ในช่วงที่กระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและยังไม่สามารถที่จะคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ ทั้งทางออกของความขัดแย้ง จุดสิ้นสุดของปัญหาทางการเมือง แม้กระทั่งวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปหรือยุติปัญหาลงได้ ประเด็นความขัดแย้งมีหลายประเด็นหลายคู่ซ่อนไว้ด้วยกัน แต่ปรากฏเด่นชัดเหลือเพียงประเด็นเดียว คือการต่อสู้ระหว่างปีกประชาธิปไตยและปีกที่ไม่เอาประชาธิปไตย
เมื่อความขัดแย้งที่ควรหาข้อสรุปบนวิถีทางประชาธิปไตยที่คนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย กระนั้นเองก็ได้สร้างกระแสการหา ระบอบคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถเข้ามาบริหารจัดการพัฒนาให้ประเทศชาติได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง วิธีการนั้นคือการหานายกคนกลาง อาจะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เคยมีนายก นายกคนกลางมาแล้ว และในครั้งนี้ ได้ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมว่าบุคคลใดเหมาะสมจะเข้ามาเป็นนายกคนกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,118 คน ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2557 เกี่ยวกับกระแสข่าวการจะเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.47 ระบุว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันได้
ขณะที่ รองลงมา ร้อยละ 22.90 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง เคารพการตัดสินใจของประชาชน และอันดับ 3 ร้อยละ 12.12 คิดว่าเรื่องนายกฯ คนกลาง อาจเป็นเพียงข่าวลือหรือต้องการสร้างกระแสทางการเมืองเท่านั้น
ส่วนคำถามว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนคิดว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะมีนายกฯ คนกลาง พบว่า ร้อยละ 36.23 ระบุว่า จำเป็น เพราะอาจช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ประเทศชาติเดินต่อไปได้ ร้อยละ 32.85 ระบุ ไม่แน่ใจ เพราะต้องดูก่อนใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนกลาง และที่เหลืออีกร้อยละ 30.92 ระบุว่า ไม่จำเป็น เพราะถึงจะมีนายกฯ คนกลางบ้านเมืองก็ยังวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างแย่งผลประโยชน์ นายกรัฐมนตรีจึงควรมาจากการเลือกตั้ง
และสำหรับความเห็นว่าใครสมควรจะเป็นนายกฯ คนกลางบ้างนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.55 เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน
ซึ่งผลสำรวจในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างของวิธีคิดภายใต้ความเชื่อระบอบคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถ ว่ายังดำรงมีอยู่ในสังคมไทย กรอบคิดเหล่านี้คือการพร้อมและยอมสูญเสียหลักการอะไรบางอย่างที่สำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปด้วย การได้มาของนายกคนกลางที่คิดว่าเป็นคนดี เหมาะสมเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งหรือเป็นไปในมติของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
คนยังเชื่อมั่นว่านายกคนกลาง สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมากกว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง หากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ การเปิดโอกาสให้นายก มาจากคนนอกได้อาจทำให้ปัญหาตัวแทนหรือ Principle-Agent Problem มากยิ่งขึ้นอีก
ปัญหาตัวแทนเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเจ้าของบริษัท (principle) ที่จ้างผู้จัดการ (agent) เข้ามาบริหารบริษัท ด้วยเหตุที่เจ้าของบริษัทไม่สามารถทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารงานของผู้จัดการได้ ทำให้การบริหารจัดการบริษัทของผู้จัดการอาจจะไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัท แต่อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้จัดการเสียเอง
การที่นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับให้ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนทำหน้าที่เลือกนายกฯ จากใครก็ได้ อาจไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพราะก่อนเลือกตั้งประชาชนไม่ทราบข้อมูลเลยว่า ตัวแทนของเขาจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ เท่ากับว่าตัวแทนสามารถใช้อำนาจอย่างอิสระ ไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมมีแรงจูงใจในการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน น้อยกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งต้องพยายามที่จะบริหารประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด เพราะมีแรงจูงใจว่า จะต้องนำพรรคของตนกลับมาบริหารประเทศอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกที่ทำให้นายกฯมีความรับผิดชอบต่อประชาชนได้มากกว่า
ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่งคือ(Accubility) การตรวจสอบ ไม่ว่าใครจะเป็นคนดีหรือไม่ดี ทุกคนต้องสามารถตรวจสอบได้ แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมาของนายกพระราชทานภายใต้ความเชื่อคนดีคนเก่ง ไม่โกงนั้น พื้นฐานการเข้าถึงหรือการตรวจสอบนั้นเป็นไปได้ยากมาก
ซึ่งหากยกตัวอย่างนายกคนกลางที่ผ่านมาอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย( 2535) ซึ่งไม่เคยผ่านการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ก้าวขึ้นมาเพราะความบังเอิญของเหตุการณ์ทางการเมืองที่กำลังประสบปัญหาไร้ข้อยุติ ภายใต้ทุนทางสังคมที่สูงเป็นถึง ลูกของมหาอำมาตย์ตรีพระยาปรีชานุสาสน์ จบการศึกษาในวิชากฎหมายจากมหาลัยชื่อดังในเมืองผู้ดีอังกฤษ และประสบการณ์ทำงานด้านการทูตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมากมาย แถมยังเคยได้ รับฉายาว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ซึ่งป็นบุคคลที่พูดเรื่อง ความโปร่งใส เป็นห่วงเป็นใยเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมาโดยตลอด
ในสมัยนายกฯอานันท์ฯ(2535) ได้มีการขายหุ้นของโรงกลั่นไทยออยล์ ให้กับเอกชนที่ชื่อเกษม จาติกวณิช เป็นเงิน 8,000ล้านบาท โดยในการจ่ายเงินเป็นลักษณะเช็คเปล่าใบเดียว ในขณะที่มีบุคคลอื่น เช่น นายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และเป็นพ่อค้าส่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ออกมาฉะแหลกรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน โดยให้เหตุผลว่าการขายโรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ไม่โปร่งใส และราคาขาย 8,000 กว่าล้านบาทนั้น เป็นราคาที่ถูกเกินไป ซึ่งนายวัฒนาเองก็พร้อมที่จะซื้อในราคา 15,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดประมูล นั้นหมายถึงการขายสมบัติชาติในราคาถูก การกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน จึงไม่โปร่งใส ขัดกับหลักการ และเหตุผลที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสิ้นเชิง
และก็ยังมีข้อพิพาทผลประโยชน์ทับซ้อนในสมัยที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ภาคเอกชนมีสิทธิเข้ามาลงทุนในกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทสหยูเนี่ยน
ที่มา.Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น