--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปรับแผนรับหลังเงินกู้ 2 ล้านล้าน สดุด..

รัฐ-เอกชน ชี้กระทบลงทุน- สศค.เผยฉุดเป้าหมายจีดีพี1% รฟม.จัดลำดับสร้างรถไฟฟ้าใหม่ คาดล่าช้า 3 ปี ขณะ สนพ. รื้อแผนผลิตไฟฟ้า

ภาครัฐ - เอกชนปรับแผนใหม่ หลังจากโครงการ 2 ล้านล้านสะดุด คลังประเมินกระทบเป้าเศรษฐกิจ คาดส่งผลกระทบจีดีพี 1% ด้านรฟม. คาดรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ล่าช้า 3 ปี ต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ ขณะที่ สนพ. ปรับแผนผลิตไฟฟ้า "พีดีพี" ฉบับใหม่ ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" ชี้เสียดายโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ น้ำตาคลอเจอถามประชาธิปัตย์จ่อยื่นถอดถอน

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....วงเงิน 2 ล้านล้าน ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไป แม้ว่าจะเป็นตามความคาดหมายก่อนหน้านี้ แต่การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เตรียมตัวก่อนหน้านี้ ต้องปรับแผนงานกันใหม่

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้น คือ จะกระทบต่อแผนการลงทุนของประเทศในปีนี้ แม้ว่า สศค.จะใส่ตัวเลขการลงทุนในหลักไม่กี่หมื่นล้านบาท แต่ผลบวกเนื่องจากการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น และเมื่อบวกกลับกรณีที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ และ ปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้จาก 3.1% ซึ่งอาจจะลดลงมาเหลือไม่ถึง 2%

"ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะมีนโยบายต่อการลงทุนอย่างไร หากมีนโยบายลงทุนต่อ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า จะใช้วิธีในการระดมเงินทุนอย่างไร หากใช้วิธีการกู้เงินก้อนใหญ่และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การลงทุนเกิดขึ้นต่อเนื่อง ขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะไม่ถูกกระทบ แต่หากเลือกใช้วิธีการใช้จ่ายตามระบบงบประมาณ ผลที่เกิดขึ้น คือ การลงทุนอาจไม่ต่อเนื่อง และ เป้าหมายการทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 ก็จะถูกกระทบ เพราะรัฐบาลจะต้องกู้เงินมาใช้จ่ายผ่านการขาดดุลงบประมาณ"

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ สศค. เคยประมาณการไว้จากการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ดังกล่าว คือ จีดีพีของประเทศจะสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากศักยภาพประมาณ 1%

"หากการลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่เราเคยคาดการณ์ว่า จีดีพีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในแต่ละปี ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่า จะมีนโยบายการลงทุนดังกล่าวอย่างไร"

สนพ.เตรียมทบทวนแผนผลิตไฟฟ้า

ด้าน นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คำตัดสินดังกล่าวกระทบต่อการทำแผนพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศระยะยาว (พีดีพี) ฉบับใหม่ เพราะก่อนหน้านั้น คาดการณ์ว่าโครงการลงทุนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

"สนพ. ทำแผนพีดีพีเบื้องต้นไปแล้ว โดยพิจารณาปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อโครงการ 2 ล้านล้านบาทตกไป จะมีผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลง"

นายเสมอใจ กล่าวว่า โครงการนี้สะดุดลงจะไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าระยะสั้นช่วง 5-6 ปีนี้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นไปตามแผนพีดีพีฉบับ 2010 และมีการลงนามสร้างโรงไฟฟ้ากันไปเรียบร้อยแล้ว โดยกระแสไฟฟ้าจะทยอยเข้าระบบจนถึงปี 2561

รฟม.ปรับแผนสร้างรถไฟฟ้า

ด้าน นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางยังคงดำเนินการต่อไปได้ แม้ไม่มีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แต่การก่อสร้างให้ครบทั้ง 10 สายทาง จะทำไม่ได้ทั้งหมดใน 7 ปีตามแผน ซึ่งอาจล่าช้าออกไปไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี และอาจต้องจัดลำดับเส้นทางที่จะก่อสร้างใหม่ เพราะงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจะไม่สามารถก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายไปพร้อมกันได้

“พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจัดทำขึ้นมาให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินมาใช้เงินได้มากกว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 20% ต่อปี เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าได้แล้วเสร็จทั้งหมดตามแผนงานที่กำหนด แต่เมื่อไม่มี พ.ร.บ.กู้เงิน การหาเงินมาดำเนินโครงการจะทำได้น้อยลง วงเงินที่จะนำมาลงทุนจึงไม่เพียงพอที่จะทำได้ทั้งหมด และอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี จึงจะก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ครบทุกสาย”

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่ของ รฟม.ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภา เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณาอนุมัติโครงการก่อน ส่วนการก่อสร้างในเส้นทางเดิมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะไม่ได้รับผลกระทบ ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่กำหนด

สำหรับการดำเนินงานของ รฟม. หลังจากนี้ จะยังคงศึกษาออกแบบการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่เพื่อเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะก่อสร้างเส้นทางใดก่อน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่จะพิจารณา และเห็นว่าความล่าช้าของการดำเนินโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าไม่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างกำไร แต่เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ

ด้าน นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า แผนการลงทุนในโครงการบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค จำนวน 56 โครงการ และโครงการก่อสร้างขยายทางหลวง 4 ช่องจราจรเพื่อประสิทธิภาพทางหลวงทั่วประเทศ วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท จะต้องชะลอออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันถนนทางหลวงหลายสายมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก หากรัฐบาลไม่เร่งรัดบูรณะซ่อมแซมโดยเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักบนทางหลวง เนื่องจากโครงการขยายถนน 4 ช่องจราจรไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย

หากรัฐบาลเห็นว่าโครงการของกรมทางหลวงมีความจำเป็น ต้องการเร่งรัด ก็สามารถที่จะจัดสรรงบประมาณปี 2558 หรืออาจจะพิจารณากู้เงินจากแหล่งอื่น เช่น จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) หรือ ธนาคารโลก

ก่อสร้างชี้กระทบอสังหาฯ

นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแม้โครงการลงทุนต้องล้มลงไป แต่หน่วยงานราชการก็ได้เตรียมปรับตัว นำบางส่วนของโครงการนี้เข้าไปสู่งบดำเนินงานตามปกติของแต่ละกระทรวง เนื่องจากในโครงการ 2 ล้านล้านบาทนี้ มีบางส่วนที่ถูกดึงมางบลงทุนตามปกติ เช่น การก่อสร้างรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟฟ้า และโครงการสร้างถนนต่างๆ เป็นต้น แต่ทั้งนี้โครงการที่ลงทุนสูงก็ยังคงต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินต่อไป ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% ของโครงการ 2 ล้านล้านบาท โดยส่วนที่ใช้งบมากที่สุดกว่า 60% จะมาจากรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องรอดูว่ารัฐบาลหน้าว่าจะสานต่อโครงการนี้หรือไม่

"ส่วนที่กระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะบางรายได้เข้าไปกว้านซื้อที่ดินตามแนวเส้นทางคมนาคมในโครงการนี้แล้ว เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้นหากรัฐบาลใหม่เปลี่ยนเส้นทางไป ส่วนผู้ประกอบการก่อสร้าง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นเพียงผู้รับจ้างก่อสร้าง รวมทั้งยังมีโครงการภาครัฐที่ค้างอยู่พอสมควร"

นายจักรพร กล่าวว่า ความเชื่อมันของนักลงทุนต่างชาติอาจลดลง เพราะมองว่านโยบายของรัฐบาลไทยขาดความแน่นอน กระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

'พยุงศักดิ์'เสียดายลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเนื้อหาสาระโครงการ 2 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการดังกล่าวถูกตีตกไปแล้ว ทำให้ไทยต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้วยกระบวนการเดิมๆ ที่เคยทำมา อาทิ การกู้เงิน การรอใช้งบประมาณแผ่นตามขั้นตอนปกติ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ไทยเสียโอกาส โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในหลายๆ ด้านของอาเซียน

นอกจากนี้ บรรยากาศเศรษฐกิจที่คาดหวังกันว่าจะกลับมาคึกคักอาจสะดุดไปบ้าง และทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง และการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ อาจได้รับผลกระทบ และเสียโอกาสทางธุรกิจไป

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่ายังไม่กระทบภาพรวมความเชื่อมั่นการลงทุนของประเทศ เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนตามกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำไปรวมอยู่ในแผนการลงทุนประจำปี 2557 เพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ 2.5 ล้านล้านบาท ดังนั้น การที่กฎหมายยังไม่ผ่านการพิจารณาก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจในขณะนี้

นายกฯเสียดายโอกาสพัฒนา

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ จังหวัดชัยภูมิ ว่ารู้สึกเสียดายที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะว่ารัฐบาลได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว อยากเห็นประเทศพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะนับจากมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเห็นได้ว่าขีดแข่งขันของไทยกับต่างประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นรองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามกฎหมายฉบับนี้

"เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา เราก็เสียดายกับสิ่งที่เราควรจะได้พัฒนาให้เราได้ก้าวนำในการเชื่อมโยงต่อภูมิภาคอาเซียน และเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่นอกจากเรื่องการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในภูมิภาค" นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าว และว่าหวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะรับฟังความต้องการและนำเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปสานต่อ เพราะเรื่องนี้เป็นโอกาสของทุกคน ไม่ใช่เป็นโครงการของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง

น้ำตาคลอถูกถามเจอยื่นถอดถอน

ผู้สื่อข่าวถามถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่สามารถดำเนินโครงการตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทได้ จะทำอย่างไร นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ รัฐบาลได้เสนอไปยังรัฐสภา และมีการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ หลังจากนี้คงต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ และหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมจะยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งจากกรณีนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวพร้อมมีน้ำตาคลอว่า "วันนี้ดิฉันก็เจอทุกรูปแบบแล้ว ก็อยากขอว่าอย่างน้อยให้เรามีความยุติธรรมอยู่ในสังคม และอยากให้มองที่เจตนา อย่ามองการใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อที่จะลิดรอนหรือเป็นข้อที่จะตัดสิทธิทุกคนเลย เพราะอย่างนี้เราจะไปกันลำบาก การพัฒนาประเทศก็ลำบาก จึงอยากขอความยุติธรรมและความเห็นใจ"

ม็อบเฮลั่น-ปชป.จี้นายกฯลาออก

ที่เวที คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สวนลุมพินี ปรากฏว่าเมื่อแกนนำขึ้นเวทีประกาศแจ้งข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตกไปทั้งฉบับ ได้ทำให้ผู้ชุมนุมปรบมือและเป่านกหวีดแสดงความดีใจกันดังลั่น

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เรื่องนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง แม้จะอยู่ในสถานะปฏิบัติหน้าที่รักษาการก็ตาม เพราะว่านายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ว่าถ้าร่างกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง จะอ้างว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นนายกฯแล้วไม่ได้ อีกทั้งในการพิจารณาของสภา ก็มีการชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของกฎหมายมากมาย แต่รัฐบาลไม่ฟัง

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น