ประเทศไทยขณะนี้ยังมีวัฒนธรรม mob เป็นใหญ่ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจหลายครั้งจบลงด้วยการวัดจำนวนคนได้ประโยชน์มากกว่าคำนวณให้ชัดเจน
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนโยบายเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาค และมหภาคหลายนโยบายที่กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความมั่นคงด้านการเงินการคลังในระยะยาว นโยบายเหล่านี้ ทำให้คนบางกลุ่มได้ประโยชน์ และคนบางกลุ่มเสียประโยชน์ ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์มักออกมาสนับสนุน กลุ่มที่เสียประโยชน์อาจออกมาต่อต้านบ้าง แต่ไม่เข้มแข็งเท่ากับกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ เพราะหลายนโยบายมีลักษณะ ได้กระจุก เสียกระจาย หรือกลุ่มคนเสียประโยชน์ อาจมองไม่เห็นผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ประเทศไทยขณะนี้ยังมี วัฒนธรรม mob เป็นใหญ่ การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจหลายครั้งจึงจบลงด้วยการวัดจำนวนคนที่ได้ประโยชน์ มากกว่าที่จะคำนวณให้ชัดเจน และถกเถียงกันอย่างโปร่งใสว่า คนไทยโดยรวมได้หรือเสียประโยชน์อย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ที่น่าประหลาดใจ คือ บทบาทของ นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งควรทำหน้าที่สร้างความกระจ่างให้สังคมเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของนโยบายเศรษฐกิจค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย ในประเทศใดก็ตามที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ทำหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์ (หรือถูกกีดกันไม่ให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา) ประเทศนั้น มักมีปัญหาระยะยาวทั้งด้านขีดความสามารถแข่งขัน และเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ความน่ากลัวนี้จะทวีคูณถ้ารัฐบาลนิยมดำเนินนโยบายแทรกแซงกลไกตลาด ชอบดำเนินนโยบายเชิงรุกแบบรวบรัด โดยหวังผลระยะสั้น (เพราะคำนึงแต่ผลทางการเมืองเป็นหลัก) หรือนิยมที่จะใช้มาตรการเศรษฐศาสตร์มหภาค เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐศาสตร์จุลภาค (เช่น ชอบให้ค่าเงินอ่อน เพื่อช่วยผู้ส่งออกที่ความสามารถการแข่งขันลดลงจากนโยบายบิดเบือนในประเทศ)
การแยกไม่ออกระหว่างปัญหาระดับมหภาคกับจุลภาคเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก นักการเมืองชอบแก้ปัญหาจุลภาคด้วยมาตรการเศรษฐกิจมหภาค เพราะการออกมาตรการเศรษฐกิจมหภาคไม่ต้องคิดซับซ้อนยุ่งยาก ต่างจากมาตรการเศรษฐกิจจุลภาค ที่ต้องเข้าใจกลไกตลาด ต้องแก้ปัญหาทีละเปลาะ และต้องจัดแรงจูงใจและการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ลงตัว แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจุลภาคด้วยมาตรการมหภาค มักจะขาดความรอบคอบ เพราะนิยมดูผลดีเฉพาะส่วน มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบ
ผมเชื่อว่าสังคมในวันนี้ ต้องการให้นักเศรษฐศาสตร์มีส่วนร่วมวิเคราะห์ผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลและวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา แต่บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ กลับเลือนหายไปตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในระยะหลังมักจะถูกกำหนดจากบนลงล่าง โดยทีมงานยุทธศาสตร์การตลาดของพรรคการเมือง ที่ให้ความสำคัญต่อฐานเสียง ที่จะได้ประโยชน์และความง่ายในการนำแต่ละมาตรการไปโฆษณาหาเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลของเศรษฐกิจโดยรวม
ช่วงหลังนี้ เราไม่ค่อยเห็นนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนักเศรษฐศาสตร์เป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยกลั่นกรองนโยบายเศรษฐกิจจริงจัง ข้าราชการในหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ มักทำตามที่นักการเมืองสั่ง มากกว่านำเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ จากล่างขึ้นบน นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะหลัง จึงเป็น แบบแยกส่วน เป็นการบริหารเศรษฐกิจทีละมาตรการ มากกว่ามียุทธศาสตร์ภาพใหญ่ ไม่คำนึงว่าแต่ละมาตรการจะสร้างความเบี่ยงเบน และเกิดผลกระทบอย่างไร มาตรการเศรษฐกิจจึงตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทีละเรื่อง แทนจะชี้นำตลาด ที่สำคัญ แทบไม่ได้ยินนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยต้องการการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างแรงหลายด้าน เพื่อให้หลุดจากกับดักประเทศกำลังพัฒนา และวิ่งตามเพื่อนบ้านทัน ในทางตรงกันข้าม กลับเห็นรัฐบาลชอบหยุดการปฏิรูปที่กำลังเกิดขึ้นไม่ให้เดินหน้าต่อไป
