เมื่อวันที่ 12-14 ธันวาคมที่ผ่านมา รายการ “ตอบโจทย์” ทางไทยพีบีเอส นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการสนทนาหัวข้อ “คดีอากงกับมาตรา 112” โดยมีนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักคิด นักเขียน และนักประวัติศาสตร์ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงทรรศนะ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
**************
ความรู้สึกคดีอากง
นายพนัส : ในเบื้องต้นคงรู้สึกว่าโทษมันแรง สูงมาก 20 ปี อีกอย่างหนึ่งคือไม่ค่อยมีใครทราบต้นสายปลายเหตุกันสักเท่าไร ทราบกันจากสื่อที่รายงานข่าวว่ามีการส่งเอสเอ็มเอสไปยังบุคคลคนหนึ่งซึ่งเป็นเลขานุการส่วนตัว (นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข) ของท่านอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ต่อมาก็มีการพิจารณาคดีกัน สุดท้ายศาลตัดสินว่าส่งเอสเอ็มเอส 4 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี ในกฎหมายเรียกว่ากระทงละ 5 ปี หรือว่ากรรมละ 5 ปี เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ เป็นภาษาทางกฎหมายว่าอย่างนั้น
ทีนี้ต่างกรรมต่างวาระก็โดนไปรวมแล้ว 20 ปี ผมคิดว่าส่วนใหญ่คงมีความรู้สึกว่าเนื่องจากไม่ทราบว่าข้อความที่ส่งไปนั้นเป็นอย่างไร นั่นประการแรก แต่การพิจารณาของศาลรู้สึกจะไม่ได้พิจารณาโดยเปิดเผย เมื่อออกมาอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกกังขากันว่าข้อความที่ส่งไปมีเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไร ซึ่งคงไม่มีทางทราบได้ เพราะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือสมเด็จพระบรมราชินีตามที่กฎหมายเขียนไว้ เลยมีความรู้สึกว่าโทษแรงไปหรือเปล่า 20 ปี อันนี้ผมคิดว่าคงทำให้มีปฏิกิริยาสอบถามกันว่าการพิจารณาคดีในความผิดฐานนี้ในแง่ของความยุติธรรมเรามีการรักษากันมากน้อยแค่ไหน เพื่อผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในคดีประเภทอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคดีที่ไม่สามารถเปิดเผยให้สาธารณชนทราบว่าเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร
คดีอย่างนี้เปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ได้หรือเปล่า และประเด็นที่ถามกันมากคือ พอคนเกิดความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมขึ้นมา สาธารณชนสามารถวิจารณ์ศาลได้หรือไม่
นายกิตติศักดิ์ : ถ้อยคำที่ใช้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดได้กล่าวหรือแสดงถ้อยคำอย่างไร ต้องปรากฏอยู่ในคำพิพากษา ใครอ่านคำพิพากษาย่อมรู้ได้อยู่แล้ว ปิดไม่ได้ เพราะคำพิพากษาเป็นเอกสารสาธารณะ เผยแพร่ได้ ตัวอย่างคำพิพากษาที่เราเห็นคือ คำพิพากษาของดา ตอร์ปิโด ซึ่งมีผู้เอาไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนั้น จะถือว่าเป็นความผิดไม่ได้
อันที่ 2 ที่ถามว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความยุติธรรมอย่างไร เท่าที่ผมติดตามดูจากข่าว ขณะนี้ก็กำลังรออ่านคำพิพากษาอยู่เหมือนกัน ในข่าวกล่าวว่าผู้ที่เป็นจำเลยปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้ทำ แต่จะมีผู้ใดทำนั้นตนเองไม่รู้ ศาลก็เรียกพยานมาสืบ ก็ได้ความว่าโทรศัพท์มือถือ เลขประจำเครื่อง อาจมีการปลอมแปลงกันได้ แต่ศาลก็เชื่อพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์คืออัยการว่าคงไม่ได้ปลอมแปลง เพราะสัญญาณส่งจากแหล่งที่อยู่ของผู้ที่เป็นจำเลย อย่างไรก็ตาม คดีนี้เนื่องจากจำเลยปฏิเสธหัวแข็งว่าไม่ได้เป็นการกระทำของเขา ถ้าจะเป็นก็เป็นการกระทำของคนอื่น จึงต้องมีการพิจารณาพฤติกรรมแวดล้อมว่าเขามีมูลเหตุจูงใจอะไรที่จะทำอย่างนั้น ซึ่งอันนี้ต้องรออ่านในคำพิพากษาว่าชี้ให้เห็นไหมว่ามีพฤติการณ์หรือมูลเหตุอะไรจูงใจที่เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าเป็นบุคคลคนนี้ ทั้งๆที่เขาปฏิเสธเสียงแข็งว่าไม่ได้กระทำจริง
