--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ยุทธวิธีใหม่ นปช.

โดย.นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ย่อมทำให้ทุกคนตาบอดหมด (รวมทั้งฟันหลอหมดด้วย)

ไม่ต้องบอกก็คงทราบอยู่แล้วว่า คำพูดที่คมอย่างนี้ไม่ได้เป็นของผม แต่เป็นของมหาตมะคานธี ผมอ้างคานธีขึ้นมา ไม่ต้องการจะเสนออะไรเกี่ยวกับอหิงสา แต่ออกจะเกี่ยวกับยุทธวิธีและเป้าหมายที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่า

อย่าว่าแต่เอา "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" เป็นนโยบายในการตอบโต้กับผู้บ่อนทำลายประชาธิปไตยเลย แม้แต่ยกขึ้นมาเพื่อข่มขู่ ก็ไม่ควรทำแล้ว เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น แม้ไม่กลัวความรุนแรง แต่การยกระดับการต่อสู้มาให้เสมอเหมือนกับฝ่าย กปปส. ก็เท่ากับชำระล้างการกระทำทั้งหมดของ กปปส.ด้วยความสกปรก จนทุกฝ่ายสกปรกเท่าๆ กัน อย่าลืมว่า ในที่ซึ่งไม่มีความสะอาดเหลืออยู่เลย ก็ย่อมไม่มีความสกปรกเช่นกัน

เสียงลั่นกลองรบของแกนนำ นปช.จากโคราช ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวไปในทาง "รบ" แก่ นปช.ทั่วประเทศ บ้างก็ออกสู่สนามโดยตรง ด้วยวิธีอันธพาลอย่างเดียวกับกปปส. แต่ส่วนใหญ่ระดมพลและแสดงพลังพร้อมเข้าสู่สนาม "รบ" อย่างเต็มที่

แต่จะ "รบ" กับใคร และ "รบ" อย่างไร มีความสำคัญกว่าอื่นใดทั้งสิ้นในสถานการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนแกนนำ นปช.คิดถึงสองอย่างนี้น้อยเกินไป

หากเป้าหมายคือปกป้องประชาธิปไตยอันน้อยนิดที่มีอยู่ (หรือประชาธิปไตยภายใต้การควบคุม) กปปส.และสุเทพนั้น เกินกว่าที่จะลงมา "รบ" ด้วย ใครคือปรปักษ์ของประชาธิปไตยไทย ต้องมองให้ชัด

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ("มายาคติว่าด้วยชาติ"ในถอดรื้อมายาคติ) ชี้ให้เห็นว่า ในกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยามนั้น สถาบันและองค์กรที่จำเป็นสำหรับรัฐสมัยใหม่หลายอย่างได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนที่รัฐชาติไทยจะถือกำเนิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ (อย่างน้อยตามทฤษฎี) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เช่นระบบราชการแบบใหม่, กองทัพ, ระบบตุลาการ, ระบบกฎหมายอาญา, ฯลฯ ล้วนมีมาก่อนการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

คิดต่อจากที่อาจารย์เสกสรรค์ชี้ไว้ ยังมีสถาบันองค์กรและ "กระบวนการ" อีกหลายอย่าง ที่ถูกสร้างเป็นปึกแผ่นพอสมควรแล้ว เช่นระบบการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของระบบราชการสูงมาก ย่อมผลิตคนที่ไม่มีพันธผูกพันกับระบอบประชาธิปไตย หรือชาติในความหมายถึงสมบัติร่วมกันของประชาชน (ในแง่นี้ การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองใน 2477 จึงเป็นการปฏิวัติทางอุดมศึกษาที่มีความสำคัญมาก แม้ล้มเหลวในที่สุดก็ตาม) การศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษาทั้งหมด ไม่เคยถูกปลดปล่อยจากการบังคับควบคุมอย่างเข้มงวดของระบบราชการ ในนามของกระทรวงศึกษาฯ องค์กรปกครองคณะสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีระบบเกียรติยศของตนเองที่เป็นอิสระจากระบอบเก่าเลย

อย่าว่าแต่อะไรเลย โรงเรียนแพทย์ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมากหลายต่อหลายแห่ง ล้วนสืบทอดโดยตรงกับโรงเรียนแพทย์เดิมซึ่งถือกำเนิดขึ้นภายใต้ระบอบเก่า ในฐานะเครื่องมือของรัฐเพื่อจะสงเคราะห์ข้าราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วย จึงเป็นธรรมดาที่แพทย์ไทยย่อมสำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของ "ชนชั้นนำอุปถัมภ์" (patronizing elite) ซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อสังคมวงกว้าง (หรือแม้แต่คนไข้ของตน ???)

