--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

นอนตาย ตาสว่าง !!?

บรรยากาศแห่งความปรองดองซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญยังไม่เกิดขึ้นในสังคม และเชื่อว่าการใช้เสียงข้างมากในการกำหนดแนวทางสร้างความปรอง ดองจะเป็นเพียงการสร้าง “ความ ยุติธรรมของผู้ชนะ” เท่านั้น ซึ่งรายงานวิจัยได้ระบุว่าการยึด ถือเสียงข้างมากโดยละเลยความเห็นที่แตกต่างนั้นถือเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงรอบใหม่ได้อีกในอนาคต อันขัดกับเจตนารมณ์ของคณะผู้วิจัยอย่างชัดเจน”

แถลงการณ์ตอนหนึ่งของคณะผู้วิจัยโครงการศึกษาเพื่อการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สถาบัน พระปกเกล้า ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาร ณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภา ผู้แทนราษฎร ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านแบบหัวชนฝาไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะวิจัย และเรียกร้องให้ถอนรายงานวิจัย นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังลาออกจากการเป็นกรรมาธิการด้วย

กลัวจนขี้ขึ้นสมอง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะวิจัยยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในรายงาน เพราะทำงานอย่างตรงไปตรงมาและบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เลือกข้างหรือมุ่งช่วยเหลือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่การออกมาแถลงล่าสุดของคณะวิจัยไม่ให้คณะกรรมาธิการใช้เสียงข้างมากเรื่องการปรองดองนั้นไม่เพียงไม่แสดงบทบาทของการเป็น “นักวิชาเกิน” แล้ว ยังถูกมองว่าเพี้ยนและเลอะเทอะอีกด้วย

เพราะผลการศึกษาวิจัยที่เป็นวิชาการแม้จะออกมาอย่างไรก็ไม่มีใครสามารถนำไปบิดเบือนได้ แม้ แต่การอภิปรายในสภาก็ต้องมีการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในที่สุดต้องได้ข้อยุติตามกระบวนการในสภา ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายนิติ บัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชน คณะวิจัยจึงไม่จำเป็นต้องออกอาการชักเข้าชักออกหรือหวั่นไหวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จน “สั่นเป็นลูกนก” หรือ “กลัวจนขี้ขึ้นสมอง” นอกจากคณะวิจัยจะมีพฤติกรรมหมกเม็ด ซ่อนเร้น หรือไม่บริสุทธิ์ใจ

ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการบรรจุวาระ พิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการต่อที่ประ ชุมร่วมรัฐสภาเพื่อรายงานให้รัฐสภาทราบว่าทำงานเสร็จแล้ว ถ้าจะนำเข้าพิจารณาในสมัยประชุมนี้ได้ เมื่อ ปิดสมัยประชุม ส.ส. จะได้นำเรื่องนี้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในการลงพื้นที่ แต่ถ้าฝ่ายค้านเห็นว่าเป็น การเร่งรัดพิจารณาเกินไปก็มีสิทธิมองได้ ส่วนที่กังวลว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมเป็นการจินตนาการเกินไป เพราะการจะนิรโทษกรรมได้ต้องมีความเห็นของทุกฝ่าย และต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ

ขี้ลืมหรือวิกลจริต

ที่สำคัญหากย้อนกลับไปครั้งนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายว่าการแก้ปัญหาความแตกแยกเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งหลังเหตุการณ์เมษาเลือด 2552 สังคมได้เรียกร้องเรื่องการปรองดองและปฏิรูปการเมือง รัฐสภาขณะนั้นได้ตั้งคณะทำงานที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังจากเกิดเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตที่เข่นฆ่าประชาชนไปเกือบร้อยและบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 รายนั้น นายอภิสิทธิ์ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้นำข้อเสนอของ คอป. ไปปฏิบัติเลย ทั้งที่การศึกษาทุกคณะ ความเห็นของกลุ่มผู้มีอำนาจ นักธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชน ต้องการให้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ซึ่งสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยประกาศคำสั่งนโยบาย 66/23 เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) และแนวร่วม นอกจากนี้ยังมีการ จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ ผกค. รายละ 200,000 บาท ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และจ่ายเงินงวดสุดท้ายก่อนเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์กลับคัดค้านรายงานของสถาบันพระปกเกล้าหัวชนฝา และ ยังโจมตีแม้แต่ พล.อ.สนธิว่ามีอะไรซ่อนเร้นกับ พ.ต.ท. ทักษิณหรือไม่ รวมทั้งโจมตีการใช้เสียงข้างมากในสภา ทั้งที่นายอภิสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นเสียงข้างน้อย แต่มีเสียงจาก “งูเห่า” จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น นายอภิสิทธิ์ก็ถูกประณาม ว่าเป็นรัฐบาลไฮแจ๊คที่ตั้งกันในค่ายทหาร แต่ก็อ้างทุกครั้งว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องเพราะเสียงข้างมากในสภา

พูดเอาแต่ได้กับดีแต่พูด?

นายอภิสิทธิ์โจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าพูดเอาแต่ได้และทำสังคมสับสน รวมทั้งโจมตีทุกคน ทุกฝ่ายที่เห็นว่าจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศ หรือ ได้ต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาใหม่ตามกระบวนการยุติธรรม ปรกติ ซึ่งมีหลายฝ่ายคั้งคำถามกับนายอภิสิทธิ์เช่นกันว่าการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตั้งธงยัดเยียดความผิดและกำจัดคนคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเป็นกระบวน การยุติธรรมที่ประชาคมโลกต่างก็ประณาม แต่นายอภิสิทธิ์คัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกคดีและข้อกล่าว หาทั้งหมดของ คตส. เท่ากับว่านายอภิสิทธิ์และพรรค ประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์นั่นเอง

นายอภิสิทธิ์จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าดีแต่พูด หรือเมาอู้แล้วยัง “เอาดีใส่ดี เอาชั่วใส่ผู้อื่น” ทั้งถูกประณามว่าเป็น “รัฐบาลมือเปื้อนเลือด” ที่ถูกจารึกไปชั่วลูกชั่วหลานจากการเข่นฆ่าประชาชนเกือบ ร้อย นอกจากนี้ยังถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มเจ้า” จากผังกำมะลออีก แม้นายอภิสิทธิ์จะประกาศพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมก็เพราะมี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินคุ้ม ครอง ไม่ใช่การพิจารณาตามกระบวนการศาลยุติธรรม ปรกติ หรือศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลนี้สามารถให้สัตยาบันได้ทันที เพื่อไม่ให้มีการทำรัฐประ หารและใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชนเหมือนที่ผ่านมาอีก เพราะหากศาลไทยไม่สามารถพิจารณาคดีเพื่อเอาผิดได้ แต่ก็ยังมีศาลโลกที่จะเอาผิดได้

“บิ๊กจิ๋ว” สอน “อภิสิทธิ์”

อย่างจดหมายเปิดผนึกของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ที่ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างความปรองดองแห่งชาติขณะนี้ โดยอ้างถึงการใช้นโยบาย 66/23 ที่ทำได้สำเร็จเพราะเริ่มต้นจากการยุติสงครามกลาง เมืองก่อนแล้วจึงสร้างประชาธิปไตยระดับสูง คือการยกเลิกระบอบเผด็จการทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จการรัฐประหาร

พล.อ.ชวลิตยืนยันว่าการแก้ปัญหาวิกฤตต้องแก้ ด้วยการเมือง ไม่ใช่มาตรการกฎหมายหรือศาล หรือใช้กำลังปราบปราม การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่นายอภิสิทธิ์ระบุว่าจะเป็นการล้มล้างอำนาจตุลาการและทำลายระบบยุติธรรมนั้น ความจริงก็เหมือนการใช้นโยบาย 66/23 ซึ่งช่วยให้อำนาจตุลาการยุติธรรมยิ่งขึ้น ไม่ใช่นำปัญหาการเมืองไปให้ศาลแก้ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายศาล และไม่มีทางสำเร็จ มีแต่จะเกิดปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะการบิดเบือนระบบยุติธรรมอย่างการตั้ง คตส. ที่ผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว

