--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

วิวาทะ ปรองดอง สู่แนวคิดที่ตีบตัน !!?

กลายเป็น “วาระร้อน!” สำหรับรายงานของคณะวิจัยสถาบันพระปกเกล้า ที่กำลังเป็น “ข้อถกเถียง” กันในทางการเมือง หลังผลักดันเข้าสู่ “กระบวนการในสภา” ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ หรือ กมธ. ปรองดอง ที่มี “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นหัวหน้าคณะ

เมื่อคำว่า “ปรองดอง” เดินมาถึงจุด “หัวเลี้ยว-หัวต่อ” เพราะทั้ง “รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” ต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้กัน จนการปิดเกมเร็วของ “รัฐนาวา” เพื่อนำไปสู่ปรองดอง ได้ก่อตัวเป็น “ชนวน” ความขัดแย้งรอบใหม่

กระนั้นแล้ว ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ก็ล้วนมีหลายมิติหลากมุมมอง โดยเฉพาะกับแนวทาง “ปรองดอง” ที่ลากกันไปมานั้น จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หรือเป็น “หนทาง” ยุติความขัดแย้งได้หรือไม่..?!

เช่นเดียวกับในซีกนักวิชาการ ที่ล้วนมีมุมมอง..สะท้อนปัญหา “ความไม่ปรองดอง” ไว้อย่างน่าสนใจ

“ศ.สุริชัย หวันแก้ว” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า..วาทะ “ปรองดอง” ที่นักการเมืองนิยมใช้กันเป็นเพียงคำนิยาม เพราะหากอธิบายความปรองดองในการประชุมร่วมรัฐสภาให้ตรงกับความเป็นจริง ควรจะใช้คำว่า “สงครามปรองดอง” มากกว่า!

ดูแล้วเรื่องการ “ปรองดอง” ถ้ายิ่งเร่งร้อนกันมาก ก็จะกลายเป็นการระแวงกันมากขึ้น อีกฝ่ายคิดว่า เหมือนกับมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า คิดไปก็ยิ่งมากเรื่อง สุดท้ายมันจึงล่มทั้งสถาบัน ทำให้ช่องว่างความขัดแย้งขยายขึ้นกว่าเดิมอีก ดังนั้นจะต้องเอื้อบรรยากาศ อย่าให้เลยเถิด ทุกฝ่ายต้องพิจารณาเหมือนกันว่า เรื่องปรองดองข้อสรุปไม่สำคัญเท่ากับวิธีการที่ใช้

เมื่อวงปรองดอง เริ่มระส่ำระสาย “ฝ่ายค้าน” พากันถอนตัวออกจาก กมธ.ปรองดอง แถมยกขบวน “วอล์กเอาต์” ออกจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ทางออกของวิกฤติความขัดแย้งก็เริ่มตีบตัน ความหวาดระแวงเรื่องขั้วอำนาจ สีเขียวขนปืน-รถถัง ออกมาเบรกเกม “ยึดอำนาจ” ก็อาจเกิดขึ้นได้

“สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าถือว่า “มีจุดอ่อน!” เช่น การนำแนวคิดของ 10 ประเทศ ที่เกิดความขัดแย้งมาเป็นข้อเสนอในการสร้างความปรองดอง แต่มันไม่ได้ตั้งอยู่บนความขัดแย้งของสังคมไทย ฉะนั้นมันอาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป และข้อเสนอเชิงทางเลือกของสถาบันพระปกเกล้า จะก่อให้เกิดการถกเถียง และ สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีก

“ตอนนี้มีทั้งกลุ่มที่กลัว พ.ต.ท. ทักษิณ และกลุ่มที่กลัวอำมาตย์ กลัวการรัฐประหาร ซึ่งการจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความผิด หาคนกระทำผิดก่อน หรือควรมีการลงโทษก่อนนิรโทษกรรม อย่างเช่น การทำรัฐประหารถือเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ และถือเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้ง และการนำ พล.อ.สนธิ มาเป็นประธานกรรมาธิการปรองดอง สมควรแล้วหรือไม่”

ส่วนกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณที่มีคดีความผิดก่อนการเกิดรัฐประหาร ก็ควรมีการตรวจสอบความผิด และนำมาดำเนินคดีใหม่ทั้งหมด ขณะที่คนบางกลุ่มมองว่า แล้วความผิดของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สลายการชุมนุม “คนเสื้อแดง” จนก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดอย่างไร

ฉะนั้นแล้ว ก่อนจะมีการนิรโทษกรรม จะต้องตรวจสอบหาความผิดเสียก่อน เพราะประชาชนที่สูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และหมดความศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย คงจะยอมรับไม่ได้ ไม่เช่นนั้นไม่มีทางที่สังคมไทยจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ได้เลย!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น