--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศาลยกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม..!!?

กรณีอุ้มฆ่ามูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ผ่านไป 24 ปีวันนี้ศาลยกฟ้อง "พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม" และพวก 5 คน โดยศาลพิเคราะห์ว่าคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ พยานหลักฐานต้องชัดเจน แต่คดีกลับมีแต่พยานบอกเล่า ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนัก จึงให้ยกฟ้อง ขณะที่ญาติรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เตรียมแถลงข่าวร่วมกับสถานทูตซาอุดิอาระเบียบ่ายนี้



มูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกสังหาร (แฟ้มภาพ)

ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก. สภ.สบเมย จว.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จว.อุบลราชธานี พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และจ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง จำเลยที่ 1- 5 ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาฯ จากกรณีอุ้มฆ่า นายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย และพระญาติกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีผู้ใดเบิกความยืนยันได้ว่า จำเลยทั้ง 5 คน ทำร้ายร่างกาย และสังหารนายอัลรูไวรี่ อีกทั้งไม่ชัดเจนว่า แหวนที่พันตำรวจโทสุวิชชัย แก้วผลึก พยานในคดีอ้างว่า เป็นของนายอัลรูไวลี่ เป็นของจริงหรือไม่ เนื่องจากมารดาและเพื่อนสนิทของนายอัลรูไวลี่ ไม่สามารถยืนยันได้ อีกทั้งหาก พันตำรวจโทสุวิชชัย ได้แหวนมาจริงตั้งแต่ปี 2546 เหตุใดจึงไม่นำให้ผู้บังคับบัญชา แต่กลับนำแหวนไปดัดแปลงสภาพ และจัดพิธีทางศาสนา ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับนายอัลรูไวลี่แต่อย่างใด เหมือนเป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ ซึ่งคดีนี้ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ พยานหลักฐานต้องชัดเจน แต่คดีนี้มีแต่พยานบอกเล่า ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดจริง จึงพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ด้านนายอาทิก อัลรูไวลี่ น้องชายของนายโมฮัมเหม็ด กล่าวภายหลังศาลมีคำสั่งว่า รู้สึกผิดหวัง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากนี้ญาติและเจ้าหน้าสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย จะร่วมกันแถลงข่าว ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในเวลา 13.00 น.

สำหรับคดีดังกล่าวอัยการฟ้องร้อง พล.ต.ท.สมคิด และพวกรวม 5 คนเมื่อเดือนมกราคม 2540 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ภายหลังการหายตัวไปของนายมูฮัมหมัด อัลรูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย และพระญาติกษัตริย์ซาอุิอาระเบีย เมื่อปี 2533 หรือเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ก่อนที่ในวันนี้ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ทูตซาอุดิอาระเบียแสดงความกังวลเพราะมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ได้พบหารือกับอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมนายมูฮัมหมัด อัลลูไวรี่ นักธุรกิจและพระญาติกษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย โดยแสดงความกังวลการเปลี่ยนผู้พิพากษาในคดี ก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพียงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งทำให้ฝ่ายซาอุดิอาระเบียมองว่า อาจเป็นความพยายามของฝ่ายจำเลยในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลและราชวงศ์ระดับสูงของซาอุดิอาระเบีย หวังที่จะเห็นความยุติธรรมในคดีนี้ และคณะกรรมการติดตามคดีของซาอุดิอาระเบีย และครอบครัวนายอัลลูไวรี่ จะเดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ด้วยตนเอง

นายสุรพงษ์ ยังยืนยันว่ารัฐบาลได้ดูแลการดำเนินคดีอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้แต่งตั้งให้ตนเองเป็นประธานคณะกรรมการติดตาม และกำกับดูแลการดำเนินคดีพิเศษ ที่เกี่ยวข้องกับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งได้เร่งรัดให้คดีต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และหวังว่าผลการตัดสินนจะจะเป็นก้าวสำคัญ ที่นำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียให้ดีขึ้นได้

ที่มา.ประชาไท
-------------------------------------------------


เมื่อ ทักษิณ อยากจะ บอยคอต..!!?

ไม่มีคำปฏิเสธหลังปรากฏข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็น “ศูนย์กลางอำนาจ” ทางการเมืองในพรรคเพื่อไทย “สไกป์” เข้ามาระหว่างการประชุมคณะกรรมการกิจการพรรคที่มี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีศักดิ์เป็น “น้องเขย” ของตัวเองเป็นประธาน

ข่าวระบุว่าช่วงหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวกับที่ประชุมว่า หากการเลือกตั้งครั้งต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยต้องลงเลือกตั้งอีก เพราะนอกจากจะไม่มีคู่แข่งแล้ว เชื่อว่าการเลือกตั้งจะถูกขัดขวางเหมือนกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

ข่าวระบุว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าว ที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะต่างมองว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยยืนยันในหลักการรักษาประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งมา พร้อมมองสถานการณ์ไกลออกไปว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการจะถูก “ชี้มูล” จาก ป.ป.ช. ในคดีโครงการรับจำนำข้าวแต่ก็ยังมีรองนายกรัฐมนตรีรักษาการทำหน้าที่ต่อไปได้อยู่ โดยรัฐบาลรักษาการจะพ้นไปก็ต่อเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่

รัฐบาลชุดใหม่ที่ว่านี้ พรรคเพื่อไทยน่าจะหมายถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

หลังปรากฏข่าวดังกล่าวออกไม่มีคำชี้แจงจากแกนนำพรรคเพื่อไทย มีแต่เพียง จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเพียงว่า พรรคเพื่อไทยไม่ใช่ “ตัวปัญหา”

แม้ในการประชุมของ 53 พรรคการเมืองเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาจะมีมติให้ กกต. เร่งจัดการเลือกตั้ง “รอบใหม่” ให้เกิดขึ้น แต่หากดูจากสถานการณ์การเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะหากจัดการเลือกตั้งไปท่ามกลางความไม่พร้อมและเกิดเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งความวุ่นวาย วิธีการแก้ไขปัญหาทางการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งจะถูก “ปิดตาย” ลงทันที

น่าคิดว่าทำไม พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเสนอแนวคิด “บอยคอต” การเลือกตั้ง หากพรรคประชาธิปัตย์ “บอยคอต” การเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 2

ต้องไม่ลืมว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีคำตอบให้กับสังคมว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งมีความหมายทั้งลงสมัครและไม่ลงสมัคร แต่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจเพราะรอ “เงื่อนไข” สำคัญทางการเมืองซึ่งก็คือ “คดีความ” ใน ป.ป.ช. เพราะจากข้อมูลหลักฐานพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูกชี้มูลและโครงการรับจำนำข้าวจะกลายเป็น “จุดถดถอย”สำคัญของพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญหากมีการระบุถึงพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็น “ข้อรังเกียจ” ที่สังคมไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เมื่อนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถ “ตัดสินใจ” ทางการเมืองได้

ข้อเสนอที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุออกมาน่าจะมาจาก “หลักคิด” ที่ว่าแม้ ป.ป.ช. จะชี้มูลหรือจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ที่มี ส.ว. ไปยื่นเรื่องให้วินิจฉัย เพราะมองว่าเป็นการกระทำที่ “ต้องห้าม” ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่น่าจะทำให้ “อำนาจ” ทางการเมืองเปลี่ยนมือจากรัฐบาลรักษาการได้

ข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ ช่างสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ นปช. ซึ่งก็คือมวลชนของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะท่าทีของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ที่ออกมา “ตีระนาด” ถึงชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลาง ซึ่ง กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ หมายมั่นปั้นมือจะให้เกิดขึ้น

“เป้าหมาย” ของการออกในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่การกระพือให้เกิดกระแส “ไม่เอา” นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถึงตอนนี้ก็น่าจะชัดเจนว่า หาก “อำนาจ” ทางการเมืองหลุดจากมือพรรคเพื่อไทยด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มวลชนของ นปช. ก็พร้อมที่จะออกมา “ต่อต้าน” ซึ่งเมื่อสถานการณ์ถึงจุดนั้นก็มี “ทางเลือก” เพียงแค่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือ ทุกฝ่ายเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง กับอีกทางคือ ให้ทหารทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจ

กรณีทหารทำการ “รัฐประหาร” ไม่น่าจะใช่ทางออกของสังคมไทย เพราะบทเรียนที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า ใช่แต่ปัญหาทางการเมืองเท่านั้นที่ต้องจัดการ ปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะเป็นปัญหายิ่งกว่า

เมื่อสถานการณ์ “บีบ” ไปจนถึงจุดนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า กปปส. จะเดินหน้าทางการเมืองต่อไปอย่างไร การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ยังเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือไม่หรือ สุดท้ายทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาเจรจากันโดยทั้งหมดน่าจะจบลงที่การเลือกตั้งสถานเดียว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดไว้ก่อนหน้านี้ไม่นานนักว่า “พร้อม” ที่จะ “ตาย” คาสนามประชาธิปไตย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมที่จะสู้จนถึงที่สุดแม้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไปหรือไม่

ในมุมของทหารโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พูดมาตลอดว่า อยากให้ทุกฝ่ายเคารพกติกา เคารพกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบ

หากต้องการที่จะชนะทางการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณว่ากันว่ามีวิธีเดียวคือต้องทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายของระบอบทักษิณ “พ่ายแพ้” ในการเลือกตั้งเท่านั้น เพื่อที่จะไม่สามารถ “อ้าง” ได้ว่ามาจากการสนับสนุนของประชาชนคนส่วนใหญ่

จึงน่าเชื่อว่าที่สุดแล้วไม่ช้าก็เร็ว การเลือกตั้งก็น่าจะเป็น “วิธีการ” คลี่คลายสถานการณ์ที่ดีที่สุด แต่ในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายกำลังใช้ “กลศึก” เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองซึ่งกันและกันและกำลังที่จะพัฒนาจนนำไปสู่ความรุนแรงนั้น การเลือกตั้งไม่น่าจะใช่ “คำตอบ” ในเวลานี้

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จึงอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “วัดความอึด” กันทั้งสองฝ่าย.

ที่มา.เดลินิวส์
//////////////////////////////////////////////

นายกฯ คนกลาง !!?

ในช่วงที่กระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงและยังไม่สามารถที่จะคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ ทั้งทางออกของความขัดแย้ง จุดสิ้นสุดของปัญหาทางการเมือง แม้กระทั่งวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปหรือยุติปัญหาลงได้ ประเด็นความขัดแย้งมีหลายประเด็นหลายคู่ซ่อนไว้ด้วยกัน แต่ปรากฏเด่นชัดเหลือเพียงประเด็นเดียว คือการต่อสู้ระหว่างปีกประชาธิปไตยและปีกที่ไม่เอาประชาธิปไตย

เมื่อความขัดแย้งที่ควรหาข้อสรุปบนวิถีทางประชาธิปไตยที่คนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย กระนั้นเองก็ได้สร้างกระแสการหา ระบอบคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถเข้ามาบริหารจัดการพัฒนาให้ประเทศชาติได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง วิธีการนั้นคือการหานายกคนกลาง อาจะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เคยมีนายก นายกคนกลางมาแล้ว และในครั้งนี้ ได้ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมว่าบุคคลใดเหมาะสมจะเข้ามาเป็นนายกคนกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,118 คน ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2557 เกี่ยวกับกระแสข่าวการจะเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.47 ระบุว่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันได้

ขณะที่ รองลงมา ร้อยละ 22.90 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง เคารพการตัดสินใจของประชาชน และอันดับ 3 ร้อยละ 12.12 คิดว่าเรื่องนายกฯ คนกลาง อาจเป็นเพียงข่าวลือหรือต้องการสร้างกระแสทางการเมืองเท่านั้น

ส่วนคำถามว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนคิดว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะมีนายกฯ คนกลาง พบว่า ร้อยละ 36.23 ระบุว่า จำเป็น เพราะอาจช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ประเทศชาติเดินต่อไปได้ ร้อยละ 32.85 ระบุ ไม่แน่ใจ เพราะต้องดูก่อนใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนกลาง และที่เหลืออีกร้อยละ 30.92 ระบุว่า ไม่จำเป็น เพราะถึงจะมีนายกฯ คนกลางบ้านเมืองก็ยังวุ่นวาย ต่างฝ่ายต่างแย่งผลประโยชน์ นายกรัฐมนตรีจึงควรมาจากการเลือกตั้ง

และสำหรับความเห็นว่าใครสมควรจะเป็นนายกฯ คนกลางบ้างนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.55 เลือก นายอานันท์ ปันยารชุน


ซึ่งผลสำรวจในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างของวิธีคิดภายใต้ความเชื่อระบอบคนดี คนเก่ง คนมีความสามารถ ว่ายังดำรงมีอยู่ในสังคมไทย กรอบคิดเหล่านี้คือการพร้อมและยอมสูญเสียหลักการอะไรบางอย่างที่สำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปด้วย การได้มาของนายกคนกลางที่คิดว่าเป็นคนดี เหมาะสมเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งหรือเป็นไปในมติของคนส่วนใหญ่ของประเทศ

คนยังเชื่อมั่นว่านายกคนกลาง สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมากกว่านายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง หากมองแบบนักเศรษฐศาสตร์ การเปิดโอกาสให้นายก มาจากคนนอกได้อาจทำให้ปัญหาตัวแทนหรือ Principle-Agent Problem มากยิ่งขึ้นอีก

ปัญหาตัวแทนเป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเจ้าของบริษัท (principle) ที่จ้างผู้จัดการ (agent) เข้ามาบริหารบริษัท ด้วยเหตุที่เจ้าของบริษัทไม่สามารถทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารงานของผู้จัดการได้ ทำให้การบริหารจัดการบริษัทของผู้จัดการอาจจะไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของบริษัท แต่อาจจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้จัดการเสียเอง

การที่นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับให้ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนทำหน้าที่เลือกนายกฯ จากใครก็ได้ อาจไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เพราะก่อนเลือกตั้งประชาชนไม่ทราบข้อมูลเลยว่า ตัวแทนของเขาจะเลือกใครมาเป็นนายกฯ เท่ากับว่าตัวแทนสามารถใช้อำนาจอย่างอิสระ ไม่ได้ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน

นอกจากนี้ นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งย่อมมีแรงจูงใจในการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน น้อยกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งต้องพยายามที่จะบริหารประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด เพราะมีแรงจูงใจว่า จะต้องนำพรรคของตนกลับมาบริหารประเทศอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเลือกตั้งจึงเป็นกลไกที่ทำให้นายกฯมีความรับผิดชอบต่อประชาชนได้มากกว่า

ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่งคือ(Accubility) การตรวจสอบ ไม่ว่าใครจะเป็นคนดีหรือไม่ดี ทุกคนต้องสามารถตรวจสอบได้ แต่จากบทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมาของนายกพระราชทานภายใต้ความเชื่อคนดีคนเก่ง ไม่โกงนั้น พื้นฐานการเข้าถึงหรือการตรวจสอบนั้นเป็นไปได้ยากมาก

ซึ่งหากยกตัวอย่างนายกคนกลางที่ผ่านมาอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย( 2535) ซึ่งไม่เคยผ่านการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่ก้าวขึ้นมาเพราะความบังเอิญของเหตุการณ์ทางการเมืองที่กำลังประสบปัญหาไร้ข้อยุติ ภายใต้ทุนทางสังคมที่สูงเป็นถึง ลูกของมหาอำมาตย์ตรีพระยาปรีชานุสาสน์ จบการศึกษาในวิชากฎหมายจากมหาลัยชื่อดังในเมืองผู้ดีอังกฤษ และประสบการณ์ทำงานด้านการทูตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมากมาย แถมยังเคยได้ รับฉายาว่า “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ซึ่งป็นบุคคลที่พูดเรื่อง ความโปร่งใส เป็นห่วงเป็นใยเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมาโดยตลอด

ในสมัยนายกฯอานันท์ฯ(2535) ได้มีการขายหุ้นของโรงกลั่นไทยออยล์ ให้กับเอกชนที่ชื่อเกษม จาติกวณิช เป็นเงิน 8,000ล้านบาท โดยในการจ่ายเงินเป็นลักษณะเช็คเปล่าใบเดียว ในขณะที่มีบุคคลอื่น เช่น นายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และเป็นพ่อค้าส่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ออกมาฉะแหลกรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน โดยให้เหตุผลว่าการขายโรงกลั่นน้ำมันครั้งนี้ไม่โปร่งใส และราคาขาย 8,000 กว่าล้านบาทนั้น เป็นราคาที่ถูกเกินไป ซึ่งนายวัฒนาเองก็พร้อมที่จะซื้อในราคา 15,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดประมูล นั้นหมายถึงการขายสมบัติชาติในราคาถูก การกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน จึงไม่โปร่งใส ขัดกับหลักการ และเหตุผลที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสิ้นเชิง


และก็ยังมีข้อพิพาทผลประโยชน์ทับซ้อนในสมัยที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ภาคเอกชนมีสิทธิเข้ามาลงทุนในกิจการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัทสหยูเนี่ยน

ที่มา.Siam Intelligence Unit
///////////////////////////////////////////////////////////

วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2557

ค้านปฏิรูปตำรวจ สังกัด ผวจ. ...!!?

