โดย : สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี
นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายทักษิณ ชินวัตร อ้างว่าอดีตนายกฯ มีเงื่อนไข 6 ข้อสำหรับกระบวนการปรองดองเพื่อเปิดโต๊ะเจรจา
1. คดีการเมืองจะทำอย่างไร เช่น การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมืองของบ้านเลขที่ 111 และ 109 เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม นั่นคือมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ
2. คดีอาญา ที่ต่อเนื่องหลายคดี ที่เริ่มด้วยการเอาคนที่เป็นปฏิปักษ์และมีอคติต่อคุณทักษิณมาสอบ คือ คตส.
3. เรื่องยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นกว่าล้านบาทของทักษิณ ยุติธรรมแล้วหรือ เพราะคำพิพากษายึดทรัพย์ตัดแบ่งนับตั้งแต่ทรัพย์ในวันที่เป็นนายกฯ ยึดหมด วันที่เป็นนายกฯ หุ้นขึ้นโดยธรรมชาติ แล้วถูกยึดไปด้วย สมมติว่าคุณทักษิณโกง อย่างน้อยก็ควรให้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องไว้
4. การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม คิดว่ามีหลายคนที่เห็นแล้วไม่สบายใจ ต้องมาคุยกัน
5. คดีความของทั้งสองฝ่าย ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง จะทำอย่างไร
6. แก้ไขรัฐธรรมนูญคิดว่าควรกลับไปสู่ฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ ก็จะปลดเงื่อนไขยุบพรรคตามมาตรา 237 ไปด้วย
นพดล บอกด้วยว่าควรจะ "ประชามติ" เรื่องเหล่านี้ก่อนที่จะเข้าสภา
มองอย่างไรแล้ว ทั้ง 6 ข้อมิได้ก้าวพ้นไปจากตัว ทักษิณ แม้แต่เรื่องเดียว เป็นการมองซึ่งยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของเรื่อง
เมื่อดูจากแต่ละข้อเสนอ เรื่อง "การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมือง" เป็นบทลงโทษกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตเลือกตั้ง โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และผู้ที่ถูกตัดสิทธิบ้านเลขที่ 111 อย่าง พงษ์เทพ เทพกาญจนา ก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เองกับมือ เพราะฉะนั้น กฎหมายไม่ได้ออกมาย้อนหลังเพื่อลงโทษทักษิณ และบริวาร
ข้อเสนอต่อมา เรื่อง "คดีอาญา" กรณี ทักษิณ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาในข้อหาหรือฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) ซึ่งต้องรับโทษตามบทบัญญัติในมาตรา 122 ซึ่งครั้นต่อมา กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในข้อหาหรือฐานความผิดเรื่องโมฆะกรรม ให้สัญญาซื้อขายที่ดินรัชดาตกเป็นโมฆะ โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินที่รัชดาภิเษก จำนวน 4 โฉนด
โดยอ้างเหตุในคำฟ้องว่าเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่าการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นความผิดและได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี และศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะและมีคำสั่งให้คุณหญิงพจมาน คืนที่ดินที่พิพาทจำนวน 4 แปลง ให้แก่ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง คืนเงินค่าซื้อขายที่ดินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า กฎหมายมีบทบัญญัติให้สามารถรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขื้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 โดยการรื้อฟื้นคดีอาญานั้นก็เคยมีให้เห็น เช่น กรณีการจับผู้ต้องหา หรือจำเลยผิดตัว เหมือนคดีฆ่า น.ส.เชอรี่ แอน ดันแคน หรือเรื่องพยานหลักฐานเท็จ ขณะที่คดีของ ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาก็เป็นคดีอาญาเช่นกัน ซึ่งหากฝ่ายผู้แพ้คดีจะยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาใหม่ ก็ทำได้ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย ต้องการพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาฯ บัญญัติ