“การนิรโทษกรรมปัญหาการเมืองคือการช่วยศาล เป็นการสร้างประชาธิปไตย ทำให้คนไทยทุกคน ทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกระทำได้รับประโยชน์ร่วมกันสูงสุด คือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อำนาจรัฐชนิดสูงสุด บุคคลที่เข้าข่ายเป็นผู้ได้รับการนิรโทษกรรมคือทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ต้องระบุชื่อ นามสกุล เป็นการเลิกต่อกัน จบต่อกัน เป็นการนิรโทษกรรมแบบบูรณาการอย่างปราศจากเงื่อนไข ยุติความแตกแยก สร้างความปรองดองแห่งชาติได้อย่างแท้จริง และยังเป็นการเปลี่ยนสถานการณ์เก่าเป็นสถานการณ์ใหม่ จะไม่มีปัญหาแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าล้วนมีเจตนาดีต่อประเทศ”

คมช. ภาค 2?

ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการปรองดองก็มีกระแสข่าวการรัฐประหารออกมาอีกครั้งเมื่อ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.กอ.รมน.) ระบุว่า ยังมีความพยายามจากกลุ่มเดิมที่สุขุมวิทจะให้มีรัฐประหาร หรือ “คมช. ภาค 2” เพื่อล้มรัฐบาลเพื่อไทย พยายามล้มรัฐบาลด้วยวิธีการเดิมๆ คือใช้องค์กรอิสระหรือตุลาการภิวัฒน์ที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ยุบพรรคการเมืองและล้มรัฐบาลได้ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องให้ทหารปฏิวัติ

พล.อ.พัลลภจึงกล่าวถึง 3 เงื่อนไขที่ทำให้มีข้ออ้างทำรัฐประหารได้คือ 1.เรื่องสถาบัน 2.การทุจริตคอร์ รัปชัน และ 3.ความแตกแยกรุนแรง ถ้าไม่มี 3 เงื่อนไข ก็ไม่มีรัฐประหาร ขณะเดียวกัน พล.อ.พัลลภกล่าวตำหนิ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติ ไทยพัฒนา ที่ให้ พล.อ.สนธิเปิดเผยว่าใครคือผู้อยู่เบื้อง หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นประเด็นเก่า แต่ไม่รู้ว่าทำไม พล.ต.สนั่นจึงหยิบยกประเด็น นี้ขึ้นมาพูดในช่วงที่กำลังเข้าสู่กระบวนการปรองดอง

สนธิ-สนั่น-ป๋า?

อย่างไรก็ตาม คำตอบของ พล.อ.สนธิที่ว่า “คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้” นั้นแม้ พล.ต.สนั่นจะไม่ติดใจและให้เหตุผลที่ถาม พล.อ.สนธิว่าเพราะต้องการยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่วุ่นวายจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารใกล้ชิด พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรมก็ยอมรับว่าได้รับมอบหมายจาก พล.อ.มงคลให้โทรศัพท์ไปหา พล.อ.สนธิประมาณปีกว่าๆหลังรัฐประหาร เพราะ พล.อ.เปรมรู้สึกไม่สบายใจที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าอยู่เบื้องหลัง แต่ พล.อ.สนธิก็ไม่พูด

แต่ล่าสุด พล.ต.สนั่นก็เห็นด้วยที่สถาบันพระปกเกล้าจะถอนรายงานวิจัยหากยังไม่สมบูรณ์และยังมีความขัดแย้งกันสูง ทั้งอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณใจเย็น ถ้ากลับก็ควรกลับมาอย่างเท่และสง่างาม ซึ่งคนเสื้อแดงเองก็ออกมาเรียกร้องให้สถาบันพระปกเกล้าถอนรายงานวิจัย เพื่อให้มีการค้นหาความจริงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 5 ปีให้ได้ก่อน โดยเฉพาะเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต

“ป๋า” สัญลักษณ์อำมาตยาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.พัลลภเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเองว่าเคยร่วมประชุมก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่บ้านนายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ที่สุขุมวิท ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการที่นำเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์มาโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดขณะนั้น นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกาขณะนั้น ร่วมอยู่ด้วย โดยมีการประชุมกัน 3-4 ครั้ง และพูดคุยถึงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะให้รัฐบาลล้มไปอย่างไร โดยมี 2 แนวทางคือ ทางรัฐธรรมนูญหรือทางกฎหมาย ถ้าแนวทางแรกไม่สำเร็จก็ต้องทำรัฐประหาร

ต่อมานายปีย์ยอมรับว่ามีการเชิญบุคคลดังกล่าว มาที่บ้าน แต่ยืนยันว่าไม่มีการพูดเรื่องรัฐประหาร หรือโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นการเชิญคนที่สนิทสนมและเพื่อนมารับประทานอาหารที่บ้านเพื่อพูดคุยถึงปัญหาบ้านเมือง ซึ่งทำเป็นปรกติอยู่แล้ว

แต่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์นิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนธันวาคม 2549 ระบุว่า พล.อ.เปรมเป็นสัญลักษณ์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย และระบอบนี้ก็ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ตาม ซึ่งดูได้จากบทบาทของ พล.อ.เปรม

“เราอาจจะพูดว่าระบอบศักดินายืมพลังจากประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณหรือทุนใหม่ก็เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่า พล.อ.เปรมไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการคงอยู่ ของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ได้หมายความว่าไม่มี พล.อ.เปรมแล้วระบอบประชาธิปไตยจะเต็มใบ แต่ เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายอำนาจนิยมหรือระบอบอำมาต ยาธิปไตยที่ยังมีพื้นที่แน่นอนในสังคมการเมืองไทย...วันนี้ก็เห็นโดยพฤตินัยได้อย่างชัดเจนว่า พล.อ.เปรมใช้อำนาจนั้นผ่าน คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ท่านนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาฯ และไม่มีใครคิดว่าท่านจะกล้าทำ หรือไม่มีใครคิดตอนที่นั่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่าการรัฐประหารครั้งนี้องคมนตรีจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเปิดเผยขนาดนี้”

คำพูดของนายสุริยะใสแม้จะผ่านมาแล้วหลายปี ขณะที่ พล.อ.เปรมก็เคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ให้ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารว่า “ผู้สื่อข่าวน่าจะรู้ดีว่าผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง ต้องรู้อย่างนั้น ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและเรื่องใดๆที่เกี่ยวกับการเมือง”

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 พล.อ. เปรมยังกล่าวกับคณะนักเรียนเก่าวชิราวุธและนัก เรียนเก่าสงขลาที่เข้าพบเพื่อให้กำลังใจที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ หลังจากถูก พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายนว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้นำนายทหารผู้นำคณะมนตรีความมั่น คงแห่งชาติ (คมช.) เข้าเฝ้าฯ แต่ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ เวลาประมาณ 21.00 น. ก่อนหน้า พล.อ.สนธิจะนำผู้นำเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯประมาณ 20 นาที เพราะในฐานะประธานองคมนตรีเมื่อทราบว่าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติของบ้านเมืองจะต้องเข้าไปถวายการรับใช้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับ คมช.

