--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประวัติศาสตร์ : การแบ่งแยกดินแดนของประเทศไทย !!?

สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จากการเกิดกระแสของการแบ่งแยกดินแดน แบ่งแยกประเทศ ในทางเหนือ หรือแม้กระทั่งปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน หากดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เรื่องการแบ่งแยกประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่มีมานานแล้ว

นัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย (Thai Geopolitics implication) ที่ต้องการคงศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากการคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ทหาร การเมือง เอาไว้ที่กรุงเทพฯ (GDP ของกรุงเทพฯ มีสัดส่วนเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ) สอดคล้องกับการที่มีข้าราชการที่ขึ้นกับส่วนกลาง (อย่างเช่นกระทรวงมหาดไทย) แทรกตัวไปยังการปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไปประเทศ และการระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของทุกฉบับว่ามาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
 

อย่างไรก็ตามในระยะหลังเริ่มมีการพูดถึงการกระจายอำนาจไปยังการปกครอง ส่วนท้องถิ่น รวมทั้งรูปแบบที่เป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตปกครองที่หลากหลาย ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนในท้องที่ หรือกรณีอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ (แบบเดียวกับจีนที่มีเขตปกครองพิเศษในฮ่องกง หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ) และความสำคัญของการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค แบบคลัสเตอร์จังหวัดมากขึ้น

แต่จากประสบการณ์ของรัฐไทยที่ผ่านการแบ่งแยกและรวมศูนย์อำนาจมายาวนาน รัฐไทยมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับการกระจายอำนาจออกไปให้ส่วนท้องถิ่น ดังนั้นในระยะยาว รัฐไทยจะต้องหาสมดุลระหว่าง การกระจายอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับส่วนท้องถิ่น และการควบคุมองคาพยพต่างๆในส่วนท้องถิ่นจากศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ซึ่งบางครั้งการมีแนวทางแบบอนุรักษ์นิยมมากเกินไป ก็จะมีการผ่อนคลายจากการบีบบังคับจากมหาอำนาจโลกที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจของศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยทั้งระบบ เช่นกรณีสนธิสัญญาเบอร์นี และสนธิสัญญาเบาริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4[1] หรือกรณีการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในกรณีสงครามโลกครั้งที่สอง การร่วมกับสหรัฐฯในการต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และการเข้าร่วมกับสหรัฐฯในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ขั้วอำนาจใหม่ที่เป็นคู่ขัดแย้งจากขั้วอำนาจเก่าในศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯก็อาจอาศัยสถานการณ์แบบนี้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วงชิงอำนาจได้

ความจำเป็นในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐไทย ที่มีลักษณะเช่นนี้เพราะการเปลี่ยนผ่านจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐคู่ในสมัย สุโขทัย-อโยธยา และการแบ่งส่วนอำนาจให้กับหัวเมืองฝ่ายเหนือ อโยธยา-พิษณุโลก[2] และความจำเป็นในการต้องการพื้นที่ป้องกันศูนย์อำนาจจากการขยายอิทธิพลจากรัฐคู่แข่ง ทางเหนือคือรัฐล้านนา, ทางตะวันออกคือพื้นที่แถบอีสาน (ยังคงมีช่องว่างในดินแดนภาคตะวันออก-กัมพูชาที่ยังไม่มีพื้นที่จำเป็นป้องกัน), ทางตะวันตกจะมีแนวพรมแดนธรรมชาติ ส่วนทางใต้คือรัฐมลายู แต่มีปัญหาจากการบุกรุกจากทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ปัญหาจุดอ่อนจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ สอดคล้องกับแผนที่ประเทศญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แนวทางเคลื่อนทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพมาจากสองทิศทางนี้

แนวพรมแดนเหล่านี้ในประวัติศาสตร์มีการเคลื่อนตัวเข้าและออกไปจากแนวชายแดนของประเทศไทยปัจจุบัน ตามความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ เช่นสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีพื้นที่ไกลไปถึงรัฐไทยใหญ่ ตะวันออกจดเวียดนาม และทางใต้ตลอดแหลมมลายู แต่ในช่วงการล่าอาณานิคมรัฐไทยต้องเสียดินแดนเหล่านี้ให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ในขณะที่รัฐไทยในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำสงครามอินโดจีน กับฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืนมา เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งทหารยึดเมืองเชียงตุง และได้เขตสี่จังหวัดในแหลมมลายูคืนมาจากอังกฤษ
ลักษณะสำคัญ

นัยยะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทย จึงว่าด้วยความจำเป็นจากลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ และจะมีอิทธิพลสำคัญกับการกำหนดนโยบายของรัฐไทย ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ หรืออุดมการณ์ของรัฐไทยไปอย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของนัยยะภูมิรัฐศาสตร์ไทย ประกอบด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้ที่กรุงเทพฯ
การสร้างสมดุลการกระจายอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ยังคงสามารถควบคุมและผูกพันรัฐไทยเอาไว้ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การคงพื้นที่ป้องกันศูนย์อำนาจจากกรุงเทพฯจากการขยายอิทธิพลจากรัฐคู่แข่ง ทางเหนือคือรัฐล้านนา, ทางตะวันออกคือพื้นที่แถบอีสาน (ยังคงมีช่องว่างในดินแดนภาคตะวันออก-กัมพูชาที่ยังไม่มีพื้นที่จำเป็นป้องกัน), ทางตะวันตกจะมีแนวพรมแดนธรรมชาติ ส่วนทางใต้คือรัฐมลายู แต่มีปัญหาจากการบุกรุกจากทะเลฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ปัญหาจุดอ่อนจากพื้นที่ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ สอดคล้องกับแผนที่ประเทศญี่ปุ่นบุกไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง แนวทางเคลื่อนทัพของประเทศญี่ปุ่นเดินทัพมาจากสองทิศทางนี้
การใช้แนวทางดุลอำนาจหากเผชิญมหาอำนาจที่มีอิทธิพลระดับโลก โดยใช้คู่แข่งอำนาจที่มีความทัดเทียมกัน แต่ในที่สุดจะคงความเป็นตัวของตัวเองเอาไว้
การเป็นรัฐค้าขายมากกว่ารัฐทางทหาร

กบฏในต่างจังหวัด
กบฏในต่างจังหวัด หรือ กบฏหัวเมือง มักเกิดจากการที่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพิ่มอำนาจการควบคุมชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับภาษีใหม่ๆ เช่นภาษีรัชชูปการ บางครั้งกบฎได้รับแรงหนุนจากเจ้าเมืองหรือกรมการที่ถูกลดอำนาจไป ในบางกรณีผู้ก่อกบฎจงใจต่อต้านคนสยามหรือการก้าวก่ายจากศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ โดยตรง หรือไม่ก็เกิดจากการที่กรุงเทพฯ พยายามเข้ามาควบคุมท้องถิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนชนบทกับกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมักมีปัญหาจากความแปลกแยกในด้านเชื้อชาติเดิมฝังรากลึกอยู่แล้ว ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้ก่อเหตุกบฎจะยกเอาสาเหตุนี้มาเป็นข้ออ้างหลักในการปลุกระดมมวลชน


กบฎในเขตภาคเหนือ


ปี 2432-2422 เกิดกบฏพญาผาบ เกิดการประท้วงที่เชียงใหม่ นำไปสู่การปะทะกันระหว่างชาวบ้านกว่าสามพันคนกับกองทหารของทางการ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านหลายคนสนับสนุนพวกกบฏ รัฐบาลกรุงเทพฯ เชื่อว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่สนับสนุนพวกกบฏอยู่ในที
ปี 2440 ชาวบ้านในหมู่บ้านภาคเหนือทำร้ายข้าราชการจากรุงเทพฯ คนแรกที่เข้ามาเพื่อเก็บภาษีจนเสียชีวิต
ปี 2445 เกิด กบฏเงี้ยว มีการลุกขึ้นสู้ของชาวนาที่จังหวัดแพร่ มีคนงานรัฐไทยใหญ่ชักชวนให้เจ้าผู้ครองเมืองและขุนนางสนับสนุนพวกเขาขับไล่ข้าราชการสยามออกไป รัฐบาลที่กรุงเทพฯ สงสัยว่าเจ้านายเหล่านี้วางแผนคบคิดก่อกบฏตั้งแต่ต้น
ปี 2453 พระสงฆ์นำขบวนก่อกบฏที่ลำปางหลายครั้ง
ปี 2467 ชาวบ้านก่อกบฏที่จังหวัดเลย เพื่อต่อต้านการเก็บภาษีรัชชูปการ

