--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล : หนุนปฏิรูปคุมประชานิยม.!!?

ประสาร.ผู้ว่าฯธปท.มองทางออกประเทศ แนะ2ฝ่ายเปิดใจเจรจานำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อปฏิรูป เตือนทุกฝ่าย ใช้สติ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ : เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ในท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ตลอดจนความเห็นของผู้ว่าการแบงก์ชาติที่มีต่อการปฏิรูป และการเลือกตั้ง

ตอนนี้มีข้อเสนอให้มีการปฏิรูปไม่ใช่แต่เฉพาะด้านการเมือง แต่รวมถึงระบบเศรษฐกิจ และข้าราชการด้วย โดยรัฐบาลบอกว่าต้องเลือกตั้งก่อนปฏิรูป แต่ในอีกฟากก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะถ้ายังเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมจะมีปัญหา... ประเด็นนี้ แบงก์ชาติ ในฐานะที่ต้องวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ มองว่า ควรเลือกตั้งก่อนหรือหลังปฏิรูป จึงจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ย่ำแย่อย่างที่คิด

มันเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบว่า จะเลือกตั้งก่อนปฏิรูปหรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็ได้ เพราะทั้ง 2 คำเป็นเพียงกระบวนการหรือกลไก โดยการเลือกตั้ง คือ การเลือกผู้แทนมาทำงานบางอย่าง ถ้าเป็นสูตรเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูปก็น่าจะทำได้เหมือนกัน

ความจริง 2-3 เดือนมานี้ ผมก็พยายามคิดว่า ประเทศจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งทางออกอันหนึ่งที่ผมค่อนข้างชอบ คือมีการตกลงกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่สำคัญ ถ้าเป็นพรรคการเมืองก็เป็นพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรค แต่แน่นอนก็ต้องคิดถึงภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

ถ้าเป็นสูตรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ก็อาจจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องมีข้อตกลงว่า หลังเลือกตั้งแล้ว รูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาล หรือโจทย์ของรัฐสภา คืออะไร ยกตัวอย่างเช่น ต้องทำเรื่องปฏิรูปต่างๆ และหลังจากเมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ใครชนะก็ต้องเป็นผู้ชนะ แต่แน่นอนว่า ผู้ชนะจะเป็นผู้ชนะแบบใหม่ โดยเป็นผู้ชนะที่ฟังเสียงข้างน้อยด้วย

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหลังจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่สามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และนำไปสู่การบริหารประเทศเต็มรูปแบบ ส่วนการเลือกตั้งครั้งแรกอาจมีโจทย์เฉพาะที่ต้องทำก่อน ซึ่งวิธีนี้ดูจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสายตาของชาวโลกก็น่าจะรับได้ และภายในผมคิดว่าก็น่าจะลดแรงกระหึ่มของฝ่ายต่างๆ ลงได้

แต่ทั้งหมดนี้ท้ายสุด คงต้องอยู่ที่เนื้อหาว่า การปฏิรูปที่ว่านี้ ปฏิรูปอะไร รูปแบบกลไกที่เห็นไม่ตรงกัน จะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไร

ส่วนการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ต้องกลับมาที่เนื้อหาว่า ใครที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะเวลานี้ฝ่ายที่ประท้วงยังเปิดเผยตรงนี้ออกมาไม่ชัดว่า ใครที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการ และคนที่มาตรงนี้มายังไง ซึ่งเวลานี้โจทย์ปัญหาในบ้านเมืองมีเต็มไปหมด จะทำอะไรก่อนหรือหลัง ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า ท้ายที่สุดคงต้องเลือกลำดับความสำคัญ จะทำทุกอย่างพร้อมกันคงไม่ได้

สำหรับแบงก์ชาติเอง ก็พยายามช่วยคิดในเรื่องนี้เช่นกัน ที่ผ่านมาเราได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องการปฏิรูป โดยดูว่าโจทย์อะไรที่ดูแล้วเรามีความถนัด ดูแล้วเราสามารถช่วยคนอื่นได้ ในลักษณะที่เพิ่มเติมจากที่คนอื่นทำ และไม่เป็นการไปทำอะไรที่ซ้ำกับเรื่องที่คนอื่นทำโดยที่เขามีความถนัดมากกว่าเรา