ทีนี้ถามว่าคำพิพากษาวิจารณ์ได้ไหม ผมมีอาชีพเป็นอาจารย์ สอนหนังสือทุกๆวัน ผมก็ต้องวิจารณ์คำพิพากษาของศาล แต่ถ้าเราวิจารณ์ด้วยความเป็นกลางและด้วยเหตุผลความเป็นนักวิจารณ์ หรือพูดง่ายๆอย่างเป็นกลางและด้วยความสุจริต อันนี้คนจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ออกแถลงการณ์คัดค้านคำพิพากษาฉบับนี้ก็ไปกล่าวอ้างว่าศาลนั้นเราวิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ศาลนั้นวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ด้วยใจเป็นธรรม
ตกลงวิจารณ์ศาลได้ ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินหรือคำพิพากษาของศาลได้
นายกิตติศักดิ์ : ได้อยู่แล้ว จำเลยไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เขาถึงอุทธรณ์ได้ กฎหมายถึงมีอุทธรณ์ ฎีกา
ถ้าจะให้เขาไม่เห็นด้วยหมด จะอุทธรณ์ ฎีกากันได้อย่างไร หมายความว่าสาธารณชนคือจำเลย ต้องสู้อยู่แล้ว แต่สาธารณชนบอกว่าไม่เห็นด้วยกับศาลอย่างนี้
นายกิตติศักดิ์ : สาธารณชนก็บอกไม่เห็นด้วยได้ แต่อย่าไปดูหมิ่นศาล ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาไม่เป็นความผิด อันนี้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจผิดพลาดกันมาก แล้วศาลด้วยเหตุที่ว่าไม่กลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เขาถึงเปิดการพิจารณาคดีทั้งหลาย โดยหลักแล้วต้องพิจารณาคดีในที่สาธารณะ หมายความว่าเปิดให้สาธารณชนเข้ารับฟังได้ ต้องโปร่งใส คำพิพากษาก็ต้องให้เขาอ่านได้ เมื่อให้อ่านได้ก็วิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่ห้ามอย่างเดียวคือการดูหมิ่น บอกศาลเลวอย่างนี้ไม่ได้ ต้องบอกว่าด้วยความเคารพ กระผมไม่เห็นด้วยเพราะเหตุใด ว่ากันไป อย่างนี้ทำได้
ทำไมคดีอากงจึงสร้างความโกรธแค้นแล้ววิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงในโลกไซเบอร์จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยขึ้นมาได้
นายนิธิ : ผมมี 2 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกคือคุณเอาคนอายุ 61 เป็นมะเร็งในปาก ไปติดคุก 20 ปี ผมว่าสังคมไหนในโลกก็รู้สึกสะเทือนใจกันทั้งนั้น แล้วก็ทำให้ต้องย้อนกลับมาสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยทั้งหมด รวมทั้งสงสัยในตัวกฎหมายที่ทำให้อากงติดคุกด้วย
ประเด็นที่ 2 ผมอยากเตือนไว้คือ ความยุติธรรมไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า แต่เป็นความเห็นของมนุษย์ในสังคมแต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละแห่ง จะมองเห็นว่าอะไรคือความยุติธรรมของเขา การที่คนขยับเขยื้อนกันมากมายเหลือเกินในสังคมจากกรณีอากงชี้ให้เห็นว่าทรรศนะต่อความยุติธรรมของไทย มาตรฐานที่ครั้งหนึ่งเคยถือว่าเป็นความยุติธรรม สังคมไทยไม่ได้เห็นอย่างนั้นแล้ว จริงๆถ้าอากงอยู่สมัยอยุธยาเอามะพร้าวห้าวยัดปากนะ แต่อันนั้นคือความไม่ยุติธรรมของคนไทยเมื่อหลายร้อยปีแล้วกระมัง แต่ปัจจุบันนี้แม้แต่มาตรฐานเมื่อร้อยปีที่แล้วก็กลายเป็นมาตรฐานความยุติธรรมที่คนในปัจจุบันเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่อีกแล้ว ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ
อาจารย์เป็นนักประวัติศาสตร์ พอสังคมเริ่มมีความรู้สึกว่าเกิดความอยุติธรรมขึ้นกับกรณีใดกรณีหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองคืออะไร
นายนิธิ : วุ่นวายครับ เพราะถ้าคุณรู้สึกว่าไม่สามารถแสวงหาความยุติธรรมที่คุณพอใจในสังคมนี้ได้ ไม่ใช่คุณคนเดียว แต่สังคมจำนวนมากรู้สึกว่าอันนี้ไม่ใช่ความยุติธรรม ในที่สุดก็จะหันไปสู่การกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่คุณไม่แคร์ต่อความยุติธรรมต่อไป คุณไปเที่ยวรังแกคนอื่นโดยไม่สนใจอีกแล้วว่ายุติธรรมหรือไม่
นายกิตติศักดิ์ : ประเด็นที่น่าสนใจก็คือคดีนี้เป็นคดีที่ต้องชั่งน้ำหนักคุณค่า 2 อย่างที่อยู่ในสังคม คุณค่าอันแรกคือการที่เราจะแสดงความคิดเห็น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นความคิดเห็นที่รุนแรง มันอยู่ในขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งในแง่นี้ในสังคมประชาธิปไตยถือกันว่ารากเหง้าสำคัญ รากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยคือต้องเปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นได้ ผมว่าคุณภิญโญว่าคุณเลว เป็นความคิดเห็นนะ แต่ปัญหาว่าความคิดเห็นนี้ต้องอยู่ในกรอบที่ต้องไม่เป็นการหมิ่นประมาท ผมบอกคุณจัดรายการไม่ดี เป็นความคิดเห็นนะ ทุกคนต้องแสดงความคิดเห็นได้ แต่ถ้าผมบอกว่าคุณภิญโญนั้นเลวเหมือนหมา คุณภิญโญคุณเป็นชู้กับคนอื่น อย่างนี้เกินขอบเขตการแสดงความคิดเห็นที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็กลายเป็นเรื่องหมิ่นประมาทไป
อีกเรื่องหนึ่งคือ ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบกฎหมายถือว่าเป็นส่วนสาระสำคัญเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงมีรัฐธรรมนูญที่ถือว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร เมื่อเป็นราชอาณาจักรคือพระมหากษัตริย์เป็นสุดยอด เป็นประมุขแห่งรัฐ จึงต้องได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะแสดงความคิดเห็นต่อพระมหากษัตริย์นั้นทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตว่าจะดูหมิ่นไม่ได้ แสดงความอาฆาตมาดร้ายไม่ได้ จะหมิ่นประมาทไม่ได้
คดีนี้เรายังไม่เห็นคำพิพากษา แต่เหตุที่มีผู้คนสงสัยไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่านี่เป็นคนแก่ ไม่ใช่แค่นั้น เพราะถ้าหากอาจารย์นิธิจะกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือจะวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำอยู่บ่อยๆ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ปัญหาอยู่แต่เพียงว่าเนื้อหาของการกล่าวกระทบกระเทียบนั้นเป็นอย่างไร และที่คนรู้สึกมากเพราะคิดว่าเป็นการกระทำของอากงคนนี้หรือเปล่า นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะข่าวที่ออกมาบอกว่าพิสูจน์ไม่ได้ พยานหลักฐานยังน่าสงสัยอยู่ อันนี้จึงต้องดูในคำพิพากษาว่าอะไรเป็นเหตุในการลงโทษ แล้วชั่งน้ำหนักกันหรือเปล่า ระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งอยู่ในระบอบประชาธิปไตยกับความมั่นคงของรัฐคือการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าอะไรสำคัญยิ่งหย่อนกว่าอันใดภายใต้เงื่อนไขใด อันนี้เป็นเรื่องที่ศาลต้องทำให้ชัดเจน
อาจารย์กฎหมายมีข้อถกเถียงกันหลายกรณีเรื่องอากง ตกลงเป็นหน้าที่ของฝ่ายจำเลยที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้ทำผิด หรือเป็นความเห็นของฝ่ายโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยทำความผิดแล้วก็หักล้างกันไป ใครมีหน้าที่อย่างไรในกระบวนการพิจารณาคดีอาญาในลักษณะแบบนี้