กลุ่มนักวิชาการด้านยุติธรรม แนะปฏิรูปคน-จิตสำนึกมากกว่ากฎหมาย "วสิษฐ"ค้านปฏิรูปตำรวจสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เหตุเปลืองงบประมาณ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานวิชาการรำลึกศาสตรจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ครั้งที่19 เรื่อง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย โดยมีวิทยากร ได้แก่ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.), พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ, นายกิตติพงศ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายณรงค์ ใจกล้าหาญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยพล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเคยมีความพยายามดำเนินการมาแล้วหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทัศนคติของผู้พิจารณาและกลั่นกรองร่างกฎหมายที่ไม่ตรงกันของผู้เสนอร่างกฎหมาย ทั้งนี้ในสมัยที่ตนร่วมทำงานกับคณะกรรมการพัฒนางานตำรวจ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจ โดยมีสาระสำคัญเพื่อปรับรูปแบบของการบริหารงานตำรวจ ให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับจังหวัด แทนการผูกขาดอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผบ.ตร. เพียงอย่างเดียว และได้ยกร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมกาารอิสระเพื่อตรวจสอบงานตำรวจ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่พบว่าไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเนื่องจากผู้พิจารณาไม่มีความรู้ความเข้าใจ เมื่อมีการยุบสภา ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยุติการพิจารณา ตนมองด้วยว่าในระบบงานตำรวจมีสิ่งทีต้องเร่งปรับปรุง คือ การพัฒนาบุคลากรของตำรวจในสายงานสอบสวน ที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีความผิดพลาดในการลงโทษ โดยตนเคยเสนอให้นำโรงเรียนนายร้อยออกนอกระบบและยกให้เป็นสถาบันวิชาการโดยเฉพาะแต่ไม่ได้รับการพิจารณา และสิ่งที่ต้องพิจารณาแก้ไจ คือการรับงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจมาดำเนินการ เช่น การตรวจคนเข้าเมือง, การแพทย์

"สำหรับแนวคิดการปฏิรูปตำรวจที่พูดกันว่าจะให้ตำรวจไปสังกัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ เป็นตำรวจท้องถิ่น นั้นผมมองว่าเป็นการปฏิรูปที่ปลายทาง และมองว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีตำรวจแห่งชาติ เพราะหากให้ตำรวจไปขึ้นอยู่กับส่วนจังหวัด อาจจะเกิดความสิ้นเปลืองในงบประมาณของชาติได้ อาทิ ปัจจุบันมีห้องแล็บในส่วนกลาง หากให้ตำรวจสังกัดจังหวัดออาจต้องมีสร้างห้องแล็บตามจังหวัด, เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามในหลายประเทศที่มีตำรวจท้องถิ่นก็มีแนวคิดไม่ต้องการ เช่น ประเทศออสเตรเลีย" พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

ด้านนายคณิต กล่าวว่าหลักการปกครองที่ดีต้องใช้หลักนิติศาสตร์มาดำเนินการแทนการยึดเฉพาะหลักรัฐศาสตร์ เพราะหลักนิติศาสตร์ถือเป็นกระบวนการที่ให้และสร้างความเป็นธรรมกับสังคม แต่หากกระบวนการยุติธรรมไม่ดีก็ต้องเลิก หากคนไม่ดีอยู่ในกระบวนการต้องจัดการคน ทั้งนี้ตนมองว่าในกระบวนการยุติธรรมของประเทศหากพิจารณาและตัดสินเรื่องใด แล้วมีคนไม่รับในคำตัดสิน เชื่อว่าสังคมจะไม่สงบสุขแน่นอน อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมของไทยมีหลายประเภท อาทิ ทางปกครอง, ทางแรงงาน, รัฐธรรมนูญ ซึ่งตามหลักแล้วกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการให้รวดเร็วและเป็นธรรม ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทั้งจากการรู้หรือไม่รู้นั้น โดยตนมองว่าส่วนหนึ่งมาจากการเรียนการสอนของสถาบันคือสอนให้จำ แทนการสอนแบบให้คิดแบบเป็นลำดับ เช่น การออกหมายจับ ตามลำดับต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่อาศัยความรู้สึก และต้องมีพยานหลักฐาน จากนั้นพิจารณาว่าจำเป็นต้องออกหมายจับหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าในประเด็นการออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้นไม่เป็นไปตามหลัก

"การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต่อประเด็นการแก้ไขกฎหมายนั้น ผมว่าแท้จริงแล้วข้อกฎหมายมีปัญหาน้อยมาก หากเราพิจารณาและสร้างความเข้าใจในข้อกฎหมายให้ดี" นายคณิต กล่าว

ขณะที่นายกิตติพงษ์ กล่าวว่าหัวใจของการการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือ คน และจิตสำนึก เพราะหากมีกฎหมายดีอย่างไร แต่คนขาดจิตสำนึก ไม่เข้าใจในระบบยุติธรรม ทำให้เกิดคนทีืตีความหมายของกฎหมายแบบศรีธนญชัย และทำให้การปฏิรูปเป็นไปได้อยาก เช่น กระบวนการคุ้มครองสิทธิ์ของบุคคล อาจจะถูกละเมิดและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ โดยเฉพาะการอุ้มหาย นอกจากนั้นตนมองว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องพิจารณในหลายส่วนร่วมร่วมกัน เช่น การปฏิรูปหลักนิติธรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองสิทธิ์, การจัดสรรทรัพยากร และการบังคับใช้กฎหมาต้องยึดหลักเสมอภาค ตรวจสอบได้ และต้องให้ความเป็นธรรม นอกจากนั้นต้องคำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาล

"การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอ อย่ามองแค่มุมกฎหมาย แต่ต้องมีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหลีกกฎหมายและหลักนิติธรรม ถือเป็นหลักของพื้นฐานสังคมสงบสุข และหลักประชาธิปไตย หากกฎหมายไม่ดี ก็จะทำให้สังคมไม่สงบสุขและประชาธิปไตยก็จะไม่เกิด ส่วนการปฏิรูปที่ภาคสังคมให้ความสนใจ คือ การปรับอำนาจของฝ่ายการเมือง หากเพิ่มการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งเชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปประเทศมีความสมบูรณ์" นายกิตติพงษ์ กล่าว

ส่วนนายภัทรศักดิ์ กล่าวยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบมีปัญหา ทั้งเรื่องความโปร่งใส, การถูกแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบ, การเลือกปฏิบัติ, การขาดการตรวจสอบ, การคุกคามศาลจากบุคคลภายนอก นอกจากนั้นยังพบด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีบทบัญญัติแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจศาล เช่น การขายซีดีเถื่อน ที่กำหนดโทษให้ปรับเป็นเงินหลักแสน และมีโทษจำคุก ดังนั้นควรมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม และที่สำคัญกฎหมายบางฉบับมีความล้าสมัยควรพิจารณายกเลิก

กระบวนการยุติธรรม ต้องมองการทำงานตั้งแต่ต้นทาง คือ คน ในฐานะที่มาเป็นพยาน ที่ต้องตระหนักในการมีส่วนร่วม อย่ามองเฉพาะในส่วนการพิจารณาของศาลที่เป็นปลายทาง กระบวนการยุติธรรมเหมือนระบบสายพาน หากในจุดใดจุดหนึ่งของสายพานมีความไม่ดี เชื่อว่าปลายทางของสายพานย่อมเกิดผลไม่ดีด้วย

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------------

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

เศรษฐศาสตร์การเมือง: พรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธตุลาการรัฐประหาร

เศรษฐศาสตร์การเมือง: พรรคเพื่อไทยต้องปฏิเสธตุลาการรัฐประหาร: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2557 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ที่ให้การเลือกตั้ง...

ป้องกันและปราบปราม การทุจริตคอร์รัปชั่น !!?

โดย สร อักษรสกุล

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า "ประเทศไทย หากปราศจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ถนนทุกสายสามารถปูได้ด้วยทองคำ"

นั่น แสดงให้เห็นว่า เงินทองที่ถูกทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จากทั้งข้าราชการชั่ว นักการเมืองเลว และผู้ที่มีส่วนในการใช้เงินที่เก็บมาจากภาษีของประชาชน มีจำนวนมหาศาล

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เสียชีวิตไปนานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ปัญหาการทุจริต ฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือที่หลายคนมักเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "คอร์รัปชั่น" (Corruption) ในประเทศไทย ยังไม่มีทีท่าจะลดลงแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำกลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก เห็นได้จากการจัดลำดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยและมากขึ้นตามลำดับ ขององค์กรเพื่อความโปร่งใส หรือ Transparency International-IT ที่จัดลำดับความโปร่งใสของประเทศไทย ปรากฏว่าลำดับยัง คงที่ หรือ เพิ่มขึ้น

นั่นหมายความว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ได้ลดลง

ปี 2554 องค์กร IT จัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 80 ของประเทศที่มีความโปร่งใสน้อย จากจำนวน 183 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 3.4จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านของไทยได้ 9.2 จากคะแนนเต็ม 10

กว่า 10 ปีก่อน เรามักได้ยินเรื่อง การชักเปอร์เซ็นต์ ของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ จากโครงการที่บริษัทเอกชนชนะการประมูลจากกระทรวงนั้น ๆ จำนวน 15% ของงบประมาณโครงการ แต่ต่อมาเปอร์เซ็นต์ที่นักการเมืองเจ้ากระทรวงให้ลูกน้องคนสนิทไปแจ้งกับบริษัทที่ชนะการประมูลโครงการเพื่อหักเปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้การชักเปอร์เซ็นต์สูงถึง 30% ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวนี้ทำให้นักการเมืองดี ๆ (ที่มีอยู่ไม่มากนักในบ้านเรา) พลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย

ข้าราชการหลายระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุด เช่น ปลัดกระทรวง จนถึงระดับล่างบางคน ยังคงหาช่องทางที่จะหารายได้พิเศษ โดยการเรียกร้องเงินทองจากประชาชนที่มาใช้บริการและต้องการความสะดวก ความรวดเร็ว ประชาชนบางคนจึงยอมจ่าย เงินพิเศษ หรือ เงินใต้โต๊ะ ให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ซึ่งแรก ๆ มักเรียกว่า "กินตามน้ำ" เพราะผู้ที่มาใช้บริการเสนอให้เอง เนื่องจากต้องการความสะดวก

ความรวดเร็วมากขึ้น ต่อ ๆ มากลายเป็น"กินทวนน้ำ" คือเจ้าหน้าที่จะเรียกจากผู้ที่มาใช้บริการเอง จนกลายเป็นนิสัย

ประเทศ สิงคโปร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ASEAN ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในเอเชียนั้น รัฐบาลของเขาตั้งเงินเดือนให้ข้าราชการค่อนข้างสูง รวมทั้งมีสวัสดิการที่ดี นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มีเงินเดือนสูงมาก สูงกว่าเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และสูงกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้มีคนถามว่าหากให้เงินเดือนข้าราชการไทยสูง ๆ อย่างสิงคโปร์ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยจะลดลงหรือไม่ ตอบได้เลย ว่าการคอร์รัปชั่นในเมืองไทยจะยังคงมีเหมือนเดิม เพราะบริบทและค่านิยมของสังคมสิงคโปร์กับสังคมไทยไม่เหมือนกัน

การแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย คนที่คิดจะแก้ปัญหาจะต้องรู้จักพฤติกรรมของคนไทยด้วยกันให้ดีพอ เนื่องจากคน ไทยส่วนมากยังยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะ โดยเพียงดูจากภายนอกเช่น มีบ้านใหญ่โต มีรถยนต์หรูราคาแพง เท่านั้น แต่ไม่สนใจที่มาของรายได้ของคนเหล่านั้น ว่าได้มาโดยสุจริต ถูกต้อง หรือคดโกงมา นอกจากนั้นคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ปากว่าเขา แต่พอตนเองมีโอกาสก็กระทำ (คอร์รัปชั่น) เช่นกัน

เข้าทำนอง "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"

หาก คนไทยส่วนมากยังคงยกย่อง เชิดชู คนที่มีฐานะทางสังคม โดยไม่สนใจที่มาของรายได้ ที่อาจได้มาโดยมิชอบ รวมทั้งคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเป็นพวก "วัตถุนิยม" (Materialism) จึงยากที่จะแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองลงได้ ซึ่งผิดกับบางประเทศ เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยมาก เนื่องจากประชาชนในประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีค่านิยมไม่ยกย่องคนที่มีฐานะร่ำรวย รวมทั้งคน

ที่มีฐานะดีในประเทศของเขาก็ไม่แสดงตัวโอ้อวด และหากทราบว่าใครที่มีประวัติการคอร์รัปชั่น สังคมของเขาจะไม่ยอมรับและไม่คบค้าสมาคมด้วย (Social Sanction) ซึ่งการลงโทษทางสังคมเช่นนี้ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรง ทำให้คนคนนั้นแทบจะอยู่ในสังคมของเขาอย่างยากลำบาก เพราะคนรอบข้างไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย

ประเทศบางประเทศที่ไม่ไกล จากไทยนักอย่างเกาหลีใต้ อดีตประธานาธิบดี โรห์ แต วูได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเมื่อหลายปีก่อน เมื่อทราบว่าภรรยาของตนมีส่วนในการรับสินบนและทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ตนยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ ซึ่งในประเทศไทยของเรารับรองไม่มีเรื่องอย่างนี้แน่นอน

เพราะสังคมไทยไม่ค่อยประณามคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ตรงกันข้าม โดยเฉพาะคนที่รู้จักกันกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น มักให้อภัยและให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นด้วย

ตัวอย่าง ที่ไม่ดีเหล่านี้ เด็ก เยาวชน และนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต่างรับรู้ รับทราบจนกลับกลายมาเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง บางคนมีทัศนคติว่า คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน ถือเป็นทัศนคติที่อันตรายอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ในบ้านเมืองเรา ซึ่งในปัจจุบันนี้ประเทศไทยถือว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก และแทบจะทุกระดับ ดังที่เป็นข่าวตามสื่ออยู่เนือง ๆ

การ ทุจริตคอร์รัปชั่นระบาดไปทุกวงการ ไม่ว่าจะระดับกระทรวง กรม กอง จังหวัด และในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้ง "กินตามน้ำ" และ "กินทวนน้ำ" ที่เลวร้ายคือคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับยอมรับและยกย่องคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เพียงเพราะเห็นว่าคนคนนั้นมีเงินทองและทรัพย์สินมาก

แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในบ้านเราได้ผลอย่างจริงจัง ซึ่งผู้เขียนขอเสนอไว้ 2 แนวทาง ดังนี้

การแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และ ควรให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (จะด้วยการแก้กฎหมายให้ไม่มีการหมดอายุความของคดีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือด้วยวิธีการอื่น) นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานจากภาครัฐ ควรมีการพบปะกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เพื่อตกลงที่จะไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์

เพื่อ ให้ราคาโครงการถูกลงมาจากราคากลางได้อีก โดยมีสื่อมวลชนเป็นสื่อกลาง ดังที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้กระทำกับผู้แทนขององค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และสภาหอการค้าฯเมื่อไม่นานมานี้ เพราะกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้น ฐาน (Infrastructure) ค่อนข้างสูง

การแก้ปัญหาระยะยาว การปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีความคิด ค่านิยม และมีทัศนคติว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่ง

ที่เลวร้าย เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ รวมทั้งการไม่ยอมรับคนรวย คนที่มีฐานะดี แต่มีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส ตัวอย่าง เช่น นักการเมืองในบ้านเราบางคนที่ก่อนเข้ามาเล่นการเมือง ก่อนเป็นรัฐมนตรี มีฐานะธรรมดามาก แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีฐานะมั่งคั่ง ร่ำรวย อย่างนี้สันนิษฐานได้ว่า คนคนนั้นมีรายได้ที่ไม่สุจริตระหว่างที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการไม่ยอมรับทางสังคม (Social Sanction) ในบ้านเรา ในอนาคตอาจได้ผลเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป และอาจทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยลดลงได้

ข้อสำคัญ คนไทย ข้าราชการไทย รัฐบาลไทย เหนืออื่นใด สังคมไทย จะต้องรณรงค์และเอาจริงกับการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ให้หมดสิ้นไปจากเมืองไทย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------

มติ 53 พรรคการเมือง ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ !!?

ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน ได้มีการแถลงมติการประชุม 53 พรรคการเมือง เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเลือกตั้ง นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2557 ทุกพรรคการเมืองก็ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมือง และอยากให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ และเกิดสันติสุขโดยใช้กระบวนการเลือกตั้งในการแก้ปัญหา

โดยตัวแทนพรรคทั้งหมดที่ได้มาร่วมประชุมเห็นว่า ควรมีการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร่งด่วน เป็นหน้าที่ของทั้งรัฐบาล กกต. และพรรคการเมืองทุกพรรคที่จะร่วมปรึกษาหารือกัน ที่ประชุมในวันนี้เห็นว่า ควรจะได้มีการออก พ.ร.ฎ.เพิ่มเติม จาก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย หรือมีการประกาศคำวินิจฉัยนั้นในพระราชกิจจานุเบกษา

สำหรับปัญหาของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นที่เห็นชัด คือ ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครก็ดีของพรรคก็ดี หรือค่าใช้จ่ายในส่วนของการจัดการเลือกตั้ง ก็จะต้องมาปรึกษาหารือกันว่าจะรับผิดชอบกันอย่างไร รวมทั้งการแสดงค่าใช้จ่ายของพรรคและผู้สมัคร หากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วการแสดงค่าใช้จ่ายนั้นจะแสดงอย่างไร จากนั้น คือเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะจากคำร้องของผู้ตรวจการฯหรือศาลรัฐธรรมนูญที่การเลือกตั้งเกิดปัญหานั้น เพราะมีผู้ที่ไปขัดขวางการเลือกตั้ง ดังนั้นตรงนี้ กกต.จะดำเนินการต่อไปอย่างไรให้เป็นรูปธรรมไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีก

นอกจากนี้ ปัญหาที่เราห่วงมาก คือ เมื่อดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นว่าการยุบสภายังคงดำรงอยู่รัฐบาลย่อมมีอำนาจจำกัดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งรวมถึงสมาชิกพรรคทั้งหลาย เนื่องจากไม่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง มากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ทุกท่านยังสามรถดำเนินกิจกรรมตามปกติ คือ ถือว่าไม่อยู่ในช่วงของการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็จะได้ดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้องต่อไป

นายโภคินกล่าวต่อว่า สิ่งที่จะต้องแก้ไขในวันต่อไปในวันข้างหน้า เมื่อจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ คือ ทาง กกต.จะรับสมัคร หรือทำให้มีการลงคะแนนในทุกหน่วยเลือกตั้งให้ลุล่วง เรียบร้อย ได้อย่างไร ต่อมาคือ การประกาศผลการเลือกตั้งนั้น กกต.ต้องมีความชัดเจนมากครั้งที่ผ่านมา และจะป้องกันการขัดขวางการเลือกตั้งได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมามีปัญหาจนนำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และหากทำไม่ได้ เราจะมีการหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คงไม่ใช่ให้เกิดประเด็นที่ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดไป

ถามว่า ส่วนใหญ่เป็นคำถามที่จะต้องถามความชัดเจนจาก กกต.ใช่หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ใช่ ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น เพราะเราอาจจะเข้าใจว่าเป็นแบบนี้ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นอาจจะเกิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน

ถามว่า ได้มีการพูดคุยกันถึงวันเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ว่าช่วงเวลาใดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม นายโภคินกล่าวว่า เราบอกตอนต้นของการประชุมว่า นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยในพระราชกิจจาฯแล้ว ก็ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน ส่วนวันที่เหมาะสมทุกฝ่ายคงจะต้องไปหารือกันอีกครั้ง

ที่มา : มติชนออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////

เชือด จำนำข้าว !!?

ตอนนั้นนายจำลองโต๊ะทองเป็นผู้จัดการแบงก์ธ.ก.ส. นักข่าวรุมถามกันหนักว่าดีหรือเวิร์กแน่หรือเพราะเป็นสิ่งใหม่ก็ได้รับคำยืนยันว่าโดยหลักการแล้วดีมากๆ แต่ผลที่ออกมาในปีแรกไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่นักเพราะเจอปัญหาเรื่องที่ชาวนาต้องขนข้าวจากที่อื่นมาที่อยุธยา

ในปีการผลิต 2529 / 2530 รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนวิธีการให้ธ.ก.ส. รับจำนำข้าวเปลือกที่ชาวนาเก็บไว้ในยุ้งฉางได้จึงได้รับการตอบรับอย่างดีทำให้รัฐบาลต่อๆ มาเดินแนวนี้ตลอดกระทั่งปีการผลิต 2542 / 2543 รัฐบาลมีมติให้อคส. เช่าคลังสินค้าเอกชนเพื่อรับจำนำข้าวจากชาวนาทำให้โครงการรับจำนำข้าวเป็นที่ชื่นชอบของชาวนาและแบงก์ธ.ก.ส. เองไล่มาตั้งแต่ยุคนายจำลองต่อมาเป็นนายสุวรรณไ ตรผล แล้วเป็นนายทวีศักดิ์ ทังสุพานิช นายมนัส ใจมั่น และ นายพิทยา พลนาถธราดล ผู้จัดการคนต่อๆ มา ก็ล้วนทำเรื่องรับจำนำข้าวมาตลอดทำให้แบงก์ธ.ก.ส. มีรายได้จากโครงการนี้มาตลอดด้วยเช่นกัน

กระทั่งปีการผลิต 2544 / 2545  รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดกับเพิ่มปริมาณรับจำนำและให้โรงสีเอกชนเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการรับจำนำนอกเหนือจากธ.ก.ส. และยังกำหนดให้มีการรับจำนำใบประทวนฯโดยให้ชาวนานำข้าวเปลือกไปจำนำกับโรงสีโดยมีอตก. และอคส. เป็นผู้ออกใบประทวนแล้วสามารถนำใบประทวนมาขึ้นเงินกับธ.ก.ส. ได้ตามราคารับจำนำที่ประกาศไว้

ในปีการผลิต 2546 / 2547 และ  2547 / 2548  รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ได้กำหนดปริมาณการรับจำนำข้าวสูงถึง 9 ล้านตันหรือประมาณ 1 ใน 3 ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศโดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิ  ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดตันละ  8,000 บาทส่งผลให้มีชาวนาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น

ปีการผลิต 2546 / 2547 มีเข้าร่วมโครงการสูงถึง 2.7 ล้านตัน ปีการผลิต 2547 / 2548 เพิ่มขึ้นเป็น  9.4 ล้านตัน และปีการผลิต 2548 / 2549 เพิ่มขึ้นเป็น  9.5 ล้านตันเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนปรากฎว่ามีข้าวหลุดจำนำตกเป็นของรัฐในปีการผลิต 2548 /2549ประมาณ 3 ล้านตันเศษ

จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งสมัยที่ 2 พรรคไทยรักไทยกวาดเก้าอี้ส.ส.ได้มากถึง 377 เก้าอี้
หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ปรับลดราคารับจำนำ

ลงมาให้ใกล้เคียงราคาตลาดอีกทั้งยังลดปริมาณรับจำนำลงเหลือ 8 ล้านตันต่อมาปี 2551 ยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 15,000  บาท ชาวนาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคารับจำนำข้าวให้สูงขึ้นใกล้เคียงกับราคาตลาดรัฐบาลมีมติให้รับจำนำข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% จากเดิมตันละ 7,100 บาทเป็นตันละ 14,000 บาท

โครงการจำนำข้าวมาถูกยกเลิกไปในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกาศใช้นโยบายประกันรายได้แทนการรับจำนำ

เมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายรับจำนำข้าวซึ่งเป็น 1 ในนโยบายหาเสียงจึงถูกผลักดันอีกครั้งและกลายเป็นนโยบายที่นำไปสู่เรื่องราวทางการเมืองมากมายจนถึงขั้นถูกป.ป.ช.  จ้องชี้ป็นชี้ตายนายกฯ ยิ่งลักษณ์อยู่ในขณะนี้

แต่หากถามว่านโยบายรับจำนำข้าวดีหรือไม่บอกได้เลยว่าโดยหลักการถือว่าดีได้ประโยชน์กับชาวนาจึงทำให้ชาวนาชื่นชอบถ้าไม่ดีจริงคงไม่อยู่ยาวมาตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งมาถึงวันนี้ก็ปาเข้าไป 29 ปีแล้ว

เพียงแต่ว่ายุคที่จำนำข้าวบูมสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯนั้นเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ มีการผ่าตัดระบบราชการมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงแถมรัฐมนตรีในยุคนั้นก็เฟ้นหามือดีๆ เข้ามามีนายสมคิด จาตุศรีพิพักษ์ เป็นรองนายกฯ เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ สมัยรัฐบาลนายสมัคร ก็มีการเอานายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ซึ่งเป็นมือขายระดับเซียนของโตโยต้ามาเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ทำให้เมื่อรับจำนำข้าวมาแล้วสามารถที่จะขายออกไปได้ในขณะที่ไม่ได้มีเรื่องฉาวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น

แต่ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ต้องยอมรับความจริงว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ ยังมีบารมีไม่เท่ากับอดีตนายกฯ ทักษิณ ในขณะที่มือทำงานด้านเศรษฐกิจก็ได้แค่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็นรองนายกฯ ควบเก้าอี้รัฐมนตรีพาณิชย์ผลงานก็อย่างที่เห็นๆ ค้าขายไม่เป็นจนต้องลุกออกไปควบรัฐมนตรีคลังแทนส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีพาณิชย์ก็กลายเป็นนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งถูกมองว่า มาจากสายของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ก็กลายเป็นเป้ามาตั้งแต่ตอนนั้นและกลายเป็นคนที่ถูกป.ป.ช. ลงมติเชือดพร้อมกับคนรอบๆ กาย

นี่คือ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของมือบริหารโครงการรับจำนำข้าวที่วันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องทบทวนบทเรียน และต้องยอมรับความจริงว่าความตั้งใจดีตั้งใจทุ่มเททำงานอย่างหนักของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวนั้น ไม่พอแต่จะต้องมีทีมที่ทำงานได้ดี
และปราศจากเรื่องทุจริตด้วย

หากคนทำมือไม่ถึงหรือหากมีลูกเกรงใจและที่สำคัญหากมีคนจ้องเข้ามากอบโกยผลประโยชน์แม้เป็นโครงการที่ดีเป็นโครงการที่มีประโยชน์กับชาวนาก็สั่นสะเทือนได้และมีสภาพอย่างที่โดนกระหน่ำในขณะนี้จากทั้งป.ป.ช. และจากการเมืองขั้วตรงข้าม

วันนี้โครงการรับจำนำข้าวจึงโดนยำเละพรรคประชาธิปัตย์ดาหน้าขุดคุ้ยเรื่องนี้อย่างเอาเป็นเอาตายจะเพื่อแลกหมัดกับที่ถูกตรวจสอบเรื่องทุจริตไทยเข้มแข็งสารพัดโครงการแลกหมัดกับที่ถูกสอบทุจริตการระบายข้าวจากโครงการประกันราคาข้าวหรืออะไรก็สุดแล้วแต่ที่แน่ๆคือสามารถทำได้ผลเพราะโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหาเรื่องทุจริตจนป.ป.ช.กระโดดเข้าใส่จริงๆ

ข้อมูลที่ป.ป.ช. มีนั้นถ้าฟังจากปากคำของนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ก็ชัดเจนว่ามาจากการขุดคุ้ยของประชาธิปัตย์แล้วป.ป.ช.มารับลูกต่อจนเพลินชนิดที่ลืมคดีทุจริตระบายข้าวของประชาธิปัตย์ไปเลยคดีค้างอยู่ 2-3 ปีไม่มีความคืบหน้า

ดังนั้นปัญหาเรื่องโครงการรับจำนำข้าวในวันนี้จึงอยู่ที่ว่าจะแก้ข้อครหาเรื่องทุจริตได้อย่างไรเพราะจากการสืบค้นบรรดาตัวละครต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องล้วนเป็นประเด็นให้ประชาธิปัตย์กัดติดและป.ป.ช. จ้องฟันได้จริงๆ

นายบุญทรงนั้นโดนเชือดแน่นอนแล้วเพราะมีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับพ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ซึ่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีพาณิชย์ทั้งในยุคของนายบุญทรงและในยุคของนายกิตติรัตน์เอามาเป็นตัวจิ๊กซอว์ที่ทำให้ถูกเล่นเต็มๆโดยพยายามโยงพ.ต.นพ.วีระวุฒิ เชื่อมต่อกับ “เสี่ยเปี๋ยง” หรือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่เกี่ยวพันกับโครงการรับจำนำข้าวมาตลอดกระทั่งมีคดีล้มละลายไปแล้วแต่ก็ยังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทใหม่คือ บริษัทสยามอินดิก้า ที่เข้ามาผงาดในโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์

โดยสยามอินดิก้าถูกมองว่า แปลงร่างมาจากเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง เพราะกรรมการและผู้ถือหุ้นหลายคนในสยามอินดิก้า เคยเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง มาก่อนแถมตอนที่เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ย่ำแย่สยามอินดิก้า ก็เคยเข้าไปช่วยเพิ่มทุนให้มาแล้ว

ยิ่งข้อมูลป.ป.ช. กรณีการขายข้าวจำนวน 7.32 ล้านตัน ให้กับบริษัทต่างประเทศในรูปแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีโดยบริษัทจากจีนชื่อ “GSSG IMP AND EXPORT CORP” อยู่ที่เมืองกวางเจา เข้ามาทำสัญญาค้าข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ 5 ล้านตัน แต่ปรากฏว่า ผู้ที่มีอำนาจของบริษัทคือนายรัฐนิธ โสติกุล และมอบอำนาจให้นายนิมล รักดี ชาวบางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นผู้ดำเนินการแทน

มีการโยงว่านายนิมล รักดี หรือในวงการเรียกว่า “เสี่ยโจว” นั้นเป็นมือขวา “เสี่ยเปี๋ยง” หรือนายอภิชาติ แล้วก็โยงนายอภิชาติว่า มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ.ต.นพ.วีระวุฒิ โดยอาศัยหลักฐานว่าอดีตภรรยาของพ.ต.นพ.วีระวุฒิ เคยครอบครองรถยนต์โฟล์กตู้คันหนึ่งซึ่งบังเอิญเคยเป็นของบริษัทสยามอินดิก้ามาก่อน

จากนั้นก็พาดพิงต่อไปถึงเรื่องที่ว่าพ.ต.นพ.วีระวุฒิ เคยเป็นกรรมการบริษัท สยามรักษ์ จำกัด 1 ในเอกชน 3 รายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จำหน่ายข้าวถุงในโครงการระบายข้าวจากการรับจำนำ
  แถมเสี่ยเปี๋ยงจากที่บริษัทเพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง เป็นหนี้ธนาคาร 8 แห่งเป็นเงินกว่า 12,000 ล้านบาท จนถูกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถูกยื่นฟ้องล้มละลายจู่ๆ มาตอนนี้ก็กลับรวยขึ้นมาถึงขนาดที่ต้องการขยายเขตพื้นที่บ้านในซอยนาคนิวาส ย่านลาดพร้าว ก็ควักเงินซื้อบ้านข้างๆโดยหลังหนึ่งจ่ายไป 350 ล้านบาท ส่วนอีกหลังหนึ่ง 80 ล้านบาทได้อย่างหน้าตาเฉย

แน่นอนว่าพ.ต.นพ.วีระวุฒิ ที่ถูกเชื่อมโยงในฐานะกุญแจสำคัญเพราะเป็นเลขารัฐมนตรีพาณิชย์และรู้จักกับเสี่ยเปี๋ยงก็ได้ออกมาปฏิเสธและตอบโต้ตลอดยืนกรานว่าถูกเล่นงานทางการเมืองข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำขึ้นมาอ้างก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโยกย้ายผู้บริหารในอคส. แล้วเกิดความไม่พอใจ

ปัญหาก็คือ วันนี้ ป.ป.ช. เชื่อข้อมูลเหล่านี้และพยายามที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้โยงไปให้ถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่าจะต้องรับผิดชอบ

ซึ่งนั่นหมายถึงการเชือดเหมาเข่งในคราวเดียวไปเลย
ส่วนจะมองข้ามช็อตว่า จะทำให้เกิดสุญญากาศการเมืองและนำมาซึ่งนายกฯ มาตรา7 หรือไม่นั้น
ป.ป.ช. รู้ดีกว่าใครเพื่อนว่าในใจคิดอย่างไร

อยู่ที่วิชา มหาคุณ จะกล้ายอมรับตรงๆ หรือไม่เท่านั้นเอง

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////////////

เหนือคำพรรณนา..!!?

โดย.พญาไม้

เหมือนการแข่งขันชกมวย..หรือการแข่งขันกีฬาทุกชนิดหากคู่ต่อสู้ปฏิเสธการต่อสู้..ผู้ยืนอยู่และพร้อมสำหรับการต่อสู้ก็คือผู้ชนะ

การเลือกตั้งไม่น่าจะแตกต่างไปจากนี้..

