สภาฯเรียก"ไอซีที" ส่งทีมสอบรูปโป๊โผล่กลางสภา เชื่อเชื่อมสัญญาณจากไวไฟ เหตุเจ้าหน้าที่ตัดภาพไม่ได้ ขู่หากพบ ส.ส. เป็นคนทำ ถือผิดวินัยร้ายแรง
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฏร ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อขอความอนุเคราะห์ส่งเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารสนเทศ หลังจากที่เกิดภาพผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย ปรากฎอยู่ในจอทีวี ภายในห้องประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และเมื่อเวลา14.55 น. ทางกระทรวงไอซีที ได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 4 คนมาให้ข้อมูล และตรวจสอบเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ตั้งสมมติฐานก่อนตรวจสอบว่า จากที่เห็นภาพในข่าว คาดว่า เป็นภาพสกรีนเซฟเวอร์ (ภาพพักหน้าจอ) จากจอคอมพิวเตอร์ภายในห้องควบคุม เพราะภาพพื้นหลังนอกกรอบของรูปภาพเป็นสีดำ
จากนั้นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีที ได้เข้าไปตรวจสอบภายในห้องโสตทัศนูปกรณ์ และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ให้ข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ควบคุม ระบุยืนยันว่า ภาพไม่เหมาะสมดังกล่าวไม่ได้มาจากห้องควบคุม เพราะช่วงที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ภายในห้องประชุมรัฐสภาโทรศัพท์มาแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องควบคุมว่า มีภาพโป๊ปรากฏบนจอพลาสมา ที่ติดตั้งอยู่ท้ายห้องประชุมรัฐสภา แต่เจ้าหน้าที่ห้องควบคุมไม่สามารถตัดภาพได้เอง เพราะไม่ได้มาจากห้องควบคุม เจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีตัดไฟฟ้าที่ส่งไปยังจอทีวีในห้องประชุมแทน
เจ้าหน้าที่ห้องควบคุมคนเดิม กล่าวชี้แจงต่อว่า ทีวีทั้ง 4 ตัวที่ติดตั้งภายในห้องประชุมนั้น เป็นยี่ห้อแอลจี ซึ่งมีตัวส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต (ดองเกิ้ล) ติดตั้งอยู่บริเวณด้านข้าง เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินที่ไม่สามารถส่งสัญญาณทางสาย (เอวี) ได้ อย่างไรก็ตามช่วงที่มีการตรวจรับของ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2554 ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ที่ตรวจรับอุปกรณ์ชุดดังกล่าว ได้ทดสอบระบบรวมถึงอุปกรณ์ที่เรียกว่าดองเกิ้ล (อุปกรณ์อีเล็คโทรนิคส์ มีหน้าที่เป็นตัวถอดรหัสสัญญาณ ใส่เพิ่มเติมไว้เพื่อรับชมช่องรายการที่เข้ารหัส) ด้วย แต่ไม่ได้ใส่รหัสเพื่อป้องกันการใช้งานไว้ ดังนั้นเมื่อมีอุปกรณ์ที่มีโปรแกรม หรือ แอพลิเคชั่น ในโทรศัพท์มือถือ แบบสมาร์ทโมบาย ที่สามารถค้นหา (จูน) สัญญาณดองเกิล ของทีวีเครื่องใดๆ แล้วก็สามารถเชื่อมต่อได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเข้ารหัสก่อน และเมื่อเชื่อมต่อได้แล้วจอทีวีจะเสมือนเป็นหน้าจอของโทรศัพท์เครื่องที่เชื่อมต่อได้ ทั้งนี้ตัวรับสัญญาณดังกล่าวมีระยะรับสัญญาณได้ 10-30 เมตร โดยระบบปฏิบัติการที่รองรับกับดองเกิลได้ คือ โอเอสแอนดรอย หรือแอพลิเคชั่น บนไอโฟน ที่มีชื่อว่า ออล์แชร์
