--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

ค่าแรง 300 บาท กับก้าวแรกของโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ !!?

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานักธุรกิจไทยจำนวนไม่น้อยจดจ้องไปยังวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่าการประกาศการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัดนำโดยกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดภูเก็ตจะเป็นเช่นไรบ้าง

ตัวนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่การเลือกตั้งโดยพรรคเพื่อไทยในครั้งที่ผ่านมาและทำการประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด แต่ทว่าในมุมของนักธุรกิจซึ่งมองว่าค่าแรงขึ้นต้นทุนสำคัญตัวหนึ่งในการบริหารธุรกิจทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่ค้านรัฐบาลอย่างเต็มที่หลังจากพรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้ว
แน่นอนว่าไม่ว่าใครทำธุรกิจทุกวันนี้ล้วนต้องคุมเข็มขัดของค่าใช้จ่ายไว้อย่างระมัดระวังไว้อย่างมาก ยิ่งการขึ้นค่าแรงคนงานในองค์กรธุรกิจไม่น้อยมีการพิจารณาผลประกอบการ ผลการทำงานของแรงงานอย่างเข้มงวดใครไม่สามารถสร้างผลงานได้อย่างดีก็อาจกระเด็นออกมาหรือถูกปรับเงินเดือนขึ้นมาน้อยมากเพราะทุกธุรกิจล้วนยังมีความทรงจำต่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไว้และรวมทั้งวิกฤติการเงินล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาเป็นตัวตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงการบริหารกิจการที่ยากลำบากมากขึ้นในทุกวันนี้

แต่เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทและค่าแรงของผู้จบปริญญาตรีไว้ที่ 15,000 บาท ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ต้นทุนธุรกิจและต้องโดนต่อต้านอย่างแน่นอน เกิดคำถามตามมาว่ารัฐบาลไม่รู้หรือว่าจะเกิดแรงต้าน และกระแสการไม่เห็นด้วยนี้ ทำไมเราไม่เอาค่าแรงที่ยังน้อยอยู่มาเป็นจุดเด่นของธุรกิจไทยซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต่อไป
ถ้ามองไปรอบบ้านของไทยจะพบว่าประเทศที่ค่าแรงถูกนี้อยู่รอบประเทศไทยไม่ว่ามองไปทางซ้ายเราก็เจอพม่า มองไปทางขวาก็เจอทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ค่าจ้างต่ำกว่าไทยมาก

ตารางเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ข้อมูลจาก National Wages and  Productivity Commission Philipines
ข้อมูลจาก National Wages and Productivity Commission Philipines

ขณะที่ประเทศลาวมีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 31,700 บาทต่อปี พม่าอยู่ที่ 401 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 12,030 บาทต่อปี ถ้าดูจากตารางจะยิ่งชัดว่าประเทศรายรอบเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ค่าจ้างต่ำที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก และจากสภาพที่เป็นเช่นนี้เราจึงใช้นโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวราคาถูกเข้ามาทำงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม ประมงหรือภาคบริการหลายสาขาในประเทศไทยโดยเฉพาะตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา ทำให้เรายังคงค่าจ้างต่ำมาได้กว่าทศวรรษ การขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งถูกจำกัดไว้มาก ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงที่ขึ้นมาตลอด

ด้วยสภาพที่เป็นเช่นนี้ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ถูกกดทับไว้มายาวนาน ทั้งเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ยังต่ำอยู่มาก ถ้าแรงงานไม่ได้อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ต้องการแรงงานมีทักษะฝีมือสูง แต่ถ้าแรงงานอยู่ในกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กการพัฒนาฝีมือมีน้อยมาก

การพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในระบบเศรษฐกิจไทยจึงกลายเป็นตัวฉุดรั้งหนึ่ง ทั้งจากต้นทุนต่ำ ไม่จำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะจากสภาพธุรกิจที่ไม่ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยีมากนัก เมื่อดูตัวเลขแรงงานต่างด้าวในประเทศกว่า 4 ล้านคนทั้งในและนอกระบบนั่นหมายถึงเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานต่างด้าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆ (high labor intensive)
แต่ทว่าเมื่อมองรอบบ้านในเวลานี้การพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มมีมากขึ้นการเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม ลาว และในพม่าหลังการเปิดประเทศครั้งใหญ่ แนวโน้มการไหลกลับของแรงงานต่างด้าวไปยังประเทศตนเองจะเกิดขึ้นแน่นอน การขาดแคลนแรงงานในระบบโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นมีแนวโน้มเกิดมากขึ้น

ถ้ามองว่าเป็นกับดักก็เป็นกับดักที่เตรียมวางไว้ และถ้าไม่เตรียมการเราคงเหยียบกับดักนี้จังๆ อุตสาหกรรมก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มระบสาธารณูปโภคได้เริ่มประสบปัญหาแล้ว

อีกด้านหนึ่ง ประเทศหนึ่งที่เรามองมาตลอดว่าเป็นประเทศค่าแรงถูก ส่งออกสินค้าราคาถูกไปทั่วโลกโดยชูจุดเด่นที่แรงงานราคาถูกมากๆมาหลายทศวรรษอย่างจีนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายโดยรัฐบาลจีนล่าสุดได้ให้ความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากๆไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นโดยในประเทศจะเริ่มให้ภาคธุรกิจเพิ่มมูลค่าของสินค้าผ่านเทคโนโลยีระดับสูง การออกแบบ การบริหารจัดการ พร้อมทั้งเตรียมขึ้นค่าจ้างในประเทศให้สูงขึ้นเพื่อลดช่องว่างรายได้ที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆให้ลดลง

การขยับตัวของยักษ์ใหญ่อย่างจีนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปยังเศรษฐกิจฐานความรู้ เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยไม่สามารถสู้ค่าแรงถูอย่างจีนได้ และถัดจากนี้เราก็อาจไม่สามารถแข่งในด้านนวัตกรรมได้เช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นของการขึ้นค่าแรงรอบนี้จึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและทางเลือกของไทยที่จะเลือกเดินว่าจะเป็นอย่างไร จะเลือกไปยังประเทศที่ใช้ฐานแรงงานมีฝีมือสูง ใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าแรงงานและสินค้า หรือเลือกเดินในเส้นทางของประเทศฐานการผลิตของประเทศพัฒนาแล้วแทนใช้เทคโนโลยีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ใช้แรงงานราคาต่ำต่อไป

การปรับตัวของการขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้เป็นสัญญาณการเตือนของการที่ต้องปรับตัวและเริ่มวางทิศทางของตนเอง และอาจเป็นจุดเริ่มของการปรับทิศทางในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สำคัญที่สุดเพราะทางเลือกของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีน้อยลงไปเรื่อยๆ และถ้าไม่รีบปรับตัววันนี้วันหน้าเราปรับตัวไม่ทัน เพราะการถูกให้ปรับโดยรู้ตัวย่อมดีกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้ต้องปรับตัว

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น