ที่แบงก์ชาติทำเน้นเรื่องอะไร

เราเน้นเรื่องการคลัง พวกนโยบายประชานิยม ว่าต่อไปควรมีกรอบอย่างไรที่จะไม่มาสร้างความเสี่ยงภัยให้กับประเทศ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะไม่ถูกใช้เป็นกลไกทางการเมืองเพื่อไปทำโน่นทำนี่ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารออมสิน เป็นต้น โดยโจทย์พวกนี้เป็นอะไรที่แบงก์ชาติมีความถนัด

อีกอันหนึ่งที่อยากทำ คือ การต่อต้านคอร์รัปชั่น แน่นอนว่าเรื่องนี้มีคนมาชวนเราเยอะ เพียงแต่เราคิดว่ามันไม่มีความหมายอะไรที่แบงก์ชาติจะไปขึ้นเวทีเพื่อเซ็นคำแถลงการณ์ร่วมต่างๆ ในเรื่องเหล่านี้ เพราะหากแบงก์ชาติคิดที่จะทำเรื่องพวนี้ จะต้องมีเนื้อหาที่มากกว่านั้น เช่น การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ พวกนี้ก็เป็นโจทย์ที่เรากำลังคิดว่าจะทำมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

สำหรับคณะกรรมการชุดที่ดูเรื่องเหล่านี้ จะเป็นการทำงานโดยอิงสายงานเดิมของแบงก์ชาติเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะมีการทำงานร่วมกับสายงานที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานข้างนอกเพิ่มเติมด้วย ไม่ใช่แค่เราคิดฝ่ายเดียว

ตอนนี้ได้ข้อสรุปบ้างแล้วหรือยัง

มีบ้าง ซึ่งเวลานี้เราอยู่ในขั้นตอนที่คิดว่า การดำเนินการอาจไม่ได้ทำเฉพาะแบงก์ชาติหน่วยงานเดียว เรากำลังคิดถึงความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจากภายนอก เช่น กระทรวงการคลัง หรือ สภาพัฒน์ ตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและอยากทำ ซึ่งพวกนี้เป็นอะไรที่สามารถปรึกษาหารือกันได้

กลับมาที่โจทย์เรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตรงนี้ก็ต้องคิดว่าจะปฏิรูปอะไร กลไกไหนจะเป็นคนทำ และที่ต้องระวัง คือ กระบวนการเหล่านี้ ถ้าจะเดินไปมันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจะมีความรู้สึกอย่างไร เรารับฟังเสียงเขาอย่างไร พวกนี้เป็นโจทย์ในมิติการเมือง ซึ่งเราเองไม่ถึงกับถนัด แต่เท่าที่เราดูเหตุการณ์จากประเทศต่างๆ ที่คล้ายๆ กับเรา เช่น แอฟริกาใต้ หรือ อินเดีย เขาก็มีความขัดแย้งคล้ายๆ กับเรา แต่สุดท้าย ทุกคนไม่สามารถที่จะยืนอยู่บนข้อเรียกร้องของตัวเองทั้ง 100% ซึ่งต้องมีฝ่ายที่ยอมถอยบ้าง ซึ่งก็นำไปสู่อะไรที่มีความยั่งยืนพอประมาณ

ผมไม่ได้ไปยึดติดกับการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะเราควรจะคิดถึงเนื้อหาสาระซักนิดหนึ่งว่า ปฏิรูปอะไร อะไรคือลำดับสำคัญ และหากความเห็นไม่ตรงกันจะตัดสินใจอย่างไร เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากกว่า

สูตรนายกฯ คนกลางมองอย่างไร

อันนี้ก็คิดหนัก โจทย์อันนี้มันเป็น Trade-off คือ มันมีได้มีเสีย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ใจผมชอบแบบแรกมากกว่า โดยผู้มีส่วนได้เสียตกลงกันแล้วนำไปสู่การเลือกตั้ง

