--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

Cabinet Watch: รัฐบาลอนุมัติงบสนับสนุนโครงการ SMEs 7,325 ล้านบาท !!?

ผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี นำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ วันที่ 24 เมษายน 2555 มีมติที่น่าสนใจด้านเศรษฐกิจ ประเด็นที่ ๑๒ ว่าด้วยเรื่อง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
  1. เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs
  2. อนุมัติให้จัดสรรงบประมาณที่ต้องใช้ในการสนับสนุนโครงการเป็นวงเงินไม่เกิน 7,325 ล้านบาท และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบิกจ่ายตามจริง โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
  3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 3 ฉบับ ดังนี้ (3.1) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(3.2) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(3.3) ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า ได้จัดทำมาตรการทางการเงินและมาตรการภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของ SMEs ใน 3 ด้าน ได้แก่
  1. การยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity)
  2. การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ
  3. การลดภาระต้นทุนจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สรุปได้ดังนีั

ภาพจาก ไทยรัฐ

1. มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย

1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) โดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วยสินเชื่อ 2 ประเภท คือ
  • สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักรและสินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน โดยมีวงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 2 ปี นับจากวันที่มติคณะรัฐมนตรี
  • และงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนไม่เกิน 1,805 ล้านบาท
1.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 4 (PGS ระยะที่ 4) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
  • โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 24,000 ล้านบาท โดย บสย. จ่ายอัตราค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี
  • และรัฐบาลชดเชยส่วนต่างค่าประกันชดเชยตามจริงแต่ไม่เกิน 2,220 ล้านบาท
1.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) ของ บสย. สำหรับ SMEs ที่มีอายุกิจกรรมไม่เกิน 2 ปี มีวงเงินค้ำประกันรวม 10,000 บาท โดย บสย. จ่ายอัตราค่าประกันชดเชย (Coverage ratio) ให้กับสถาบันการเงินในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 48 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ 7 ปี และงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนรวม 3,300 ล้านบาท
1.4 กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ SMEs
  • กู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี
  • วงเงินกู้ยืมสูงสุด 42,000 บาท
  • ระยะเวลาชำระคืน 4 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฝึกอบรม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ 570 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นชอบรายละเอียดการกู้ยืมดังกล่าว
1.5 โครงการสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน (กองทุนประกันสังคม) ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากกองทุนประกันสังคมให้แก่ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องหรือเพิ่มผลิตภาพการผลิต มีวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดการกู้ยืมแล้ว
มาตรการตามข้อ 1.1 – 1.3 มีงบประมาณที่ต้องใช้ในการสนับสนุนทั้งสิ้นไม่เกิน 7,325 ล้านบาท ส่วนมาตรการตามข้อ 1.4 – 1.5 ไม่ต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุน ทั้งนี้ มาตรการทั้ง 5 มาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสร้างสินเชื่อให้กับ SMEs เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 86,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมี SMEs ที่ได้รับประโยชน์กว่า 28,000 ราย

2. มาตรการภาษี

โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับ SMEs ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยมาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการหักค่าเสื่อมเครื่องจักร และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นรัษฎากรและหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน รวม 3 ฉบับ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
  • 1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
  • 2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดเงื่อนไขและอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
  • 3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้มีการจ่ายเป็นค่าจ้างเฉพาะส่วนต่างของค่าจ้างที่ได้มีการจ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันตามที่กำหนดในแต่ละเขตจังหวัดกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นเงินวันละสามร้อยบาท ให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมิน ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น