นายพนัส : หลักการพิจารณาคดีอาญาซึ่งกำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หน้าที่นำสืบว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงโดยชัดแจ้ง ไม่ปราศจากข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ของโจทก์ว่าในกรณีนี้ข้อความที่ส่งเอสเอ็มเอสในเบื้องต้นนั้นส่งไปจากคนที่ถูกฟ้องคืออากง คดีนี้ต้องพิสูจน์ตรงนั้นให้ได้ แต่ทีนี้ศาลเองเท่าที่ฟังจากข่าว ไม่รู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร บอกว่ามีข้อวินิจฉัยของศาลว่าแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ศาลก็บอกว่าเนื่องจากจำเลยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นไม่ได้ส่งไปจากเครื่องของตัวเอง สุดท้ายศาลเลยบอกว่าด้วยเหตุนี้มีพยานประจักษ์แวดล้อม ศาลใช้คำทำนองนี้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคืออะไรบ้าง ทำให้ศาลฟังว่าจำเลยเป็นผู้ส่ง แล้วศาลก็พิพากษาลงโทษไป ฉะนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ถ้าผมจำไม่ผิด ถ้ามีความสงสัยแม้แต่น้อย เขาให้ยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย ส่วนในรัฐธรรมนูญก็จะมีทุกฉบับว่าผู้ที่ถูกฟ้องคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่ได้กระทำความผิด ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลจะพิพากษาว่าได้กระทำผิดตามนั้น อันนี้เป็นหลักที่เป็นหัวใจของการพิจารณาคดีอาญา
ทำไมศาลไม่ยกประโยชน์ให้จำเลย เมื่อฝ่ายโจทก์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด
นายพนัส : อันนี้คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกในทางปฏิกิริยาออกมาค่อนข้างกว้างขวางและรุนแรง เพราะตามความเข้าใจของผมเชื่อว่าแม้กระทั่งนักกฎหมายโดยทั่วไปก็เข้าใจกันตามนั้นว่าจำเลยในคดีอาญา ถ้าหากศาลบอกว่าโจทก์สืบมาไม่ชัด ยังมีข้อสงสัยอยู่ ทำไมไม่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย นั่นคือทำไมไม่ยกฟ้อง ศาลบอกว่าต้องไปดูว่ามีประจักษ์พยานแวดล้อมซึ่งสามารถชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้หรือไม่ แล้วศาลบอกว่าในกรณีเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้กระทำผิดต้องหาทางปกปิด นัยคือโจทก์ก็ไม่สามารถที่จะสืบได้ชัดแจ้ง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จากที่ศาลฟังทั้งหมด ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น ศาลก็เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความนั้นจริง อากงเป็นผู้ส่งข้อความนั้นจริง ก็พิพากษาลงโทษไป
อาจารย์นิธิไม่ต้องมองในฐานะนักกฎหมาย มองในฐานะประชาชนธรรมดา เมื่อมีการอธิบายคดีแบบนี้ ด้วยวิธีคิดแบบนี้ มนุษย์คนหนึ่งเห็นอย่างไรในวิธีคิดแบบนี้
นายนิธิ : ในความเป็นจริงแล้วผมไม่เชื่อว่าคนที่รู้สึกหวั่นไหวแล้วก็มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาเรื่องนี้กันมากในอินเทอร์เน็ตมาจากความรู้ทางกฎหมาย ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่มาจากความรู้สึกของมนุษย์ธรรมดา คือการเอาคนแก่อายุ 61 ไปติดคุก 20 ปี สิ่งแรกที่ชาวบ้านคิดคือ มันทำอะไรวะ ลองไปฆ่าคนตาย ไปทำอะไรก็แล้วแต่ เอาไปติดคุก 20 ปี ก็ไม่มีใครรู้สึกอะไร แต่เพราะการส่งเอสเอ็มเอสพาดพิงถึงพระเจ้าอยู่หัว 4 ครั้งด้วยกัน 20 ปี ผมคิดว่าคนทั่วไปเลยรู้สึกว่ามันมากไป มันรับไม่ไหว นักกฎหมายจะว่าอะไรก็ว่าเถอะ แต่ผมว่าชาวบ้านไม่ได้รู้กฎหมายอย่างท่านทั้งสอง แต่ใช้หัวใจความเป็นมนุษย์ ผมถึงได้เตือนว่าสมัยอยุธยาเอามะพร้าวห้าวยัดปาก มาตรฐานความยุติธรรมในสังคมควรแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามยุคสมัย ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
