--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ถวิล เปลี่ยนศรี กลับ สมช.ทั้งเสี่ยงทั้งเหนื่อย !!?

พล.ท.ภราดร ระบุ ถวิล กลับสมช.เสี่ยงและเหนื่อยนำปราศัยบนเวทีกปปส. เพื่อนร่วมงานไม่รัก รัฐบาลไม่แบ่งงานให้ทำ

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาในการ "คืนตำแหน่ง" เลขาธิการสมช.ให้กับ"นายถวิล เปลี่ยนศรี" ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนตัวเองต้องโดนโยกพ้นเก้าอี้สมช.ไปนั่งในตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ" แล้วงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"จะเดินหน้าอย่างไร

รู้สึกอย่างไรกับการไปนั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

- ความรู้สึกก็เป็นปกติ เพราะเราเป็นข้าราชการฝ่ายความมั่นคง หนึ่งต้องมีวินัย สองต้องได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา และสามมีสปิริต ดังนั้นงานมั่นคงจึงต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา เพราะถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจปัญหาจะเกิดขึ้น เป็นอุปสรรคในการทำงานของตัวเองด้วย แต่ที่สำคัญคืออย่าเป็นอุปสรรคให้กับหน่วยงานของตัวเอง เพราะถ้างานเสนอแนะเชิงนโยบายถ้าไม่ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากผู้บังคับบัญชา สุดท้ายก็ไปไม่ได้ เพราะงานเสนอแนะนโยบายไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเขาจะทำตามเราทุกเรื่อง เพราะการตัดสินใจเป็นเรื่องของรัฐบาล เราเสนอ หนึ่ง สอง สาม สี่ เขาอาจจะเอาทางที่ห้าของเขาก็ได้หรือหนึ่งในสี่ของเราก็ได้ เพราะงานแบบนี้จะต้องปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เขาสั่งอะไรมาเราก็มีหน้าที่ดำเนินการตามคำสั่ง สุดท้ายความรับผิดชอบก็อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา เราจึงไม่กังวลใจอะไร ก็มีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ทั้งนี้งานผมก็เหมือนเดิมแต่ลูกมือลูกไม้ก็หายไปบ้างเพราะต้องไปใช้สถานที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่งานที่ปรึกษานายกฯก็ดูงานความมั่นคงเหมือนเดิมคือมีหน้าที่กลั่นกรอง เสนอแนะ ดูงานในสายความมั่นคงที่จะเสนอนายกฯ

มองยังไงกับการโยกย้ายของสมช.ที่เป็นปัญหาในรอบหลายปีที่ผ่านมา

- ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าราชการระดับ10 -11 เป็นอำนาจของครม. เมื่ออำนาจตามกฎหมายให้ครม.เขาก็มีสิทธิ์ใช้อำนาจนั้น เมื่อกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลมีอำนาจโยกย้ายผู้บริหารให้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และมีกติกาตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสามารถโอนย้ายข้าราชการทหารตำรวจหรือข้าราชการพลเรือนได้ เมื่อกฎหมายมีอำนาจให้ครม.แล้วเราก็ต้องเคารพถ้าเป็นคำสั่งโดยชอบธรรม ถ้ารัฐบาลมาตามครรลองประชาธิปไตยเขาได้รับมอบหมายจากประชาชนมา กำหนดนโยบายมาเขาก็มีสิทธิ์พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเข้าไปทำงาน

"ข้าราชการก็อยู่ในตะกร้านั่นแหละเขาจะหยิบใครมาก็อยู่ที่เขาประสงค์ และในหลักของราชการก็ชัดว่าเมื่อเราโตถึงระดับบริหารมันต้องพร้อมที่จะโยกย้ายซ้ายขวาในหน้าที่นั้น ถึงแม้เราอยู่ครบ4ปีก็เข้ากฎกติกาก็ต้องเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ถ้าไม่เปลี่ยนจะต่อวีซ่าก็ได้ปีละครั้งแต่ไม่เกิน6ปี และเมื่อครบ6ปี ก็ต้องย้ายไปอยู่ดี ดังนั้นถ้าเราเป็นคนเคารพกติกาและยอมรับอำนาจซึ่งกันและกันมันก็จบไม่มีปัญหา"