เมื่อมีพระบรมราชโองการให้มีการเลือกตั้ง..เพื่อให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฏร์ของเขาขึ้นมาเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลหาตัวนายกรัฐมนตรี..

ก็เป็นหน้าที่ของรัฐ..ที่จะต้องจัดการให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด
ก็เป็นหน้าที่ของ..กรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องทำให้ภาระหน้าที่อันเป็นที่มาของคณะกรรมการการเลือกตั้งสำเรน็จลุล่วงไป

ไม่ใช่หน้าที่ของผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง..

พรรคการเมือง..ที่ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง..ก็เท่ากับท่านปฏิเสธพระบรมราชโองการและยินยอมโดยสมัครใจ..ที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม..

มีแต่พรรคการเมืองอันธพาลเท่านั้น..ที่ปฏิเสธการเลือกตั้งและพยายามบีบบังคับให้การเลือกตั้งให้เป้นไปตามที่พวกตนประสงค์..

หน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องพิจารณาว่า..ขบวนการขัดขวางการเลือกตั้งนั้น..มาจากที่ใด..และหากนำสืบได้ว่า..ผู้ขัดขวางการเลือกตั้งก็คือพรรคการเมืองที่ไม่ส่งคนลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง..หรือเคยเป็นหรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นก่อนหน้า..

อำนาจตามที่มีอยู่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง..ย่อมจะต้องพิพากษาให้กับผู้ขัดขวางหรือพรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง..

ไม่ว่าจะสั่งยุบพรรคห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองแบบมีกำหนดเวลา..หรือโทษอื่นใดตามที่กฏหมายให้อำนาจไว้..

แต่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง..จะทำไม่ได้อย่างเด็ดขาดก็คือการสนับสนุนพรรคที่ปฏิเสธการเลือกตั้งอันเป็นพระบรมราชโองการ..หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ..

หากว่า..พรรคเพื่อไทย..จะปฏิเสธการเลือกตั้งและกระทำการอย่างเดียวกับที่พรรคการเมืองบางพรรคทำหรือนำสืบได้ว่าการขัดขวางดังกล่าวมาจากพฤติกรรมของคนเคยสังกัดพรรคดังกล่าว

ก็เชื่อว่า..การเลือกตั้งคงไม่เป็นโมฆะและพรรคเพื่อไทยจะได้รับโทษถึงขั่นยุบพรรค..ก็เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบนแผ่นดินใด..หายนะก็กำลังบังเกิดขึ้นบนแผ่นดินนั้น

ที่มา.บางกอกทูเดย์
--------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ถวิล เปลี่ยนศรี กลับ สมช.ทั้งเสี่ยงทั้งเหนื่อย !!?

พล.ท.ภราดร ระบุ ถวิล กลับสมช.เสี่ยงและเหนื่อยนำปราศัยบนเวทีกปปส. เพื่อนร่วมงานไม่รัก รัฐบาลไม่แบ่งงานให้ทำ

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาในการ "คืนตำแหน่ง" เลขาธิการสมช.ให้กับ"นายถวิล เปลี่ยนศรี" ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ส่วนตัวเองต้องโดนโยกพ้นเก้าอี้สมช.ไปนั่งในตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ" แล้วงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"จะเดินหน้าอย่างไร

รู้สึกอย่างไรกับการไปนั่งตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

- ความรู้สึกก็เป็นปกติ เพราะเราเป็นข้าราชการฝ่ายความมั่นคง หนึ่งต้องมีวินัย สองต้องได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา และสามมีสปิริต ดังนั้นงานมั่นคงจึงต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา เพราะถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจปัญหาจะเกิดขึ้น เป็นอุปสรรคในการทำงานของตัวเองด้วย แต่ที่สำคัญคืออย่าเป็นอุปสรรคให้กับหน่วยงานของตัวเอง เพราะถ้างานเสนอแนะเชิงนโยบายถ้าไม่ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากผู้บังคับบัญชา สุดท้ายก็ไปไม่ได้ เพราะงานเสนอแนะนโยบายไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเขาจะทำตามเราทุกเรื่อง เพราะการตัดสินใจเป็นเรื่องของรัฐบาล เราเสนอ หนึ่ง สอง สาม สี่ เขาอาจจะเอาทางที่ห้าของเขาก็ได้หรือหนึ่งในสี่ของเราก็ได้ เพราะงานแบบนี้จะต้องปฏิบัติตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เขาสั่งอะไรมาเราก็มีหน้าที่ดำเนินการตามคำสั่ง สุดท้ายความรับผิดชอบก็อยู่ที่ผู้บังคับบัญชา เราจึงไม่กังวลใจอะไร ก็มีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ทั้งนี้งานผมก็เหมือนเดิมแต่ลูกมือลูกไม้ก็หายไปบ้างเพราะต้องไปใช้สถานที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่งานที่ปรึกษานายกฯก็ดูงานความมั่นคงเหมือนเดิมคือมีหน้าที่กลั่นกรอง เสนอแนะ ดูงานในสายความมั่นคงที่จะเสนอนายกฯ

มองยังไงกับการโยกย้ายของสมช.ที่เป็นปัญหาในรอบหลายปีที่ผ่านมา

- ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าราชการระดับ10 -11 เป็นอำนาจของครม. เมื่ออำนาจตามกฎหมายให้ครม.เขาก็มีสิทธิ์ใช้อำนาจนั้น เมื่อกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลมีอำนาจโยกย้ายผู้บริหารให้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และมีกติกาตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสามารถโอนย้ายข้าราชการทหารตำรวจหรือข้าราชการพลเรือนได้ เมื่อกฎหมายมีอำนาจให้ครม.แล้วเราก็ต้องเคารพถ้าเป็นคำสั่งโดยชอบธรรม ถ้ารัฐบาลมาตามครรลองประชาธิปไตยเขาได้รับมอบหมายจากประชาชนมา กำหนดนโยบายมาเขาก็มีสิทธิ์พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเข้าไปทำงาน

"ข้าราชการก็อยู่ในตะกร้านั่นแหละเขาจะหยิบใครมาก็อยู่ที่เขาประสงค์ และในหลักของราชการก็ชัดว่าเมื่อเราโตถึงระดับบริหารมันต้องพร้อมที่จะโยกย้ายซ้ายขวาในหน้าที่นั้น ถึงแม้เราอยู่ครบ4ปีก็เข้ากฎกติกาก็ต้องเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ถ้าไม่เปลี่ยนจะต่อวีซ่าก็ได้ปีละครั้งแต่ไม่เกิน6ปี และเมื่อครบ6ปี ก็ต้องย้ายไปอยู่ดี ดังนั้นถ้าเราเป็นคนเคารพกติกาและยอมรับอำนาจซึ่งกันและกันมันก็จบไม่มีปัญหา"

และต้องมีหลักคิดอีกอย่างว่าเมื่ออยู่ในตำแหน่งผู้บริหารมันมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่ากันหมด เราได้รับเงินเดือน ได้รับเงินตอบแทน เงินพิเศษ เงินเพิ่มอื่นๆเท่ากันหมดไม่แตกต่างอะไร จากเลขาสมช.มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ เงินเดือนทุกอย่างก็เท่ากันหมด เพียงแต่หน้าที่มันต่างกัน และตำแหน่งหน้าที่นี้ไม่ใช่ว่าใครคนหนึ่งจะมากำหนดมันแต่มันเกิดขึ้นจากการกำหนดตำแหน่งของทางราชการที่ผ่านคณะกรรมการฯว่าเรามีความเหมาะสม มีการกำหนดเงินเดือน ซึ่งเป็นหลักการบริหารงานบุคคลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน

"ถ้าเคารพกกติกาตรงนี้มันก็จบ มันก็จะไม่มีความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะถ้าอย่างนั้นก็ต้องไม่มีกติกาให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาย้ายเรา ก็ต้องหามไปเลย แต่นี่กฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจของเขา เหมือนเคสของพี่ที่เกิดขึ้นฝ่ายการเมืองก็มีอำนาจ แต่เหตุที่มันผิดน่าจะเป็นเรื่องทางธุรการแล้วเอามาเป็นประเด็น แต่เราต้องเคารพอำนาจของศาล แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ยังคงมีอำนาจเปลี่ยนแปลงโยกย้ายอยู่ดี"

ไปทำงานที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและจะทำงานกับนายถวิล เปลี่ยนศรี ได้หรือไม่

- งานด้านนี้เมื่อนายถวิลทำงานก็จะเสนอขึ้นมา ถ้าเรื่องไหนบริหารจัดการได้ในหน่วยงานก็ว่ากันไป แต่ถ้าเรื่องไหนที่ต้องปฏิบัติคำสั่งของนายกฯหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกับทางรัฐบาล เมื่อไปถึงรัฐบาลเขาก็จะให้ผมกลั่นกรอง ดูแลให้ ทั้งงานด้านสายการข่าว ด้านความมั่นคงและสายทหาร ผมจะดูในภาพรวมให้เพื่อเสนอแนะและกลั่นกรองให้นายกฯอีกครั้ง

เราก็ทำงานกับคุณถวิลได้ไม่มีปัญหาอะไร คือถ้าเอางานเป็นตัวตั้งเราก็ต้องทำได้ เพราะทุกคนผ่านประสบการณ์ในการเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับล่าง มีทั้งเผชิญหน้า ไม่เผชิญหน้า ทุกคนต้องยึดภารกิจเป็นตัวตั้ง ฉะนั้นไม่ใช่ปัญหาของเรา สุดท้ายก็อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะรับไปดำเนินการแนวทางไหนก็เป็นเรื่องของรัฐบาล

จนถึงตอนนี้ได้พูดคุยกับคุณถวิลบ้างหรือยังนับตั้งแต่คุณถวิลยื่นขอความเป็นธรรมจนเป็นคดี

- ไม่มีการพูดคุยเลยครับ เพราะเราถือว่าเราเคารพในสิทธิ์ของเขา เราก็ทำงานตามหน้าที่ของเรา หลังจากมีกระบวนการตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จากนี้จะผ่านกกต. กลับมาท่านนายกฯก็นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ เมื่อมีพระบรมราชโองการเมื่อไรจะก็จะพ้นหน้าที่ ก็จะส่งมอบนหน้าที่กันไป

คุณถวิลตอนที่เป็นที่ปรึกษานายกฯก็ขึ้นเวทีกปปส. แล้วท่านไปเป็นที่ปรึกษานายกฯจะไปขึ้นเวทีชุมนุมของกลุ่มไหนหรือไม่

- ไม่ขึ้น เพราะต้องตระหนักตลอดเวลา เพราะถ้าดูในเวทีกปปส.ก็ไม่มีข้าราชการคนไหนไปขึ้นเลยยกเว้นคุณถวิล แต่ในสมมติฐานข้าราชการาระดับ 11 มีความเห็นต่างจากรัฐบาลบ้างหรือไม่ก็คงมี แต่ทุกคนรู้ว่าเป็นข้าราชการ ฉะนั้นต้องสวมหมวกสองใบ เป็นพลเรือนก็จริงแต่ต้องดูความเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหาที่คุณไปขึ้น ถ้าเป็นเนื้อหาเชิงขัดแย้งกับรัฐบาลตรงนี้ต้องระวัง แต่ถ้าเป็นเนื้อหาจากการสิทธิเสรีภาพตามปกติมันก็โอเค

แต่ความเป็นข้าราชการมีกรอบอันหนึ่งเป็นหมวกสองใบ ดังนั้นเราเป็นข้าราชการก็ต้องตระหนักตลอด เพราะแกนนำที่เป็นเจ้าของเวทีกลายเป็นคนประพฤติผิดกฎหมายไปแล้ว ถูกหมายจับไปแล้ว เราจะขึ้นเวทีโดยสิทธิเสรีภาพก็ตามจะกลายเป็นว่าเราไปสนับสนุนเจ้าของเวทีไปแล้ว ดูเส้นแบ่งให้ดี ดุลพินิจมีความสำคัญ แต่เราก็เคารพสิทธิ์แต่ละคนในการใช้ดุลพินิจตรงนั้น แต่ต้องมีความระมัดระวัง เพราะสุ่มเสี่ยงที่เราจะผิด ตอนนี้ที่คุณถวิลขึ้นไปก็สุ่มเสี่ยงแล้วเพราะอยู่ในเกณฑ์ของคนที่จะผิดกฎหมายอยู่แล้ว

คุณถวิลอาจจะโดนสอยจากตำแหน่งในประเด็นที่ขึ้นเวทีกปปส.ใช่หรือไม่

- อันนี้ก็ไม่รู้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่จะพิจารณา ดังนั้นจึงมีสองประการที่จะผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ หรือผิดเรื่องวินัยหรือไม่ แต่ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องดูแล ดีเอสไอก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของเขา รัฐบาลก็ต้องดูเรื่องวินัยซึ่งเป็นเรื่องของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมมนตรี

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหา มันล่อแหลมมากอย่าลืมว่าเจ้าของเวทีที่คุณไปยืนอยู่ใกล้นั้นเขาเป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย ถูกหมายจับแล้ว คุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐนะ เหมือนผมถ้าผมเจอท่านสุเทพซึ่งหน้า เราก็ต้องดู เพราะเรามีอีกหมวกในการทำหน้าที่ที่ศอ.รส. เราเป็นเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าเราเจอคุณสุเทพก็ต้องจัดการ

คุณถวิล ก็มีชื่ออยู่ใน 58 แกนนำของกปปส.ที่โดยหมายเรียก

- นี่คือสิ่งที่ล่อแหลมมาก ถ้ามีหมายเรียกก็ต้องถามว่ามารายงานตัวหรือยัง เพราะยังไงอัยการก็ต้องฟ้องอยู่แล้ว ดังนั้นกระบวนการจะสัมพันธ์กันหมด จึงเป็นดุลพินิจของคุณถวิล แต่เท่าที่ผมฟังแล้วก็คิดว่าคุณถวิลยังเดินตามทัศนะของท่านไป

"แต่มันก็เป็นจุดล่อแหลม ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความไว้วางใจกันและกัน งานความมั่นคงเราปฏิเสธไม่ได้ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งทุกคนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน แต่จุดสุดท้ายที่ผู้บังคับบัญชาจะหยิบขึ้นมา และคนที่เป็นทหารและทำงานด้านความมั่นคงจะเข้าใจตรงจุดนี้ เหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผบ.ตร.ทุกคนจะต้องเลือกผบ.สันติบาลด้วยตัวเองทุกคนทุกสมัย ต้องมีการเปลี่ยน แต่ถ้าคนนั้นตรงใจอยู่แล้วก็จบ เหมือนผมถ้าเป็นเลขาสมช.พอมีการเปลี่ยนรัฐบาล เราก็ต้องบอกท่านนายกฯแล้วว่าถ้าท่านไม่สบายหรือไม่สะดวกใจที่จะให้ผมนั่งตรงนี้ก็ไม่เป็นปัญหา ต้องออกตัวก่อน แต่ถ้าท่านพิจารณาจะใช้ผมต่อก็ไม่ขัดข้อง รวมทั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ศรภ.)ก็เหมือนกัน ผู้บังบัญชาการทหารสูงสุดก็ต้องเข้ามาเปลี่ยนทุกครั้ง เพื่อใช้คนที่คุ้นเคยกันมา"

ดังนั้นเราต้องไม่ทำให้ตัวเองเป็นอุปสรรคของหน่วยงงานในการเชื่อมระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายประจำ เพราะบางครั้งเป็นแค่เราไม่เป็นไร แต่บางครั้งจะกระทบองค์กรด้วยแล้วมันไปต่อไม่ได้ พอไปไม่ได้เขาก็ไปใช้หน่วยงานอื่นแทน แต่ที่ผมทำงานอยู่ก็จะสะดวกอยู่นิดนึงเพราะ ผบ.สันติบาลก็เป็นเพื่อนกัน ผบ.ศรภ.ก็เป็นเพื่อนกัน เสนาธิการทหารบกก็เป็นเพื่อนกัน เสนาธิการทหารอากาศก็เพื่อนกัน ผบ.กองยุทธการก็เป็นเพื่อนกัน ปลัดกระทรวงกลาโหมก็เพื่อนเรา ฉะนั้นตรงนี้ก็ทำให้ทำงานง่าย ก็เป็นผลดีของเราในการประสานงาน และเป็นผลดีต่อรัฐบาลอีก คอนเน็คชั่นนตรงนี้ก้ทำให้เราพอไปได้ ก็ได้เปรียบในแง่การประชุมประชาคมข่าว แต่ในทางส่วนตัวก็มีอีกจากเพื่อนเราเหล่า อย่างแม่ทัพภาค1 แม่ทัพภาค2ก็เพื่อนผม ในส่วนแม่ทัพภาค1 ผมเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 จนจบม.3 เรียนกวดวิชาและเข้าเตรียมทหารด้วยกัน รวมทั้งด็อกเตอร์โจประธานกสทช.ก็เพื่อนกัน เติบโตมาด้วยกัน ซึ่งเป็นคอนเน็คชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อองค์รวม แต่โดยหลักของทหารจะยอมรับได้เรื่องการโยกย้าย ถ้าทหารยอมรับไม่ได้ศาลปกครองจะเหนื่อยที่สุดเลยนะ

ท่านถวิลก็ต้องเข้ามาทำงานตรงนี้ซึ่งท่านก็เคยทำงานร่วมกัน แต่ในสถานการณ์ที่ท่านมีความเห็นต่างฉะนั้นก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน ดังนั้นในเทคนิคของการบริหารราชการก็ต้องมีเหมือนกัน ซึ่งรัฐบาลเขาก็ต้องมีสูตรที่เขาต้องจัดการอยู่แล้ว

แล้วงานความมั่นคงในศอ.รส.ในตำแหน่งโควต้าของเลขาสมช.จะทำอย่างไร

- สถานะของเลขาสมช.เป็นที่ปรึกษาของศอ.รส.อยู่ ก็ต้องเปลี่ยนไป ผมไปเป็นที่ปรึกษานายกฯพอพ้นจากเลขาสมช.ก็จะถูกท่านเฉลิม (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศอ.รส.) แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาศอ.รส. ทำงานต่อไป ส่วนว่าสมช.จะส่งใครมาประชุมศอ.รส.ก็แล้วแต่ว่าผอ.ศอ.รส.จะเชิญใครมาประชุม เขาก็ไม่ใช่เลขาสมช.ก็ได้เขาอาจจะตั้งผมให้ประสานสมช.ให้หน่อยก็เป็นไปได้ ก็อยู่ที่ท่านเฉลิม

มติครม.คืนตำแหน่งให้คุณถวิลก็ไม่กระทบกับงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลเลยใช่ไหม

- ใช่ เพราะหนึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาล สองรัฐบาลช่วงนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจเต็มเต็มที่เหมือนรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งแล้ว ตอนนี้ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเท่านั้นเอง งานตรงนี้จึงเป็นลักษณะงานรูทีนมากกว่าไม่ได้เป็นงานเชิงนโยบายใหม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

เทศมองไทย : ต้องแก้ด้วยคนไทย..!!?