นายกิตติศักดิ์ : อันนี้มีหลายประเด็น เราต้องแยกกันให้ดี อย่างแรกคือความสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ แต่ที่ท่านอาจารย์นิธิพูดถึง ต่อให้กระทำความผิดจริง สมควรจะถูกลงโทษ 20 ปีหรือไม่ นี่อีกประเด็นหนึ่ง ไปลงโทษคนที่เขาไม่ได้กระทำ อันนี้คนจะรู้สึกมาก ส่วนไปลงโทษผู้ที่ยอมรับ สมมุติจำเลยสารภาพ แม้จำเลยสารภาพว่าได้ทำจริง แล้วก็มีความเชื่ออย่างนั้นจริงโดยสุจริตใจ ต้องการจะทำอย่างนี้ แล้วก็ท้าทายด้วย ควรจะลงโทษหรือไม่ 20 ปี อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าต้องเถียงกันในสังคม โดยกฎหมายมันก็มีปัญหาอีก เพราะกฎหมายบอกไว้ว่าลงโทษขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 15 ปี กรณีนี้ลงโทษ 5 ปี แต่ลงโทษด้วยการกระทำต่างกรรมต่างวาระโดยวิธีมาบวกกัน แล้วกลายเป็นเหมือนกับว่าทำเป็นการปรามไม่ให้ผู้อื่นกระทำในทำนองเดียวกัน กรณีนี้ผมยังไม่อยากจะให้ได้ข้อยุติ อย่างที่อาจารย์นิธิว่าเขาทำจริงก็เป็นแค่เพียงสมมุติว่าเขาทำจริง เพราะเรื่องนี้คดีเขายังต่อสู้อยู่
อาจารย์นิธิพูดในสมมุติฐานอะไร
นายนิธิ : คุณถามผมว่าทำไมคนถึงหวั่นไหวถึงเรื่องความยุติธรรมกันนัก ผมไม่ได้พูดว่าเขาทำหรือไม่ได้ทำจริง แล้วก็ไม่รู้ว่าทางกฎหมายเป็นอย่างไร แต่อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ คนแก่คนหนึ่งทำผิด แล้วตัวเองก็ไม่ยอมรับด้วย
นายกิตติศักดิ์ : คดีนี้เราต้องเห็นใจจำเลยด้วย จำเลยยังต่อสู้อยู่ว่าไม่ได้ทำ ส่วนปัญหาว่าต่อให้ทำจริงควรลงโทษรุนแรงหรือไม่ เป็นเรื่องสมมุติ ผมพูดอันนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้เราอย่าไปลงความเห็นว่าจำเลยทำจริงแค่นั้นเอง
นายพนัส : ผมคิดว่าแม้จะไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่ในความรู้สึกของคนทั่วไปก็คงจะเป็นที่เข้าใจได้ การพิสูจน์ยังไม่ชัดเจน แล้วโดยสภาพของอากงเองทำให้คนเชื่อว่าไม่น่าจะทำสิ่งนี้ได้ ประกอบกับการที่ศาลวินิจฉัยว่าโจทย์ไม่สามารถนำสืบพยานได้อย่างชัดเจนชัดแจ้ง ความเข้าใจของคนทั่วไปมีความรู้สึกว่าในเมื่อยังไม่มีความชัดเจนทำไมไม่ยกประโยชน์ให้จำเลย ทำไมลงโทษเขารุนแรงถึงขนาดนั้น แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์กิตติศักดิ์พูดคือ เนื่องจากเรายังไม่ทราบว่าข้อความที่ว่านี้เป็นอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอีก
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์กิตติศักดิ์ว่าถ้าหากข้อความนี้ชั่วร้ายมาก รุนแรงมาก โทษกระทงละ 5 ปี เหมาะสมหรือเปล่า ผมว่าเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณากัน อย่าลืมว่าคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นๆในอดีตอย่างประเทศฝรั่งเศส ถ้าผมจำไม่ผิดโทษคือประหารชีวิต แต่ตอนหลังความคิดความอ่านของคนก็เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่ในประเทศอังกฤษเองความผิดฐานนี้รัฐสภาก็ยกเลิกไป เหลือความผิดที่แปลเป็นภาษาไทยคือความผิดฐานกบฏ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการพูดจาในลักษณะที่คล้ายว่าระบบนี้ไม่ควรมีอยู่ต่อไปแล้ว ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากในประเทศอังกฤษว่าหากมีคนพูดในทำนองว่าอยากให้ประเทศมีระบอบการปกครองเป็นสาธารณะรัฐนั้นผิดกฎหมายฐานเป็นกบฏหรือไม่ ตอนนี้กำลังเสนอร่างกฎหมายให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ไป
เท่าที่อาจารย์ประมวลข่าวมาทั้งหมด อะไรคือประเด็นที่ติดค้างใจอาจารย์มากที่สุด
