--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ไชน่า ซิตี้ ดอดลงเชียงใหม่ ขน 5 หมื่นล้าน ช็อป SMEs สวมสิทธิ์ เมดอินไทยแลนด์ !!?

ทุนจีนซุ่มเงียบลงเชียงใหม่ กำเงิน 5 หมื่นล้าน ตั้ง “นอมินี” ไล่ซื้อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ทั้งอาหาร สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ หวังใช้เป็นฐานแรงงานและฐานการผลิตส่งสินค้าจีนขายทั่วโลก ภายใต้สัญลักษณ์ “เมดอินไทยแลนด์” แหล่งข่าวพาณิชย์ยันเป็นโมเดลเดียวกับ ไชน่า ซิตี้ พร้อมเรียกร้องนักธุรกิจไทยปรับตัวสู้กับคลื่นทุนที่ไหลเข้าไทย

ภายหลังรัฐบาลจีนมีความพยายามจะสร้างเมืองพาณิชย์หรือโครงการไชน่า ซิตี้ มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4.5 หมื่นล้านบาทในไทย บริเวณถนนบางนา-ตราด ใช้เป็นศูนย์นำเข้าสินค้าเพื่อส่งออก (รี-เอกซ์ปอร์ต) สินค้าที่ผลิตในจีน โดยเลี่ยงการถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูง ซึ่งจะมีผู้ค้าชาวจีนมากกว่า 70,000 ราย เข้ามาดำเนินกิจการในศูนย์แห่งนี้ โดยศูนย์การพาณิชย์แห่งนี้ มีลักษณะคล้ายกับตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหมือนกับศูนย์จำหน่ายสินค้าในเมืองอี้อูทางตะวันออกของจีน

แต่ภายหลังดำเนินการก่อสร้างไประยะหนึ่งก็ติดปัญหากฎหมายผังเมืองจนต้องชะงักไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวไม่ได้ล้มหายตายจากไปแต่อย่างใด หากยังพยายามจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป แต่เปลี่ยนรูปแบบไม่ให้ขัดกับกฎหมายไทย โดยแหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า โครงการไชน่า ซิตี้ได้ลงหลักปักฐานในจังหวัดเชียงใหม่แล้วอย่างเงียบๆ ซึ่งคำกล่าวดังกล่าวสอดรับกับความเคลื่อนไหวในกระทรวงพาณิชย์ที่มีคณะนักธุรกิจจากจีนเดินทางเข้าพบรัฐมนตรีในกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน วันละหลายคณะ คำถามแรกที่นักธุรกิจถามเมื่อเจอหน้าข้าราชการไทยคือ “มีบริษัทลอจิสติกส์ไหนสนใจขายกิจการบ้าง เขาพร้อมจะซื้อทั้งหมด” ซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าจีนต้องการใช้บริษัทลอจิสติกส์เหล่านี้ขนส่งสินค้าในโครงการไชน่าซิตี้กระจายไปในตลาดโลก

ทั้งนี้ “สยามธุรกิจ” ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ กับแหล่งข่าวระดับสูงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งให้คำตอบว่า มีความพยายามจะสร้างโครงการไชน่า ซิตี้ในเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง ถึงขั้นเจรจาตกลงจะซื้อขายที่ดินแล้วกับเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ในเชียงใหม่ ในขณะที่กระแสข่าวอีกด้านระบุว่าเอกชนไทยและจีนได้มีการลงนามเอ็มโอยูกันแล้วเพื่อตั้งศูนย์กระจายสินค้าขนาด 1 แสนตารางเมตร เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท โดยจะมีการนำสินค้าจากเมืองอี้อูมาจำหน่ายเช่นเดียวกับศูนย์กระจายสินค้าที่ถนนบางนา-ตราด แต่ติดกระแสต่อต้าน ทำให้โครงการนี้ยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่

