โดย. นิธิ เอียวศรีวงศ์
เรื่องรัฏฐาธิปัตย์ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นข้อสรุปที่ถูกต้องตามตรรกะของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะคุณสุเทพประกาศมานานแล้วว่า ความเคลื่อนไหวของเขาเป็น การปฏิวัติประชาชน และการ "ปฏิวัติประชาชน" ที่ไหนๆ ในโลก ย่อมช่วงชิงเอาอำนาจอธิปไตยของผู้ถืออำนาจเดิม (ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประชาชน) มาเป็นของตนเสมอ
แต่ที่ผ่านมานับเป็นการ ปฏิวัติประชาชน ที่ประหลาดสักหน่อย เพราะคุณสุเทพเรียกร้องให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจ หากกองทัพทำตาม รัฏฐาธิปัตย์ย่อมไม่ตกอยู่ในมือของขบวนการของคุณสุเทพ แต่ตกอยู่ในมือของผู้นำคณะรัฐประหาร การปฏิวัติประชาชนย่อมสิ้นสุดลง โดย "ประชาชน" ฝ่ายคุณสุเทพอาจไม่บรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองใดๆ มากไปกว่าไล่รัฐบาลรักษาการออกไป
แต่กองทัพก็ไม่ได้ออกมา (หรือยังไม่ได้ออกมา) ยึดอำนาจตามคำเรียกร้อง เวลาก็ล่วงเลยไปจนถึงต้องพึ่งองค์กรอิสระเพียงอย่างเดียวในการขจัดรัฐบาลรักษาการชินวัตรออกไปให้ได้ แม้แต่วุฒิสภารักษาการก็อาจพึ่งพาไม่ได้เต็มที่ เพราะไม่ช้าก็เร็ว จะมีวุฒิสมาชิกที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้าไปสมทบ และทำให้การได้มาซึ่งคะแนนเสียง 2 ใน 3 ไม่อาจเป็นไปได้ ทางเลือกของคุณสุเทพจึงเหลืออยู่ทางเดียว คือหันกลับมา "ปฏิวัติประชาชน" กันจริงๆ เสียที
แม้กระนั้น การปฏิวัติประชาชน ของคุณสุเทพก็ยังไม่คิดจะถือรัฏฐาธิปัตย์เต็มร้อย เพราะนายกรัฐมนตรีที่คุณสุเทพจะแต่งตั้งขึ้นนั้น ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหมายความว่า จะทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบได้ และอยู่พ้นไปจากการกำหนดของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่ง "การปฏิวัติประชาชน" ของคุณสุเทพช่วงชิงมาได้
ปฏิวัติประชาชน ครึ่งๆ กลางๆ เช่นนี้ คณสุเทพคงหวังว่า จะเป็นที่ยอมรับได้ของอำนาจในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ, กองทัพ, เจ้าสัว ฯลฯ หรือที่พวกเสื้อแดงชอบเรียกว่า "อำมาตย์"
คุณสุเทพจะรู้จัก "การปฏิวัติประชาชน" แค่ไหนผมไม่ทราบ แต่จากประวัติศาสตร์ของ "การปฏิวัติประชาชน" ในโลกที่ผ่านมา ไม่มีใครคุมมันอยู่หรอกครับ ผู้นำบอลเชวิคอ้างว่า พวกเขาไม่ได้มีเจตนาจะสังหารหมู่พระเจ้าซาร์และเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดจนสิ้นซากอย่างนั้น อย่างเดียวกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ก็อ้างอย่างเดียวกันว่า ไม่ได้มีเจตนาขจัดราชวงศ์หลวงพระบางจนแทบไม่เหลือหลอเช่นกัน การแย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยล้าน โดยผู้นำแต่ละคนล้วนกล่าวว่าไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้นทั้งสิ้น แม้แต่ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้นำรุ่นแรกๆ ที่ต่อต้านอำนาจของชนชั้นนำเดิม ก็ไม่คิดว่าจะนำไปสู่ "รัชสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" (Reign of Terror) และด้วยเหตุดังนั้น ขึ้นชื่อว่า "การปฏิวัติประชาชน" แล้ว ชนชั้นนำหรืออำมาตย์ในทุกสังคมย่อมหวาดผวาทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีสัญญาจากผู้นำการปฏิวัติอย่างมั่นเหมาะเพียงไรว่าจะรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของอำมาตย์ไว้ดังเดิม เพราะแม้แต่ตัวผู้นำเองก็มักจะเอาตัวไม่รอดไปได้นานนักใน "การปฏิวัติประชาชน"
ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงเข้าใจว่า คำประกาศของคุณสุเทพยังความประหวั่นพรั่นพรึงแก่ "อำมาตย์" อย่างใหญ่หลวง แม้แต่เป็นเพียงยุทธวิธี "อำมาตย์" ฟังแล้ว ก็ยังเสียวจุงเบย
การปฏิวัติประชาชน ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้เรานึกถึง การนำภายใต้องค์กรจัดตั้ง เช่นพรรคหรือกลุ่มบุคคล เช่นการปฏิวัติรัสเซีย, จีน, เวียดนาม, คิวบา, ยุโรปตะวันออกบางประเทศ, ฯลฯ แต่การ "ปฏิวัติประชาชน" ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องของคนหลากหลายประเภท (ซึ่งเกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของยุโรปตะวันตกเอง) เข้ามาช่วงชิงอำนาจกับชนชั้นนำเดิม แล้วปลุกระดมประชาชนระดับล่าง (ซึ่งก็เปลี่ยนไปไม่น้อยในเขตเมือง) เข้ามามีส่วนร่วม อีนุงตุงนังจนกระทั่งระบบการเมืองของรัฐเปลี่ยนไป โดยไม่มีองค์กรจัดตั้งใดๆ เป็นผู้นำ
แม้แต่ "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" ของอังกฤษ (ซึ่งไม่ใช่การปฏิวัติประชาชน ไม่มีอะไรรุ่งโรจน์นัก และเกิดในศตวรรษที่ 17) ผู้นำทั้งฝ่าย Tory และ Whig ในสภา ร่วมมือกันขจัดพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับถือศาสนาคาทอลิกออกไป เพื่อนำกษัตริย์ชาวดัตช์และราชินีของพระองค์ขึ้นครองราชย์ พร้อมทั้งออกกฎหมายจำกัดพระราชอำนาจไปพร้อมกัน สองพรรคการเมืองนี้คือตัวแทนของเหล่า "ผู้ดี" ที่หลากหลายประเภทในอังกฤษเวลานั้น รวมทั้งคนในเขตเมืองซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมากด้วย... ก็เข้าลักษณะอีนุงตุงนังอยู่พอสมควรแหละ
หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส แนวคิดเรื่องรัฐประชาชาติและหลักการประชาธิปไตยขยายไปตามกองทัพนโปเลียนทั่วยุโรปตะวันตก นำมาซึ่ง "การปฏิวัติประชาชน" ในอีกหลายประเทศ โดยไม่มีองค์กรจัดตั้งใดเป็นผู้นำเพียงฝ่ายเดียว หลายรัฐต้องปรับระบบการเมืองของตนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ฉะนั้น แม้ไม่เกิด "ปฏิวัติประชาชน" ในประเทศของตน ก็ได้รับผลสะเทือนจาก "ปฏิวัติประชาชน" ในประเทศเพื่อนบ้าน