หากเป็นการ Compromise (เจรจาประนีประนอม) ของทั้ง 2 ฝ่ายล่ะ

ถ้าเป็นกรณีนี้ ถือว่าน่าสนใจ แต่ถ้าเป็นลักษณะจู่โจมอยู่ข้างเดียว ผมก็เกรงๆ อยู่ ในเรื่องความไม่สงบที่จะเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ทำให้ต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทยเขาก็ไม่สนใจ แต่ถ้าเป็น Compromise แล้วสร้างการปฏิรูปที่ชัดเจน ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียสำคัญยอม และได้คนที่ทุกคนยอมรับ กรอบเวลาไม่เนิ่นนาน มีภารกิจชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ ดีกว่าสถานการณ์ที่ทหารจะเข้ามายึดอำนาจ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นถือว่าหนักเลย ต่างประเทศเขาไม่เอาเลย เนื่องจากโลกเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ จะทำให้การบริหารเศรษฐกิจติดขัดไปด้วย

มีใครเคยมาชวนพูดคุยนอกรอบเรื่องทางออกประเทศชาติหรือไม่

เรื่องคุยกันมีอยู่แล้ว แต่ประเภทที่เลยไปจนเป็นข่าวลือ อันนั้นเป็นการหยอกล้อทีเล่นทีจริงมากกว่า

แต่ก็มีการเอ่ยชื่อ ดร.ประสาร ในฐานะนายกฯ คนกลางด้วย ถ้ามีการทาบทามมาจะทำอย่างไรดี

คิดว่าเวลาจะเลือกเข้าทำงานอะไรซักอย่าง ผมมักจะถามตัวเองว่า Up to it (ฝีมือถึง) หรือไม่

แต่ในภาวะบ้านเมืองวิกฤติอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าฝีมือถึงอย่างเดียว อาจจะอยู่ที่ความเชื่อถือ หรือผลงานที่เคยทำมา

แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ เพราะหากจะรับอะไรมาก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งนั้นด้วย

แปลว่าไม่ปฏิเสธซะทีเดียวหากมีการทาบทามมา

ผมว่า ค่อนไปในทางปฏิเสธนะ คือ หนึ่งเราไม่ได้ up to it เท่าไร มันต่างจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่มีคนทาบทามมาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ คิดว่าจะทำมั้ย เราคิดว่าถ้าเรารับแล้วเราทำอะไรได้หรือไม่ ซึ่งการเข้าสู่ตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อันที่ยากกว่า คือ เมื่อเราได้ตำแหน่งแล้วจะทำอะไร สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ผมไม่คิดว่าผม up to it เพราะมันมีมติอื่นๆ อีกมาก เช่น มติในเรื่องของความมั่นคง

โจทย์ง่ายๆ คือ จะไปแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไร จะคุยกับนายพลทั้งหลายอย่างไร จะดูแลอำนาจการปกครองผ่านมหาดไทยอย่างไร ซึ่งเยอะมาก

ตอนที่เขาทาบทามให้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่ลังเล แต่ถ้าทาบทามมาเป็นนายกฯ คนกลางลังเล

ลังเล เพราะอันนั้น Gap (ความห่าง) ระหว่าง up to it หรือไม่ up to it มันไม่สูง เรารู้ว่าจะทำอะไร ซึ่งผมก็เห็นใจ หากใครจะขึ้นมา (เป็นนายกฯ คนกลาง) เพราะภารกิจก็หนักเอาการอยู่ แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการจัดลำดับความสำคัญ อะไรเป็นเรื่องระยะสั้น ระยะยาว และต้องอธิบายกับสาธารณชน ซึ่งจะให้กำลังใจเต็มที่ และหากยังอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็จะสนับสนุนตามกำลังของเรา หรือมติที่เราทำได้

สุดท้าย ในสถานการณ์บ้านเมืองของเราอย่างนี้ อยากจะบอกอะไรกับคนไทยบ้าง

เรื่องความมี “สติ” เวลานี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ผมดูทีวี ดูการปราศรัยต่างๆ ก็เป็นห่วงเหมือนกันว่า ถึงจุดหนึ่งเราจะขาดตรงนี้ไป แน่นอนว่าการสู้รบกันบางทีต้องหวังชนะ แต่ก็หวังว่าผู้นำเหล่านี้เขายังมีสติอยู่ แต่ถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะต้องใช้ให้มากขึ้น และลักษณะที่โจมตีกัน ก็ต้องระวังไม่ให้เกินเลยไป เพราะหากเกินเลยไปมันไม่ดี มองลึกๆ กับคำพูดที่ว่า “เราอยากทำดีเพื่อบ้านเมือง” ซึ่งเราควรต้องซีเรียสกับมัน ไม่ใช่เป็นเพียงวาทกรรม

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น