และต้องมีหลักคิดอีกอย่างว่าเมื่ออยู่ในตำแหน่งผู้บริหารมันมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่ากันหมด เราได้รับเงินเดือน ได้รับเงินตอบแทน เงินพิเศษ เงินเพิ่มอื่นๆเท่ากันหมดไม่แตกต่างอะไร จากเลขาสมช.มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ เงินเดือนทุกอย่างก็เท่ากันหมด เพียงแต่หน้าที่มันต่างกัน และตำแหน่งหน้าที่นี้ไม่ใช่ว่าใครคนหนึ่งจะมากำหนดมันแต่มันเกิดขึ้นจากการกำหนดตำแหน่งของทางราชการที่ผ่านคณะกรรมการฯว่าเรามีความเหมาะสม มีการกำหนดเงินเดือน ซึ่งเป็นหลักการบริหารงานบุคคลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน

"ถ้าเคารพกกติกาตรงนี้มันก็จบ มันก็จะไม่มีความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะถ้าอย่างนั้นก็ต้องไม่มีกติกาให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาย้ายเรา ก็ต้องหามไปเลย แต่นี่กฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจของเขา เหมือนเคสของพี่ที่เกิดขึ้นฝ่ายการเมืองก็มีอำนาจ แต่เหตุที่มันผิดน่าจะเป็นเรื่องทางธุรการแล้วเอามาเป็นประเด็น แต่เราต้องเคารพอำนาจของศาล แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ยังคงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงโยกย้ายอยู่ดี"

ไปทำงานที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและจะทำงานกับนายถวิล เปลี่ยนศรี ได้หรือไม่

- งานด้านนี้เมื่อนายถวิลทำงานก็จะเสนอขึ้นมา ถ้าเรื่องไหนบริหารจัดการได้ในหน่วยงานก็ว่ากันไป แต่ถ้าเรื่องไหนที่ต้องปฏิบัติคำสั่งของนายกฯหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกับทางรัฐบาล เมื่อไปถึงรัฐบาลเขาก็จะให้ผมกลั่นกรอง ดูแลให้ ทั้งงานด้านสายการข่าว ด้านความมั่นคงและสายทหาร ผมจะดูในภาพรวมให้เพื่อเสนอแนะและกลั่นกรองให้นายกฯอีกครั้ง

เราก็ทำงานกับคุณถวิลได้ไม่มีปัญหาอะไร คือถ้าเอางานเป็นตัวตั้งเราก็ต้องทำได้ เพราะทุกคนผ่านประสบการณ์ในการเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับล่าง มีทั้งเผชิญหน้า ไม่เผชิญหน้า ทุกคนต้องยึดภารกิจเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นไม่ใช่ปัญหาของเรา สุดท้ายก็อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะรับไปดำเนินการแนวทางไหนก็เป็นเรื่องของรัฐบาล

จนถึงตอนนี้ได้พูดคุยกับคุณถวิลบ้างหรือยังนับตั้งแต่คุณถวิลยื่นขอความเป็นธรรมจนเป็นคดี

- ไม่มีการพูดคุยเลยครับ เพราะเราถือว่าเราเคารพในสิทธิ์ของเขา เราก็ทำงานตามหน้าที่ของเรา หลังจากมีกระบวนการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จากนี้จะผ่านกกต. กลับมาท่านนายกฯก็นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ เมื่อมีพระบรมราชโองการเมื่อไรจะก็จะพ้นหน้าที่ ก็จะส่งมอบนหน้าที่กันไป

คุณถวิลตอนที่เป็นที่ปรึกษานายกฯก็ขึ้นเวทีกปปส. แล้วท่านไปเป็นที่ปรึกษานายกฯจะไปขึ้นเวทีชุมนุมของกลุ่มไหนหรือไม่