สุทธิชัย หยุ่น ,คริสตี้ เคนนี่ย์

เป็นเรื่องที่ต้องแก้โดยประเทศไทยและคนไทย คริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

นางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทย รวมถึงการเปรียบเทียบเหตุการณ์กับความขัดแย้งในยูเครน และเปิดใจหลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับการโยกย้ายทูตสหรัฐ

การสัมภาษณ์ทูตสหรัฐล่าช้าไปเล็กน้อยเพราะมีข่าวว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีแผนการเคลื่อนขบวนผ่านถนนด้านหน้าสถานทูต ซึ่งเมื่อถามว่าการชุมนุมประท้วงของ กปปส. มีความหมายอย่างไร นางเคนนีย์ ตอบว่า เป็นการชุมนุมอย่างสันติและประชาชนก็มีสิทธิในการแสดงออก

เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องเสียงวิจารณ์ในหมู่ผู้ชุมนุม เกี่ยวกับตัวเธอและรัฐบาลสหรัฐ ว่าลำเอียงและเข้าข้างรัฐบาล

กระแสอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนมีสูงมากในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนมีความเห็นที่แน่วแน่มาก ดิฉันคิดว่าบางครั้งผู้คนก็มีความรู้สึกคับข้องใจ ไม่ข้างใดข้างหนึ่งมักจะคิดว่าสหรัฐไม่ได้ก้าวออกมาสนับสนุนพวกเขา ทั้งที่จริงๆ แล้วเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด แต่ดิฉันคิดว่าทั้งสองฝ่ายหวังว่าเราจะเข้าข้างพวกเขา"

ส่วนกรณีที่ผู้คนไม่ค่อยพอใจในตัวเธอนั้น นางเคนนีย์ กล่าวว่า "ดิฉันเป็นทูต ดังนั้นตอนที่คนไม่ชอบใจสหรัฐ ก็มาร้องเรียนกับดิฉัน"

นางเคนนีย์ กล่าวว่าที่ผ่านมาเธอระมัดระวังมากทุกครั้งที่พูดถึงการชุมนุม "แต่ช่วงเวลานี้อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนแรงกล้ามาก ทำให้ความคิดเห็นแรงกล้าไปด้วย และมีความรู้สึกรักประเทศชาติอย่างมาก ทั้งยังอยากทราบว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงควรจะบริหารบ้านเมืองอย่างไร"

เมื่อถูกถามว่าเธอจะทำอย่างไรเพื่อลบล้างความรู้สึกในหมู่ผู้ชุมนุม นางเคนนีย์ ตอบว่า "ท่าทีของสหรัฐชัดเจนมาก เราได้ออกแถลงการณ์มาหลายฉบับในช่วงที่สถานการณ์ยืดเยื้อมา 4-5 เดือน แถลงการณ์เหล่านี้ออกโดยรัฐบาลสหรัฐที่กรุงวอชิงตัน และมีการใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังรวมถึงชัดเจนมากเกี่ยวกับการสนับสนุนประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศ หรือแสดงการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงสนับสนุนให้การเจรจาอย่างสันติ เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายงดเว้นจากการใช้ความรุนแรง

เราแสดงการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ แต่ดิฉันคิดว่าสำหรับบางคน สิ่งดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ พวกเขาคงคาดหวังมากกว่านี้ในความเห็นของพวกเขา"

นางเคนนีย์ กล่าวด้วยว่า เธอเห็นด้วยกับนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ระบุว่าประชาธิปไตยประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง รวมถึงหลักนิติธรรม ความโปร่งใส สถาบันต่างๆ ที่มีความแข็งแกร่ง และระบบตุลาการที่มีอิสระ นอกเหนือจากการเลือกตั้ง ซึ่งเธอมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง

ต่อข้อถามว่าแล้วจะทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้คัดค้านการชุมนุมอย่างสันติ นางเคนนีย์ ตอบว่า "ดิฉันพูดกับตัวเอง พูดกับบรรดาเพื่อนร่วมงาน เราได้พูดคุยกับทุกฝ่ายในประเทศไทย" อย่างไรก็ตาม นางเคนนีย์ไม่ยอมตอบว่าเคยพบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. หรือไม่

ทั้งนี้ นางเคนนีย์ เคยพบกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

"ดิฉันได้พบกับหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข่าว และไม่ได้พบแค่ผู้ชุมนุมหรือรัฐบาล แต่เราได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ภาคประชาสังคม บรรดาผู้นำภาคธุรกิจ และคนทำงานในภาคธุรกิจ"

เมื่อถูกถามว่า อเมริกาใช้ “สองมาตรฐาน” หรือไม่ สำหรับท่าทีต่อผู้ประท้วงในประเทศไทยและประเทศยูเครน โดยที่อเมริกามีท่าทีที่ชัดเจนว่าสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงในยูเครน ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน นางเคนนีย์ ตอบว่า

“ประการแรก จะไม่เปรียบเทียบยูเครนกับไทย ซึ่งมีสถานการณ์ที่แตกต่างกันมาก ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมมาก่อน ไม่เหมือนยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชที่ยังไม่รู้ว่าจะวางบทบาทของตัวเองอย่างไรต่อรัสเซีย”

“ในยูเครน เราก็ได้แสดงความเป็นห่วงถึงการยึดสถานที่สาธารณะและเรื่องของความรุนแรง ดังนั้น จึงมีข้อคล้ายคลึงบางส่วน แต่ทั้งสองประเทศก็เป็นประเทศที่แตกต่างกันมากและมีสถานการณ์แตกต่างกัน” นางเคนนีย์ กล่าวว่า ผู้ประท้วงในไทยมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในยูเครน ผู้ประท้วงมีสิทธิมีเสียงค่อนข้างน้อย

เมื่อถามว่า คิดหรือไม่ว่าสถานการณ์ในไทยมาถึงจุดที่จะต้องอาศัยคนนอกเข้ามาช่วยแก้ปัญหา นางเคนนีย์ กล่าวว่า เธอคิดว่าสถานการณ์ในไทยจะเป็นไปในทางที่ดี และคนไทยจะสามารถหาทางออก ผ่านการเจรจาอย่างสันติได้

“เป็นเรื่องที่ต้องแก้โดยประเทศไทยและคนไทย”

นางเคนนีย์ เสริมว่า คนจากทุกกลุ่มที่ขัดแย้งได้นำประเด็นปัญหาขึ้นมาถกเถียง ซึ่งเป็นประโยชน์และเป็นทางที่ดีที่จะใช้การประท้วงอย่างสันติเพื่อนำไปสู่การหยิบยกปัญหาที่สำคัญต่อประชาชน

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ นางเคนนีย์ยังได้ปฏิเสธข่าวลือว่าเธอถูกสั่งย้าย โดยกล่าวว่า วาระ 3 ปีของเธอได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา แต่ได้รับการร้องขอโดยรัฐบาลให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

เมื่อถูกถามว่า ทำไมจึงได้รับการต่ออายุ นางเคนนีย์ กล่าวว่า คงเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐพอใจกับผลงานของเธอที่นี่ และเธอเองก็มีความสุขที่ได้อยู่ในประเทศไทย

เมื่อถามว่า ไม่ใช่เป็นเพราะหาคนมาแทนเธอไม่ได้หรอกหรือ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เอาไว้ให้ประธานาธิบดีของฉันตอบข้อนั้นก็แล้วกันค่ะ”

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

เครื่องบินขนาดใหญ่สูญหาย...!!?

โดย.ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ข่าวเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 777-200มาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ที่บรรทุก 239 ชีวิต ขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้ากรุงปักกิ่ง ซึ่งหายไปอย่างลึกลับ

หลังบินขึ้นจากท่าอากาศยานเพียงชั่วโมงเศษ ๆ ก็หายไปจากจอเรดาร์ ถ้าไปตามเส้นทางการบินที่กำหนดไว้ ก็น่าจะอยู่บริเวณอ่าวไทย นอกฝั่งเวียดนาม

สิ่งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครื่องบินไอพ่นขนาดใหญ่บินขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้วหายไปอย่างลึกลับ เมื่อปี 2009 เครื่องบินไอพ่นแอร์บัส A330 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ เที่ยวบิน 447 พร้อมผู้โดยสาร 228 คน ก็หายไปที่มหาสมุทรแอตแลนติก กว่าจะหาตัวเครื่องบินพบ จมอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จึงได้ทราบว่าเครื่องบินโชคร้ายบินไปปะทะกับพายุในมหาสมุทร เจออากาศเย็นจัดจนเครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องยนต์ทำงานไม่ปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนของเครื่องบินบางชิ้นก็สามารถรวบรวมได้ภายในเวลา 2-3 วัน

ในปี 2007 เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของอดัมแอร์ ก็บินหายไปพร้อมกับผู้โดยสาร 102 คน ใช้เวลากว่า 9 เดือน กว่าจะพบกล่องดำ เครื่องมือบันทึกการบิน แต่ภายในไม่กี่วันก็พบชิ้นส่วนและหางของเครื่องบินในทะเล

แต่เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ส เวลาผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ทราบว่าเครื่องบินหายไปได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่เป็นเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่เท่ากับตึก ปีกยาวกว่า 60 เมตร ความก้าวหน้าของระบบเรดาร์ ระบบดาวเทียม ระบบสื่อสารการบิน จะว่าเป็นเหตุการณ์อย่างเดียวกับกรณีสายการบินแอร์ฟรานซ์ ก็คงไม่ใช่ มิฉะนั้นก็คงพบร่องรอยเศษเครื่องบินแล้ว

ที่น่าแปลกใจ คือข่าวครั้งแรก เชื่อกันว่าเครื่องบินหายไปในช่วงที่อยู่ในอ่าวไทย ใกล้ชายฝั่งเวียดนาม จึงระดมเรือขนาดต่าง ๆ รวมทั้งเรือรบจากกว่า 20 ชาติออกค้นหา ไม่เหมือนกับเมื่อคราวเครื่องบินแอร์บัสของสายการบินแอร์ฟรานซ์หายไปเพราะลมพายุเย็นจัด แต่ภายใน 2-3 วันก็พบชิ้นส่วนเครื่องบินในมหาสมุทรแอตแลนติก อย่างไรก็ตาม เหตุผลของการหายไปของเครื่องบินแอร์ฟรานซ์ ก่อนจะพบตัวเครื่องบินในเวลา 2 ปีต่อมาก็คือว่าเครื่องบินบินไปพบพายุในทะเล เพราะไม่มีข่าวดังกล่าวนี้เลย ชิ้นส่วนก็ไม่พบ

ต่อมาก็มีข่าวว่า ในบรรดาผู้โดยสาร 239 คนนั้น มีผู้โดยสาร 2 คนใช้หนังสือเดินทางที่เจ้าของทำหายที่จังหวัดภูเก็ต คนหนึ่งเป็นชาวอิตาลี อีกคนหนึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ทางการไทยก็ได้แจ้งว่า ได้ประกาศยกเลิกหนังสือเดินทางดังกล่าวแล้ว และเจ้าของหนังสือเดินทางทั้ง 2 คนก็ได้ทำการขอหนังสือเดินทางใหม่จากทางการของตนแล้ว หนังสือเดินทางเก่าทั้ง 2 ฉบับจึงไม่มีการประทับ หรือมีการ แจ้งออกจากประเทศไทย เมื่อไม่มีการแจ้งออกจากประเทศไทย ก็ไม่น่าจะมีการประทับตราเข้าประเทศมาเลเซีย ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย

เมื่อก่อนจะประทับตราออกประเทศ ก็ควรจะหาชื่อผู้เดินทางออกมาจากจอคอมพิวเตอร์ว่า เข้าประเทศมาเลเซียมาถูกต้องตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็จะทราบทันทีว่า หนังสือเดินทางเลขที่เท่านี้ไม่เคยใช้แจ้งเข้ามาเลเซียเลย นอกจากนั้น หน้าตาก็ไม่เหมือนกัน รูปในหนังสือเดินทางเป็นชาวยุโรป แต่ผู้ที่เดินทางใช้หนังสือเดินทางผู้อื่น หน้าตาเป็นชาวเอเชีย

ข้อมูลที่ทางการมาเลเซียให้ ไม่น่าเชื่อว่าเป็นข้อมูลจริง หรือจะเป็นข้อมูลลวง ก็ไม่ทราบ ถ้าเป็นข้อมูลลวง ก็คงจะเป็นเรื่องการจี้เครื่องบินไปลงที่ใดที่หนึ่ง

ต่อมาก็มีข่าวว่า ก่อนที่สัญญาณเครื่องจะหายไปจากจอเรดาร์ เครื่องบินได้หันหัวไปทางทิศตะวันตก คราวนี้ก็เลยสันนิษฐานว่า เครื่องบินอาจจะบินไปตกทางด้านทะเลอันดามัน แต่ก็ไม่มีรายงานจากเครื่องเรดาร์ว่าเห็นเครื่องบินบินไปทางไหน พายุในฝั่งนี้ก็ไม่มีรายงานจากดาวเทียม

ข่าวที่ออกมาอีกก็คือผู้โดยสาร 2 คนที่สันนิษฐานว่าเป็นชาวอิหร่าน ก็ไม่ได้อยู่ในสารบบของผู้ก่อการร้าย ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะข่าวเรื่องใช้หนังสือเดินทางที่หายไปที่ภูเก็ต ก็น่าจะเลื่อนลอย

คราวนี้ก็เลยมีการเดาหรือคาดการณ์ไปต่าง ๆ นานาว่า เครื่องบินอาจจะไม่ได้ตกในทะเล แต่คงจะบินวกกลับไปทางตะวันตก อาจจะไปถึงแถว ๆ เมืองเพิร์ธประเทศออสเตรเลีย หรือไม่ก็บินข้ามจังหวัดเชียงรายของไทยเข้าไปในประเทศ
คาซัคสถานซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต เมื่อติดตามข่าวนี้แล้ว แม้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เพราะชีวิตทุกวันนี้พวกเราก็ต้องอาศัยการเดินทางทางอากาศกันมาก เพราะรวดเร็ว และเข้าใจว่าปลอดภัยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางระหว่างประเทศ ไม่มีทางเดินทางด้วยวิธีอื่นได้เลย