ข้อเสนอที่ 3 เรื่อง "การยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน" นั้น เรี่องนี้เป็นสิ่งที่ทักษิณ ทำผิดรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เพราะยังถือครองหุ้นชอนคอร์ป
ตระกูลชินวัตรใช้ Ample Rich Investments Limited ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ตลอดจนการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กลุ่มสิงคโปร์ ในลักษณะซับซ้อน ถือว่าพฤติกรรมการถือครองหุ้นชินคอร์ปของ Ample Rich Investments Limited มีพฤติการคลุมเครือและอำพราง
เมื่อปี 2542 ก.ล.ต.ก็เคยตรวจสอบแล้ว เพราะความเกี่ยวพันกับคดีซุกหุ้น ตอนนั้นเจ้าของ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนายบุญคลี ปลั่งศิริ ก็แจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โอนหุ้นส่วนหนึ่งให้แอมเพิล ริช เพื่อการเตรียมลงทุนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลักฐาน ถึง 2 ครั้ง แต่นายกฯ ไม่ได้มีแจ้งในบัญชีทรัพย์สินที่ให้ไว้กับป.ป.ช.ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในสมัยแรกว่า ไม่มีการถือหุ้นในแอมเพิลริช
พฤติกรรมเช่นนี้ ศาลจึงพิพากษายึดทรัพย์ เพราะมีการปกปิดการถือหุ้นระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ปี 2544 - 2548 โดยผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสใช้ชื่อบุตร ธิดา และญาติถือหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปฯ แทน เป็นการฝ่าผืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.2542 เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่แท้จริงในระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย
และขณะเป็นนายกฯ ทักษิณ ได้เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป และเป็นเหตุให้ชาติเสียหาย เพราะภาษีสรรพสามิตหายไป 6 หมื่นล้านเศษ เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำให้ชาติเสียหาย
ส่วนข้อเสนอที่ 4 "การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม" ยังไม่เห็นการปกครองประเทศยุคใดที่ผู้นำประเทศ สร้าง "รัฐตำรวจ" ส่งตำรวจคุมองค์กรอิสระ จนองค์กรเหล่านั้นทำงานไม่ได้ หรืออย่างกกต. ยุคตำรวจคุม ก็ถึงกับถูกศาลตัดสินจำคุกมาแล้ว หรือป.ป.ช. ยุคตำรวจเป็นกรรมการก็ถูกศาลสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่มาแล้ว และ "รัฐตำรวจ" กำลังจะผุดขึ้นมาอีกครั้งในรัฐบาลน้องสาวทักษิณ
ข้อเสนอที่ 5 "คดีความเสื้อเหลือ เสื้อแดง" ที่ร้องแรกแหกกระเชอ เวลานี้ก็มีแต่พวกเสื้อแดงที่ติดคุกเหมือนธรรมดาสามัญชนไม่ได้ ต้องมีคุกการเมือง ให้ผู้ก่อการร้าย ได้นอนห้องขังติดแอร์ และที่สำคัญ ทักษิณ เป็น 1 ในผู้ถูกกล่าวหาซึ่งศาลอาญาออกหมายจับในข้อหา "ผู้ก่อการร้าย" แล้ว
ข้อเสนอที่ 6 "แก้ไขรัฐธรรมนูญ" โดย มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค เป็นข้อเสนอที่สับขาหลอก เพราะที่เป็นผลประโยชน์ "ทักษิณ" คือ การล้มรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะห้ามผู้ถูกตัดสินยึดทรัพย์เพราะร่ำรวยผิดปกติ กลับเล่นการเมืองได้อีก นั้นเอง
ข้อเสนอปรองดองทั้ง 6 ข้อ เชื่อว่าเป็นเพียงการเสนอเพื่อชิมลาง เพื่อต่อรองเพราะเรื่องตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ทักษิณ และบ้านเลขที่ 111 ก็จะพ้นโทษในเดือนพ.ค.2555 นี้แล้ว
เหลือประการเดียวคือล็อคที่รัฐธรรมนูญ 2550 ปิดประตูตาย ห้ามผู้ร่ำรวยผิดปกติและศาลสั่งยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน กลับมาเล่นการเมืองอีก
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น