--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไครเมีย กลับบ้าน !!?

โดย. ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในที่สุด รัฐสภาไครเมียก็ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากยูเครน เพื่อขอเข้าร่วมสหพันธรัฐรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียง 85 จากจำนวน ส.ส. 100 คน การประกาศเอกราชดังกล่าวเป็นผลมาจากการออกเสียงลงประชามติด้วยคำถามสำคัญ 2 ข้อคือ จะเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนต่อไป หรือจะแยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราช และเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย

ปรากฏจากพลเมืองในไครเมียทั้งหมด มีผู้มาออกเสียงลงประชามติ 83% ในจำนวนนี้ 96.77% เลือกข้อ 2 หรือขอแยกดินแดนจากยูเครนและเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกมาสนับสนุนกฤษฎีการับรองความเป็นรัฐเอกราชของไครเมียทันที ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมานี้

การ ประกาศเอกราชของไครเมีย สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ 3 เส้า ระหว่างยูเครน-รัสเซีย-ชาติตะวันตก จากประวัติศาสตร์ตอนที่ยูเครนเป็น 1 ในเครือสหภาพโซเวียตรัสเซียในอดีตนั้น รัสเซียได้ยกไครเมีย (Crimea) ให้กับยูเครนในปี 2497 สืบเนื่องมาจนถึงปี 2534 หลังจากที่สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายลง ก็เกิดประเทศเอกราชที่แยกตัวออกจากดินแดนในอาณัติสหภาพโซเวียตเดิม

ยูเครน ก็เป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ พร้อม ๆ กับดินแดนไครเมียที่รับมรดกมาจากสมัยสหภาพโซเวียต ได้ถูกสถาปนาเป็น "เขตปกครองตนเอง" มีพื้นที่ประมาณ 26,200 ตารางกิโลเมตร ประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย ประมาณ 2,000,000 คน(รัสเซียร้อยละ 59-ยูเครนร้อยละ 25 ที่เหลือเป็นชาวตาตาร์) ได้กลายเป็นติ่งหนึ่งในดินแดนของยูเครน

แน่นอนว่าภายใต้การปกครองอัน ยาวนานของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ชาวยูเครนส่วนใหญ่ต้องการที่จะนำประเทศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จากความเชื่อมั่นในพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองที่พร้อมจะเปิดรับทุนจากชาติ ตะวันตกที่จะหลั่งไหลเข้ามาในยูเครน จนพัฒนากลายเป็นการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและการค้ากับสหภาพ ยุโรปหรือเปิดประตูเข้าเป็น 1 ในสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต แต่ข้อตกลงดังกล่าวถูกต่อต้านจากฝ่ายนิยมรัสเซีย นำโดยอดีตประธานาธิบดียูเครน นายวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งถูกชาวยูเครนโค่นล้มลงไปแล้ว (หนีเข้าไปอยู่ในไครเมีย) ที่ต้องการรักษาสัมพันธภาพอันดีกับรัสเซียไว้ จนเกิดการเสียเลือดเนื้อ มีชาวยูเครนล้มตายในการโค่นล้มยานูโควิชไปมากกว่า 100 คน เปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดียูเครน มาเป็น นายอาร์เซนีย์ ยัดเซนยุค กับ นายโอเล็กซานเดอร์ ตูชีนอฟ ที่ประกาศว่าพร้อมจะรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปทันที

การเปลี่ยน แปลงทางการเมืองในยูเครนจากผู้นิยมรัสเซียมาเป็นผู้นิยมตะวันตก ที่พร้อมจะนำประเทศลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและการค้า ทำให้รัสเซียอยู่เฉยไม่ได้ เนื่องจากรัสเซียถือเสมือนหนึ่ง "ยูเครน" เป็น "สนามหลังบ้าน"

ที่ สำคัญ รัสเซียยังมีฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองเชวาสโตปอล (Sevastopol) ในไครเมีย ซึ่งรัสเซียเช่าพื้นที่ช่วงยูเครนเป็นเอกราช จากสภาพความเป็นจริงที่ว่า ฐานทัพที่เมืองนี้เป็นฐานทัพของกองเรือผิวน้ำและกองเรือดำน้ำของรัสเซียใน ทะเลดำ ที่ส่งอิทธิพลไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ผลก็คือในวันที่ 1 มีนาคม หลังการพ่ายแพ้ของยานูโควิช รัสเซียได้ส่งทหารส่วนหนึ่งเข้าไปในไครเมีย ร่วมกับกองกำลังท้องถิ่นยึดสถานที่ราชการ จุดยุทธศาสตร์สำคัญ และ ปิดล้อมกองทหารยูเครนในไครเมียอย่างเงียบ ๆ

ส่วนพรมแดนที่ติดกับรัส เซียก็จัดให้มีการซ้อมรบด้วยกองกำลังทหารเต็มรูปแบบ ประหนึ่งว่าพร้อมจะเคลื่อนทัพเข้าสู่ยูเครนและไครเมียทันที

อีกด้านหนึ่งจัดให้มีให้มีการลงคะแนนแสดงประชามติ โดยกลุ่มบุคคลที่นิยมรัสเซียควบคู่กันไปภายใต้ความกดดันทางทหารข้างต้น

กลาย เป็นปฏิบัติการขอคืนหลังบ้าน ท่ามกลางการร้องเอะอะโวยวายของสหรัฐ-สหภาพยุโรป ที่เริ่มต้นด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรอย่างเบาบางเต็มที

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น