ด้วยเหตุนี้ ในราวปลายทศวรรษ 2530 - เกือบตลอดทศวรรษ 2540 บทกวีอันมีเอกลักษณ์ทางด้านถ้อยคำ, จังหวะ และเนื้อหา ของไม้หนึ่ง จึงมีตำแหน่งแห่งที่อันมั่นคงหนักแน่นอยู่บนหน้า 66 ของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
หลังการเสียชีวิต เพราะถูกลอบสังหาร ของไม้หนึ่ง เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา
ทีมข่าวจึงขออนุญาตนำ คำนำเสนอ ที่บก.อาวุโสอย่างเสถียร เขียนให้แก่หนังสือ "บางเราในนคร" หนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของ กวีหนุ่มในยุคนั้น (พ.ศ.2541) อย่างไม้หนึ่ง ก. กุนที
มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อเป็นการรำลึกถึงการจากไปของกวีข้าวหน้าเป็ด, กวีโพสต์โมเดิร์น, กวีเสื้อแดง และ ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย
มีคนถามตั้งแต่เมื่อแรกที่ ลงบทกวีของไม้หนึ่ง ก.กุนที ติดต่อกันแล้วว่า ทำไมถึงได้ทำเช่นนั้นเสมือนจะต้องการสำแดงนัยอะไรบางประการ
ชอบ..
นี่ย่อมเป็นคำตอบบนพื้นฐานแห่งความเชื่อที่ว่า กวีนิพนธ์เป็นเรื่องของอารมณ์ เป็นเรื่องของความรู้สึก
กวีนิพนธ์ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล
อย่างไรก็ตามในความชอบที่มีอยู่ก็มิได้เป็นความชอบที่เลื่อนลอย ชอบอย่างว่างเปล่า
อย่าว่าแต่กวีนิพนธ์เลย แม้กระทั่งบอกว่าชอบดอกไม้ บอกว่าชอบสายน้ำ บอกว่าชอบเสี้ยวจันทร์ ยังต้องอธิบายเลย
แล้วไฉนความชอบต่องานของไม้หนึ่ง ก.กุนที จะอยู่เหนือคำอธิบายเล่า
ถึงแม้ว่างานศิลปะจะเป็นเรื่องเหนือกาล เหนือเทศะ
เหมือนกับกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ยังทรงเสน่ห์แม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 200 ปีแล้วก็ตาม
เหมือนกับกวีนิพนธ์ของเช็กสเปียร์ สามารถข้ามพรมแดนจากสหราชอาณาจักรมาได้รับความนิยมแม้แต่ในประเทศไทย
แต่งานนั้นๆ ก็ย่อมจะต้องแสดงออกในลักษณะเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยของตน
สัจจะอันปรากฏในงานของสุนทรภู่อาจพิสูจน์ได้แม้กระทั่งในทุกวันนี้ แต่รูปแห่งการสำแดงออกของท่านก็เป็นปฏิมาอันสะท้อนลักษณะรวบยอดของยุคสมัยได้อย่างเด่นชัด
เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัย เป็นเสียงแห่งยุค
จากยุคสุนทรภู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในทางสังคมและในทางวัฒนธรรม น่ายินดีที่กรอบอันสุนทรภู่ได้กำหนดเอาไว้ยังดำรงอยู่และได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่กวีและนักกลอนรุ่นใหม่
แต่นั้นย่อมมิได้หมายถึงการเข้ามาแทนที่ ความเพียรในการค้นหางานอันมีลักษณะเป็นตัวแทนและเป็นเสียงแห่งยุคสมัยของตนอย่างเด็ดขาด
การศึกษาอดีต รับจากอดีต เป็นของดี แต่จะมาแทนที่การสร้างสรรค์ไม่ได้
ไม้หนึ่ง ก. กุนที ไม่ได้เกิดขึ้นจากว่างเปล่า ไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า
ตรงกันข้าม เขาคือผลิตผลแห่งยุคสมัยของเขาเอง