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในประเทศไทยก็ทำให้เกิด "การปฏิวัติประชาชน" จริงเสียด้วย และอาจเกิดมาโดยไม่มีใครต้องประกาศว่าเป็น "การปฏิวัติประชาชน" ด้วย จนกระทั่งถึง กปปส.ของคุณสุเทพนี่เอง การปฏิวัติก็มีลักษณะอีนุงตุงนังเหมือนการปฏิวัติในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 คือเอาเข้าจริงแล้วไม่มีองค์กรจัดตั้งใดๆ เป็นผู้นำ ผมหมายความว่าขบวนการเสื้อแดงก็ตาม กปปส.ก็ตาม สลิ่มก็ตาม ฯลฯ เป็นเพียงปรากฏการณ์ยอดคลื่นของ "การปฏิวัติประชาชน" ทั้งนั้น และด้วยเหตุดังนั้นผมจึงคิดว่าควรรวมการเคลื่อนไหวของประชาชนรากหญ้าอื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่นการสไตรก์ของแรงงาน จนถึงตั้งวิสาหกิจของแรงงานขึ้นเอง (ชุดชั้นในไทรอัมพ์เป็นต้น), สมัชชาคนจน, การต่อต้านโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก, การต่อต้านธุรกิจเหมืองทอง, การอนุรักษ์ป่า, การต่อสู้กับอุทยานที่ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ฯลฯ
เพราะความอีนุงตุงนัง "การปฏิวัติประชาชน"ลักษณะนี้ จึงไม่มีแผนหรือ scheme สำเร็จรูปว่าจะเปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างไร ก็ปฏิวัติฝรั่งเศสยังนำมาซึ่งจักรวรรดิได้เลย (แตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก "ปฏิวัติประชาชน" ของพรรคคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20) แต่จะบอกว่าไม่มีวิสัยทัศน์เอาเสียเลย เพียงแต่เคลื่อนไหวต่อรองกับโครงการที่ตนไม่ชอบ ก็ไม่เชิงนะครับ ผมคิดว่าความคิดเรื่องการปฏิรูปพลังงานเกิดกับคนรากหญ้าที่ต่อต้านโรงไฟฟ้ามานานแล้ว ก่อนที่จะถูกคนชั้นกลางฉกฉวยไปเป็นของตนเอง ความคิดเรื่องกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรของตนเองได้ ก็เกิดกับขบวนการเคลื่อนไหวของคนรากหญ้ามานานแล้วเหมือนกัน
นี่เป็นลักษณะธรรมดาที่เกิดกับ "การปฏิวัติประชาชน" ก่อนศตวรรษที่ 20 ทั่วไป กล่าวคือเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม มีคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาเคลื่อนไหวต่อรองทางการเมือง โดยสงบบ้าง รุนแรงบ้าง เพราะไม่อาจยอมรับโครงสร้างทางการเมืองที่ดำรงอยู่ได้ ไม่มีอุดมการณ์อะไรที่แน่นอน ไม่มีฝักฝ่ายที่ชัดเจนนัก เพราะทุกคนย่อมเปลี่ยนขั้วได้เสมอ เช่นคนชั้นกลางในเมืองเคยต่อต้านเผด็จการทหารใน 2535 ก็อาจกลายเป็นผู้เรียกร้องให้ทหารกลับมายึดอำนาจใน 2556-7 ได้ คนที่เคยเรียกร้องอำนาจการตัดสินใจใช้ทรัพยากรของท้องถิ่น ก็อาจกลับมาสนับสนุนโครงการจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เหมือนกัน
ลักษณะของอีนุงตุงนังที่ผมพูดถึง ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
แต่ที่แน่นอนก็คือ อย่างไรเสีย "ระบอบเก่า" ก็ไม่อาจดำรงต่อไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ส่วนจะต้องเปลี่ยนไปมากหรือน้อยแค่ไหนไม่มีใครคาดเดาได้ แต่จะให้เหมือนเดิมเป๊ะนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ แม้แต่ต้องนองเลือดเพื่อหยุดยั้ง "การปฏิวัติประชาชน" ในความหมายนี้มากสักเพียงใดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผมอยากปลอบใจพวก "อำมาตย์" ไว้ด้วยว่า ในปลายศตวรรษที่ 20 "การปฏิวัติประชาชน" ก็เปลี่ยนไป แม้ว่าอาจมีองค์กรจัดตั้งของกลุ่มบุคคลเป็นผู้นำอยู่เหมือนในตอนครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผมกำลังนึกถึงเวเนซุเอลา, เอกวาดอร์, อาหรับสปริงส์, และแอฟริกาใต้ เป็นต้น "การปฏิวัติประชาชน" เกิดภายใต้กรอบกติกาบางอย่าง (หากเกิดโดยสงบหน่อย ก็จะเป็นกรอบกติกาของประชาธิปไตยเต็มรูปหรือครึ่งรูป หากเป็นเผด็จการก็อาจรุนแรงหน่อย) ผลก็คือฝ่าย "ปฏิวัติประชาชน" ไม่สามารถกุมอำนาจได้เด็ดขาด ยังจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ต่อรองให้แก่ฝ่ายปรปักษ์มากพอสมควร เช่นอาหรับสปริงส์ไม่ได้ทำให้ "ประชาชน" ได้ชัยชนะเด็ดขาด เพียงแต่ขจัดจอมเผด็จการที่เป็นบุคคลออกไป กองทัพก็ยังมีอำนาจต่อรองเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม ในกลุ่ม "ประชาชน" เองก็มีคนหลายจำพวก รวมทั้งนายทุนที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วย ผมไม่แน่ใจว่าทายาทของประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซุเอลาจะยืนยงต่อไปได้นานแค่ไหน
สรุปก็คือ "การปฏิวัติประชาชน" ในปลายศตวรรษที่ 20 ไม่ทำให้ "อำมาตย์" หมดตัว ยังมีอะไรเหลือไว้มากพอที่จะ "เอาคืน" ได้ในภายหลัง เพียงแต่ว่าองค์ประกอบของ "อำมาตย์" อาจเปลี่ยนไป เช่นไม่มีกษัตริย์ในเนปาลอีกแล้ว แต่กลุ่ม "อำมาตย์" ในเนปาลก็ยังมีพื้นที่ต่อรองไม่น้อยเหมือนกันภายใต้กองทัพ เป็นต้น
ทำไม "การปฏิวัติประชาชน" ในต้นและปลายศตวรรษที่ 20 จึงแตกต่างกัน ผมมีคำอธิบายง่ายๆ (ซึ่งอาจง่ายเกินไป) ดังนี้
"การปฏิวัติประชาชน" ในต้นศตวรรษ เกิดในสังคมที่ยังไม่มีการเมืองมวลชน นักปฏิวัติจึงต้องดึงเอามวลชนเข้ามาเป็นฐานกำลังของตนเอง และประสบชัยชนะในที่สุด แต่ในปลายศตวรรษ สังคมที่เกิด "การปฏิวัติประชาชน" ได้เข้ามาสู่สังคมที่มีการเมืองมวลชนแล้ว แม้บางครั้งบทบาททางการเมืองที่มวลชนมีอยู่ ถูกกำกับควบคุมจากผู้เผด็จการอย่างรัดกุม (เช่นอียิปต์ในสมัยมูบารัก) แต่มีการเมืองมวลชนแล้วจนกระทั่งผู้เผด็จการต้องจัดให้มีการเลือกตั้งปลอมๆ ขึ้น
"การปฏิวัติประชาชน" ในสังคมที่มีการเมืองมวลชนแล้ว ไม่อาจทำได้ด้วยองค์กรจัดตั้งเพียงองค์กรเดียว ต้องอาศัยสร้างเครือข่ายพันธมิตรของคนหลากหลายกลุ่ม "ปฏิวัติประชาชน" จึงต้องมีลักษณะอีนุงตุงนังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ปัญหาจริงๆ ที่พวก "อำมาตย์" ไทยควรคิดก็คือ การเมืองมวลชนมากกว่า "ปฏิวัติประชาชน" ซึ่งผมเชื่อว่าหลีกเลี่ยงไม่พ้นสำหรับประเทศไทยเสียแล้ว "อำมาตย์"ควรจะยอมรับกรอบกติกาประชาธิปไตยอย่างแน่นแฟ้น เพราะภายใต้กรอบกติกานี้ "การปฏิวัติประชาชน"จะทำความเสียหายแก่อำนาจและผลประโยชน์ของ "อำมาตย์" น้อยที่สุด ยังเหลือพลังและพื้นที่อีกมากที่"อำมาตย์"สามารถใช้ในการต่อรองทางการเมืองได้ และได้อย่างได้เปรียบกว่าเสียด้วย
ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////////////