นายนิธิ : อย่างที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ว่ามาตรฐานความยุติธรรมมันเปลี่ยน เวลานี้ผมคิดว่ากฎหมายที่เราเรียกกันว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าปกป้องเสียอีก เพราะในโลกปัจจุบันคุณไม่สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยกลายเป็น 2 สิ่งที่ขัดแย้งกันได้ ถ้าคุณใช้มาตรา 112 แบบนี้อยู่บ่อยๆ ตลอดเวลา ก็กลายเป็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออก ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องมีมิติทางการเมืองเข้ามาแทรกด้วย คือต้องเข้าใจให้ดีๆว่าถ้าเราต้องการรักษาเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ต้องไม่ผลักให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย
พอเกิดกรณีอากงเลยมีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ในมุมมองของอาจารย์ควรแก้หรือไม่ และจะแก้อย่างไร
นายนิธิ : จริงๆแล้วมีการเรียกร้องให้แก้หรือทบทวนมาก่อนหน้ากรณีอากงนานมากแล้ว เหตุผลสำคัญคือช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา สถิติการฟ้องร้องคดี 112 เพิ่มขึ้นไม่รู้เท่าไรแล้ว มากมายเหลือเกิน เพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา ซึ่งชัดเจนว่าหากคุณปล่อยเอาไว้ก็จะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดเวลา มันน่ากลัวมากๆ กระบวนการยุติธรรมของเราจะถึงขั้นไหนผมไม่ทราบ แต่มีลักษณะของการปัดความรับผิดชอบ เพราะถ้าผมถูกแจ้งความ ผมก็ทำเรื่องไปให้อัยการ อัยการไม่อยากฟ้องก็ว่าไป ก็จะเกิดการปัดความรับผิดชอบกันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาเดือดร้อนกันค่อนข้างมาก
ในขณะเดียวกันผมคิดว่ามีจุดอ่อนในมาตรา 112 หลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือโทษไม่ได้สัดส่วน 3-15 ปี รุนแรงมากถ้าเปรียบเทียบกับกฎหมายทำนองเดียวกันในสมัยเดียวกันกับประเทศอื่นๆ อย่างที่ 2 คือวิธีการบังคับใช้กฎหมาย ผมว่ามีปัญหา นอกจากเรื่องการผลักความรับผิดชอบอย่างที่ว่าแล้ว ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ประกันตัว เพราะถูกพิจารณาว่าเป็นคดีร้ายแรง นอกจากนั้นในตัวกฎหมายเองผมคิดว่ามีความคลุมเครือ แค่ไหนจึงเป็นการหมิ่นประมาท แค่ไหนจึงเป็นการอาฆาตมาดร้าย แค่ไหนจึงเป็นการดูหมิ่น ผมคิดว่าต้องอาศัยการตัดสิน วินิจฉัยโดยผู้พิพากษาว่าอันนี้เป็นการดูหมิ่น อันนี้ไม่ใช่การดูหมิ่น
จริงๆถ้าคุณขยันพอที่จะย้อนกลับไปดูคำพิพากษาคดีนี้ที่ผ่านมาหลายต่อหลายคดี ผมคิดว่าบางคดีค่อนข้างขัดแย้งกันเองด้วยซ้ำไป ประเด็นก็คือ ถ้าคุณปล่อยให้กฎหมายอยู่ในวินิจฉัยของคนมากเกินไป ไม่มีเลยก็ไม่ได้ ต้องมีบ้าง แต่ถ้ามากเกินไปจะล่วงล้ำเข้าไปสู่สิ่งที่เป็นสำนึกของคน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าอาชญากรรมของสำนึก แล้วถ้าคุณไม่อ่านคำพิพากษาบางอันเป็นเรื่องของอาชญากรรมสำนึกทั้งสิ้น เช่น ตำหนิผู้ที่ต้องคำพิพากษาว่าปราศจากความจงรักภักดี ความจงรักภักดีนี้ต้องมีในกฎหมายนะ เพราะผมรู้จักแต่กฎหมายตรา 3 ดวง แม้แต่กฎหมายโบราณขนาดนั้นก็ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ เช่น ความนึกคิดจิตใจของคนควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณเริ่มเปลี่ยนกฎหมายอันนี้ให้กลายเป็นอาชญากรรมของสำนึก ซึ่งอันตรายมากๆแล้วโดยไม่รู้ตัว ไปอ้างความจงรักภักดี ความไม่รู้จักบุญคุณ และอื่นๆ คนละเรื่องเลย
