--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

พม่า: เสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชีย หรือแมวขี้โรค !!?

วันวลิต ธารไทรทอง
นักวิจัยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
เมษายน 2012

รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้เริ่มปิดประเทศต่อโลกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ส่งผลให้พม่าถอยหลังเข้าคลอง จากประเทศที่เคยเฟื่องฟูในภูมิภาคนี้กลายเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม พม่ากำลังเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาประเทศขนานใหญ่ โดยหันมาเปิดกว้างและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

อย่างที่ทราบดี พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายมหาศาล ตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศใหญ่ที่กำลังรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างจีนและอินเดีย ขณะที่ประชากรประมาณ 65% อยู่ในวัยแรงงาน 15-60 ปี
เมื่อประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานเอื้อต่อการพัฒนาเช่นนี้ และช่วงเวลาหนึ่งได้ถูก “ปิดกั้น” ศักยภาพไว้ เมื่อยกที่ “ปิดกั้น” ออก คงทำให้เศรษฐกิจพม่าเติบโตสูงไปอีกระยะหนึ่ง
พม่าจึงเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ

ภาพประกอบจาก Flickr/Creative Commons โดย Roger Price (antwerpenR)

นักธุรกิจทั่วโลกตอนนี้คิดคล้ายๆ กันว่า ถ้าสามารถหาช่องทางเข้าไปลงทุนในพม่าได้ พวกเค้าจะยิ่งรวยมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า

ปัจจุบันนักธุรกิจจีน อินเดีย สิงคโปร์ และไทย ได้เข้าไปลงทุนในพม่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ โดยเน้นลงทุนในธุรกิจท่าเรือ ท่อส่งแก๊ส ก่อสร้าง และโรงไฟฟ้า อาทิเช่น ปีที่แล้วบริษัทพลังงานแห่งชาติจีนได้เริ่มก่อสร้างท่อส่งก๊าซและน้ำมันจากชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพม่าเชื่อมต่อไปยังมณฑลยูนานทางใต้ของจีนความยาว 771 กิโลเมตร บริษัทพลังงานของอินเดียได้เข้าไปลงทุนทางด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 1,300 ล้านดอลลาร์ และบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ได้เซ็นสัญญา 8,600 ล้านดอลลาร์ กับรัฐบาลพม่าเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน นักธุรกิจในยุโรปและอเมริกาก็กลัวจะตก “ขบวนรถไฟ” จึงกดดันอย่างหนักให้รัฐบาลตนเองลดการคว่ำบาตรต่อพม่า เพื่อพวกเค้าจะได้เข้าไปหาประโยชน์ได้คล่องตัวขึ้น

ไม่เพียงแต่ในภาคเศรษฐกิจจริงเท่านั้นที่พม่ากำลังเปิดกว้างต่อโลก ในภาคการเงินเอง รัฐบาลพม่าได้กำหนดเป้าหมายจะพัฒนาตลาดหุ้นให้เป็นระบบในปี 2015 แต่จะเริ่มนำหุ้นของรัฐวิสาหกิจเข้าขายตั้งแต่ปีหน้า พร้อมกันนี้จะเปิดให้ธนาคารต่างชาติเข้าทำธุรกิจในพม่าเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้เสรีขึ้น โดยการปรับมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ

มองเห็นได้ไม่ยากว่า การที่พม่าเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น และปล่อยให้เงินทุนหลั่งไหลเข้าไปเหมือนสายน้ำเช่นนี้ คงจะทำให้เศรษฐกิจพม่าร้อนแรงไปอีกหลายปี และนี่เองเป็นสาเหตุให้ถูกมองว่า พม่าจะเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย เดินตามรอยประเทศจีน
แต่ความท้าทายมีอยู่ว่า พม่าจะทำอย่างไรให้การเปิดประเทศประสบความสำเร็จเหมือนอย่างที่จีนเคยทำ
ผมคิดว่า มีโอกาสน้อยมากที่พม่าจะประสบความสำเร็จอย่างจีน

การเปิดประเทศของพม่ามีรูปแบบเฉพาะตัว และเป็นการเปิดอย่างรวดเร็วเกินกว่าใครจะคาดคิด ซึ่งแตกต่างจากกรณีการเปิดประเทศของจีน จีนเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน และมีหลากหลายกลวิธีในการดูดเอาประโยชน์จากนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญ การพัฒนาภาคการเงินของจีนทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง

ในขณะที่พม่าเร่งรีบเปิดประเทศ ขาดยุทศาสตร์การพัฒนา และยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลพม่าจะทำอย่างไรที่จะดูดซับเงินทุน เทคโนโลยี องค์ความรู้วิทยาการบริหารจัดการธุรกิจ และดึงประโยชน์ที่จะเกิดจากการลงทุนของต่างชาติให้อยู่ในประเทศพม่ามากที่สุดและนานที่สุด

มิหนำซ้ำ พม่ายังขาดปัจจัยทางด้านสถาบัน องค์กร ตัวบทกฎหมาย ระบบธรรมภิบาล ทั้งยังมีปัญหาความยากจน การขาดประสิทธิภาพการผลิตในภาคชนบท ขณะที่ในภาคเมืองก็ยังขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ
เหนือสิ่งอื่นใด การตัดสินใจเกือบทุกอย่างถูกกองรวมกันไว้ในมือของรัฐเผด็จการทหารกับเครือข่ายนักการเมืองและข้าราชการกลุ่มเดียว แต่ที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีกก็คือ พม่ามีปัญหาเรื่องคอรัปชั่นสูงมาก จากข้อมูลขององค์กรต่อต้านการคอรัปชั่นระหว่างประเทศ (Anti-corruption Watchdog, Transparency International) พม่ามีปัญหาการคอรัปชั่นมากกว่าประเทศอัฟกันนิสถานเสียอีก ดังนั้น โอกาสที่ข้าราชการและนักการเมืองพม่า จะมีพฤติกรรมเหมือนข้าราชการและนักการเมืองของหลายประเทศในอาเซียน คือ รับสินบนจากบริษัทข้ามชาติเป็นไปได้สูง และการเข้าไปของบริษัทข้ามชาติต่างๆ ก็จะไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศและคนพม่าอย่างแท้จริง

โดยสรุป โลกเศรษฐกิจแบบตลาดเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยิ่งเป็นโลกเสรีการเงินด้วยแล้ว ยิ่งเต็มไปด้วยความผันผวนและไร้เสถียรภาพ การเปิดประเทศของพม่าครั้งนี้จึงดูจะสุ่มเสี่ยงไม่น้อย ผลของการเปิดประเทศอย่างไม่เลือกสรรและขาดทิศทางการวางแผนของพม่า เชื่อได้ว่า นอกจากจะนำมาซึ่งปัญหาสังคมต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้แล้ว โอกาสที่พม่าจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจยังมีความเป็นไปได้สูงอีกด้วย

แม้การกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของพม่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่การเปิดแบบไม่มีจังหวะจะโคน ไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี ยากมากที่พม่าจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย อย่างดีก็คงเป็นได้แค่แมวขี้โรค

ที่มา.Siam Intelligence Unit

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น