กรณีพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในช่วงต้นปีที่ผ่านมาท้าทายอาเซียนให้ต้องทำโวหารในเรื่องการสร้างสันติภาพและความมั่นคงให้กลายเป็นจริง
การจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายทางการทูตที่จริงจังมากขึ้น เพื่อแก้ไขความขัดแย้งซึ่งยังไม่ยุติ
--------------------------------
จาการ์ตา/บรัสเซลล์, :อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป www.crisisgroup.org ได้ออกรายงาน "แสวงหาสันติภาพ: อาเซียนกับกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา" (Waging Peace: ASEAN and the Thai-Cambodian Border Conflict) เป็นรายงานฉบับล่าสุดจากอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป
วิเคราะห์ถึงการเมืองของข้อพิพาทไทย-กัมพูชาและบทบาทของอาเซียน กัมพูชาดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อปี 2549 ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ใช้ประเด็นนี้ปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้สนับสนุน การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้การเจรจาเรื่องเขตแดนหยุดชะงัก และนำไปสู่การปะทะทางทหาร ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน
อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ได้เข้ามามีบทบาทภายหลังการปะทะตามแนวชายแดนในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งส่งผลให้ทหารและประชาชนหลายสิบคนเสียชีวิตและประชาชนหลายพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ แม้ว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ออกคำสั่งกำหนดมาตรการชั่วคราวในเดือนกรกฎาคม แต่ผู้สังเกตการณ์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปปฎิบัติหน้าที่
บทบาทของอาเซียนในเรื่องความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร คือการพยายามยุติการสู้รบ และเริ่มต้นการเจรจาครั้งใหม่ แม้ว่าการโจมตีในบริเวณชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาสงบลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่สถานการณ์ยังคงมีความเปราะบาง”, รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปกล่าว “ตราบเท่าที่ยังไม่มีการถอนทหาร ผู้สังเกตการณ์อิสระไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่พิพาท และการเจรจากันอย่างสันติยังไม่เกิดขึ้น ต้องถือว่ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะรอบใหม่
ถึงแม้ในปี 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสิน ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ประเทศไทยยังคงอ้างสิทธิเหนือพื้นที่รอบปราสาท เนื่องจากว่ายังไม่มีการปักปันชายแดนอย่างชัดเจน ความขัดแย้งซึ่งสงบลงนานแล้วกลับปะทุขึ้นอีกครั้งภายหลังจากที่กลุ่มพธม. กล่าวหารัฐบาลที่อดีตนายกฯ ทักษิณ สนับสนุนว่าขายชาติเพราะให้การสนับสนุนกัมพูชาในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร และเมื่อการดำเนินการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในปี 2551 การปะทะบริเวณแนวชายแดนก็เริ่มขึ้น พร้อมกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในของฝ่ายไทย
หลังจากเกิดการปะทะอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2554 กัมพูชาได้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งต่อมามีมติให้อาเซียนทำหน้าที่ผลักดันการแก้ไขปัญหา โดยที่ประชุมอาเซียนได้พิจารณาที่จะส่งคณะผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้าไปยังพื้นที่พิพาท โดยไทยและกัมพูชาให้การสนับสนุน แต่ความริเริ่มดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากกองทัพไทยซึ่งมองว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดอธิปไตยไทย
ที่ผ่านมา การหยุดยิงมักเป็นเพียงข้อตกลงปากเปล่าและมีการละเมิดอยู่บ่อยครั้ง สันติภาพคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงจนกว่าจะมีการตกลงหยุดยิงที่รอบด้านและเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ต้องได้รับอนุญาตให้เข้าตรวจสอบการถอนทหารตามที่อาเซียนริเริ่มและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำสั่งไว้ นอกจากนี้ กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นยังแสดงให้เห็นว่าอาเซียนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการอย่างเข้มแข็งและฉับไวในการป้องกันการสู้รบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิก
ในการระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา อาเซียนภายใต้การนำของอินโดนีเซีย ได้วางแนวทางเพื่อจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” จิม เดลลา-จิอาโคม่า ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปกล่าว “แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายที่ยังไม่จบสิ้น และหากอาเซียนต้องการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในภูมิภาค อาเซียนก็ต้องทำให้พื้นที่ชายแดนที่เคยมีการสู้รบเกิดสันติภาพที่มั่นคงถาวร
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น