เมื่อมีข่าวอุบัติเหตุทางเครื่องบินก็ดีข่าวสลัดอากาศจี้เครื่องบินก็ดีหรือการก่อการร้ายทางอากาศก็ดี ก็ย่อมเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือโลกเราทุกวันนี้ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการบินก็ดี การสื่อสารระหว่างนักบินกับหอการบินที่ดูแลการบิน โดยเฉพาะการบินพลเรือน เรดาร์ก็ดี ทุกวันนี้มีเครือข่ายที่ละเอียดยิบบนเครื่องบินก็มีเรดาร์ มีวิทยุโต้ตอบ ทั้งที่เป็นเครื่องอัตโนมัติที่แจ้งตำแหน่งของเครื่องบิน และการรายงานของนักบิน และพนักงานช่วยบิน กฎระเบียบของการเข้าออกในห้องนักบินก็เคร่งครัด

มีการบันทึกไว้ในกล่องดำ ที่พนักงานไม่น่าจะกล้าฝ่าฝืน เพราะอาจจะถูกลงโทษทางวินัยได้แต่พอมีเรื่อง ก็มักจะมีการ
กล่าวอ้างว่า ตนเคยได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องนักบินบ้าง อย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้างซึ่งน่าจะเป็นการกล่าวอ้างมากกว่า

อีกทั้งสายการบินมาเลเซียก็แถลงว่า เครื่องบินเป็นเครื่องใหม่ อุปกรณ์ครบถ้วนไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ แต่ถึงแม้จะมีอุบัติเหตุ เช่น เครื่องระเบิดบนอากาศ หรือตกที่ไหน เพราะความบกพร่องของเครื่องยนต์กลไก หรือความบกพร่องของนักบิน ก็คงจะพบร่องรอยเศษชิ้นส่วนได้ทีหลัง

หากเป็นการก่อการร้าย เครื่องบินถูกจี้ไปลงที่สนามบินแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็น่าจะเป็นสนามบินที่มีลานวิ่งขนาดใหญ่และยาวหลายกิโลเมตร ก็ไม่น่าจะเล็ดลอดการตรวจจับของดาวเทียมและเครื่องตรวจจับอย่างอื่น ถ้ามีอุบัติเหตุชนภูเขา หรือตกลงในป่าเขา ก็คงต้องมีเพลิงไหม้ ต้องเห็นซากเครื่องบินในเวลาไม่กี่วัน

ผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นชาวจีน มีทั้งชาวมาเลเซีย ยุโรป อเมริกัน และอื่น ๆ ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ก็ต้องพยายามค้นหาข้อมูล เพื่อความกระจ่างของบรรดาญาติพี่น้องของผู้โดยสารของตน มิฉะนั้นก็คงถูกสื่อมวลชนของตนเล่นงาน

ตกลงจนบัดนี้ ผู้ที่คอยติดตามข่าวเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สจึงยังสับสน วิเคราะห์ได้ยากว่าเป็นไปได้อย่างไร

เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะบอกอะไรบางอย่างว่า ระบบการตรวจตราการเดินทางทางอากาศยังมีช่องโหว่ ยังมีจุดอ่อนอยู่มากตั้งแต่ระบบความปลอดภัยจากผู้โดยสารเอง ระเบียบของการเข้าไปในห้องนักบิน ระบบของการควบคุมเส้นทางการบิน การติดต่อประสานงานระหว่างเครือข่ายของวิทยุการบิน และอื่น ๆ

การเดินทางทางอากาศโดยสายการบินระหว่างประเทศอาจจะไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด องค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลความปลอดภัยของสายการบินพลเรือน รวมทั้งระบบควบคุมการบินควรจะเคร่งครัดมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ข่าวเครื่องบินขนาดใหญ่บรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากถึงกว่า 239 คนก็เป็นข่าวที่น่าสนใจ จะต้องติดตาม
กันต่อไป

หวังว่าเราคงจะได้ทราบว่าอะไรเกิดขึ้นกับเครื่องบินลำนี้ในไม่ช้า ขอเอาใจช่วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-----------------------------------

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

เลือกข้าง.....!!?

โดย.ประชา บูรพาวิถี

องค์กรจัดตั้งมวลชนที่มาแรงในเวลานี้ ต้องยกให้ "กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ" (อพปช.) เพราะมีน้ำเลี้ยงดี

และมีการตั้งเป้าทำยอดสมาชิก ราวกับเป็นบริษัทเครือข่ายขายตรง

สุภรณ์ อัตถาวงศ์ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) มั่นอกมั่นใจว่า จะทำให้ "อพปช." ติดตลาดให้เร็วที่สุด

ประกอบกับขวัญชัย ไพรพนาประธานชมรมคนรักภาคอีสาน และประธานชมรมคนรักอุดร แสดงเจตจำนงร่วมก่อร่างสร้างองค์กรนี้ด้วย จึงทำให้ อพปช.โตวันโตคืน เหมือนได้ปุ๋ยเร่งดอกเร่งใบ

ว่ากันตามจริง "แรมโบ้อีสาน" ก็แค่เอาป้าย "อพปช." มาปิดทับ "ชมรมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด" เนื่องจากแกนนำระดับจังหวัด ที่มาประชุม ณ โรงแรมตักศิลา มหาสารคาม ล้วนเป็น "เด็กขวัญชัย" ทั้งสิ้น

ฉะนั้น อพปช. จึงไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธ หากแต่เป็นองค์กรการเมืองภาคประชาชน ที่ถูกออกแบบมาถ่วงดุล นปช. โดย "นักการเมืองใหญ่" ของพรรคเพื่อไทย

000

อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับ "แรมโบ้อีสาน" และ "อพปช." คือ ข่าวกองกำลังแบ่งแยกดินแดนสกลนคร โดยอ้างว่า อดีตสหายหรือแกนนำผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) 10 คน ประชุมกันที่บ้านหนองม่วง สกลนคร เตรียมจัดตั้งกองกำลังแบ่งแยกดินแดน

ข่าวนี้ได้รับการยืนยันจาก "หน่วยข่าว กอ.รมน.ภาค 2" ว่า ข้อมูลคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจากพื้นที่

เรื่องจริงจากหนองม่วงมีดังนี้ เมื่อ 17 มีนาคม 2557 ผรท.สกลนคร และบางกลุ่มที่มาจากอีสานใต้ ได้จัดประชุมที่สำนักสงฆ์บ้านหนองม่วง หมู่ 10 ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน

ในการประชุมครั้ง มีตัวแทนหน่วยข่าวจากกรมประมวลข่าวกลาง และหน่วยข่าว กอ.รมน.ภาค 2 ส่วนหน้า(ค่ายกฤษณ์สีวะรา) เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

แกนนำที่สำคัญ ประกอบด้วย สมาน ขันตี (ส.ธานี), ชาลี ลีละครจันทร์ (ส.ไพลิน), เตรียม สาลีนันท์ (ส.ศักดิ์สิทธิ์),สุพล หมื่นศรีพรม (ส.ธวัชชัย), ทิพย์รัตน์ ทองบ่อ (ส.ฤดี), พา พลศรี (ส.เลือดไทย) และ ขันตี ไททนุ (ส.บุญมี)

ในการประชุมครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ สมาน ขันตี แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีผู้เสนอให้นำสมาชิกในเครือข่ายกลุ่ม ผรท.สกลนคร เข้าร่วมสมัครเป็น อพปช. จึงขอมติจากที่ประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่?

แกนนำ ผรท.ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับ อพปช. เพราะไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง มตินี้จึงตกไป

วาระต่อมา แกนนำ ผรท.หลายคนมีแนวความคิดจะจัดตั้งกลุ่ม ให้เป็นองค์กรถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เลือกข้างใด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง

ในที่สุด แกนนำ ผรท.กลุ่มนี้ มีมติตั้งชื่อว่า"กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ปกป้องประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

โดยให้แต่ละกลุ่มนำสมาชิกของกลุ่มในแต่ละจังหวัดมาสมัครเป็นสมาชิก โดยจะมีเครื่องหมายติดที่หัวกระดาษ และคิดค่าสมัครรายละ 20 บาท เพื่อเป็นค่าดำเนินการ

เบื้องต้นมติที่ประชุมเห็นควรให้ "ส.ธานี" หรือ สมาน ขันตี ส.ธานี เป็นประธาน!

ในการประชุม ผรท.ที่บ้านหนองม่วง ไม่มีปราโมทย์ พรหมพินิจหรือส.รับรองแกนนำ ผรท.นครพนม มาร่วมประชุมตามข่าวที่มีชื่อของเขา อยู่ในฐานะแกนนำกองกำลังแบ่งแยกดินแดน

ส่วนแกนนำ ผรท.ที่เข้าไปร่วมกับ "แรมโบ้อีสาน" คือ ผรท.กลุ่มจันทร์แดง (ส.วิไล) ซึ่งได้นำมวลชนร้อยกว่าคนไปสมัครเป็นสมาชิก อพปช.

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 "ส.ไพลิน" พร้อมตัวแทน ผรท.สกลนคร 15 คน ได้เข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ณ สำงานมูลนิธิรัฐบุรุษ ซึ่งในวันนั้นพล.อ.สุรยุทธ์ได้ถามไถ่ถึงชีวิตความเป็นอยู่ และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบ้านเมือง

จากวันนั้น "ส.ไพลิน" จึงมีความคิดตั้งองค์กร ผรท.ให้เป็นศูนย์ประสานงาน และเน้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่ ผรท. ตามคำแนะนำของ พล.อ.สุรยุทธ์

"กลุ่ม ผรท.ปกป้องประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" จึงถือกำเนิดขึ้นที่บ้านหนองม่วง สกลนคร ท่ามกลางข่าวลือข่าวลวงจากสมรภูมิศึกสองขั้ว

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
--------------------------------------------

วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

เปิดคำวินิจฉัยกลาง ตลก. เลือกตั้ง 2 ก.พ. โมฆะ..!!?

ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาอรรถคดีและมีผลการพิจารณาในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 28/2557)

คำร้องนี้ ผู้ร้องได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกล่าวคือ

(1.)การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2556 มิได้กระทำขึ้นเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จากกรณีที่มีการกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ภายหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สำหรับการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาจำนวน 28 เขต ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 โดยชัดแจ้ง

(2) คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป โดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ประกอบมาตรา 30 จากกรณีที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ ให้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่กองบังคับการปราบปราม หรือสถานีตำรวจนครบาลดินแดงในเวลาก่อน 8.30 นาฬิกา เพื่อให้ได้สิทธิในการจับสลากหมายเลขผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น ๆ รวมถึงในการรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในหลายจังหวัด มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าโดยเปิดเผย เป็นเหตุให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งไม่ทราบและไม่สามารถเดินทางไปสมัครรับเลือกตั้งในสถานที่ที่สมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักความเสมอภาค ไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และมาตรา 30 ทำให้กระบวนการเลือกตั้ง ครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(3) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ และทำให้การเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในภายหลังเป็นอันไร้ผล เพราะบัตรเลือกตั้งที่ได้จากการเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการลงคะแนนลับถือเป็นเรื่องร้ายแรง และกระทบต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก จึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 236(1) มาตรา 93 และมาตรา 30 และ

(4) คณะกรรมการการเลือกตั้งปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม จากกรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐในการออกประกาศและมีคำสั่งต่างๆที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินไปได้โดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา245(1)ว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งครั้งนี้ และให้มีการดำเนินการจัดการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีเหตุแห่งคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยก่อนว่าการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่2กุมภาพันธ์ 2556 ตามพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) สรุปได้ว่า การที่พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 108 วรรคสอง

ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------

คำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ ผิดทั้งกระบวนการและเนื้อหา........!!?

นักกฎหมายอิสระชี้คำตัดสินศาลรธน.ให้การเลือกตั้งโมฆะ ผิดทั้งกระบวนการ-เนื้อหา เจตนาทำรธน.ปี50โมฆะไปด้วย

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะนั้น ส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเป็นโมฆะไปด้วย เนื่องจากสิ่งที่ศาลรัฐธรรมูญวินิจฉัยเหตุแห่งการโมฆะ เพราะการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร โดย ทั้งที่ประเด็นการออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง รอบที่ 2 ในพื้นที่ 28 เขตนั้นถือเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าวันเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้ และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรค6 ได้กำหนดชัดเจนว่ากรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 480 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาฯ แต่ต้องดำเนินการให้มี ส.ส. ครบตามจำนวนที่บัญญัติภายใน 180 วัน จึงถือว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ไม่สส.เพื่อให้ประกอบเป็นสภาฯ ที่ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์

"ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้การตัดสินที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหา อย่างไรก็ตามเหตุที่ศาลไม่นำเหตุแห่งการขัดขวางการเลือกตั้งมาพิจารณาเป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งจำนวน 28 เขต มากล่าวนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยให้การรับรองว่าการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ทำได้ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยจึงถือเป็นการพูดขัดกันเองและอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ" นายวีรพัฒน์ กล่าว

นักกฎหมายอิสระ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งหลังจากนี้ตนมองว่าอาจจะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ยกเว้นเปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรองบนเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งเดินหน้า และอาจจะเป็นการเรียกร้องที่เป็นการเรียกค่าไถ่ทางการเมือง เช่น ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกและไม่ลงรับเลือกตั้ง, ให้กลุ่มกปปส. ยุติการขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเรียบร้อย แต่ตนมองว่ากรณีการเรียกร้องให้รักษาการนายกฯ ลาออกและไม่ลงเลือกตั้งจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาความไม่สงบบ้านเมือง เพราะเชื่อว่าคนที่สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม ส่วนกรณีที่ กปปส.ยุติการขัดขวางการเลือกตั้งอาจจะเป็นไปได้ แต่อาจมีเงื่อนไขอื่น เช่น ให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาอยู่เพียง 6 เดือน-1ปีเพื่อทำปฏิรูปกติกาการเลือกตั้ง แล้วยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
----------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประธานวุฒิฯ ลั่นได้รับเกียรติจากประชาชน อย่าเพิ่งนับศพ !!?


นิคม ไวยรัชพานิช,ปปช.

แจงได้รับเกียรติจากป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคนแรก ลั่นสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพ ระบุเป็นตัวแปรสำคัญนำไปสู่ทูลเกล้าฯนายกฯม.7

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ฐานะรองประธานรัฐสภา กล่าวผ่านรายการทิศทางประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิน ไนนท์ ทีวี ว่าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด ฐานกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของส.ว. ตนเป็นคนแรก ทั้งนี้ยังไม่ตาย และสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพ ทั้งนี้ตามระเบียบหากป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวนและมติชี้มูลความผิดมายังวุฒิสภาแล้ว ต้องมีการเปิดประชุมเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติถอดถอนภายใน 20 วันนับแต่วันที่รับเรื่อง และระหว่างที่ยังไม่มีสภา ต้องขอเปิดประชุมเป็นสมัยวิสามัญ ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นช่วงรอยต่อของการได้มาซึ่งสว.เลือกตั้งชุดใหม่ ดังนั้นอยากให้การพิจารณาเรื่องดังกล่าวชะลอออกไปจนกว่าที่จะมีส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพื่อป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถร้องขอให้เป็นเช่นนั้นได้ เพราะขึ้นอยู่กับวุฒิสภา และอาจจะใช้เวลาพิจารณาเพียง 30 - 40 วันเท่านั้น

นายนิคม กล่าวฝากไปยังส.ว.ชุดใหม่ ว่า หากเข้ามาทำหน้าที่ถือว่าจะเป็นการรับเผือกร้อน เพราะมีการพิจารณาถอดถอนบุคคลในตำแหน่งต่างๆ เช่น ตน, อดีต สส., สว. รวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตนอยากให้ศึกษาข้อมูลข่าวสาร ในสิ่งที่ผิดและสิ่งที่ถูกจนให้เกิดการรรับรู้ และเมื่อสว.ใหม่เข้ามาแล้วจะเกิดเงื่อนไขใดๆ หรือไม่ตนไม่สามารถรับรองได้ เช่น ความพยายามไม่รับรองผลการเลือกตั้งสว. หรืออาจเกิดข้อโต้แย้งว่าสว.เลือกตั้งที่เข้ามาใหม่ ไม่สามารถปฏิญาณตนในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ระบุไว้ ให้มีการพิจารณาถอดถอน โดยไม่นับจำนวน ส.ว.ที่ถูกพิจารณาโดย ป.ป.ช. หรือถูกชี้มูลโดยป.ป.ช. และเหลือเพียงสว.สรรหาและสว.เลือกตั้งอีกเพียงไม่กี่คน

นายนิคม ประเมินด้วยว่า เหตุที่ตกเป็นเป้าทางการเมือง เพราะตำแหน่งประธานวุฒิสภาของส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการหรือเป้าหมายที่บางฝ่ายต้องการอาทิ การถอนถอน นายกรัฐมนตรี, การถอดถอนอดีตส.ส. ,ส.ว. และการทูลเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
-------------------------------

ถ้าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะ..!!?