คงต้องยอมรับความจริงว่า เมืองไทยวันนี้ขาดนักเศรษฐศาสตร์ช่วงอายุสี่สิบกลางๆ ถึงห้าสิบกลางๆ เราไม่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ที่เป็นผู้นำทางความคิด และได้รับการยอมรับทางสังคมเหมือนคนรุ่น ดร.อัมมาร สยามวาลา หรือ ดร.เสนาะ อูนากูล เพราะคนช่วงอายุดังกล่าวในวันนี้ จบปริญญาตรีช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ จึงไม่ค่อยนิยมเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะผลตอบแทนของคนที่เรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ต่ำกว่าคนที่เรียนต่อด้านการเงิน หรือบริหารธุรกิจมาก สถานที่ทำงานสำหรับคนที่ต้องการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายมีจำกัด หลายคนที่จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เข้าไปรับราชการสักระยะหนึ่ง จะถูกกลืนโดยระบบราชการ งานหลักมักเป็นการช่วยหาเหตุผลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง มากกว่าเสนอความเห็นต่าง หรือเสนอนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้มั่นคง
ระบบอุดมศึกษาของไทยไม่ส่งเสริมให้นักเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทำงานด้านนโยบาย เพราะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตผลงานวิจัย เพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ในภาคธุรกิจ นักเศรษฐศาสตร์กลับได้รับความสำคัญมากขึ้น สถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง มีนักเศรษฐศาสตร์ประจำ แต่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ ทำหน้าที่หลักเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ และมักไม่กล้าวิจารณ์มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาล
วันนี้อาจมีเพียงสองสถาบันในไทยที่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เข้ามาเสริมทัพเพื่อทำงานนโยบายโดยต่อเนื่อง คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แต่บทบาทการชี้นำ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และการวิจารณ์นโยบายของทั้งสองสถาบันดูจะลดลงไปจากเดิมมาก ธปท.มีนักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ จำนวนมาก แต่การทำงานถูกตีกรอบอยู่เพียงเรื่องของนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงิน ขาดการสร้างองค์ความรู้ในมิติอื่นของเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรทำให้พนักงานค่อนข้างเก็บตัว คนไทยจะไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์ของ ธปท. จนกว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงพอ เกือบทุกรัฐบาลมักแกล้งไม่เข้าใจบทบาทของ ธปท. การเสนอความคิดเห็นของ ธปท.อย่างตรงไปตรงมา จึงถูกมองว่าไม่สนองนโยบาย ต้องไม่ลืมว่า ธปท.มีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในหลายสถานการณ์ จึง ต้องทำหน้าที่ทวนกระแส เมื่อเห็นว่าระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงในระยะยาว
โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย คือ ทำอย่างไรที่นักเศรษฐศาสตร์จะมีบทบาทในการกำหนดและชี้นำนโยบาย รวมทั้งวิเคราะห์ และวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจได้สร้างสรรค์ เพื่อให้คนไทยเข้าใจถึงผลดีผลเสียของแต่ละนโยบายได้ชัดเจน ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น ถ้าปล่อยให้บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ไทยเลือนหายแล้ว ไม่เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์ไทยจะสูญพันธุ์ เศรษฐกิจไทยอาจพังลงได้ในระยะยาว เหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติปี 2540 และที่กำลังเกิดอยู่ในหลายประเทศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ต้องขอร้องท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติด้วยนะครับ
ที่มา:กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น