--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

เหตุผล : รัฐบาลขวางประชุมวุฒิสภา !!?

โดย : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

เนื่องจาก "วุฒิสภา" คือ กลไกสำคัญหนึ่งใน "เกมชิงอำนาจ" การ "สกัด" ไม่ให้วุฒิสภาเข้ามาเกี่ยวข้องในเกม คือสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในตอนนี้

ในหมากเกมที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมองไว้ คือ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี จะใช้ช่องทาง "วุฒิสภา" ในการเสนอชื่อนายกฯ ตามมาตรา 7 ขณะที่ในคำร้องของ "ไพบูลย์ นิติตะวัน" ส.ว.สรรหา ได้ขอไปด้วยว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากความเป็นนายกฯ ให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และ 173 มาใช้โดยอนุโลม นั่นคือ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนฯ เพื่อเลือก "นายกรัฐมนตรี"

เมื่อต้นเดือนทางวุฒิสภาได้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้กราบบังคมทูลเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ในวันที่ 18 เมษายน เพื่อดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา จากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว., ให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าเป็น ป.ป.ช. แทนนายใจเด็ด พรไชยา ที่พ้นวาระเนื่องจากอายุครบ 70 ปี และพิจารณาบุคคลดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 ที่กำหนดว่าในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาจะประชุมไม่ได้ ยกเว้นเรื่องที่กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคล

แทนที่นายกฯ จะดำเนินการตามที่วุฒิสภาส่งเรื่องมา กลับมีการสั่งการให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือไปถามความเห็นจาก "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" และเมื่อวันที่ 4 เมษายน นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ทำความเห็นกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยสรุป คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นทำนองว่า ไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อให้วุฒิสภาดำเนินการดังกล่าวได้

ความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยสรุป คือ

1.การจะเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อถอดถอนบุคคล ไม่สามารถใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 128 วรรคสาม ที่กำหนดให้เรียกประชุมวิสามัญใน "กรณีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ"

2.ในส่วนกระบวนการถอดถอนบุคคล หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องมานอกสมัยประชุม ประธานวุฒิสภาต้องแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเพื่อดำเนินการกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมสมัยวิสามัญ แต่ตอนนี้ไม่มีประธานรัฐสภา

3.สมาชิกภาพของ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม จะนับตั้งแต่วันดังกล่าว ดังนั้น หากหลังวันที่ 30 มีนาคมจนถึงก่อนวันที่ กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง หากมีการดำเนินการของวุฒิสภา อาจจะเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบวุฒิสภาขึ้นมาได้ ว่าจะประกอบด้วย ส.ว.ใด และถูกต้องหรือไม่

4.ระยะเวลา 20 วันตามข้อบังคับวุฒิสภา ที่กำหนดให้ประชุมนัดแรกหลังจากได้รับเรื่องถอดถอนบุคคลจาก ป.ป.ช.เป็นระยะเวลาเร่งรัด ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนั้นจะถอดถอนไม่ได้

พิชิต ชื่นบาน มือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ขยายความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 132 เรื่องการประชุมวุฒิสภาในช่วงที่ไม่มีสภาผู้แทนฯ นั้น ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าจะให้ทำโดยวิธีใด ต่างจากมาตรา 128 วรรคท้าย ที่กำหนดไว้ว่า การประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญให้ทำโดยพระราชกฤษฎีกา เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติวิธีการไว้ชัดๆ เราก็ต้องตีความตามตัวบทกฎหมาย จะไปคิดเอาเองไม่ได้ว่าให้ทำโดยวิธีใด

"ผมก็เห็นเหมือนคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ จะมาแปลว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่" นายพิชิต กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลคงทำตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาใช่หรือไม่ นายพิชิต กล่าวว่า "ก็คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล"

"ถ้าคุณสุรชัย (รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา) เห็นว่าสามารถประชุมได้ ก็นัดประชุมไปเลย ถ้าเห็นว่าทำได้ก็ต้องกล้าหาญดำเนินการไปเอง แต่คุณสุรชัยก็ต้องคิดว่าตัวเองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะดำเนินการถอดถอน หรือจะดำเนินการให้ใครเป็นนายกฯ ตามมาตรา 7 ก็ต้องคิดให้มาก" นายพิชิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม "ไพบูลย์ นิติตะวัน" เปิดเผยว่า กรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แล้วมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อแต่งตั้งบุคคล เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2549 หลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา โดยครั้งนั้นเป็นการประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก กกต. โดยนายกฯ รักษาการในขณะนั้น คือ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้กราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมสมัยวิสามัญ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า การประชุมวุฒิสภานัดดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2549 โดยเป็นการประชุมเพื่อเลือกคณะกรรมการการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการเลือกตั้งชุดเดิมที่ถูกศาลอาญาตัดสินให้จำคุก ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบโดยการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคไทยรักไทย ในครั้งนั้นรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการให้มีการเปิดประชุม โดยคณะรัฐมนตรีได้รับทราบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญ และร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสมัยวิสามัญดังกล่าว ในวันที่ 5 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 168 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกับมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่วุฒิสภากำลังขอให้ดำเนินการอยู่

ชัดเจนยิ่งกว่าชัดเจน ว่ารัฐบาลกำลังสกัดวุฒิสภาไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องในเกมการเมืองที่กำลังจะเข้าสู่ "ฉากสุดท้าย" ซึ่งวิธีการที่จะสกัดวุฒิสภาได้ ก็คือตีความว่าวุฒิสภาไม่สามารถเปิดประชุมได้

การตีความดังกล่าวของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งฝ่ายรัฐบาลเห็นด้วยนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการรับรอง ส.ว.เลือกตั้งของ กกต. ว่าจะถึงหรือไม่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ เพราะถึงแม้ กกต.จะรับรอง ส.ว.เลือกตั้งมาได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ แต่หากตีความว่าเมื่อไม่มี "สภาผู้แทนราษฎร" ก็ไม่สามารถเปิดประชุมวุฒิสภาได้ ทุกอย่างก็จบ วุฒิสภาก็ประชุมไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร

ถ้ารัฐบาลยังไม่ยอม...เรื่องนี้ก็คงจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
/////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น