“เท่าที่ทราบล่าสุด กลุ่มนักธุรกิจจีนได้ตั้ง ‘นอมินี’ คนไทยขึ้นมากลุ่มหนึ่งเพื่อเป็นนายหน้าขอซื้อธุรกิจที่น่าสนใจของไทยที่ต้องการจะขาย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs เรายังบอกไม่ได้ว่าเขากว้านซื้อธุรกิจ SMEs เหล่านั้นเพื่อนำไปรวมไว้ในโครงการไชน่าซิตี้หรือเปล่า แต่เดาได้ว่าเหตุผลหนึ่งในการซื้อคือขนสินค้าจากจีนมาแปรรูปในเมืองไทย แล้วใช้แหล่งกำเนิดสินค้า “เมดอินไทยแลนด์” ส่งไปขายทั่วโลก ซึ่งมีภาพลักษณ์ดีกว่าสินค้าที่ผลิตภายใต้สัญลักษณ์เมดอินไชน่า” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายประสิทธิ์ ศิริศรีสกุลชัย ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ หอการค้าจังหวัดลำปาง แสดงความเห็นเมื่อถูกถามถึงประเด็นดังกล่าว ว่า สาเหตุที่กลุ่มทุนจีนสนใจจังหวัดเชียงใหม่ เพราะว่าอยู่ใกล้กับบริเวณเชื่อมต่อชายแดนจีนตอนใต้ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ธุรกิจส่วนใหญ่ก็มีมาตรฐาน การเข้ามาใช้จังหวัดเชียงใหม่เป็นฐานการผลิตสินค้าจีน หรือกระจายสินค้าจีน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

สำหรับจังหวัดลำปางยังไม่มีกลุ่มทุนของจีนเข้ามาซื้อกิจการ ทราบแค่ว่าเคยมีนาย หน้ามาติดต่อเท่านั้น ซึ่งเขาก็สนใจหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ โดยบอกว่านักลงทุนกลุ่มนี้มีเงินทุนประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ก็พอจะเดาได้ว่าน่าจะเป็น นักธุรกิจจากจีน เพราะนักลงทุนไทยคงไม่มีเงินมากขนาดนั้น

ขณะที่นายสุพจน์ กลิ่นประณีต ประธาน หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังไม่มีการเข้ามาของกลุ่ม ทุนจีน แต่ถ้าถนนโครงการเส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมพม่า ไทย ลาว เวียดนาม เส้นทางในแนว R9 ที่ได้รับการสนับสนุนโดย องค์การสหประชาชาติ องค์การอาเซียน ตลอดจนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีเส้นแนวสำคัญๆ ได้แก่ โครงข่าย ถนนจากย่างกุ้งหรือมะละแหม่งในพม่า ผ่านแม่สอดของไทย พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร เมืองสะหวันนะเขตของลาว เมืองเว้ และดานังของเวียดนาม บริเวณนี้ก็อาจจะเป็นบริเวณหนึ่งที่นักลงทุนจีนสนใจเข้ามาลงทุน

แม้ด้านหนึ่งจะมีกระแสต่อต้านการรุกเข้าของทุนจีน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีผู้สนับสนุน โดยกล่าวว่า เมื่อเขตการค้าเสรีเปิดหมด เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และต้องเข้าใจว่า โครงการไชน่า ซิตี้ของจีนไม่ได้มีแต่ในเมืองไทย แต่เปิดแล้วในหลายเมืองทั่วโลก สิ่งสำคัญคือจะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างไร หรือจะเข้าไปใช้ประโยชน์ผลิตสินค้าและบริการร่วมกับเขาอย่างไร และ ที่สำคัญนักธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ว่าการผลิตสินค้าวันนี้ ผลิตเพื่อคน 580 ล้านคนทั่วอาเซียน ไม่ใช่ผลิตเพื่อคน 60 ล้าน คน เมื่อจีนเข้ามาสร้างฐานในเมืองไทยได้ เรา ก็ออกไปสร้างฐานในลาว พม่า หรือเวียดนามได้เหมือนกัน เราปิดกั้นเขาไม่ได้ เพราะยิ่งปิดกั้น เราก็จะยิ่งโดดเดี่ยว

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น