เจ้าหน้าที่ชี้แจงด้วยว่า ระบบควบคุมภาพในห้องโสตนั้น ส่วนใหญ่ จะใช้ช่องสัญญาณแบบเอวี คือ มีสายเชื่อมต่อ และใช้วิธีสับสวิทซ์ แบบแมนนัล ดังนั้นก่อนที่ภาพที่ถูกถ่ายมาจากกล้องจะปรากฎออกมาเป็นภาพอย่างที่ประชาชนเห็นตามการถ่ายทอดผ่านช่องเอ็นบีที หรือภาพที่ปรากฎในโทรทัศน์วงจนปิดภายในอาคารรัฐสภา จำเป็นต้องใช้คนควบคุม และสับสวิทซ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแลอยู่ประมาณ 3-4 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีทีได้ใช้เวลาตรวจสอบรวมกว่า 1 ชั่วโมง และเปิดเผยว่า จากการให้ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ที่ระบุว่าพบเครื่องหมายโหลดดิ้ง บนหน้าจอทีวี ก่อนที่ภาพจะตัดจากการประชุมร่วมรัฐสภา เป็นภาพโป๊ นั้นสันนิษฐานได้ว่า อาจเชื่อมต่อมาจากสัญญาณไวไฟ เพราะหากเป็นภาพที่เชื่อมมาจากสายเอวี นั้นภาพจะตัดสลับโดยทันที แต่ตนยังสงสัยเหตุการณ์ดังกล่าว ทำไมถึงเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ได้ทันที โดยไม่มีการใช้รีโมทคอนโทรล ซึ่งถือว่าเป็นระบบใหม่ที่ตนยังไม่เคยเห็น
ผู้สื่อข่าวรายว่าวานนี้ภายหลังจากปิดประชุม นายไพจิต พร้อมเจ้าหน้าทีเทคนิคของ สภาได้เข้าไปทดสอบระบบ และได้ใช้ดทรศัพท์ มือถือเข้าไปเชื่อมต่อสัญญาณผ่านระบบมือถือ พบว่าสามารถเชื่อมต่อได้ และภาพที่ปรากฏบนจอมือถือก็ขึ้นไปโผล่ในจอทีวี ซึ่งเบื้องต้นคณะของนายไพจิตก็สรุปได้ว่าน่าจะเป็นภาพจากมือถือ
ด้านนายไพจิต กล่าวว่าทางกรรมาธิการกิจการสภาฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดว่าระบบส่งภาพที่ส่งมาจากโทรศัพท์มือถือของสมาชิกรัฐสภานั้นมาได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าอยู่ดีๆ ภาพจะมาปรากฎบนจอทีวีเองไม่ได้ ต้องมีการจูนรหัส ให้ตรงกับช่องสัญญาณของทีวี เบื้องต้นนั้นถือว่าผิดธรรมชาติ ทั้งนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นการจงใจให้สภานิติบัญญัติเสื่อมเสียชื่อเสีย ก็จะดำเนินการส่งผลการตรวจสอบให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมสภาฯ ให้เอาผิดทันที
ส่วนประเด็นที่นายณัฎฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวในประเด็นที่เกี่ยวข้องว่า ช่วงการประชุมนั้นได้ดูรูปโป๊บนมือถือนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ออกมายอมรับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องตรวจสอบว่ามีเจตนาใดหรือไม่ หากพบว่าเป็นเจตนาจะถือว่าได้ทำผิดจริยธรรมของส.ส.อย่างร้ายแรง และถือว่าเป็นการทำหน้าที่ไม่เหมาะสม
“ประเด็นการใช้เครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์ในห้องประชุมสภาฯ ถือเป็นข้อห้ามหนึ่งในข้อบังคับจริยธรรม แต่ผมยอมรับว่าช่วงที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ประเด็นนี้ก็ห้ามยาก อีกทั้งการติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตภายในห้องประชุมนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกเพื่อค้นหาข้อมูล แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้คงต้องมาดูข้อบังคับกันอีกครั้งว่าจะปรับปรุงหรือไม่” นายไพจิต กล่าว
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น