เรื่องรัฏฐาธิปัตย์ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นข้อสรุปที่ถูกต้องตามตรรกะของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะคุณสุเทพประกาศมานานแล้วว่า ความเคลื่อนไหวของเขาเป็น การปฏิวัติประชาชน และการ "ปฏิวัติประชาชน" ที่ไหนๆ ในโลก ย่อมช่วงชิงเอาอำนาจอธิปไตยของผู้ถืออำนาจเดิม (ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประชาชน) มาเป็นของตนเสมอ
แต่ที่ผ่านมานับเป็นการ ปฏิวัติประชาชน ที่ประหลาดสักหน่อย เพราะคุณสุเทพเรียกร้องให้กองทัพเข้ามายึดอำนาจ หากกองทัพทำตาม รัฏฐาธิปัตย์ย่อมไม่ตกอยู่ในมือของขบวนการของคุณสุเทพ แต่ตกอยู่ในมือของผู้นำคณะรัฐประหาร การปฏิวัติประชาชนย่อมสิ้นสุดลง โดย "ประชาชน" ฝ่ายคุณสุเทพอาจไม่บรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองใดๆ มากไปกว่าไล่รัฐบาลรักษาการออกไป
แต่กองทัพก็ไม่ได้ออกมา (หรือยังไม่ได้ออกมา) ยึดอำนาจตามคำเรียกร้อง เวลาก็ล่วงเลยไปจนถึงต้องพึ่งองค์กรอิสระเพียงอย่างเดียวในการขจัดรัฐบาลรักษาการชินวัตรออกไปให้ได้ แม้แต่วุฒิสภารักษาการก็อาจพึ่งพาไม่ได้เต็มที่ เพราะไม่ช้าก็เร็ว จะมีวุฒิสมาชิกที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้าไปสมทบ และทำให้การได้มาซึ่งคะแนนเสียง 2 ใน 3 ไม่อาจเป็นไปได้ ทางเลือกของคุณสุเทพจึงเหลืออยู่ทางเดียว คือหันกลับมา "ปฏิวัติประชาชน" กันจริงๆ เสียที
แม้กระนั้น การปฏิวัติประชาชน ของคุณสุเทพก็ยังไม่คิดจะถือรัฏฐาธิปัตย์เต็มร้อย เพราะนายกรัฐมนตรีที่คุณสุเทพจะแต่งตั้งขึ้นนั้น ยังต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหมายความว่า จะทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบได้ และอยู่พ้นไปจากการกำหนดของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่ง "การปฏิวัติประชาชน" ของคุณสุเทพช่วงชิงมาได้
ปฏิวัติประชาชน ครึ่งๆ กลางๆ เช่นนี้ คณสุเทพคงหวังว่า จะเป็นที่ยอมรับได้ของอำนาจในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ, กองทัพ, เจ้าสัว ฯลฯ หรือที่พวกเสื้อแดงชอบเรียกว่า "อำมาตย์"
คุณสุเทพจะรู้จัก "การปฏิวัติประชาชน" แค่ไหนผมไม่ทราบ แต่จากประวัติศาสตร์ของ "การปฏิวัติประชาชน" ในโลกที่ผ่านมา ไม่มีใครคุมมันอยู่หรอกครับ ผู้นำบอลเชวิคอ้างว่า พวกเขาไม่ได้มีเจตนาจะสังหารหมู่พระเจ้าซาร์และเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดจนสิ้นซากอย่างนั้น อย่างเดียวกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ก็อ้างอย่างเดียวกันว่า ไม่ได้มีเจตนาขจัดราชวงศ์หลวงพระบางจนแทบไม่เหลือหลอเช่นกัน การแย่งชิงอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยล้าน โดยผู้นำแต่ละคนล้วนกล่าวว่าไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้นทั้งสิ้น แม้แต่ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้นำรุ่นแรกๆ ที่ต่อต้านอำนาจของชนชั้นนำเดิม