โดย. นาย เอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำ (ความเห็นทางวิชาการ)

สืบเนื่องมาจากการรับคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะหรือไม่ และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มี.ค. เราจะไม่คาดการณ์เหตุผลในทางกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราจะพิจารณาถึง “ผลสืบเนื่อง” จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ จะส่งผลที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1.กรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานว่า หากผู้ที่ต่อต้านการเลือกตั้งรวมถึงผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง (ปฎิรูป หรือ ปฏิวัติก่อนเลือกตั้ง)อันเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยปรารถนาจะทำลายการเลือกตั้งให้กลายเป็นโมฆะก็กระทำได้อย่างง่ายดายโดยวิธีการได้ปิดกั้น"ขัดขวาง"มิให้ “ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง” เข้าไปสมัครรับเลือกตั้งกับทาง กกต. ในบางเขตได้ เพื่อเป็นเหตุให้ “เขตเลือกตั้ง” นั้นไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้เกิดเหตุบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และหาก กกต.จะจัดการเลือกตั้งโดยเปิดรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้งที่บกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นข้ออ้างให้มีคนไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินหรือ ศาล รัฐธรรมนูญอีกว่า มีการจัดการเลือกตั้งมากกว่า 1 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งทั้งประเทศเป็นโมฆะ ขัด รธน มาตรา 108  เช่นนี้ สังคมนิติรัฐรัฐย่อมไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยสงบ เพราะเมื่อใดที่ ผู้ต่อต้านประชาธิปไตยไปปิดล้อมสถานที่รับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส่งผลให้ กกต.ไม่อาจเปิดรับสมัครผู้สมัครฯได้ในบางเขตเลือกตั้ง ก็จะส่งผลให้การเลือกตั้งทั้งประเทศกลายเป็นโมฆะได้อย่างง่ายดาย เป็นการทำลายเจตจำนงของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย (และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ยอมรับโดยสากลโลก) ในบางเขตพื้นที่เท่านั้น (ตามข้อเท็จจริงปัจจุบันคือมีเพียง 28 เขตเลือกตั้งที่มีปัญหา)

ประการที่ 2. ตามแนวคิด ของ อาจารย์ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล(อาจารย์พิเศษ) ชี้ว่า หากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะโดยผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ควรจับตาว่า กรณีจะซ้ำรอยคดี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ซึ่งฉีกบัตรเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 อีกหรือไม่ คดีดังกล่าวเป็นขึ้นศาลจังหวัดพระโขนง ศาลพิพากษาว่า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นโมฆะ ฉะนั้น จำเลย (ไชยันต์ฯ) ไม่มีความผิดฐานฉีกบัตรเลือกตั้งไปด้วย (ถือไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น) แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิด

นอกจากนี้เคยปรากฏข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันเหตุเกิดที่ภาคใต้เป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา (คำพิพากษาฎีกาที่ 11850/2554) วางบรรทัดฐานว่า การฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ตาม บรรดาการกระทำผิดอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายนั้นหาถูกลบล้างไปด้วยไม่

จะเห็นได้ว่าสำหรับคดีไชยันต์แม้ว่าต่อมาศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดก็ตามและแม้ว่าจะเคยมีคำพิพากษาฎีกาวางบรรทัดฐานไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจับตาดูพฤติกรรมต่อเนื่องของ “ศาลยุติธรรม” ภายหลังจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 มี.ค. พ.ศ. 2557 นี้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วศาลยุติธรรมจะนิรโทษกรรมให้ กปปส. (ที่ไปปิดคูหา ขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ) โดยอ้างอิงผ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ เหมือนที่ศาลจังหวัดพระโขนงเคยทำ อีกหรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่มีใครมีความผิดใดๆในการล้มการเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นอำนาจของประชาชนทุกคนที่บัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และ ประชาธิปไตยแบบไทยๆก็อาจไม่ต้องมีการเลือกตั้งก็ได้!

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
-------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไครเมีย กลับบ้าน !!?

โดย. ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในที่สุด รัฐสภาไครเมียก็ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากยูเครน เพื่อขอเข้าร่วมสหพันธรัฐรัสเซีย ด้วยคะแนนเสียง 85 จากจำนวน ส.ส. 100 คน การประกาศเอกราชดังกล่าวเป็นผลมาจากการออกเสียงลงประชามติด้วยคำถามสำคัญ 2 ข้อคือ จะเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนต่อไป หรือจะแยกตัวออกมาเป็นรัฐเอกราช และเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย

ปรากฏจากพลเมืองในไครเมียทั้งหมด มีผู้มาออกเสียงลงประชามติ 83% ในจำนวนนี้ 96.77% เลือกข้อ 2 หรือขอแยกดินแดนจากยูเครนและเข้าร่วมกับสหพันธรัฐรัสเซีย ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกมาสนับสนุนกฤษฎีการับรองความเป็นรัฐเอกราชของไครเมียทันที ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมานี้

การ ประกาศเอกราชของไครเมีย สืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ 3 เส้า ระหว่างยูเครน-รัสเซีย-ชาติตะวันตก จากประวัติศาสตร์ตอนที่ยูเครนเป็น 1 ในเครือสหภาพโซเวียตรัสเซียในอดีตนั้น รัสเซียได้ยกไครเมีย (Crimea) ให้กับยูเครนในปี 2497 สืบเนื่องมาจนถึงปี 2534 หลังจากที่สหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายลง ก็เกิดประเทศเอกราชที่แยกตัวออกจากดินแดนในอาณัติสหภาพโซเวียตเดิม

ยูเครน ก็เป็นหนึ่งในประเทศเกิดใหม่ พร้อม ๆ กับดินแดนไครเมียที่รับมรดกมาจากสมัยสหภาพโซเวียต ได้ถูกสถาปนาเป็น "เขตปกครองตนเอง" มีพื้นที่ประมาณ 26,200 ตารางกิโลเมตร ประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัสเซีย ประมาณ 2,000,000 คน(รัสเซียร้อยละ 59-ยูเครนร้อยละ 25 ที่เหลือเป็นชาวตาตาร์) ได้กลายเป็นติ่งหนึ่งในดินแดนของยูเครน

แน่นอนว่าภายใต้การปกครองอัน ยาวนานของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ชาวยูเครนส่วนใหญ่ต้องการที่จะนำประเทศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป จากความเชื่อมั่นในพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองที่พร้อมจะเปิดรับทุนจากชาติ ตะวันตกที่จะหลั่งไหลเข้ามาในยูเครน จนพัฒนากลายเป็นการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและการค้ากับสหภาพ ยุโรปหรือเปิดประตูเข้าเป็น 1 ในสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต แต่ข้อตกลงดังกล่าวถูกต่อต้านจากฝ่ายนิยมรัสเซีย นำโดยอดีตประธานาธิบดียูเครน นายวิกเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งถูกชาวยูเครนโค่นล้มลงไปแล้ว (หนีเข้าไปอยู่ในไครเมีย) ที่ต้องการรักษาสัมพันธภาพอันดีกับรัสเซียไว้ จนเกิดการเสียเลือดเนื้อ มีชาวยูเครนล้มตายในการโค่นล้มยานูโควิชไปมากกว่า 100 คน เปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดียูเครน มาเป็น นายอาร์เซนีย์ ยัดเซนยุค กับ นายโอเล็กซานเดอร์ ตูชีนอฟ ที่ประกาศว่าพร้อมจะรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปทันที

การเปลี่ยน แปลงทางการเมืองในยูเครนจากผู้นิยมรัสเซียมาเป็นผู้นิยมตะวันตก ที่พร้อมจะนำประเทศลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางการเมืองและการค้า ทำให้รัสเซียอยู่เฉยไม่ได้ เนื่องจากรัสเซียถือเสมือนหนึ่ง "ยูเครน" เป็น "สนามหลังบ้าน"

ที่ สำคัญ รัสเซียยังมีฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองเชวาสโตปอล (Sevastopol) ในไครเมีย ซึ่งรัสเซียเช่าพื้นที่ช่วงยูเครนเป็นเอกราช จากสภาพความเป็นจริงที่ว่า ฐานทัพที่เมืองนี้เป็นฐานทัพของกองเรือผิวน้ำและกองเรือดำน้ำของรัสเซียใน ทะเลดำ ที่ส่งอิทธิพลไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ผลก็คือในวันที่ 1 มีนาคม หลังการพ่ายแพ้ของยานูโควิช รัสเซียได้ส่งทหารส่วนหนึ่งเข้าไปในไครเมีย ร่วมกับกองกำลังท้องถิ่นยึดสถานที่ราชการ จุดยุทธศาสตร์สำคัญ และ ปิดล้อมกองทหารยูเครนในไครเมียอย่างเงียบ ๆ

ส่วนพรมแดนที่ติดกับรัส เซียก็จัดให้มีการซ้อมรบด้วยกองกำลังทหารเต็มรูปแบบ ประหนึ่งว่าพร้อมจะเคลื่อนทัพเข้าสู่ยูเครนและไครเมียทันที

อีกด้านหนึ่งจัดให้มีให้มีการลงคะแนนแสดงประชามติ โดยกลุ่มบุคคลที่นิยมรัสเซียควบคู่กันไปภายใต้ความกดดันทางทหารข้างต้น

กลาย เป็นปฏิบัติการขอคืนหลังบ้าน ท่ามกลางการร้องเอะอะโวยวายของสหรัฐ-สหภาพยุโรป ที่เริ่มต้นด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรอย่างเบาบางเต็มที

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

เหนือจีน ยูเครน ตุรกี ยังมี ไทยแลนด์. !!?

โดย : ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย

ขณะที่จีนมีปัญหาการเมืองในการต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย ที่ก่อเหตุแทงคนจำนวนมากเสียชีวิตราว 34 คนที่สถานีคุนหมิง

โดยกลุ่มอุยกูร์แบ่งแยกดินแดนมณฑลซินเจียง

ยูเครนก็มีปัญหาการเมืองที่คล้ายกับไทย คือ ประชาชนแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนยุโรป และ อเมริกา ส่วนอีกฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย เรื่องราวเริ่มหนักหนาจนถึงขั้นรัสเซีย ส่งทหารเข้าไปยึดพื้นที่คาบสมุทรไครเมีย และอาจมีการลงประชามติ เพื่อขอแบ่งแยกดินแดนนั้นจากยูเครนกลับไปสู่รัสเซีย

ส่วนในตุรกีนั้นก็มีปัญหาคอร์รัปชัน ที่เกี่ยวข้องกับลูกๆ ของรัฐมนตรีหลายคน และมีคลิปเสียงที่ดูเหมือนเป็นปัญหาที่ว่า นายกฯ เออร์โดกัน ได้คุยกับ ลูกชายให้ซ่อนเงินจำนวนมากไว้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาคอร์รัปชันนั่นเอง

แต่ละประเทศมี 1 ปัญหาการเมืองแต่ประเทศไทยมีถึง 3 เด้ง คือ รวม 3 ปัญหานี้ไว้ด้วยกันทั้งหมด คือ มีทั้งปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาก่อการร้าย รวมไปถึง ปัญหาการแตกแยกประชาชนเป็น 2 ฝ่าย จนถึงขั้นข่าวลือแบ่งแยกดินแดน แล้วอย่างนี้จะเหนือกว่า 3 ประเทศข้างต้นได้อย่างไร ?? มี 2 ประเด็นหลักอยู่ตรงนี้ครับ

1. เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ประเทศจีนนั้น มีการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกของบริษัทในตลาดฯ ชื่อ Chaori Solar ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแผงพลังแสงอาทิตย์ และ ยังอาจมีอีกหลายบริษัทที่ขาดทุน และ หนี้สินต่อทุนสูง เช่น Tianwei Baobian Electric และ Sinovel Wind ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่ทำด้านพลังงานทดแทน ทั้งลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งน่าจะมีอนาคตดี แต่กลับมีกำลังผลิตส่วนเกินมาก และ หนี้สินสูง นี่อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ "วิกฤติหมูหัน" โดยจีนมี "ธนาคารเงา" หรือ shadow-banking ที่เป็นบริษัททรัสต์ และ ผลิตภัณฑ์กองทุนบริหารความมั่งคั่ง รวมกันสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นปัญหาหนี้เสียในอนาคตอันใกล้ได้ โดยปัญหาเกิดจากการลงทุนที่มากเกินไป (overinvestment) ฟองสบู่อาจแตกก็เป็นได้ โดยดัชนีหุ้น CSI300 ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นนั้นได้ลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี และ ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคล่าสุดก็ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงเร็วมาก

ขณะที่ประเทศยูเครน มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ย่ำแย่อย่างหนักต่อเนื่อง เมื่อบวก 3 ปีของค่านี้เข้าด้วยกันแล้วได้สัญญาณเตือนภัย Ruang Alarm ที่ -20.0 ซึ่งอยู่ในระดับเสี่ยงต่อวิกฤติเศรษฐกิจสูงมาก ประเทศตุรกี ก็เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจมีการเติบโตดี แต่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง โดยเฉพาะการนำเข้าพลังงาน มีค่า Ruang Alarm ที่ -23.8 ก็มีความเสี่ยงระดับสูงมากเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า "เมฆดำ" เค้าลางแห่งวิกฤติเศรษฐกิจได้ปกคลุม 2 ประเทศที่อยู่รอบ "ทะเลดำ" เรียบร้อยแล้ว โดยเชื้อโรคก็เริ่มกระทบไปรอบๆ ด้านเหนือทะเลดำ คือ "ยูเครน" ด้านใต้ คือ "ตุรกี" และ ด้านตะวันออกคือ "รัสเซีย" ที่ค่าเงินและดัชนีหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก เชื่อได้ว่าปัญหาจะปะทุ "ฟองสบู่แตก" เป็นวิกฤติที่หลีกเลี่ยงได้ยาก นับเป็นปัญหาของการลงทุนมากเกินกว่าการออม ใช้ค่าเงินที่แข็งค่าเกินไป แข่งขันไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนต่างชาติ โดยเฉพาะทั้ง 2 ประเทศก็มีปัญหาทางการเมืองเป็นปัจจัยคอยซ้ำเติมด้วย ปัญหาเงินทุนไหลออกน่าจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ 2 ประเทศนี้ จนอาจเกิดเป็นวิกฤติที่ชื่อว่า "วิกฤติไก่งวง" (Turkey Crisis)

ขณะที่ประเทศไทยนั้น สัญญาณ Ruang Alarm อยู่ในระดับปลอดภัยมากๆ นี่จึงนับได้ว่าเหนือชั้นกว่า

2. ประเทศไทยได้เตรียมทางออกไว้แล้ว

ขณะที่ 3 ประเทศนั้นยังแทบหาทางแก้ไขปัญหาทั้งการเมือง และ เศรษฐกิจไม่เจอเลย แต่สำหรับประเทศไทยนั้นมีทางออกเตรียมพร้อมไว้แล้ว จึงนับได้ว่าเหนือชั้นกว่า

- โดยทางออกของปัญหาการเมืองก็คือ "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" และ "รหัสปลดล็อก กปปส." ซึ่งจะเป็นทางออกแบบเสื้อขาว โดยอำนาจอธิปไตยจะอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้การยืมพลังจาก "ประชามติ" เพื่อโค่นทั้งระบอบทักษิณ และ ระบอบสุเทพ โดยยังคงรักษากฎกติกา เป็นประชาธิปไตย ได้ปฏิรูปประเทศ และ นำสันติภาพมาสู่ชาติบ้านเมืองได้

- ส่วนหนทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจซึ่งอาจถูกรุมเร้าทั้งจากการเมืองในประเทศ วิกฤติเศรษฐกิจ

โลกทั้งวิกฤติหมูหัน และ วิกฤติไก่งวง ซึ่งน่าจะกดดันเศรษฐกิจให้เติบโตต่ำมากๆ ไม่เกิน 2% ดังนั้น หนทางที่เหมาะสม ก็คือ "การคลังไท้เก๊ก" และ "ยุทธศาสตร์888" ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเติบโตได้ถึง 8% ในช่วงครึ่งปีหลังได้ โดยการยืมพลังจากกองทุนบำนาญ ขณะที่หนี้ภาครัฐไม่เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อยนิด

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปิดตาย : กฎหมายกู้เงิน !!?

ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีตก ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... (พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน) ไปจากสารบบตามมาตรา 154 (2) วรรค 3

เหตุผลหนึ่ง มติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่า เนื้อหาร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระของร่าง พ.ร.บ. จึงต้องตกไปทั้งฉบับ

อีกเหตุผลหนึ่ง เป็นมติ 6 ต่อ 2 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะมีการเสียบบัตรแทนกัน

ทั้งนี้ในประเด็นแรก ศาลเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน เป็น "เงินแผ่นดิน" โดยการจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องใช้จ่ายตามกฎหมาย 4 ฉบับเท่านั้น 1.กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 2.กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย 3.กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ และ 4.กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และ "กรณีเร่งด่วน"

แต่ตามเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

และการใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญมาตรา170วรรค2 เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ให้นำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรี รายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทราบเท่านั้น ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังในรัฐธรรมนูญหมวด8ทำให้ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่สอง กรณีเสียบบัตรแทนกัน ศาลพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนเองและออกเสียงลงคะแนนแทน ส.ส.รายอื่น ในวันที่ 20 ก.ย. 2556

โดยศาลเห็นว่าการลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่ระบุว่า ส.ส.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

และมาตรา 126 วรรค 3 การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นความลับ ศาลจึงเห็นว่า กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา216 วรรค 5 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่า

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ"

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นบรรทัดฐานถึงรัฐบาลชุดต่อไปว่า ถ้าไม่ใช่กรณีเกิดสงคราม การรบ หรือเกิดวิกฤตการเงินการคลังที่มีความจำเป็นเร่งด่วน การออก พ.ร.บ.กู้เงินมา "จ่าย" ในโครงการต่าง ๆ ต้องทำผ่านกฎหมาย 4 ฉบับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เท่านั้น ไม่สามารถออกกฎหมายพิเศษมาใช้กู้เงินได้อีก

พลันที่มติศาลรัฐธรรมนูญสะพัดไปทั่วประเทศ ฟากผู้ยื่นร้องคือ "พรรคประชาธิปัตย์" ต่างดาหน้าออกมาขย่มซ้ำ

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า "คนไทยไม่ต้องเป็นหนี้ 50 ปี ผมมั่นใจว่าโครงการทั้งหลายสามารถดำเนินการได้โดยไม่ล่าช้าไปมาก เพราะโครงการที่มีความพร้อมสามารถจัดทำเป็นระบบงบประมาณได้เกือบทุกโครงการต่อเนื่องมาจากรัฐบาลก่อนหน้าอยู่แล้ว"

"วิรัตน์กัลยาศิริ"หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นร่าง พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายทักท้วง แต่ ครม.ยังยืนยันเดินหน้าพิจารณากฎหมายฉบับนี้ต่อ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมาเช่นนี้ รัฐบาลที่เป็นผู้เสนอต้องลาออกอย่างเดียว ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ เพราะตามธรรมเนียมปฏิบัติในระบบรัฐสภา เมื่อกฎหมายการเงินตกต้องลาออกทั้งหมด

"หลังจากนี้ พรรคจะยื่นถอดถอนบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งหมดไปที่ ป.ป.ช. หากพบมีการทุจริตผิดกฎหมาย ก็ต้องฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"

ขณะที่ผู้นำฝ่ายรัฐบาลอย่าง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี แสดงความรู้สึกเสียดายที่ร่างกฎหมายถูกตีตก

"เสียดาย รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว ที่เราอยากเห็นประเทศของเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตั้งแต่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็จะเห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นรองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เสียดายกับการที่เราควรได้พัฒนาให้เราสามารถที่จะก้าวนำในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในประเทศภูมิภาคก็ถือว่าเราทำอย่างเต็มที่แล้ว"

"ใครก็ตามที่จะคิดว่าเราทำเพื่อประเทศก็อยากให้มองที่เจตนาอย่ามองการใช้ข้อกฎหมายเป็นข้อเพื่อที่จะลิดรอนเป็นข้อที่จะตัดสิทธิ์ของทุกคนเลย แล้วอย่างนี้เราจะไปด้วยกันลำบาก การพัฒนาประเทศต่าง ๆ ก็ลำบาก เพราะเรามุ่ง มุ่งแต่ว่า ทำทุกอย่างใช้ข้อกฎหมาย ในการที่จะตัดสิทธิ์ โดยที่ไม่มองถึงเจตนารมณ์อันเป็นเบื้องต้น ตรงนี้ต่างหากที่เราคิดว่า เราหวังว่า เราจะได้รับความเข้าใจ แล้วเราจะได้รับความยุติธรรมแล้วก็เห็นใจ"

ขณะที่ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รมว.คมนาคม บอกเพียงสั้น ๆ ว่า เราทำดีที่สุดแล้ว

"ผลกระทบจะออกมาอย่างไรขอน้อมรับคำวินิจฉัย ซึ่งน่าจะเป็นผลกับรัฐบาลชุดหน้ามากกว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรต้องเดินหน้าต่อได้ คำวินิจฉัยไม่มีอะไรเป็นลบแค่ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่"

หลังจากนี้ไม่ว่าฝ่ายค้านจะนำไปต่อยอดเอาผิดรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์หรือฝ่ายรัฐบาลรักษาการโดยกระทรวงคมนาคมปรับแผนเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร

แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นบรรทัดฐานปิดประตูการออกกฎหมายกู้เงินไปอย่างถาวร

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
------------------------------------------

จี้ตั้งงบ ทดแทน 2 ล้านล้าน !!?

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยต้องพัฒนา'ระยะยาว' ชี้เลิก'2ล้านล้าน'ไม่กระทบศก.ระยะสั้น เป็นโอกาสทบทวนความสำคัญโครงการ

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ผลกระทบยกเลิกโครงการ"2ล้านล้าน"ไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลใหม่ เร่งทบทวน-จัดลำดับความสำคัญโครงการ ระบุระยะยาวมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หนุนกลับมาใช้งบปกติลงทุน เชื่อฐานะการคลังแกร่งรองรับได้และแก้ปัญหากระบวนการตรวจสอบ

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ หรือ "พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท" ต้องถูกยกเลิกไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าไม่ส่งผลกระทบระยะสั้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ เพียงแต่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อโครงการภาครัฐ

โครงสร้างพื้นฐานตาม"พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท" ถือเป็นโครงการลงทุนครั้งใหญ่ของไทย ในการวางแผนพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ โดยรัฐบาลต้องการให้มีการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องและไม่ผูกติดกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไป จึงต้องกลับไปตั้งงบประมาณและการกู้เงินตามแผนก่อหนี้ภาครัฐ

หากพิจารณาโครงการที่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเพียง 3 โครงการเท่านั้นที่ยังเดินหน้าต่อด้วยงบประมาณตามปกติ แต่มีวงเงินลงทุนในปี 2557 เพียง 1.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับวงเงินตามแผนลงทุนเฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงคมนาคมจัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถลงทุนได้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาทในงบประมาณปกติ และต้องรอเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาเห็นชอบ

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บล.ภัทร กล่าวว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและแผนการลงทุนระยะยาวที่ขาดหายไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วไม่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาลมากนัก

"สาเหตุเพราะตลาดการลงทุนส่วนใหญ่รับข่าวเรื่องนี้ไปแล้ว จะเห็นว่าสำนักวิจัยฯ ต่างๆ แทบไม่มีหวังกับการลงทุนโครงการนี้อยู่แล้ว เพราะเม็ดเงินจากการลงทุนออกมาช้ามาก ทำให้ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า โครงการนี้อาจไม่สามารถเกิดได้"

นายพิพัฒน์ กล่าวว่าผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจคงไม่ได้มากนัก เพราะถ้ารัฐบาลตั้งใจจะลงทุนในโครงการเหล่านี้อยู่แล้ว ก็สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากสามารถใช้งบประมาณปกติในการดำเนินการได้ เพียงแต่อาจทำให้แผนการจัดทำงบประมาณสมดุลต้องเลื่อนออกไป

ชี้อาจกระทบการทำงบสมดุล

“ถ้าทำจริงๆ เชื่อว่ารัฐบาลทำได้ ลองคิดเล่นๆ เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ใช้เวลาทำ 7 ปี เฉลี่ยลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของจีดีพีไปอีก 7 ปี ซึ่งจริงๆ อาจต่ำกว่านั้นด้วยถ้าจีดีพีโตขึ้น ดังนั้นหากจะทำก็ต้องเอา 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่นอกงบ กลับเข้ามาในงบ เพียงแต่ต้องแลกกับแผนการทำงบสมดุลที่ต้องล่าช้าออกไป”นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การทำแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท กลับเข้ามาในกระบวนการงบประมาณตามปกติ อาจทำให้การจัดสรรงบมีความเหลื่อมล้ำบ้าง เพราะโครงการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง ดังนั้นการจัดสรรงบกว่า 80-90% อาจจะไปตกอยู่กับกระทรวงคมนาคม แต่ข้อดีของการนำงบลงทุนส่วนนี้เข้ามาอยู่ในกระบวนการงบประมาณปกติมีข้อดีคือความโปร่งใสมีมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการลงทุนได้

'ทิสโก้'ชี้กระทบภาพรวมไม่มาก

เช่นเดียวกับ นายกำพล อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ผลกระทบที่เกิดกับภาพรวมเศรษฐกิจคงไม่ได้มากนัก เพราะสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.นี้คงเกิดได้ยาก ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงไม่ได้มากนัก

“คือ ตลาดคาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า ไม่น่าจะผ่าน ผลที่ออกมาจึงไม่น่าจะทำให้ภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก อย่างของ บล.ทิสโก้ เองก็ไม่ได้นำเรื่องเหล่านี้เข้ามารวมในประมาณการเศรษฐกิจของปีนี้เลย ส่วนปีหน้าเราก็มองว่าการเบิกจ่ายคงทำได้ลำบากอยู่”นายกำพลกล่าว

ส่งผลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานช้า

นายกำพล ยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สามารถผ่านได้ เพราะทำให้การลงทุนซึ่งเป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีความล่าช้าออกไป ซึ่งจริงๆ แล้วบางโครงการควรเริ่มต้นดำเนินการในตอนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่ล่าช้าออกไปตรงนี้ ก็อาจทำให้บางธุรกิจได้ประโยชน์เช่นกัน

"ผมว่าการลงทุนในส่วนนี้ ยังไงก็ต้องเกิดเพราะเป็นโครงการจำเป็นของประเทศ เพียงแต่มันจะล่าช้าออกไปบ้างเท่านั้น ซึ่งตรงนี้อาจมีผลดีกับบางธุรกิจ เช่น ในส่วนของโครงการรถไฟรางคู่ ที่เป็นคู่แข่งกับระบบขนส่งทางถนน ก็ทำให้ธุรกิจการขนส่งทางถนนมีเวลาในการปรับตัวบ้าง หรืออย่างรถไฟความเร็วสูง ที่แผนก่อสร้างล่าช้าไป ก็ทำให้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำไม่ต้องกังวลใจกับคู่แข่งตรงนี้มากนัก ซึ่งทุกอย่างมันมี 2 ด้าน มีทั้งผลดีและผลเสียในตัวเองเสมอ”นายกำพลกล่าว

ชี้ไม่กระทบเศรษฐกิจปีนี้

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าไม่มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยระยะสั้นเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้มากนัก เพราะถ้าไปดูการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของสำนักวิจัยส่วนใหญ่แล้ว แทบไม่ได้นำแผนการลงทุนในโครงการนี้ใส่ไว้ในการประเมินเลย

“การเลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจปีนี้มากนัก เพราะปกติแล้วการลงทุนขนาดใหญ่จะมีผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายการใช้งบประมาณ ก็คงทยอยใช้อยู่แล้ว ดังนั้นผลกระทบระยะสั้น 6 เดือนถึง 1 ปี จึงไม่ได้เห็นผลกระทบอะไรที่ชัดเจน”นายสมประวิณกล่าว

นายสมประวิณ กล่าวว่าในระยะยาวคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพิ่ม เพียงแต่มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ทำให้ผู้ทำนโยบายต้องกลับมาคิดว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปมากกว่า ซึ่งการกลับมาใช้กระบวนการตามกรอบของรัฐธรรมนูญก็ถือเป็นเรื่องดี ทำให้ภาครัฐมีเวลาวางแผนการลงทุนอย่างรัดกุมขึ้น สามารถจัดลำดับความสำคัญของโครงการได้อย่างถูกต้อง

ระบุใช้งบปกติไม่มีปัญหาลงทุน

นางณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่าอาจทำให้ดูเหมือนว่าโครงการลงทุนต่างๆ ต้องชะลอออกไป ซึ่งในความจริงแล้วงบประมาณสำหรับโครงการเหล่านี้สามารถโยกไปไว้ในงบประมาณประจำปีได้ เพียงแต่ต้องให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้อนุมัติ ดังนั้นเงื่อนไขของความล่าช้าในโครงการลงทุนเหล่านี้จึงอยู่ที่ว่า เมื่อไรเราจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการ

“ในแง่การหาแหล่งเงินลงทุนนั้น จริงๆ เมื่อเข้ากระบวนการงบประมาณปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะหนี้สาธารณะเราไม่ได้สูง และยิ่งถ้าเป็นการกู้มาเพื่อไปลงทุนก็น่าจะเป็นที่ยอมรับได้”นางณดากล่าว

นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ก็น่าจะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลได้มีเวลาในการนำโครงการต่างๆ กลับมาพิจารณาใหม่ และจัดลำดับความสำคัญของโครงการเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ควรนำมาพิจารณาใหม่

แนะเร่งทบทวนความสำคัญใหม่

“ควรเอามาดูเลยว่าอันไหนที่น่าจะเป็นโครงการเร่งด่วนและต้องทำก่อน เราต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าที่จะทำมีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องลงทุนในทุกโครงการ เราสามารถเลือกและดูความเหมาะสมได้ เมื่อได้ข้อมูลที่ละเอียดแล้วค่อยทยอยทำก็ได้”นางณดากล่าว

นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ตรงนี้ก็ควรนำมาจัดลำดับความสำคัญใหม่ว่าเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ และเมื่อได้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจในการบริหารงานเต็มที่ ก็สามารถนำโครงการลงทุนต่างๆ มาลงในงบประมาณปี 2558 และเริ่มดำเนินการได้ทันทีเลย แต่ถ้าอันไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถดึงงบกลางของปี 2557 มาใช้ก่อนได้

"ยอมรับว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง เพราะการลงทุนบางส่วนอาจจะมีความล่าช้าออกไปกว่าที่คาดการณ์กันไว้บ้าง แต่สุดท้ายยังเชื่อว่า การลงทุนยังต้องเกิดขึ้นจริง เพราะโครงการเหล่านี้ถือเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจของประเทศ"

การเมืองสำคัญกว่า"2 ล้านล้าน"

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่ากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติคว่ำร่างกฎหมายไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะหากไม่มีเงินกู้จำนวนนี้ รัฐยังสามารถหาแหล่งเงินอื่นๆ มาทดแทนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้

นายสมภพ กล่าวว่าสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คือ การแก้ไขปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน ดึงความเชื่อมั่นของคนในและต่างประเทศให้กลับมา ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ควรมองหาจุดแข็งอื่นๆ ของประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องผูกอยู่แค่การพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นงบส่วนใหญ่ของร่างกฎหมายฉบับนี้

"ที่ผ่านมาหลายๆ รัฐบาลมุ่งเน้นแต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ผูกติดอยู่กับภาคการเกษตร แต่การพัฒนากลับยังไม่ไปถึงไหน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ครบองค์รวม โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทยหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สะท้อนจากจีดีพีของไทยในภาคบริการที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 %"

"ธนวรรธน์"ชี้กระทบจีดีพี 0.5-0.7%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาทที่จะไม่เกิดขึ้นในปีนี้จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาทและส่งผลกระทบต่อจีดีพี 0.5 - 0.7%

ดังนั้นแนวโน้มที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะปรับประมาณเศรษฐกิจในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 2 - 3% จากเดิมที่คาดการว่าจะขยายตัวได้ 3 - 4% จะมีมากขึ้นซึ่งเมื่อรวมกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอนทำให้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศทำให้แนวโน้มที่เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2% หรือใกล้เคียกับ 2% มีมากขึ้น

นายธนวรรธน์ ประเมินว่าผลกระทบที่ชัดจะเกิดขึ้นในปี 2558 เนื่องจากแต่เดิมคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนภาครัฐจากโครงการนี้ในปีที่ 2-7 ของการลงทุนตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ประมาณปีละ 2 - 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวถึง 1% ต่อปี แต่เมื่อไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องดูว่ารัฐบาลต่อไปจะเลือกใช้วิธีการลงทุนแบบใด ซึ่งถ้าหากใช้วิธีการตามงบประมาณปกติเศรษฐกิจก็จะไม่ส่งผลมากเท่ากับการลงทุนตามพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท

2 ล้านล้านบาทเป็นการลงทุนที่จะใส่เงินเข้าไปอีกปีละ 2 - 3 แสนล้านบาทตามวิธีงบประมาณปกติซึ่งเห็นภาพที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะโตปีละ 1% แต่หากรัฐบาลใหม่จะลงทุนตามวิธีการงบประมาณปกติก็ต้องดูว่าพร้อมที่จะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเราเคยขาดดุลงบประมาณมากที่สุด 4 แสนล้านบาท ปัจจุบัน ขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาทจึงมีช่องว่างให้ขาดดุลงบประมาณได้อีก 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
---------------------------------------------------