- ไม่ขึ้น เพราะต้องตระหนักตลอดเวลา เพราะถ้าดูในเวทีกปปส.ก็ไม่มีข้าราชการคนไหนไปขึ้นเลยยกเว้นคุณถวิล แต่ในสมมติฐานข้าราชการาระดับ 11 มีความเห็นต่างจากรัฐบาลบ้างหรือไม่ก็คงมี แต่ทุกคนรู้ว่าเป็นข้าราชการ ฉะนั้นต้องสวมหมวกสองใบ เป็นพลเรือนก็จริงแต่ต้องดูความเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหาที่คุณไปขึ้น ถ้าเป็นเนื้อหาเชิงขัดแย้งกับรัฐบาลตรงนี้ต้องระวัง แต่ถ้าเป็นเนื้อหาจากการสิทธิเสรีภาพตามปกติมันก็โอเค

แต่ความเป็นข้าราชการมีกรอบอันหนึ่งเป็นหมวกสองใบ ดังนั้นเราเป็นข้าราชการก็ต้องตระหนักตลอด เพราะแกนนำที่เป็นเจ้าของเวทีกลายเป็นคนประพฤติผิดกฎหมายไปแล้ว ถูกหมายจับไปแล้ว เราจะขึ้นเวทีโดยสิทธิเสรีภาพก็ตามจะกลายเป็นว่าเราไปสนับสนุนเจ้าของเวทีไปแล้ว ดูเส้นแบ่งให้ดี ดุลพินิจมีความสำคัญ แต่เราก็เคารพสิทธิ์แต่ละคนในการใช้ดุลพินิจตรงนั้น แต่ต้องมีความระมัดระวัง เพราะสุ่มเสี่ยงที่เราจะผิด ตอนนี้ที่คุณถวิลขึ้นไปก็สุ่มเสี่ยงแล้วเพราะอยู่ในเกณฑ์ของคนที่จะผิดกฎหมายอยู่แล้ว

คุณถวิลอาจจะโดนสอยจากตำแหน่งในประเด็นที่ขึ้นเวทีกปปส.ใช่หรือไม่

- อันนี้ก็ไม่รู้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณา ดังนั้นจึงมีสองประการที่จะผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ หรือผิดเรื่องวินัยหรือไม่ แต่ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องดูแล ดีเอสไอก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเขา รัฐบาลก็ต้องดูเรื่องวินัยซึ่งเป็นเรื่องของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมมนตรี

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหา มันล่อแหลมมากอย่าลืมว่าเจ้าของเวทีที่คุณไปยืนอยู่ใกล้นั้นเขาเป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย ถูกหมายจับแล้ว คุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนะ เหมือนผมถ้าผมเจอท่านสุเทพซึ่งหน้า เราก็ต้องดู เพราะเรามีอีกหมวกในการทำหน้าที่ที่ศอ.รส. เราเป็นเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าเราเจอคุณสุเทพก็ต้องจัดการ

คุณถวิล ก็มีชื่ออยู่ใน 58 แกนนำของกปปส.ที่โดยหมายเรียก

- นี่คือสิ่งที่ล่อแหลมมาก ถ้ามีหมายเรียกก็ต้องถามว่ามารายงานตัวหรือยัง เพราะยังไงอัยการก็ต้องฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้นกระบวนการจะสัมพันธ์กันหมด จึงเป็นดุลพินิจของคุณถวิล แต่เท่าที่ผมฟังแล้วก็คิดว่าคุณถวิลยังเดินตามทัศนะของท่านไป

"แต่มันก็เป็นจุดล่อแหลม ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความไว้วางใจกันและกัน งานความมั่นคงเราปฏิเสธไม่ได้ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งทุกคนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน แต่จุดสุดท้ายที่ผู้บังคับบัญชาจะหยิบขึ้นมา และคนที่เป็นทหารและทำงานด้านความมั่นคงจะเข้าใจตรงจุดนี้ เหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผบ.ตร.ทุกคนจะต้องเลือกผบ.สันติบาลด้วยตัวเองทุกคนทุกสมัย ต้องมีการเปลี่ยน แต่ถ้าคนนั้นตรงใจอยู่แล้วก็จบ เหมือนผมถ้าเป็นเลขาสมช.พอมีการเปลี่ยนรัฐบาล เราก็ต้องบอกท่านนายกฯแล้วว่าถ้าท่านไม่สบายหรือไม่สะดวกใจที่จะให้ผมนั่งตรงนี้ก็ไม่เป็นปัญหา ต้องออกตัวก่อน แต่ถ้าท่านพิจารณาจะใช้ผมต่อก็ไม่ขัดข้อง รวมทั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ศรภ.)ก็เหมือนกัน ผู้บังบัญชาการทหารสูงสุดก็ต้องเข้ามาเปลี่ยนทุกครั้ง เพื่อใช้คนที่คุ้นเคยกันมา"

