--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความจริงประเทศไทย : จับตาหนี้สาธารณะพุ่ง..!!?



เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่งบประมาณตามปกติ นั่นคือ ภาพความจริงของประเทศ..จับตาหนี้สาธารณะพุ่ง หลังโยกเงินลงทุน'2ล้านล้าน'

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากร่างกฎหมายต้องตกไป มีทั้งภาครัฐและเอกชน อันเนื่องมาจากความคาดหวังว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 7 ปี ตามที่รัฐบาลประเมิน และจะส่งผลให้ประเทศไทย"พลิกโฉม"ครั้งใหญ่ด้านคมนาคมของประเทศ

ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเตรียมแผนเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งแผนการลงทุนของตัวเอง จึงต้องมีการปรับครั้งใหญ่ แต่ผลกระทบ"ทันที"คือหน่วยงานภาครัฐ

สิ่งที่ต้องมีการปรับครั้งใหญ่ตามไปด้วย คือ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะก่อนหน้านั้น โครงการลงทุนสำคัญของรัฐบาลได้โอนไปใช้เงินตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดโครงการลงทุนในงบประมาณรายจ่าย โดยขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่าหากไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาอีก โครงการลงทุนภาครัฐทั้งหมดจะต้องใช้งบประมาณตามปกติ นั่นหมายถึงว่า ต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการ

การกู้เงินเพื่อพัฒนาประเทศเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศด้อยพัฒนา รวมทั้งไทย โดยในอดีตประเทศไทยได้กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อมาใช้พัฒนาประเทศ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากเราจะไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้ทดแทน

แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศอาจ"ขยับ"ขึ้น และหากมีสัดส่วนเกินระดับ"ความยั่งยืน"ทางการเงินการคลัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ ดังนั้น การออกพระราชบัญญัติกู้เงินครั้งนี้ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการนำมาใช้คิดคำนวณเป็นหนี้สาธารณะ

แต่เมื่อกลับไปใช้งบประมาณปกติ ก็จะต้องนำเงินลงทุนแต่ละโครงการมาคิดเป็นหนี้สาธารณะด้วย หากมีการกู้เงินและรัฐบาลค้ำประกัน

หากพิจารณาจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ก็จะพบว่าหากมีการเดินหน้าโครงการ 2 ล้านล้านในงบปกติก็จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้น

ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) จากการดำเนินการตามแผนล่าสุด คือ ประจำปีงบประมาณ 2557 ทางสบน.คาดว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2557 (30 ก.ย.) คาดว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ในระดับ 47.1% และมีภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ในระดับ 7.4%

ระดับหนี้สาธารณะดังกล่าวไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่เกิน 60% และภาระหนี้ต่องบประมาณแผ่นดินไม่เกิน 15%

คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะของไทยก็ยังไม่เกินกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง

แต่การประเมินข้างต้น สบน.ไม่นับรวมการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตีตกไปแล้ว

หากนับรวมโครงการ"พิเศษ"ที่ไม่อยู่ในกรอบงบประมาณปกติ และถูกโอนมาในงบประมาณปกติแล้ว จะเห็นว่าเป็นวงเงินมหาศาล

ตามร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท จะมีการแบ่งจ่ายรวม 7 ปี ดังนี้ ในปี 2557 เบิกจ่าย 25,707 ล้านบาท จากนั้นในปี 2558 เบิกจ่าย 250,806 ล้านบาท ปี 2559 เบิกจ่ายเท่ากับ 380,034 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย เท่ากับ 408,269 ล้านบาท ปี 2561 เบิกจ่าย 394,893 ล้านบาท ปี 2562 เบิกจ่าย 302,592 ล้านบาท และ ปี 2563 เบิกจ่าย 220,582 ล้านบาท

แต่หากนับรวมกับพระราชกำหนดบริหารจัดการน้ำ ยอดการเบิกจ่ายจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี กล่าวคือ โครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ กำหนดไว้ว่าในปี 2557 เบิกจ่าย 93,616 ล้านบาท ปี 2558 เบิกจ่าย 86,351 ล้านบาท ปี 2559 เบิกจ่าย 74,336 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย 52,226 ล้านบาท และ ปี 2561 เบิกจ่าย 27,970 ล้านบาท

หากประเมินที่ต้อง"โยก"มาใช้งบปกติ จะเห็นว่าส่วนใหญ่มาจากโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเมินการเบิกจ่ายแต่ละปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่าแต่ละปีจะต้องมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

ยกเว้น หากรัฐบาลในอนาคตจะยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูง เม็ดเงินที่จะใช้งบปกติในงบประมาณแผ่นดินก็อาจลดลง แต่หากยังต้องการก่อสร้างโครงการนี้ ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณแต่ละปีจำนวนมาก นั่นหมายถึงต้องกู้เงินมาดำเนินโครงการทุกปี

หาก"โยก"โครงการมาใช้งบปกติ สิ่งที่ตามมาคือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อาจขยับขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้แค่ไหน

เพราะหากจีดีพีขยายตัวได้ต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ในระดับ"ความยั่งยืน"ได้ แต่หากเศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ และไม่ทันต่อสัดส่วนหนี้ ก็จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปด้วย

ดังนั้น เมื่อมีการโยกงบโครงการ 2 ล้านล้าน มาสู่งบประมาณปกติ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อหนี้ภาครัฐอย่างไร เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมา รัฐบาลมีโครงการประชานิยมมาหลายยุคหลายสมัยและเป็นภาระต่องบประมาณทั้งสิ้น

โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลตั้งงบประมาณวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณในอนาคต

นั่นเท่ากับว่า เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่งบประมาณตามปกติ เราจะเห็นข้อจำกัดมากขึ้น และอาจเป็นไปได้ว่านั่นคือ ภาพความจริงของประเทศ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น