นอกจากนั้นผมคิดว่าการอนุญาตให้กฎหมายให้ความผิดอันนี้ถูกฟ้องโดยสาธารณชนได้ อันนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งเหมือนกัน เพราะเปิดโอกาสให้มีการใช้เป็นเครื่องมือ ในขณะเดียวกันยิ่งฟ้องมากยิ่งกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณจำพระราชดำรัสเมื่อปี 2548 ได้ไหม การใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยิ่งใช้มากก็ยิ่งสร้างความเจ็บปวด สร้างความเดือดร้อนมากขึ้น คงจำได้กรณีนักการเมืองจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังเรื่อง “ปรีดีฆ่าในหลวง” อันนั้นเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่สกปรก ผมยอมรับเพราะเป็นนักการเมืองด้วยกัน แต่ปัจจุบันคุณสามารถไปฟ้องใครก็ตาม แต่ในคดีอาญา 112 คนเล็กคนน้อยเข้าใจไหม คุณเองกลับได้เครดิตขึ้นมา มันไม่ใช่การต่อสู้ของนักการเมืองต่อนักการเมืองแล้ว ผมกับอาจารย์พนัสเป็นนักการเมืองต่อสู้กัน แต่ผมไปฟ้องคุณเพื่อทำให้ชื่อเสียงผมดีขึ้นว่าผมมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเป็นพิเศษ อาจารย์พนัสก็ไปฟ้องอาจารย์กิตติศักดิ์ วุ่นวายไปหมด คนเล็กคนน้อยจำนวนมากในคดีในปี 2553 ไม่ใช่คน ไม่ใช่นักการเมืองที่โดนคดีเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการเป็นเครื่องมือทางการเมืองยิ่งอันตรายมากขึ้นทุกที ผมคิดว่าจากข้ออ่อนเหล่านี้อย่าไปแก้มัน ผมว่าคุณต้องแก้ คุณต้องทบทวน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คุณต้องทบทวนดูให้ดีว่าจะทำอย่างไร
ประเด็นสุดท้ายในฐานะนักกฎหมาย แค่ตรา 3 ดวง ไม่ใช่นักกฎหมายแบบอาจารย์พนัส ผมออกจะสงสัยว่ามาตรา 112 เทียบกับคดีหมิ่นประมาทบุคคลไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกใส่อยู่ในความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ผมคิดว่าหมายความว่าถ้าคุณพูด คุณทำ คุณเขียนอะไรก็แล้วแต่ที่มุ่งหวังจะให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากราชอาณาจักรไปสู่อะไรที่ไม่ใช่ราชอาณาจักร อันนั้นถึงจะเป็น 112 เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจตามผม อากงไม่ผิด สิ่งที่เขาทำมันน้อยไปเกินกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองราชอาณาจักรได้
การที่สังคมแบ่งเป็น 2 ข้าง ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำโดยไม่ฟังเหตุและผลของกันและกัน ความน่ากลัวของสังคมไทยในอนาคตคืออะไร
นายนิธิ : ความน่ากลัวคือเราต้องตีกัน ผมคิดว่าเราต้องตีกันมากขึ้น ตีในที่นี้ไม่ได้หมายความแต่เพียงรบราฆ่าฟันกันอย่างเดียว อันนั้นส่วนหนึ่ง แต่ตีกันในทุกๆเรื่อง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ผมคิดว่าเราสามารถแก้ปัญหาได้โดยการข้ามพ้นไปจากความขัดแย้ง เป็นการชั่วคราวก็ยังได้ แต่เราก็ข้ามไม่พ้นสักที
สรุปสั้นๆ ผมคิดว่าสังคมเปลี่ยนไปมากเกินกว่าที่จะรักษาโครงสร้างแบบเก่าเอาไว้ได้แล้ว ตัวอย่างง่ายนิดเดียว เช่น ทะเลาะกันเรื่องเขื่อนกั้นน้ำ ถ้าเป็น 40 ปีที่แล้ว คุณจะกั้นยังไงก็ไม่มีใครรู้สึกอะไร ไม่ใช่ไม่รู้สึก รู้สึกแต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็ยอมให้ท่วมไป แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว คนปทุมธานีไม่ใช่คนยากจนอย่างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขามีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนสีลม แล้วเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องมารื้อเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำ แต่โครงสร้างของเราเป็นโครงสร้างที่ให้อำนาจไว้อย่างไม่เท่าเทียม คุณอยากจะแก้ตรงนี้ไหม ตราบเท่าที่เรายังไม่แก้ตรงนี้ ผมคิดว่าสังคมไทยเราจะเผชิญความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