นอนตายตาสว่าง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าฝ่ายทักษิณหรือกลุ่มเกลียดทักษิณต่างเชื่อว่าการปรองดองยากจะเกิดขึ้นตราบใดที่แต่ละฝ่ายยังก้าวไม่ข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ หรือยังให้ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งหมด แม้แต่นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ออกมาแถลงว่า การปรองดองจะเกิดไม่ได้ถ้าขาดหลักนิติธรรมและความยุติธรรม ถ้าทุกฝ่ายมีความจริงใจในการปรองดอง รวมถึงต้องทำความจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกฆ่าตายนับร้อย

นางธิดายังติงรายงานการวิจัยของสถาบันพระปก เกล้าที่วิจัยรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งไม่ถูกต้อง ที่ระบุว่าเกิดจากประชาชนเสียงข้างมาก ถ้าเช่นนั้นบ้าน เมืองก็อยู่ไม่ได้ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีคุณธรรม ซึ่งสวนทางกับแนวทางการสร้างความปรองดอง และเห็นด้วย หากสถาบันพระปกเกล้าจะถอนรายงานวิจัยกลับไป

ขณะที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์นายนพดล ปัทมะ ทนายความส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคลิปโฟนอินของ พ.ต.ท.ทัก ษิณกับคนเสื้อแดงเมื่อวันเสาร์ที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ต้อง “อ่านระหว่างบรรทัด” หรือดูที่นัยที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ที่ตนสรุปรวบยอด “วิธีคิด” เรื่อง “ยุทธ ศาสตร์ปรองดอง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ชัดเจนมากๆคือ ทำอย่างไรที่จะให้เกิด “ความไว้วางใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือคนที่มีอำนาจในสังคม”

เพราะไม่มีการแตะต้องแม้แต่มาตรา 112 เรื่องการ โยกย้ายทหาร หรือกรณีนักโทษ 112 หรือนักโทษเสื้อแดง ธรรมดาๆที่ไม่ไป “ก้าวก่าย” อำนาจศาลเรื่องประกัน

“ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่มวลชนคนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยควรตั้งคำถามกับคุณทักษิณ และ นปช. กับเพื่อไทยคือ “ยุทธศาสตร์” หรือ “วิธีคิด” นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร? จากเอาคุณทักษิณกลับบ้านเป็นอันดับหนึ่ง (priority) หรือจากการพยายามช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่เดือดร้อนอยู่เป็นอันดับหนึ่ง”

นายสมศักดิ์ยังระบุการโฟนอิน 2 ครั้งของ พ.ต.ท. ทักษิณที่ว่า “ผมเป็นผู้ที่ถูกกระทบเยอะที่สุด” ซึ่งพยา ยามชวนให้คนที่ยังติดใจ คับแค้นใจต่อความยุติธรรมยอม “กลืนเลือด” ให้อภัยเหมือนที่ พ.ต.ท.ทักษิณเอง “ถูกกระทำเยอะที่สุด” ยังสามารถ “ให้อภัย” ได้ ซึ่งนายสมศักดิ์เคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่าวิธีคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่เดือดร้อนที่สุดจริงๆในขณะนี้คือ คนที่ติดคุกและญาติมิตรของคนที่ตายไป

นายสมศักดิ์จึงสรุปว่า ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยคือต้องทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับให้ได้ก่อน เรื่องอื่นๆค่อยว่ากันทีหลัง ทั้งที่รัฐบาลมี priority (จัด ความสำคัญ) ที่จะช่วยคนเสื้อแดงที่ติดคุกจากเหตุการณ์ความรุนแรงและคดีมาตรา 112 ได้ ซึ่งไม่ต่างกับที่ พล.ต.สนั่นถาม พล.อ.สนธิแล้วตอบเอง ทั้งที่ พล.อ.สนธิไม่ตอบว่า “ใครอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร” แต่ให้ไปรออ่านหนังสือเบื้องหลังรัฐประหารที่จะพิมพ์แจกในงานศพที่ทำไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง พล.ต.สนั่นเองก็ต้องตอบด้วยว่า “ใครสั่งให้มาถาม”?

แทนที่จะค้นหา “ความจริง” ประชาชนที่ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็นไปเกือบร้อยศพเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ และ เริ่มต้นสู่การปรองดอง เพราะวันนี้ไม่ ใช่แค่ “คนตายยังนอนตาไม่หลับ” เท่า นั้น แต่คนเหล่านั้นเขากำลัง “นอนตาย ตาสว่าง” กันอยู่!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น