ก็ไม่คิดว่าจะนำไปสู่ "รัชสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" (Reign of Terror) และด้วยเหตุดังนั้น ขึ้นชื่อว่า "การปฏิวัติประชาชน" แล้ว ชนชั้นนำหรืออำมาตย์ในทุกสังคมย่อมหวาดผวาทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีสัญญาจากผู้นำการปฏิวัติอย่างมั่นเหมาะเพียงไรว่าจะรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของอำมาตย์ไว้ดังเดิม เพราะแม้แต่ตัวผู้นำเองก็มักจะเอาตัวไม่รอดไปได้นานนักใน "การปฏิวัติประชาชน"
ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงเข้าใจว่า คำประกาศของคุณสุเทพยังความประหวั่นพรั่นพรึงแก่ "อำมาตย์" อย่างใหญ่หลวง แม้แต่เป็นเพียงยุทธวิธี "อำมาตย์" ฟังแล้ว ก็ยังเสียวจุงเบย
การปฏิวัติประชาชน ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้เรานึกถึง การนำภายใต้องค์กรจัดตั้ง เช่นพรรคหรือกลุ่มบุคคล เช่นการปฏิวัติรัสเซีย, จีน, เวียดนาม, คิวบา, ยุโรปตะวันออกบางประเทศ, ฯลฯ แต่การ "ปฏิวัติประชาชน" ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องของคนหลากหลายประเภท (ซึ่งเกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมของยุโรปตะวันตกเอง) เข้ามาช่วงชิงอำนาจกับชนชั้นนำเดิม แล้วปลุกระดมประชาชนระดับล่าง (ซึ่งก็เปลี่ยนไปไม่น้อยในเขตเมือง) เข้ามามีส่วนร่วม อีนุงตุงนังจนกระทั่งระบบการเมืองของรัฐเปลี่ยนไป โดยไม่มีองค์กรจัดตั้งใดๆ เป็นผู้นำ
แม้แต่ "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" ของอังกฤษ (ซึ่งไม่ใช่การปฏิวัติประชาชน ไม่มีอะไรรุ่งโรจน์นัก และเกิดในศตวรรษที่ 17) ผู้นำทั้งฝ่าย Tory และ Whig ในสภา ร่วมมือกันขจัดพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับถือศาสนาคาทอลิกออกไป เพื่อนำกษัตริย์ชาวดัตช์และราชินีของพระองค์ขึ้นครองราชย์ พร้อมทั้งออกกฎหมายจำกัดพระราชอำนาจไปพร้อมกัน สองพรรคการเมืองนี้คือตัวแทนของเหล่า "ผู้ดี" ที่หลากหลายประเภทในอังกฤษเวลานั้น รวมทั้งคนในเขตเมืองซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมากด้วย... ก็เข้าลักษณะอีนุงตุงนังอยู่พอสมควรแหละ
หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส แนวคิดเรื่องรัฐประชาชาติและหลักการประชาธิปไตยขยายไปตามกองทัพนโปเลียนทั่วยุโรปตะวันตก นำมาซึ่ง "การปฏิวัติประชาชน" ในอีกหลายประเทศ โดยไม่มีองค์กรจัดตั้งใดเป็นผู้นำเพียงฝ่ายเดียว หลายรัฐต้องปรับระบบการเมืองของตนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ฉะนั้น แม้ไม่เกิด "ปฏิวัติประชาชน" ในประเทศของตน ก็ได้รับผลสะเทือนจาก "ปฏิวัติประชาชน" ในประเทศเพื่อนบ้าน
