--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

บ้านเมืองไม่ได้เอาไว้เดิมพัน !!?

การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามอุดมการณ์ที่แต่ละฝ่ายยึดถือ มีแนวโน้มละทิ้งกฎเกณฑ์เข้าไปทุกขณะ ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ออกมาแจงถึงเหตุผลที่ออกมาประกาศยึดอำนาจประเทศไทย ตั้งตัวเองเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ หรือการมีอำนาจอธิปไตย เพื่อออกคำสั่งตั้งนายกฯโดยตนจะเป็นผู้สนองรับพระบรมราชโองการเอง เมื่อเร็วๆนี้ว่า ไม่ใช่ทำตัวเป็นเผด็จการดังที่ฝ่ายตรงข้ามประดิษฐ์วาทกรรมขึ้นมากล่าวหาตน แต่ทำในฐานะร่างทรงของประชาชนและยืนยันว่าทำอย่างถูกต้องเมื่ออำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของปวงชนและต้องการให้จัดการประเทศอย่างไร
   
พร้อมกันนั้นยังได้ส่งข้อความกลับไปยังกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่าถ้าแน่จริง ให้ระดมมวลชนมาเลย ถ้าน้อยกว่าก็เอาประเทศไป พวกเราจะยอมเป็นทาสแล้วชาติหน้าค่อยมาต่อสู้กันใหม่ ขณะเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้กล่าวว่านปช.จะนัดชุมนุมวันเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังบอกด้วยว่า การที่นายสุเทพรับคำท้าเป็นเรื่องดีใครมีเพื่อนร่วมขบวนการมากกว่ากัน ก็มาวัดกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
   
การที่มวลชนทั้ง 2 ขั้วการเมืองต่างเห็นพ้องในการระดมมวลชนและใช้ปริมาณเป็นเครื่องชี้วัดว่า ฝ่ายใดจะได้เมืองไปครอง หรือได้อำนาจรัฐไป ถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการระดมมวลชนมาเผชิญหน้ากัน นอกจากสุ่มเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความรุนแรงแล้ว ยังมีโอกาสที่จะเกิดผลอันไม่พึงปรารถนาต่อบ้านเมืองอีกด้วย นอกจากนี้ แม้สิทธิการชุมนุมทางการเมืองได้รับประกันตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิ์บุคคล หรือกลุ่มบุคคลนำบ้านเมืองมาเป็นเดิมพัน ดังที่แกนนำ 2ขั้วการเมืองแสดงออกมา
   
ที่ผ่านมาแม้แกนนำไม่ว่าขั้วการเมืองไหน อ้างเสมอว่า อำนาจเป็นของปวงชน แต่ในหลักความจริง ปวงชนมิได้หมายถึงกลุ่มบุคคลที่มาร่วมชุมนุมเท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงบุคคลอื่นที่อาจมีความคิดและวิธีแสดงออกถึงความต้องการทางการเมืองที่แตกต่างออกไปอีกด้วยฉะนั้นการยกเอาจำนวนมวลชนที่ระดมมาชี้ผลแพ้ชนะเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยไม่ต่างจากการหันหลังให้ระบอบประชาธิปไตย ที่ยึดมั่นในความมีส่วนร่วม และเท่าเทียม อย่างแน่นอน และวิธีการดังกล่าว ซึ่งไม่ได้อิงกับหลักกฎหมายใด หรือแนวปฏิบัติที่เคยมีมา อาจจะซํ้าเติมสถานการณ์บ้านเมืองให้สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก
   
ทั้งนี้การที่ประเทศไทยมีรัฐบาลรักษาการมากว่า 4 เดือน และมีการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อมาเกือบครึ่งปี ได้ส่งผลกระทบในหลายด้านโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานทางเศรษฐกิจทั้งของรัฐและเอกชนได้ออกมาประกาศปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจกันโดยถ้วนหน้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภคและลงทุนอยู่ในภาวะชะงักงันถึงชะลอตัว จากสภาวะความไม่แน่นอนทางการเมือง
   
กับวิกฤติการเมืองที่คงอยู่และมีแนวโน้มลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น เรามองว่าถึงเวลาแล้วที่คู่กรณีต้องมองหาหนทาง ที่จะพาบ้านเมืองออกจากกับดักทางการเมืองที่กำลังทำร้ายคนไทยทุกคนไม่ใช่ออกมาประกาศท้าทายเอาบ้านเอาเมืองมาเป็นเดิมพัน ดังที่ปรากฏอยู่เวลานี้

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น