นายกิตติศักดิ์ : การที่เราปกปิดหรือไม่พูดในสิ่งที่ควรพูด ทำให้คุณค่าคือสัจจะที่อยู่ในสังคมไม่เอาความจริงมาตีแผ่แล้วถกเถียงกันด้วยสติปัญญา ก็จะไม่เจริญ หรือพูดง่ายๆมันเสื่อม สังคมใดก็ตามที่คุณค่าในเรื่องสัจจะคือความเป็นจริง ความมีเหตุผลด้วยสติปัญญา สังคมนั้นก็จะตัดสินกันด้วยอำนาจ แล้วก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เหมือนกับเรื่องกั้นเขื่อน จะเห็นได้ว่าในที่สุดมีข้อยุติ 2 ทางคือ 1.ทางราชการกับประชาชนสามารถตกลงกันได้ด้วยเหตุผลก็ยุติลง แต่ถ้าหากไม่รับฟังเหตุผลกัน ในที่สุดก็ใช้อำนาจและใช้กำลัง เมื่อไรก็ตามที่สัจจะกับสติปัญญาลดถอยลงคนก็จะหันมาตัดสินกันด้วยกำลัง จากนั้นก็จะเกิดการจลาจล กรณีอย่างนี้ถ้าเราพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ในคติของเราคือธรรมะที่ปรากฏในมนุษย์ เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่ได้ด้วยสัจจะ ดำรงอยู่ได้ด้วยสติปัญญาของสังคม ถ้าสติปัญญาของสังคมไม่มี สัจจะของสังคมก็อยู่ไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ด้วยอะไร ด้วยอำนาจอย่างนั้นหรือ คำตอบก็คือถ้าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ด้วยอำนาจอย่างเดียวแล้วละก็ ตอนนั้นจะเป็นจุดที่ถึงภาวะที่จะมีผู้เอาอำนาจมาล้มล้างได้ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องดำรงอยู่ในสังคมด้วยสติปัญญา ยึดถือความจริงและเหตุผลของสังคม ประกอบกับความกล้าหาญที่จะรักษาความถูกต้อง สิ่งนี้เราจะปล่อยให้เสื่อมไม่ได้
นายพนัส : ผมเห็นด้วยกับอาจารย์กิตติศักดิ์ว่าต้องทำให้สัจจะให้เกิดขึ้นในสังคมจึงจะแก้ปัญหาได้ สติปัญญาก็จะติดตามมา แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือขณะนี้สิ่งที่ปิดบังอยู่คือความกลัว ไม่มีใครกล้า ถามว่าทำไมถึงไม่กล้า ก็เพราะว่ากลัวโดน พูดอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นสัจจะ พูดความจริง อย่างที่อาจารย์กิตติศักดิ์บอกว่าแล้วมีหลักประกันอะไรที่ว่าพูดความจริงแล้วจะไม่โดนกล่าวหา ยิ่งเดี๋ยวนี้โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ค เขามีกลุ่มไล่ล่าแม่มดอะไรอย่างนี้ ซึ่งเหมือนเป็นกลุ่มที่คอยไล่ตามดูทั้งหมดว่าใครบ้างที่ยังมีปฏิกิริยา หรือมีท่าที มีทรรศนะอะไร ซึ่งโดยมาตรฐานเขาเห็นว่าผิด ก็พร้อมที่จะเล่นงาน ผมคิดว่าในสังคมไทยกำลังมีสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวมากๆเลย อันนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าแล้วความกลัวที่จะทำให้คนเกิดความกล้าหาญอย่างที่อาจารย์กิตติศักดิ์เสนอ จะมีใครสักกี่คนที่จะกล้าทำอย่างนั้น
อาจารย์นิธิ เรื่องที่เราพูดกันมาทั้งหมดอาจจะเปรียบกับยอดภูเขาน้ำแข็ง สังคมก็อาจตั้งคำถามต่อไปว่าถ้าอย่างนั้นภูเขาน้ำแข็งทั้งลูกที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมไทยที่อาจารย์มองเห็นคืออะไร
นายนิธิ : สรุปให้เหลือสั้นๆคือ โครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรมต่างๆมีความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมอยู่ในนั้นเยอะมาก ครั้งหนึ่งเราอยู่กันได้ท่ามกลางโครงสร้างเหล่านี้ แต่อย่างที่ผมพูดเมื่อสักครู่ ผมว่าสังคมมันเปลี่ยน โครงสร้างที่เราเคยชินนั้นไม่สามารถทำให้เราอยู่ร่วมกันต่อไปได้ คุณต้องกล้าพอที่จะปฏิรูปมัน
อาจารย์กิตติศักดิ์เห็นอะไรที่ลึกลงไปในทะเล เราซ่อนอะไรภายใต้พรมบ้างในประเทศนี้
นายกิตติศักดิ์ : ผมว่าเรากำลังเผชิญอยู่ในสถานการณ์ตอนที่ใกล้เสียกรุง เราเสียกรุง 2 ครั้งในสมัยอยุธยา ตอนที่เรากำลังรวยเต็มที่ คือเรารวยเหมือนกับต้นไม้ที่เติบโตมีกิ่งก้านสาขา แต่รากมันลงไม่ลึก ถือว่าโครงสร้างที่จะรองรับความเติบโตนี้มีไม่พอ เหมือนกับที่อาจารย์นิธิว่ามันต้องมีรากลึกเพียงพอที่จะรับเอาไว้ได้ เมื่อลมพัดมา ถ้ารากของต้นไม้ลึกไม่พอ เผชิญกับเหตุการณ์เล็กๆไม่เท่าไรก็จะล้มครืนได้ฉับพลัน
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++