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในประเทศไทยก็ทำให้เกิด "การปฏิวัติประชาชน" จริงเสียด้วย และอาจเกิดมาโดยไม่มีใครต้องประกาศว่าเป็น "การปฏิวัติประชาชน" ด้วย จนกระทั่งถึง กปปส.ของคุณสุเทพนี่เอง การปฏิวัติก็มีลักษณะอีนุงตุงนังเหมือนการปฏิวัติในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 คือเอาเข้าจริงแล้วไม่มีองค์กรจัดตั้งใดๆ เป็นผู้นำ ผมหมายความว่าขบวนการเสื้อแดงก็ตาม กปปส.ก็ตาม สลิ่มก็ตาม ฯลฯ เป็นเพียงปรากฏการณ์ยอดคลื่นของ "การปฏิวัติประชาชน" ทั้งนั้น และด้วยเหตุดังนั้นผมจึงคิดว่าควรรวมการเคลื่อนไหวของประชาชนรากหญ้าอื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่นการสไตรก์ของแรงงาน จนถึงตั้งวิสาหกิจของแรงงานขึ้นเอง (ชุดชั้นในไทรอัมพ์เป็นต้น), สมัชชาคนจน, การต่อต้านโรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก, การต่อต้านธุรกิจเหมืองทอง, การอนุรักษ์ป่า, การต่อสู้กับอุทยานที่ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ฯลฯ
เพราะความอีนุงตุงนัง "การปฏิวัติประชาชน"ลักษณะนี้ จึงไม่มีแผนหรือ scheme สำเร็จรูปว่าจะเปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างไร ก็ปฏิวัติฝรั่งเศสยังนำมาซึ่งจักรวรรดิได้เลย (แตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก "ปฏิวัติประชาชน" ของพรรคคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20) แต่จะบอกว่าไม่มีวิสัยทัศน์เอาเสียเลย เพียงแต่เคลื่อนไหวต่อรองกับโครงการที่ตนไม่ชอบ ก็ไม่เชิงนะครับ ผมคิดว่าความคิดเรื่องการปฏิรูปพลังงานเกิดกับคนรากหญ้าที่ต่อต้านโรงไฟฟ้ามานานแล้ว ก่อนที่จะถูกคนชั้นกลางฉกฉวยไปเป็นของตนเอง ความคิดเรื่องกระจายอำนาจเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการทรัพยากรของตนเองได้ ก็เกิดกับขบวนการเคลื่อนไหวของคนรากหญ้ามานานแล้วเหมือนกัน
นี่เป็นลักษณะธรรมดาที่เกิดกับ "การปฏิวัติประชาชน" ก่อนศตวรรษที่ 20 ทั่วไป กล่าวคือเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม มีคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาเคลื่อนไหวต่อรองทางการเมือง โดยสงบบ้าง รุนแรงบ้าง เพราะไม่อาจยอมรับโครงสร้างทางการเมืองที่ดำรงอยู่ได้ ไม่มีอุดมการณ์อะไรที่แน่นอน ไม่มีฝักฝ่ายที่ชัดเจนนัก เพราะทุกคนย่อมเปลี่ยนขั้วได้เสมอ เช่นคนชั้นกลางในเมืองเคยต่อต้านเผด็จการทหารใน 2535 ก็อาจกลายเป็นผู้เรียกร้องให้ทหารกลับมายึดอำนาจใน 2556-7 ได้ คนที่เคยเรียกร้องอำนาจการตัดสินใจใช้ทรัพยากรของท้องถิ่น ก็อาจกลับมาสนับสนุนโครงการจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เหมือนกัน
ลักษณะของอีนุงตุงนังที่ผมพูดถึง ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ
แต่ที่แน่นอนก็คือ อย่างไรเสีย "ระบอบเก่า" ก็ไม่อาจดำรงต่อไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ส่วนจะต้องเปลี่ยนไปมากหรือน้อยแค่ไหนไม่มีใครคาดเดาได้ แต่จะให้เหมือนเดิมเป๊ะนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ แม้แต่ต้องนองเลือดเพื่อหยุดยั้ง "การปฏิวัติประชาชน" ในความหมายนี้มากสักเพียงใดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผมอยากปลอบใจพวก "อำมาตย์" ไว้ด้วยว่า