ตรงกันข้าม สถาบันองค์กรและกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นกับการปฏิวัติประชาธิปไตย มีน้อยมาก และมักจะอ่อนแอ เพราะขาดการสั่งสมกำลังอำนาจมานานและขาดฐานความชอบธรรมของระบอบเก่า เช่นรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (น่าสนใจที่จะสังเกตว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งสาธารณะเดียวของไทย ที่ไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เปรียบเทียบกับตำแหน่งราชการแม้ไร้ความสำคัญเช่นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็ยังต้องมีโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้ง) ความอ่อนแอของรัฐสภาทำให้สถาบันองค์กรและกระบวนการทั้งหมดที่ได้ฐานอำนาจและความชอบธรรมจากรัฐสภาอ่อนแอไปด้วยเช่น ครม.ที่มาจากรัฐสภา, หรือกฎหมายและกระบวนการตามนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เช่นการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือนโยบายแรงงานต่างด้าว มาจากการตัดสินใจของรัฐสภาน้อยกว่าหน่วยราชการฝ่ายความมั่นคง

เมื่อมองจากมุมนี้ ก็จะเห็นได้ว่า กปปส.ก็ตาม สุเทพ เทือกสุบรรณก็ตาม ไร้ความหมาย พวกเขาเป็นเพียงตัวแทนของสถาบันองค์กรและกระบวนการซึ่งอ้างความชอบธรรมจากระบอบเก่า ต่อสู้ด้วยวิถีทางอนารยะทุกอย่าง (ยกเว้นการทำรัฐประหารด้วยกองทัพ ซึ่งก็อนารยะพอๆ กัน) เพื่อกีดกันมิให้สถาบันองค์กรและกระบวนการที่มากับประชาธิปไตยได้เติบโตกล้าแข็งมากไปกว่านี้

การยกกำลังมาต่อสู้ด้วยความรุนแรงกับม็อบกปปส.จึงไร้ความหมาย ถึงเอาชนะโดยบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก ก็ไม่สั่นคลอนอำนาจและความชอบธรรมของสถาบันองค์กรที่เกิดในระบอบเก่าได้จริง แม้เขาไม่ตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงในครั้งนี้ ก็เพราะยังไม่ใช่โอกาสต่างหาก ไม่ใช่เพราะพวกเขาสูญเสียอำนาจแห่งความรุนแรงไป ได้โอกาสเมื่อไร พวกเขาก็กลับมาใช้อำนาจแห่งความรุนแรงซึ่งอยู่ในมือของเขา

และบัดนี้ดูเหมือนโอกาสนั้นได้มาถึงแล้วกองทัพบกกระจายหน่วยทหารออกยึดกรุงเทพฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว แม้อ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย แต่ดูอาวุธที่ขนมาทำภารกิจนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ปืนยิงรถถังขนาดใหญ่ ไปจนถึงรถถังด้วย ก็เข้าใจได้ว่า จุดมุ่งหมายต้องมีมากกว่าการรักษาความปลอดภัยของประชาชนอย่างแน่นอน

พูดอย่างนิยายจีน นี่คือค่ายกลที่ นปช.ยกล่วงลงมาเข้าค่ายกลเมื่อไร ก็จะถูกบดขยี้ยิ่งเสียกว่าเมื่อ 2553

ค่ายกลนี้ตั้งขึ้นทำไม ในเมื่อสถานการณ์ดูจะรุนแรงน้อยลง เมื่อ กปปส.รวมเวทีไว้ที่สวนลุมฯ เพียงแห่งเดียว ทั้งนี้ก็อาจคาดเดาได้ไม่ยากว่า วาระแห่งความจริงกำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ นั่นคือการรัฐประหารด้วยกำลังทหาร, ตุลาการภิวัตน์ หรือองค์กรอิสระ พวกเขาคาดเดายุทธวิธีของ นปช.ว่า คือการระดมกำลังลงมาแสดงพลังในกรุงเทพฯ หรือค่ายกลที่ได้ตั้งรอรับไว้แล้ว

แกนนำ นปช.ต้องไม่ลืมว่า ชนชั้นนำไทยคิดมานานแล้วว่า จะเสียสละชีวิตของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสักเท่าไรก็ได้ เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้ (ซึ่งในทรรศนะของเขาคือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง) ตัวเลขที่เขาคาดเอาไว้นั้นสูงได้เป็นหลายพันถึงหมื่นชีวิต ไม่ว่าในครั้ง 6 ตุลา, พฤษภามหาโหด ทั้งใน 2535 และ 2553, และในครั้งนี้ ก็มีนักธุรกิจผู้ถนัดในการปั่นชื่อตนเอง เสนอตัวเลขเป็นหมื่นอีกเช่นกัน ชีวิตของไพร่เป็นผักหญ้าที่ไร้ความหมายแก่พวกเขา

จะมีประโยชน์อะไรที่ยอมเสียชีวิตของกำลังปกป้องประชาธิปไตยเป็นพันเป็นหมื่นเช่นนั้นคนตายปกป้องประชาธิปไตยไม่ได้ ถึงเวลาที่ นปช.ต้องคิดยุทธวิธีใหม่ ที่ได้ผลมากกว่าการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ และสามารถถนอมรักษาชีวิตและเสรีภาพของผู้คนผู้สนับสนุน นปช.ด้วย