กบฎในเขตภาคอีสาน


ปี 2438 เกิด กบฏสามโบก บางหมู่บ้านที่ขอนแก่นก่อกบฏและสามารถสร้างเขตปลอดข้าราชการในท้องถิ่นที่หมู่บ้านของตนได้เป็นเวลานานถึงสามปี
ปี 2445 เกิด กบฏผู้มีบุญ มีกบฏชาวนาอย่างกว้างขวางในอีสาน การกบฏครั้งใหญ๋ที่สุดมีชาวนาประมาณสองพันห้าร้อยคน รวมตัวกันยึดหัวเมืองเอาไว้ได้ หลังจากรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เก็บภาษีรัชชูปการเมื่อปี พ.ศ. 2442
ปี 2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน โดย ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง ต่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์

กบฎในเขตภาคใต้


ปี 2445 เกิดกบฏรัฐมลายู มีการประท้วงขึ้นที่เขตชายแดนภาคใต้ โดยมีกรมการระดับล่างที่มองว่าอำนาจของตนถูกดึงไปโดยรัฐบาลศูนย์กลางเป็นผู้นำ กบฏนี้ยังได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากเจ้าเมืองรัฐมลายูต่างๆ
25 – 28 เมษายน พ.ศ. 2491 เกิด กบฏดุซงญอ เป็นเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับกลุ่มชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู ที่ หมู่บ้านดุซงญอ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
28 เมษายน พ.ศ. 2547 เกิดกรณีกรือเซะ[1]
25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เกิด กรณีตากใบ

กรณีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย



อาจพิจารณา “ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง” ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เคลื่อนไหวทั้งในเขตภูเขาในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ว่าอาศัยจุดอ่อนตรงนี้ของรัฐไทยในการขับเคลื่อนการต่อต้านศูนย์อำนาจรัฐได้ด้วย ที่มั่นสำคัญของพคท. ในเขตภาคเหนือคือ แพร่, น่าน, และตาก[2], ภาคอีสานคือ เลยและภูพาน (และหลายแห่งในอีสานใต้), ภาคใต้คือสุราษฎรธานี
ปฏิกิริยาจากศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ

รัฐบาลสามารถปราบปรามการกบฏทั้งหลายได้สำเร็จ แต่กบฏที่เกิดึ้นหลายครั้งทำให้รัฐบาลเห็ฯความจำเป็นที่จะก่อตั้งกองทหารประจำการ ขยายข่ายงานของตำรวจ และก่อตั้งระบบศาลสถิตยุติธรรมที่ส่วนกลาง พร้อมกันนั้นคิดโครงการสร้างรัฐชาติ โดยใช้ระบบการศึกษา ศาสนา และอุดมการณ์จากศูนย์กลางเป็นเครื่องมือ



พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทรงเป็นแม่ทัพกองทัพสยาม ในสมัยรัชกาลต้นๆ มีทหารประมาณเจ็ดหมื่นนาย ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 กิจกรรมทางการทหารลดความสำคัญลง ชื่อเสียงของกองทัพเสื่อและระบบเกณฑ์แรงงานประสบปัญหาหลายประการ จนพระมหากษัตริย์ทรงมีทหารประจำการน้อยกว่าสองพันคน และส่วนมากจะเป็นคนประเภทจรจัด โครงการปฏิรูปกองทัพใช้วิธีการเดียวกับกรณีของการคลังและมหาดไทยในช่วงที่ีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งมหาดเล็กหลวงภายในวังและให้ได้รับการฝึกฝนในระบบกองทัพยุโรป

พ.ศ. 2423 ทรงใช้หลักเกณฑ์เดียวกันจัดตั้งทหารประจำการขึ้นที่กรุงเทพฯ ทรงใช้วิธีอาสาสมัครแทนการเกณฑ์ ทหารประจำการดังกล่วมีประมาณห้าพันนาย ส่วนใหญ่เป็นคนลาว เขมร และมอญที่ไม่ถูกสักเลขโดยหลีกหนีการเกณฑ์แรงงาน รัฐบาลใช้ทหารประจำการเหล่านี้ควบคุมชายแดนลาวใน พ.ศ. 2428 – 2429

พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าดูแลกลาโหมโดยตรง พระองค์ทรงแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอและผู้ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ีงให้มีตำแหน่งสำคัญในกองทัพ และทรงสัญญาที่จะปฏิรูประบบการทหารตามแนวยุโรป แผนการดังกล่าวประสบปัญหาทางการเงินและการคัดค้านจากลุ่มขุนนางที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม อย่างไรก็ตาม กองทหารประจำการสมัยใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นก็สามารถปราบปรามโจรผู้ร้ายในเขตชนบท และในบางครั้งรัฐบาลส่งไปปราบปรามการจราจลของคนจีน และต้านทานการรุกรานจากฝรั่งเศสทางชายแดนตะวันออกและชายแดนภาคเหนือได้

ในช่วงแรกความพยายามปฏิรูปกองทัพยังไม่เห็นผลชัดนัก แต่ภายหลังเมื่อเกิดกบฏใน พ.ศ. 2445 ทั้งเหนือ อีสาน และใต้ ก็กระตุ้นให้ทรงตัดสินพระทัยแน่นอนให้มีการปฏิรูปกองทัพ เพราะเมื่อเกิดกบฏขึ้นครั้งใด ทรงต้องใช้กองทหารประจำการจำนวนน้อยจากกรุงเทพฯ ปราบ โดยเกณฑ์ทหารเพื่อภารกิจดังกล่าวเป็นคราวๆไป นายกองไม่กี่นายที่มีประสบการณ์ปราบปรามโจรในภาคกลางเป็นผู้นำ กองทหารรัฐบาลมักเป็นฝ่ายพ่านแพ้ในตอนต้น และต้องใช้เวลานานกว่าจะดึงกองทหารให้กลับมาอยู่ในวินัยอีกครั้ง แม่ทัพนายกองจึงเสนอว่า ควรจะมีกองทัพประจำการใกล้เขตกบฏเพื่อปราบปรามได้ทันท่วงที หนึ่งปีจากนั้น เจ้าฟ้าซึ่งเป็นผู้ดูแลการทหารเสนอให้มีระบบเกณฑ์ทหารแบบบังคับ

สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลก่อตั้งทหารประจำการได้สำเร็จเมื่อต้นทศวรรษ 2440 เนื่องจากรัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารเพิ่มขึ้นจากสองล้านเก้าแสนบาท เมื่อ พ.ศ. 2441 เป็น 13.8 ล้านบาทใน พ.ศ. 2448 ในปีเดียวกันนั้นเองรัฐบาลประกาศยกเลิกระบบแรงงานเกณฑ์และก่อตั้งกองทัพอย่างเป็นทางการ

พ.ศ. 2453 สยามมีกองทหารประจำการประมาณสองหมื่นนาย และมีทหารสำรองอีกสามถึงสี่หมื่นนาย มีกองทัพเรือประจำการห้าพันนาย มีทหารเรือสำรองประมาณสองหมื่นนาย

ดูเพิ่มเติม : กองพลที่ 1 รักษาพระองค์
ตำรวจ

รัฐบาลเริ่มขยายระบบตำรวจจากศูนย์กลาง ซึ่งในขณะนั้นกล่าวกันว่ามักมีพื้นเพเป็นโจร ทาสหนีนาย ขี้ยา ขี้เหล้า และนักเลงหัวไม้มาก่อน รัฐบาลมักใช้กองทหารเพื่อปราบจราจลมากกว่าตำรวจ หลังจากปี 2440 รัฐบาลก็เริ่มมีการปฏิรูปและก่อตั้งกรมตำรวจเพื่อดูแลตำรวจในเขตหัวเมือง และต่อมาก็มีการก่อตั้งระบบศาลยุติธรรมขึ้น[3]
แนวคิดสันติวิธีจากพลังเสรีนิยมใหม่
แนวคิดสิทธิมนุษยชน
แนวคิดการกระจายอำนาจ
แนวคิดพหุนิยม แบบหลังสมัยใหม่
แนวคิดการแข่งขันแบบไม่ใช่ศัตรู (agonistic pluralism) ของ Chantal Mouffe (ตรงข้ามกับแนวคิด มาคีเวลเลียน)
แนวคิดสมานฉันท์ (อิงวิธีคิดเชิงพุทธ)
ข้อมูลเพิ่มเติม
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเกอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, SILK WORM BOOKS
ข้อมูลอ้างอิง
 สังเกตเห็นว่าใกล้เคียงกับการกบฏในช่วง 2445, ดูเพลงสปท. ” ฝั่งแม่น้ำน่าน
 ผาสุกและคริส, ibid, pp. 292-293
ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น