ในปลายศตวรรษที่ 20 "การปฏิวัติประชาชน" ก็เปลี่ยนไป แม้ว่าอาจมีองค์กรจัดตั้งของกลุ่มบุคคลเป็นผู้นำอยู่เหมือนในตอนครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผมกำลังนึกถึงเวเนซุเอลา, เอกวาดอร์, อาหรับสปริงส์, และแอฟริกาใต้ เป็นต้น "การปฏิวัติประชาชน" เกิดภายใต้กรอบกติกาบางอย่าง (หากเกิดโดยสงบหน่อย ก็จะเป็นกรอบกติกาของประชาธิปไตยเต็มรูปหรือครึ่งรูป หากเป็นเผด็จการก็อาจรุนแรงหน่อย) ผลก็คือฝ่าย "ปฏิวัติประชาชน" ไม่สามารถกุมอำนาจได้เด็ดขาด ยังจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ต่อรองให้แก่ฝ่ายปรปักษ์มากพอสมควร เช่นอาหรับสปริงส์ไม่ได้ทำให้ "ประชาชน" ได้ชัยชนะเด็ดขาด เพียงแต่ขจัดจอมเผด็จการที่เป็นบุคคลออกไป กองทัพก็ยังมีอำนาจต่อรองเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิม ในกลุ่ม "ประชาชน" เองก็มีคนหลายจำพวก รวมทั้งนายทุนที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วย ผมไม่แน่ใจว่าทายาทของประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซุเอลาจะยืนยงต่อไปได้นานแค่ไหน
สรุปก็คือ "การปฏิวัติประชาชน" ในปลายศตวรรษที่ 20 ไม่ทำให้ "อำมาตย์" หมดตัว ยังมีอะไรเหลือไว้มากพอที่จะ "เอาคืน" ได้ในภายหลัง เพียงแต่ว่าองค์ประกอบของ "อำมาตย์" อาจเปลี่ยนไป เช่นไม่มีกษัตริย์ในเนปาลอีกแล้ว แต่กลุ่ม "อำมาตย์" ในเนปาลก็ยังมีพื้นที่ต่อรองไม่น้อยเหมือนกันภายใต้กองทัพ เป็นต้น
ทำไม "การปฏิวัติประชาชน" ในต้นและปลายศตวรรษที่ 20 จึงแตกต่างกัน ผมมีคำอธิบายง่ายๆ (ซึ่งอาจง่ายเกินไป) ดังนี้
"การปฏิวัติประชาชน" ในต้นศตวรรษ เกิดในสังคมที่ยังไม่มีการเมืองมวลชน นักปฏิวัติจึงต้องดึงเอามวลชนเข้ามาเป็นฐานกำลังของตนเอง และประสบชัยชนะในที่สุด แต่ในปลายศตวรรษ สังคมที่เกิด "การปฏิวัติประชาชน" ได้เข้ามาสู่สังคมที่มีการเมืองมวลชนแล้ว แม้บางครั้งบทบาททางการเมืองที่มวลชนมีอยู่ ถูกกำกับควบคุมจากผู้เผด็จการอย่างรัดกุม (เช่นอียิปต์ในสมัยมูบารัก) แต่มีการเมืองมวลชนแล้วจนกระทั่งผู้เผด็จการต้องจัดให้มีการเลือกตั้งปลอมๆ ขึ้น
"การปฏิวัติประชาชน" ในสังคมที่มีการเมืองมวลชนแล้ว ไม่อาจทำได้ด้วยองค์กรจัดตั้งเพียงองค์กรเดียว ต้องอาศัยสร้างเครือข่ายพันธมิตรของคนหลากหลายกลุ่ม "ปฏิวัติประชาชน" จึงต้องมีลักษณะอีนุงตุงนังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ปัญหาจริงๆ ที่พวก "อำมาตย์" ไทยควรคิดก็คือ การเมืองมวลชนมากกว่า "ปฏิวัติประชาชน" ซึ่งผมเชื่อว่าหลีกเลี่ยงไม่พ้นสำหรับประเทศไทยเสียแล้ว "อำมาตย์"ควรจะยอมรับกรอบกติกาประชาธิปไตยอย่างแน่นแฟ้น เพราะภายใต้กรอบกติกานี้ "การปฏิวัติประชาชน"จะทำความเสียหายแก่อำนาจและผลประโยชน์ของ "อำมาตย์" น้อยที่สุด ยังเหลือพลังและพื้นที่อีกมากที่"อำมาตย์"สามารถใช้ในการต่อรองทางการเมืองได้ และได้อย่างได้เปรียบกว่าเสียด้วย
ที่มา.มติชน
////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น