เพียงแค่เดินหน้าให้ ส.ส.ผลักดัน นิรโทษกรรม ฉบับ สุดซอย ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ทั้งกระดาน
เพียงแค่ตัดสินใจให้ ส.ส.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องเจอข้อหาล้มล้างการปกครองไม่ว่ารายมาตรา หรือ ทั้งฉบับ
เพียงแค่กดปุ่มให้ ส.ส.เดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินมาอยู่ดีๆ ต้องล้มคว่ำไปนับแต่นั้น
ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่มี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานทั้งสิ้น
แม้ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะประกอบด้วยบุคคลระดับ บิ๊กเนม เขี้ยวลากดินทางการเมือง ไม่ว่าแกนนำเสื้อแดงอย่าง จตุพร พรหมพันธุ์ วีระ มุสิกพงศ์ – จาตุรนต์ ฉายแสง ภูมิธรรม เวชยชัย โภคิน พลกุล ฯลฯ
แต่การตัดสินใจครั้งสุดท้าย กลับผิดพลาด หลายครั้ง หลายครานำพรรคไปสู่ทางตัน
นั่นเพราะ แต่ละคนล้วนมีต้นทุน แบ๊คอัพส่วนตัว ทำให้ต่างคนต่าง โชว์เพาเวอร์ ในวงประชุม บางครั้งอ้างคำสั่งตรงจากดูไบ บางครั้งอ้างความชำนาญส่วนตัว บางครั้งอ้างคอนเนคชั่น
เสียงล่ำลือที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง อันมาจากความผิดพลาดที่ต้องการ โชว์พาวเวอร์ -โชว์ภูมิ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็มาจากการตัดสินใจของ “โภคิน พลกุล” เพียงคนเดียว
หรือบางครั้งก็มีการอ้างสัญญาณพิเศษว่า “เคลียร์ทุกระดับ” แล้ว แต่เอาเข้าจริงกลับ “เจอหลอก”
กระทั่งกลายเป็นคลื่นใต้น้ำในพรรค เพราะ ส.ส.ต่างไม่พอใจ บางครั้งแปลงชื่อจากวงยุทธศาสตร์กลายเป็น คณะยุทธสัตว์ แม้แต่ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รมว.แรงงาน มือบู๊ของพรรคก็เอ่ยเหน็บแนมคณะกรรมการดังกล่าวอยู่เสมอ
ผมไม่เชื่อคณะกรรมการชุดนี้
หลังความพ่ายแพ้ทั้งหมด นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในพรรคเพื่อไทย นั่นคือ เปลี่ยนโครงสร้างกรรมการยุทธศาสตร์พรรคใหม่ ให้ ส.ส.ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในพรรคมากขึ้น ก่อนที่รอยร้าวจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
กระแสข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นจากแหล่งข่าวใน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันอังคารที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา มีการแจ้งต่อที่ประชุมว่าว่า พรรคได้ยุบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไม่เชื่อมโยงกับความคิดของ ส.ส.ของพรรค ทำให้การประเมินสถานการณ์การเมือง เพื่อกำหนดทิศทางของพรรคหลายครั้งเกิดความผิดพลาด เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเหตุให้พรรคต้องตกที่นั่งลำบาก ทั้งนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการยุบคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนในการตัดสินใจของพรรคลง
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาทิศทางของพรรคในโครงสร้างใหม่นั้น จะมาจากข้อสรุปของคณะกรรมการภาคต่างๆ ของพรรค จากนั้นจะนำข้อสรุปแต่ละภาคมาให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคตัดสินว่าจะเลือกทางไหน เช่น กรณีมติของคณะกรรมการภาคใต้ ที่เสนอให้ กกต.จัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันทที่ 30 มีนาคม ก่อนข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ส.ส. แล้วจึงเป็นมติของพรรคเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
“คนเสื้อแดงไม่เอาอำมาตย์เช่นไร ส.ส.ไม่อยากได้คณะกรรมการยุทธศาสตร์แบบเดียวกัน เพราะอำมาตย์คอยคั่นกลางระหว่างประชาชนกับสถาบัน แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง เวลาตัดสินใจให้พรรคทำอะไรก็ไม่เคยฟังเสียง ส.ส.เลย ถูกหลอกตลอด ส.ส.รู้แค่รับคำสั่งจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ในโครงสร้างใหม่คนที่เคยนั่งเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็จะลงมานั่งในที่ประชุมกับ ส.ส. ไม่ได้นั่งบนเวทีเหมือนก่อน แต่ให้ประธานภาคต่างๆ ขึ้นไปนั่งบนเวทีประชุมแทน” แหล่งข่าว กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งจากพรรคให้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ แต่ยอมรับว่าพรรคมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์จริง แต่ไม่ได้ถึงกับยุบคณะกรรมการดังกล่าวทิ้งไป เพียงแค่เปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เป็นคณะกรรมการประสานภารกิจ และปรับโครงสร้างใหม่โดยให้ ส.ส.ในพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทิศทางพรรคมากขึ้น โดยประธานการคณะกรรมการยังคงเป็นนายสมชายเช่นเดิม และมีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ ขณะเดียวกันที่ประชุมใหญ่พรรคก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยให้ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำหน้าที่ประธานการประชุมและมีนายชวลิตทำหน้าที่เลขานุการ
“สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มาเป็นคณะกรรมการประสานภารกิจ เพราะต้องการให้การสื่อสารระหว่างคณะกรรมการกับ ส.ส.มีความชัดเจนขึ้น ไม่เกิดความสับสน และคณะกรรมการจะไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางพรรคทั้งหมด แต่จะให้ที่ประชุมพรรคร่วมโหวตทิศทางต่างๆ ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว
การเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ แม้เป็นการปรับเปลี่ยนเล็กๆ แต่นัยยะไม่ธรรมดา
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
//////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น