ความเป็นนักเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรมจากครูดีๆ ระดับ คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ และ นันทา ขุนภักดี ยืนยันพื้นฐานทางวรรณคดีโบราณของเขาได้ระดับแน่นอนหนึ่ง
ยืนยันถึงการผ่านรูปการสำแดงออกของสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 มาแล้ว
ขณะเดียวกัน มิใช่ว่าเขาจะไม่เคยชื่นชมผลงานอันวิจิตรบรรจงของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือแม้กระทั่งเสน่ห์อันตรึงตราจากคนร่วมสมัยที่โดดเด่นเช่น ประกาย ปรัชญา
มีการต่อสู้อย่างแน่นอน เป็นการต่อสู้ทางความคิด
ต่อสู้ว่าเราจะก้าวเดินไปตามขนบอันผ่านการพิสูจน์แล้วด้วยกาลเวลาของครูกวีแต่โบราณได้หรือไม่และอย่างไร
ต่อสู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ติดอยู่กับรสแห่งถ้อยวลีจากกวีร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลยิ่งกว่า
หากไม่เรียนรู้จาก "เขา" ไฉนจะรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ "เรา" ยึดติดมาอย่างเหนียวแน่น ยิ่งกว่านั้นหากไม่ทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ "เรา" มีอยู่ ไฉนจะสามารถสลัดหลุดจากอิทธิพลอัน "เขา" มีต่อได้เล่า
ขอให้ถือเอาชีวิตของ "เอี้ยก๊วย" เป็นกรณีศึกษาเถิด
โดยสายตระกูล "เอี้ยก๊วย" เป็นศิษย์ของสำนักเฉียนจึง แต่โดยความดื้อรั้นทำให้เขาได้ศึกษาพื้นฐานจาก "อาว เอี้ยง ฮง" อันเป็นภูติแห่งประจิม
ขณะเดียวกัน ยังได้วิชาจากสำนักสุสานโบราณโดยผ่านแม่นาง "เซียว เล้ง นึ่ง"
ขณะเดียวกัน การตุหรัดตุเหร่ขึ้นไปยังยอดเขาสูงทะลุฟ้าได้พบเห็นการประลองฝีมือ"อั้ง ชิด กง" ประมุขพรรคกระยาจกกับ "อาว เอี้ยง ฮง" ส่งผลให้มันได้วิชาไม้เท้าตีสุนัข
ขณะเดียวกัน ในเส้นทางพเนจรยังได้รับความเมตตาจาก "อึ้ง เอี๊ย ซือ" ภูติแห่งบูรพา
ขณะเดียวกัน ในระหว่างการจรออกนอกเส้นทางเพราะแรงกระตุ้นจากพี่อินทรีมันยังได้พบสุสานกระบี่และร่ำเรียนเคล็ดวิชาของ "ต๊กโกว คิ้ว ป่าย" ผู้ล่วงลับ
วิชาฝีมือในตัวของมันจึงสับสนและหลากหลายสำนักอย่างยิ่ง
มันเคยเพียรอย่างเต็มความสามารถที่จะหลอมรวมเอามาเป็นของตนเองระหว่างเดินทางร่วมกับลามะจากทิเบตแต่ไม่สำเร็จ
ต่อเมื่อมันผิดหวังในชีวิตเพราะการพรากจากของ "เซียว เล้ง นึ่ง" หรอก ระหว่างเร้นกายไปยังดินแดนชายทะเลอันเวิ้งว้าง มันจึงสามารถนำเอาความจัดเจนที่มีอยู่บัญญัติเป็นเคล็ดวิชาของตนเอง
จอมยุทธทำงานหนักอย่างนี้ ไฉนกวีจะมีปาฏิหาริย์ยิ่งกว่าจอมยุทธได้เล่า
ในความเป็นจริงของการเคี่ยวกรำมิได้หมายถึงเคี่ยวกรำด้านวิชาอักษร และการใช้ถ้อยคำอักษรประการเดียว ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ยังอยู่ที่การเคี่ยวกรำกับสภาพความเป็นจริงอันโหดร้ายของการมีชีวิตอยู่อีกด้วย
ไม้หนึ่ง ก. กุนที อาจมิใช่กวีผู้ยิ่งใหญ่ แต่เขาก็มีความสุขในการเคี่ยวกรำทำงานหนัก
เสถียร จันทิมาธร
บรรณาธิการบริหาร มติชนสุดสัปดาห์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือ "บางเราในนคร" ของไม้หนึ่ง ก. กุนที จัดพิมพ์โดย ยิปซีสำนักพิมพ์ (มีนาคม 2541)
------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น