ดังนั้นเราต้องไม่ทำให้ตัวเองเป็นอุปสรรคของหน่วยงงานในการเชื่อมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายประจำ เพราะบางครั้งเป็นแค่เราไม่เป็นไร แต่บางครั้งจะกระทบองค์กรด้วยแล้วมันไปต่อไม่ได้ พอไปไม่ได้เขาก็ไปใช้หน่วยงานอื่นแทน แต่ที่ผมทำงานอยู่ก็จะสะดวกอยู่นิดนึงเพราะ ผบ.สันติบาลก็เป็นเพื่อนกัน ผบ.ศรภ.ก็เป็นเพื่อนกัน เสนาธิการทหารบกก็เป็นเพื่อนกัน เสนาธิการทหารอากาศก็เพื่อนกัน ผบ.กองยุทธการก็เป็นเพื่อนกัน ปลัดกระทรวงกลาโหมก็เพื่อนเรา ฉะนั้นตรงนี้ก็ทำให้ทำงานง่าย ก็เป็นผลดีของเราในการประสานงาน และเป็นผลดีต่อรัฐบาลอีก คอนเน็คชั่นนตรงนี้ก้ทำให้เราพอไปได้ ก็ได้เปรียบในแง่การประชุมประชาคมข่าว แต่ในทางส่วนตัวก็มีอีกจากเพื่อนเราเหล่า อย่างแม่ทัพภาค1 แม่ทัพภาค2ก็เพื่อนผม ในส่วนแม่ทัพภาค1 ผมเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 จนจบม.3 เรียนกวดวิชาและเข้าเตรียมทหารด้วยกัน รวมทั้งด็อกเตอร์โจประธานกสทช.ก็เพื่อนกัน เติบโตมาด้วยกัน ซึ่งเป็นคอนเน็คชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์รวม แต่โดยหลักของทหารจะยอมรับได้เรื่องการโยกย้าย ถ้าทหารยอมรับไม่ได้ศาลปกครองจะเหนื่อยที่สุดเลยนะ

ท่านถวิลก็ต้องเข้ามาทำงานตรงนี้ซึ่งท่านก็เคยทำงานร่วมกัน แต่ในสถานการณ์ที่ท่านมีความเห็นต่างฉะนั้นก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน ดังนั้นในเทคนิคของการบริหารราชการก็ต้องมีเหมือนกัน ซึ่งรัฐบาลเขาก็ต้องมีสูตรที่เขาต้องจัดการอยู่แล้ว

แล้วงานความมั่นคงในศอ.รส.ในตำแหน่งโควต้าของเลขาสมช.จะทำอย่างไร

- สถานะของเลขาสมช.เป็นที่ปรึกษาของศอ.รส.อยู่ ก็ต้องเปลี่ยนไป ผมไปเป็นที่ปรึกษานายกฯพอพ้นจากเลขาสมช.ก็จะถูกท่านเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศอ.รส.) แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศอ.รส. ทำงานต่อไป ส่วนว่าสมช.จะส่งใครมาประชุมศอ.รส.ก็แล้วแต่ว่าผอ.ศอ.รส.จะเชิญใครมาประชุม เขาก็ไม่ใช่เลขาสมช.ก็ได้เขาอาจจะตั้งผมให้ประสานสมช.ให้หน่อยก็เป็นไปได้ ก็อยู่ที่ท่านเฉลิม

มติครม.คืนตำแหน่งให้คุณถวิลก็ไม่กระทบกับงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลเลยใช่ไหม

- ใช่ เพราะหนึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาล สองรัฐบาลช่วงนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจเต็มเต็มที่เหมือนรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งแล้ว ตอนนี้ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเท่านั้นเอง งานตรงนี้จึงเป็นลักษณะงานรูทีนมากกว่าไม่ได้เป็นงานเชิงนโยบายใหม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น