเทศไทยกำลังถูกจับตามองจากนานาชาติไม่ต่างกับตัวประหลาด เพราะกระบวนการยุติธรรมที่อารย ประเทศไม่ยอมรับ และประณามว่าขัดกับหลักพื้นฐานสิทธิเสรีภาพและสิทธิความเป็นมนุษย์

แม้แต่คดีของโจ กอร์ดอน หรือเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ สัญชาติอเมริกัน-ไทย ที่ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ในข้อหาโพสต์ลิ้งค์แปลหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามภายในราชอาณาจักร บนเว็บบอร์ด เมื่อปี 2551-2552 นั้น นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมรณรงค์คัดค้านมาตรา 112 กล่าวว่า ขณะนี้มาตรา 112 ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในลักษณะที่เข้มข้นจนไม่สามารถปล่อยให้มันผ่านไปได้ง่ายๆ เพราะคดี “อากง” ที่มีความคลุมเครือในแง่การสืบสวนสอบสวนว่า “อากง” อาจไม่ได้ส่งข้อความยังถูกจำคุกถึง 20 ปี ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

ส่วนกรณีโจ กอร์ดอน ไม่ใช่เฉพาะการใช้กฎ หมายอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่กลายเป็นเครื่องมือของกฎหมายไปแล้ว ซึ่งถือเป็นโอกาสดี เพราะ กระแสในต่างประเทศมีสูงมาก อย่างกรณีของโจ กอร์ดอน กลายเป็นข่าว Top 5 ใน Google มาตรา 112 จึงกลายเป็นสปอตไลท์ที่สังคมจะเคลื่อนไหวให้แก้ไข

แม้แต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ยังแถลงข่าวเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และทบทวนการคุมขังผู้ต้องหาที่มีระยะเวลาต่อเนื่องยาว นานก่อนการไต่สวนคดี ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน จนสร้างความหวาดกลัวที่ประชาชนจะแสดงออก เพราะมีบทลงโทษที่ร้ายแรง ซึ่งเป็น “สิ่งที่ไม่จำเป็น” และ “เกินกว่าเหตุ” อีกทั้งเป็นการละเมิดพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

ไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ?

ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ปรากฏจึงไม่ใช่แค่ภาพที่สร้างความสลดหดหู่ให้กับผู้คนทั่วโลกที่เห็นถึงความโหดร้ายรุนแรงเท่านั้น แต่ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือภาพของคนไทยจำนวนมากที่ยืนดูการกระทำที่โหดเหี้ยมทารุณอยู่โดยรอบนั้นกลับนิ่งดูดายและเพิกเฉยเหมือนคนตายด้าน ไร้หัวใจ

เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีการฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็น โดยใช้กำลังทหารนับหมื่นนายที่มีอาวุธสงครามครบมือสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนเหล่านั้นเกือบร้อยชีวิตถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นกลางเมือง ไม่ต่างจากคดีของ “อากง” ที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน คนที่ไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่ากระทำผิดจริงหรือ ไม่ แต่กลับถูกลงโทษสถานหนักให้จำคุกถึง 20 ปี อาจยัง ไม่อำมหิตเท่าการที่คนในสังคมไทย รวมทั้งสื่อไทยส่วนใหญ่เพิกเฉย นิ่งดูดาย มองเหมือน “อากง” มิใช่มนุษย์

การที่คนไทยและสังคมไทยส่วนใหญ่เพิกเฉยและไม่สนใจ โดยให้ความสำคัญกับศูนย์การค้าที่ถูกเผามากกว่า 91 ศพที่ถูกฆ่าอย่างเลือดเย็น ขณะเดียวกันยังมีการพยายามเบี่ยงประเด็นไปเรื่องการรวมพลังทำความสะอาดคราบ เลือดของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยการขานรับของสื่อกระแสหลักและสื่อรัฐอย่างคึกคักมากกว่าการเสนอข่าวเพื่อเอา “ฆาตกร” ที่ฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์มาลงโทษ

ภาพเหตุการณ์ความโหดร้ายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การกระทำอย่างป่าเถื่อนเยี่ยงสัตว์ป่าของผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ที่ร้ายยิ่งกว่าคนที่กระทำคือคนไทยส่วนใหญ่นิ่งดูดายและเพิกเฉยกับคนที่กระทำหรือฆาตกรที่ฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้อย่างเลือดเย็น อีกทั้งยังไม่ตระหนักถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิความเป็นมนุษย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของบ้านเมือง

ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดอยู่ในอันดับ 8 จาก 10 อันดับของโลกที่เป็นเหตุการณ์ช็อกโลกที่โหดร้าย ซึ่งผู้มีอำนาจกระทำกับผู้ชุมนุมขับไล่เผด็จการของนักศึกษาและประชาชนที่รักและหวงแหนประชาธิปไตย

วันนี้...เหตุการณ์โหดร้ายทารุณและการกดขี่ย่ำยีความเป็นมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องของคนไทยและประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ของโลกที่ประณามประเทศไทยไว้ในประวัติศาสตร์โลกเรียบร้อยแล้ว

ถามจริงๆ...คนไทยและสังคมไทยวันนี้ไม่รู้สึกอะไรบ้างเลยหรือ?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
*********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น