--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

พระสงฆ์ กับ สังคมไทย !!?


ต้องกล่าวว่า ในอดีต การควบคุมทางสังคม(Social control) และ การขัดเกลาทางสังคม(Socialization) ของสังคมไทยล้วนอยู่ในมือของ ระบบคู่ทางสังคมคือ ระบบอาณาจักรและระบบศาสนจักร
     
อาณาจักรคือระบบศักดินาสวามิภักดิ์แบบไทย(Thai  absolute monarchy)ส่วนศาสนจักรคือพุทธศาสนานิกายหินยานแบบไทย
     
โครงสร้างชั้นล่าง(Base structure)คือระบบอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองถูกกำหนดโดยชนชั้นปกครองคือท้าวพระยามหากษัตริย์ ส่วนโครงสร้างชั้นบนหรือวิถีแห่งวัฒนธรรมทั้งปวง(Super structure)มักถูกกำหนดโดยโดยหลักศาสนปฏิบัติเชิงพุทธผสมพราหมณ์ผสมระบบผีบรรพบุรุษ มีอิสลาม ขงจื้อ และคริสต์เจือปนผสมผสานในภายหลัง
     
ฐานรากทั้งหมดของระบบคุณค่า ทั้งในเรื่องระบบคุณธรรม จริยธรรมและคตินิยมความเชื่อ ล้วนได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรง(ระบบการศึกษาแบบ ประสิทธิ์ประสาทและการ อบรมบ่มเพาะ) และ โดยอ้อม(คือกระแสคตินิยมทั้งหลาย) จึงมาจากศาสนจักรล้วนๆ
     
บุคลากรสำคัญของศาสนาพุทธคือพระสงฆ์
     
พระสงฆ์ในสังคมจึงมักมีบทบาททางสังคมสูงมาโดยตลอดทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งด้านบวกและด้านลบ
     
กล่าวแบบตรงไปตรงมาก็คือศาสนจักรจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือของอาณาจักรโดยเจตนาทางการปกครอง หลายครั้งโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์, เราจึงพบว่าคณะสงฆ์ไทยมักมี สังฆราชŽ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดทางศาสนจักรเป็น คนในŽคือเป็นราชนิกูลชั้นสูงระดับพระองค์เจ้า(หรือต่ำกว่านั้น)อยู่เสมอมา
     
พูดให้เห็นภาพง่ายเข้าอีกก็คือ ชนชั้นศักดินาหรือกษัตริย์ ส่งคนของตัวเองเข้ามาดูแลควบคุม ผู้สร้างจิตวิญญาณและคตินิยมของสังคมŽ คือคณะสงฆ์โดยตรง วิธีดูง่ายๆก็คือ สังฆราชพระองค์ใดที่มีพระนามเรียกเริ่มต้นว่าสังฆราชเจ้า(แทนจะเรียก สังฆราชŽเฉยๆ) นั่นแหละคือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นราชนิกูลละ
       
คงเป็นเพราะศาสนาพุทธนั้นมีเจตนาในการประกาศศาสนาของพระพุทธองค์อยู่ที่เพราะพระเมตตาต้องการช่วย สัตว์โลกŽ (ทั้งเวไนยสัตว์และอเวไนยสัตว์)ให้พ้นทุกข์เป็นเบื้องต้น หลายครั้งเราจึงพบว่ามีมหาสมณะในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากปฏิบัติตนเป็น พระโพธิสัตว์Ž โดยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจทางอาณาจักรของบรรดาคฤหัสถ์โดยตรง
       
หลายครั้งกิจเหล่าเป็นกิจŽเพื่อชาติเพื่อประชาชนŽล้วนๆ  เป็นเรื่องที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของบรรดาชนชั้นปกครองโดยตรง
       
นอกจากบรรดามหาสงฆ์ในส่วนกลางแล้ว ยังพบว่า มีสงฆ์เรืองนามและเรืองบารมีในประวัติศาสตร์ของคามนิคมบ้านนอกชนบทหรือหัวเมืองเล็กๆไม่น้อยที่ประกอบกิจเช่นนั้น มีกรณีพระเมืองพัทลุงที่เป็นหัวเมืองเล็กๆทางปักษ์ใต้หลายรูป หลายสมัย ที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับ กิจป้องชาติ-ปราบโจรŽ
       
ที่เห็นชัดๆและมีผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลไว้แล้วไม่น้อยจนพอยกเป็นตัวอย่างได้ชัดก็คือ กรณีของพระมหาช่วยแห่งวัดป่าลิไลย์ และกรณีของพระอธิการนุ้ย สหัสฺสเตโช แห่งวัดกุฎ(วัดสุวรรณวิชัยในปัจจุบัน)อำเภอควนขนุน
       
