--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

แม่เลี้ยงติ๊ก ท้า ธาริต. ไม่เกี่ยวซูโด อดีต รมต.ยุคุ้ยต้นตอ แฉอีก 4 รพ.กรุงมีพิรุธ !!?

พสิษฐ์.เผยมีอีก 4 รพ.ใน กทม.-ปริมณฑลต้องสงสัยเอี่ยวขบวนการยักยอกซูโด เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ ยัน′วชิรพยาบาล′เคลียร์แล้ว ไม่พบผิดปกติ

นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด สธ. กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่าพบความเชื่อมโยงไปถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนว่า ที่นาย ธาริตระบุชัดออกมาเช่นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นหนึ่งในรายชื่อที่อยู่ในข้อมูลลับที่ทางคณะทำงานมอบให้กับนายธาริตขอที่จะไม่พูดถึงเรื่องรายชื่อดังกล่าว เพราะถือว่าอยู่ในอำนาจการสอบสวนของทางดีเอสไอ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ยังได้มอบข้อมูลชุดเดียวกันกับที่มอบให้ดีเอสไอส่งเป็นเอกสารประทับตราลับมากส่งไปยังนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการ สธ. และ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีแล้ว

นายพสิษฐ์กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลที่คณะทำงานพบว่าโรงพยาบาล (รพ.) วชิรพยาบาล อยู่ในข่ายที่ควรเข้าไปตรวจสอบเรื่องการเบิกจ่ายยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนนั้น ยอมรับว่าข้อมูลที่คณะทำงานตรวจสอบมาครั้งแรกมีชื่อ รพ.วชิรพยาบาล อยู่ในจำนวน 20 รายชื่อ ที่คณะทำงานเห็นว่าอาจจะเข้าข่าย และน่าสงสัย แต่เมื่อค่ำวันที่ 31 มีนาคม คณะทำงานนำรายชื่อทั้ง 20 โรงพยาบาลมาตรวจสอบในเชิงลึกอีกครั้งก่อนจะลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามี 16 โรงพยาบาล ที่ไม่อยู่ในข่ายที่ควรลงไปตรวจสอบ ซึ่งหนึ่งใน 16 โรงพยาบาลนั้นมี รพ.วชิรพยาบลรวมอยู่ด้วย ส่วนที่เหลืออีก 4 โรงพยาบาลนั้นคณะ ทำงานพบข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าเข่าข่ายที่ควรจะต้องไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และจะลงพื้นที่ตรวจสอบในเร็วๆ นี้

นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรี ธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวถึงกรณีที่นายธาริตเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากนายพสิษฐ์ ว่ามีอดีตรัฐมนตรี สธ.บางคนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำยาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีน ออกจาก รพ.ต่างๆ ว่า อยากให้กำลังใจนายธาริต ในการหาข้อเท็จจริงให้ได้ อย่าหยุดนิ่งให้ค้นหาต่อไปกระทั่งถึงตัวผู้กระทำผิดจริงๆ เพราะยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่ ต้องรู้ให้ได้ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มีการจับแพะชนแกะ อ้างลอยๆ ว่ามีอดีตรัฐมนตรี สธ.เกี่ยวข้อง เพราะคนอาจจะคิดว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง หรือนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ส่วนตนเชื่อว่าแทบไม่มีใครจำได้ว่าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.เมื่อไร

"อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีบางคนถูกศาลพิพากษา บางคนก็ยังมีคดีอยู่ในศาล อย่างเรื่องคอมพิวเตอร์ฉาว จึง ไม่อยากให้มีการกล่าวอ้างลอยๆ" นายวิทยากล่าว

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ในวันที่ 2 เมษายน ดีเอสไอ ประชุมคณะทำงานร่วมกันครั้งแรกภายหลังรับคดีลักลอบนำสารซูโดอีเฟดรีน ไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำงานร่วมกัน โดยจะแบ่งชุดการทำงานเป็นหลายชุด ทั้งชุดสืบสวนหลัก ชุดสอบสวนหลัก คาดว่าชุดการสืบสอบสวนจะแบ่งตามพื้นที่ สภ.ที่เกิดเหตุ ส่วนการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ ต้องหารือในข้อกฎหมายว่าจะทำอะไรได้บ้าง

นายธาริตกล่าวว่า นอกจากนี้ตนและ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน จะแถลงข่าวการทุจริตการเบิกจ่ายยาออกจากระบบสาธารณสุขด้วย

รายงานข่าวจาก ดีเอสไอ แจ้งว่า หลังจากรับคดีซูโดอีเฟดรีนเป็นคดีพิเศษ และได้รับข้อมูลลับเป็นตัวอักษรย่อและหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ของผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง และรับผลประโยชน์จากยาแก้หวัดที่มีสาร ซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมหลักที่หายไปจากโรงพยาบาล จากนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว ดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบการโทรศัพท์ของบุคคลที่มีชื่อปรากฏว่า มีการติดต่อใครบ้าง และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างไร รวมถึงการติดต่อระหว่างผู้ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในข้อมูลนายพสิษฐ์ด้วยกันเองว่า มีการติดต่อกันบ้างหรือไม่ ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์มือถือของคนชื่อ ป. ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด มีข้อมูลเพียงเป็นผู้ที่ทำงานกับ

ข้าราชการประจำระดับสูงมายาวนาน และเคยเดินทางไปต่างประเทศร่วมคณะเดียวกัน แต่ไม่พบความผิดปกติทั้งในแง่ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงกับซูโดอีเฟดรีน

วันเดียวกัน ที่ จ.เชียงใหม่ นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุน บริการสุขภาพ กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแล โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วประเทศ พบว่าโรงพยาบาลนวมินทร์ 1-9 และคลินิกตรวจสอบยาซูโดอีเฟดรีนที่ใช้ไม่ตรงกัน 900,000 เม็ด ซึ่งโรงพยาบาลต้องหาหลักฐานมายืนยันว่ามีการสั่งยาและใช้ยาจริงหรือไม่ หากใช้ยาจริงก็ไม่มีอะไร ซึ่งกรมจะร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) และดีเอสไอ จะสนธิกำลังในวันที่ 2 เมษายน เข้าตรวจสอบที่มาและข้อมูล โดยเฉพาะตัวยา ที่มีความคลาดเคลื่อนของตัวเลข

"หากมีหลักฐานการสั่งยาใช้ยาจริงก็ไม่ว่ากัน ทุกอย่างตรวจสอบได้ หากมีประเด็นข้อสงสัย ดีเอสไอก็จะดำเนินการต่อ ส่วนกรม จะส่งหลักฐานต่างๆ ให้กระทรวงสาธารณสุข ไปให้ดีเอสไอสืบสวนและดำเนินคดีอาญา" นพ.สมชัยกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น