ในวรรณคดี 3 ก๊ก นอกจากจะถือเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ชาวจีนยังเป็นมรดกตกทอดทางสายเลือดมาจากแผ่นดินใหญ่ถึงชาวจีนโพ้นทะเล เหมือนกับลัทธิขงจื๊อ และ ลัทธิเต๋า เป็นแบบเรียนแม่บทในการสั่งสอนลูกหลานเชื้อชาติจีนไม่ว่าจะพลัดถิ่นไปอยู่มุมใดในโลกก็ตาม
อีฉันเองเคยนำกลยุทธ์ต่างๆ ใน 3 ก๊กมาเขียนเทียบเคียงกับสถานการณ์การเมืองมากก็หลายหนอยู่ แต่พักหลังห่างๆ ไปกลัวคุณผู้อ่านจะเบื่อเอา มาวันนี้เห็นข่าวเหตุบ้านการเมืองต่างๆ หลังน้ำท่วมแล้วนึกถึงบางตอนในมหาวรรณกรรม เรื่องนี้ขึ้นมาจึงยกมาให้ได้อ่านกันอีกครั้ง
หากจำได้ในสามก๊กยุคขุนศึกผู้พ่อได้ทำยุทธ์ต่อสู้กันมาจนแก่เฒ่า จะยกง้าว ยกดาบขึ้นฟาดฟันก็เห็นจะหมดแรง.. เข้าสู่ยุคคนหนุ่มสาวอย่างรุ่นลูกฝ่านเล่าปี่เองมีบุตรชื่อ “อาเต๊า” ที่กำเนิดมาจาก “กำฮูหยิน” เจ้าหมอนี่แสนจะโง่เขลาเบาปัญญาหาความน่าสนใจอะไรไม่ได้เลย นึกย้อนไปแล้วก็เสียดาย ที่ “จูล่ง” อุตส่าห์ฝ่าทัพเข้าไปช่วย ต่างกับ “ทายาทของฝั่งโจโฉ” อันมี “โจผี” และ “โจสิด” ซึ่งมีสติปัญญาดีทั้งคู่ โบราณ ว่า บุตรดีมีความสามารถย่อมเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบิดา-มารดา
กล่าวถึง “โจสิด” เป็นบุตรชายคนที่ 3 ที่โจโฉรักมากเพราะความปราดเปรื่องทางสติปัญญา และมักแต่งโคลงสดุดีโจโฉเสมอๆ ว่ากันว่า ปัญญาของคนทั่วไปมี 1 ส่วน แต่ของโจสิดมีถึง 10 ส่วน
เมื่อถึงครั้งที่โจโฉคิดแต่งตั้งรัชทายาท โจโฉคิดไม่ตกว่าจะเลือกใครระหว่าง โจผี กับ โจสิด แต่มีแนวโน้มว่าจะเลือกโจสิด มากกว่า โจผีร้อนใจจึงรุดไปปรึกษากาเซี่ยง และด้วยอุบายของกาเซี่ยง และกลอนของโจสิดที่เปรียบเปรยคนสู้กันแต่มีคนหนึ่งล้มลงว่า เป็นเพราะคนล้มลงนั้น (คือตัวเขาเอง) ไม่คิดสู้ (เพราะ สู้ก็ถูกฆ่าตายแน่ๆ) ทำให้ตำแหน่งนี้จึงตกเป็นของโจผีในที่สุด
แต่เมื่อโจผีขึ้นครองราชย์ ทรงคิดที่จะกำจัดโจสิด พระอนุชา แท้ๆ เพราะถือว่าเป็นศัตรูคนหนึ่งของพระองค์ จึงบีบบังคับให้ โจสิดแต่งบทกวีภายใน 7 ก้าว กล่าวถึงพี่น้องที่มิอาจฆ่ากัน แต่ ห้ามไม่ให้เอ่ยคำว่าพี่น้องในบทกวีนั้น ไม่เช่นนั้นจะสั่งประหาร ชีวิตโจสิด จึงร่ายกลอนขึ้นมาบทหนึ่งด้วยความคับแค้นเศร้าโศก ของต้นถั่ว ที่เกิดแต่การใช้เถาถั่วซึ่งกำเนิดแต่รากเดียวกันไปต้ม หรือคั่วถั่ว เทียบกับความเศร้าโศกอาดูรของพี่น้องญาติตระกูล เดียวกัน ไม่มีเรื่องใดยิ่งใหญ่ล้ำลึกกว่าการที่พี่น้องต้องล้างผลาญกันเอง แปลเป็นไทยได้ดังนี้
เขาต้มถั่วด้วยรากตากแห้งของถั่วเจ้าถั่วได้แต่ครางกับเถาถั่วว่าเกิดจากรากเหง้าเดียวกันไฉนต้องมาเข่นฆ่ากันเมื่อโจผี ได้ฟังจึงเกิดสำนึกได้ไม่สั่งประหารชีวิต แต่เนรเทศโจสิดออกไปนอกเมืองแทน และไม่นาน โจสิดก็ถึงแก่ความ ตายด้วยความตรอมใจ หันมาดูบ้านเมืองเรา พอน้ำลดระเบิดก็ผุด..แถมยัง เป็นในช่วงที่เป็นเทศกาลสำคัญเสียด้วย ส่วนจะเป็นฝีมือใคร และจัดการอย่างไรคงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ตระหนักรู้อยู่แก่ใจ แต่ประชาชนตัวเล็กๆ คงได้แต่กู่ร้องไปว่าอยากเอาของสูงมาเป็นข้ออ้างคัดคานอำนาจแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว เราคนไทยล้วนพี่น้องกันอย่าให้ได้ชื่อว่า “ใช้เถาถั่ว ต้มถั่ว” เลยเจ้าค่ะ..วิญญาณปู่จะร้องไอ้ลูกหลานจัญไร
ที่มา.สยามธุรกิจ
///////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น