กรณีของพระมหาช่วย วัดป่าลิไลย์นั้น สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ (ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์-บรรณาธิการ)เขียนโดยอาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีท้องถิ่นชาวพัทลุงคนสำคัญ สรุปได้ว่า พระสงฆ์เรืองนามท่านนี้ เป็นต้นตระกูล ศรีสัจจังŽและ สัจจะบุตรŽ เกิดที่บ้านน้ำเลือด ตำบลท่ามิหรำ(อยู่ในเขตอำเภอเมืองพัทลุงในปัจจุบัน) บวชเรียนเป็นพระภิกษุที่วัดเขาอ้อซึ่งเล่าลือกันว่าเป็น ตักษิลาŽแห่งภาคใต้มาตั้งแต่ครั้งยุคกรุงศรียุธยา
      
เล่ากันว่า พระช่วยนั้นร่ำเรียนเก่งกาจสอบเป็น มหาŽ ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงเก่งบาลีเก่งปริยัติอย่างหาตัวเทียบยาก ขณะเดียวกัน ในด้านวิชาไสยศาสตร์ที่ลือลั่นทั้งหลายของสำนักเขาอ้อ ก็ร่ำเรียนปฏิบัติตามคำพระอาจารย์อย่างมิตกหล่น จึงกลายเป็นที่ระบือลือลั่นในความขลังมาตั้งแต่ครั้งนั้น เข้าทำนองที่มีนักกวีชาวพัทลุงบางคนเขียนเล่าไว้เป็นกลอนว่า
       
ตื่นเช้าทุกวันอาบน้ำว่าน/เพื่อคงกะพันทนทานต่อทุกอย่าง
       
ฟันแทงไม่เข้าระคายคาง/ตกบ่ายเรียนข้างคัมภีร์มนต์.
       
ด้วยเกียรติภูมิดังกล่าว ภายหลังพระมหาช่วยจึงได้รับนิมนต์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าลิไลย์ ซึ่งเป็นวัดสำคัญตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆกับตำบลลำปำที่ตั้งเมืองพัทลุงขณะนั้น ความโดดเด่นของท่านจึงยิ่งระบือลือขานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
ใครเคยอ่านหนังสือเล่มสำคัญของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยคนแรกของไทย ที่ชื่อ ไทยรบ-พม่าŽ คงจำได้ว่าท่านรจนาถึงเรื่อง สงครามเก้าทัพŽไว้อย่างละเอียดละออ โดยเฉพาะวีรกรรมของนักรบไทยที่ทุ่งลาดหญ้าเมืองกาญจนบุรีในครั้งนั้น ทุ่งลาดหญ้านั้นตั้งอยู่ห่างจากเมืองกาญจน์ฯไปเพียงประมาณ 10กิโลเมตร ใกล้ๆกับจุดที่แม่น้ำน้อยกับแม่น้ำตะเพินไหลมาบรรจบกัน
         
สงครามเก้าทัพนี้นับเป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่าราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรพม่า เป็นสงครามที่ต้องถือว่ามีความสำคัญกับราชอาณาจักรไทยมาก เพราะเมื่อวิเคราะห์ดู หากไทยแพ้สงครามครั้งนี้ ไทยก็ต้องถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรพม่า และภายภายหลังเมื่อพม่าต้องเสียเมืองเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ ไทยก็ย่อมถูกโยกไปเป็นเมืองขึ้นเป็น อาณานิคมŽ ของอังกฤษด้วยเช่นกันมิใช่หรือ
         
วีรกรรมยิ่งใหญ่ของพี่น้องไทย(ทั้งฝ่ายนำคือชนชั้นกษัตริย์และทหารกล้าที่มาจากชนชั้นประชาราษฎร์ธรรมดา)ในครั้งนั้นที่รบชนะพม่าจึงต้องถือว่ายิ่งใหญ่นัก
         
มี วาทกรรมŽ สำคัญที่คนไทยในยุคแห่งความขัดแย้งแตกสามัคคีอย่างปัจจุบันควรสำเหนียกจากสงครามเก้าทัพอยู่หลายชุด แต่ที่เห็นว่าน่าจะนำมา บอกต่อŽ ก็คือคำตรัสของสมเด็จพระอนุชาธิราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ที่สงครามทุ่งลาดหญ้าครั้งนั้น

วาทะดังกล่าวแม้จะเป็นเหมือน วาทะปลุกใจŽ แต่ก็สะท้อนสำนึกและสัจจะในความเป็นคนไทยได้อย่างดีเยี่ยม
            
พวกเจ้าเป็นไพร่หลวง ข้าเป็นพระราชวงศ์ แต่เจ้ากับข้าเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของแผ่นดินเหมือนกัน รบวันนี้ เราจะแสดงให้ผู้รุกรานเห็นว่า เราหวงแหนแผ่นดินแค่ไหน...ข้าจะไม่ขอให้พวกเจ้ารบเพื่อใคร นอกจากรบเพื่อเแผ่นดินของเจ้าเอง แผ่นดินที่เจ้ามอบให้ลูกหลานของเจ้าได้อยู่อาศัยเป็นสุขสืบไป...Ž
           
หรือใครว่าวาทะนี้ไม่เหมาะกับสยามยามนี้
           
โปรดติตามตอนต่อไปด้วยใจระทึก-พลัน.....

ที่มา.สยามรัฐ
--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น