--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

นิติราษฎร์ค้านนิรโทษกรรม

“วรเจตน์” ออกแถลงการณ์ในนามคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร แสดงจุดยืนคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมยกโทษให้คนสั่งการยันระดับปฏิบัติที่ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายในทุกเหตุการณ์การเมืองตั้งแต่หลังวันที่ 19 ก.ย. 2549 ส่วนผู้ชุมนุมหากผิดแค่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายความมั่นคงให้ยกโทษ เว้นผู้ทำผิดกฎหมายอื่นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปรกติ แนะแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มหมวดว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง เปิดทางตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาครบวงจร ทั้งฐานความผิดและการเยียวยา

+++++++++++++

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร โดย ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แสดงจุดยืนต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันผ่านเว็บไซต์ http://www.enlightened-jurists.com 4 ข้อประกอบด้วย 1.ยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อส่งรายชื่อเสนอแก้ไขแล้วเป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องพิจารณา

2.ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกคนทุกฝ่าย โดยอ้างเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนพ้นผิดแล้วจะมีผลให้ผู้สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมพ้นจากความผิดไปพร้อมกันด้วย ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุม

3.การตรากฎหมายเพื่อขจัดความขัดแย้งจะต้องพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และจัดวางโครงสร้างของกฎหมายโดยมีสาระสำคัญหลักคือ ต้องไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุม ตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ให้นิรโทษกรรมทันทีกับประชาชนที่มีความผิดตามกฎหมายฉุกเฉินต่างๆ และกฎหมายความมั่นคงที่ประกาศใช้ในช่วงที่มีการชุมนุมในที่ต่างๆ หากความผิดนั้นเป็นความผิดลหุโทษ

สำหรับผู้ทำผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น และไม่ใช่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ตลอดจนการกระทำความผิดของบุคคลที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังวันที่ 19 ก.ย. 2549 ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาก่อน

กรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำใดไม่อยู่ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง การกระทำไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ให้ดำเนินการกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ส่วนผู้ที่คณะกรรมการชี้ว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากแรงจูงใจทางการเมือง ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง แต่ต้องไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่นิติราษฎร์เสนอนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญโดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งเป็นอีกหมวดหนึ่ง เพื่อกำหนดหลัก เกณฑ์ต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

4.กรณีลบล้างผลพวงรัฐประหารเสนอให้มีบัญญัติอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะจัดทำขึ้นใหม่ โดยต้องประกาศให้การนิรโทษกรรมการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 เป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการ ผู้ใช้ ตลอดจนผู้สนับ สนุน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนคดีซึ่งเกิดขึ้นจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจ สอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐ ประหาร ก็ให้ลบล้างให้สิ้นผลไป ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิรโทษกรรม แต่ให้เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรม

ในเดือน มิ.ย. นี้นิติราษฎร์จะจัดกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร การขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย และวิเคราะห์วิจารณ์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปรองดองของบุคคลและสถาบันต่างๆ เพื่อให้การเคลื่อนไหวทางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและนิติรัฐดำเนินไปในวงกว้างยิ่งขึ้น นิติราษฎร์จะจัดให้มีการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชน ให้แก่ประชาชนทั่วไป รายละเอียดในเรื่องเหล่านี้จะแถลงให้ทราบต่อไป

ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น