การประกาศแยกประเทศ แม้ทำด้วยอารมณ์ประชดประชัน ไม่ส่งผลดีแต่อย่างไร นอกจากถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองแล้ว ในความเป็นจริงประเทศอย่างล้านนา+อีสานซึ่งไม่ติดทะเลเลย งอกงามต่อไปได้ยาก (viability) ฉะนั้น ในสถานการณ์นี้ แม้แต่การใช้อารมณ์เยี่ยงมนุษย์ปุถุชน ก็อาจทำให้พลังของตนเองอ่อนแอลงได้ แกนนำนปช.จึงต้องระวังให้ดี

สิ่งที่ นปช.ไม่ควรลืมเป็นอันขาดก็คือ ส่วนใหญ่ของประชากรไทยไม่ใช่เสื้อแดง ไม่ใช่เสื้อเหลือง ไม่ใช่สลิ่ม ไม่ใช่กระฎุมพีที่เป็นอณู แต่เขาคือคนที่มีเหตุผล คิดเองเป็น และมีสำนึกความเป็นธรรมตามธรรมชาติของเขา


ชัยชนะของ นปช.คือได้รับการสนับสนุนจากคนเหล่านี้ การเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่ผลักคนเหล่านี้ออกไป หรือสร้างกำแพงขวางกั้นคนเหล่านี้ คือความอัปราชัย ยิ่งเสียกว่าถูกทหารล้อมปราบ

วิธีต่อต้านการรัฐประหารที่ได้ผลที่สุด ต้องเป็นวิธีที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน และอาจเข้าร่วมได้ เช่นต่อต้านประท้วงด้วยวิธีที่กองทัพไม่มีสมรรถนะจะใช้กำลังของตนปราบปรามได้ เช่นชุมนุมในที่สาธารณะและพร้อมจะสลายตัวทันทีที่เห็นว่าไม่ปลอดภัย คนที่ยังไม่ตายมีโอกาสจัดการประท้วงได้อีก และควรทำไปเรื่อยๆ ทุกโอกาสที่ปลอดภัย ฝ่ายแรงงานและข้าราชการที่สนับสนุนอาจใช้วิธีเฉื่อยงาน การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยผู้สั่งไม่อาจลงโทษได้ หรือปฏิบัติงานให้ผิดหรือเกินคำสั่ง และการเผยแพร่ความรู้และความคิดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะทหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันองค์กรที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย

พอจะคาดได้ว่า ทันทีที่มีการยึดอำนาจรัฐ แกนนำของนปช.จะต้องถูกทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ (ซื้อ หรือจับกุม หรือ "เก็บ") ดังนั้น โดยโครงสร้างในขณะนี้ ดูเหมือน นปช.จะถูกทำให้เป็นหมันไปทันที แกนนำต้องคิดการจัดองค์กรใหม่ที่จะทำให้นปช.สามารถเคลื่อนไหวต่อไปได้ แม้ไม่มีแกนนำเด่นๆ ให้เห็นอีกแล้ว ไม่ใช่คิดแต่เพียงแกนนำรุ่นสองรุ่นสาม แต่ต้องคิดถึงการจัดองค์กรใหม่ทั้งหมด ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องคิดถึงโครงสร้างการสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพ หากเตรียมการเหล่านี้ได้ดี แกนนำอาจใช้วิธี "ล่องหน" คือหลบหนีอยู่ภายในประเทศ (ไม่ใช่กัมพูชา หรือดูไบ) อย่างที่แกนนำของฝ่ายต่อต้านในไอร์แลนด์ได้ทำมาแล้ว แล้วกำกับการต่อต้านอยู่ในมุมมืดที่ฝ่ายรัฐประหารมองไม่เห็น เส้นทางล่องหนเช่นนี้เตรียมการไว้ได้แต่บัดนี้

การปรับโครงสร้างองค์กร หมายถึงบทบาทและสถานะของแกนนำ นปช.ในปัจจุบันจะเปลี่ยนไป จะมีคนที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตาอีกจำนวนมากเข้ามาเป็นแกนนำในหน่วยที่ย่อยลงมา จนกระทั่งแกนนำระดับชาติอาจด้อยความสำคัญลง หมดเวลาสำหรับการปราศรัยเอามันหรือปลุกความฮึกเหิมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับโครงสร้างองค์กรอาจกระทบถึงเป้าหมายขององค์กรด้วย เช่น คุณทักษิณ ชินวัตรจะได้กลับบ้านหรือไม่ และจะกลับในฐานะอะไร อาจไม่มีความสำคัญแก่ นปช.อีกเลยก็ได้

ที่มา:มติชนออนไลน์
---------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น