--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

ลากตั้งได้ ก็สอยร่วงได้ !!?


ทองแท้ย่อมต้องไม่กลัวไฟ แต่หากเจอไฟเข้าไป แล้วมีลอกมีร่วงเห็นสีทองที่ชุบไว้ออกแววกระดำกระด่างขึ้นมาให้เห็น แสดงว่าไม่ใช่ทองของแท้

เช่นเดียวกับศึกหนักที่บรรดา ส.ว.สรรหา หรือที่สังคมเรียกว่า ส.ว.ลากตั้ง กำลังเผชิญการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เจ้าของฉายา “อดีตส.ว.จอมสอย” เข้ามาขอดูเนื้อในของบรรดา ส.ว.สรรหา กลุ่มผยองทางการเมืองในขณะนี้ ว่าเป็นทองแท้ หรือว่า เป็นแค่ทองชุบเอาไว้หลอกตาคน หลอกตาสังคม

ถือเป็นการตรวจสอบที่สร้างเสียงฮือฮาจากสังคมได้เป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะรายแรกที่โดยสอยร่วง ในล็อต 32 คนนี้ คือ นายสัก กอแสงเรือง ที่ไม่ได้มีสถานภาพเป็นแค่ ส.ว.สรรหา ธรรมดาๆเท่านั้น แต่ยังมีดีกรีเป็นนักกฎหมายมือฉมัง ระดับแถวหน้าที่คนในแวดวงสภาทนายความบอกว่าเป็นระดับ “พี่เบิ้ม”

ไม่มีทางที่นักบัญชีอย่างนายเรืองไกร จะมาสอยนักกฎหมายมือทองได้ด้วยประเด็นทางกฎหมายอย่างแน่นอน

แต่สุดท้าย ความจริงย่อมหนีความจริงไปไม่พ้น แม้จะมีกลไกต่างๆพยายามเข้ามากล่าวอ้างสักเพียงใดก็ตาม แต่การเกาะติดข้อมูลของนายเรืองไกร ก่อนที่จะปล่อยหมัดเด็ด ปล่อยมีดสั้นไปสู่เป้าหมาย ก็ทำให้เห็นแล้วว่า

แม้แต่ 5 เสือ กกต.เองก็ยังถึงกับมึนไปเหมือนกัน หาทางออก หาทางลงแทบไม่ถูกเมื่อเจอกับข้อมูลที่ชัดและตรงประเด็น จนสุดท้ายต้องเลือกไม่ให้นายสักอยู่เป็นเป้า ให้ กกต. ต้องเหนื่อยหนักต่อไปอีก
จำใจ? จำยอม? หรือเพราะจนแต้มที่จะอุ้ม? เป็นเรื่องที่ 5 เสือ กกต. รู้กันเองอยู่ภายในอก แต่ไม่สามารถที่จะพูดออกมาได้ เพราะเป็นเหมือนเรื่องน้ำท่วมปากก็ตาม แต่บทสรุปก็คือต้องไม่มีนายสักเป็น ส.ว.สรรหา ให้นายเรืองไกรกัดไม่ปล่อย

ปัญหาใหญ่ก็คือ กรณีของนายสัก เป็นเสมือนด่านหน้าที่โยงไปถึง ส.ว.อีก 31 คน ที่ก็ลาออกก่อนครบวาระเหมือนกับนายสักด้วยเช่นกัน จะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้มอดไหม้ลามไปหมดทั้งยวง
นายสักหลุดคนเดียวยังไม่เสียหายหรือกระทบกับภาพใหญ่เท่าไรนัก แต่หากว่ายกขโยงกันหมดพวง 32 คนของ ส.ว.สรรหา อันนี้สะเทือนหนักแน่

ทำให้ทาง 5 เสือ กกต.เองก็ต้องงัดไม้เด็ด ออกมาเบรกเกมสอยของนายเรืองไกร โดยนางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ออกมาแจงมติที่ประชุม กกต. ว่าได้เพิกถอนสิทธิการสรรหา ส.ว.ของนายสัก กอแสงเรือง เพียงคนเดียว

โดยบอกว่าจริงๆแล้ว ที่ประชุม กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้องของนายเรืองไกร ว่าไม่อาจนำบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 มาบังคับใช้ ที่กำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มี วาระ 3 ปี และมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 1 วาระ มาบังคับใช้กับบุคคลดังกล่าวในการสรรหาคราวถัดไปหลังจากสิ้นสุดสมาชิกภาพ

เพราะฉะนั้น ส.ว.สรรหาทั้ง 31 รายที่ได้รับการสรรหา แต่ได้ลาออกก่อนครบวาระ เพื่อเข้ารับการเสนอชื่อสรรหา ส.ว.เมื่อปี 2554 ทาง กกต.จึงยังถือว่าเข้ากับบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ สามารถเข้ารับการสรรหาได้ เช่นเดียวกับการที่ ส.ว.สรรหาชุดแรกอยู่จนครบวาระจนพ้นตำแหน่ง ก็ยังสามารถได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาได้อีก

แปลง่ายๆคือ กกต.พิจารณาว่าไม่ว่าจะลาออกก่อนครบวาระ หรือไม่ได้ลาออกอยู่จนครบวาระ ก็มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ามาสรรหาใหม่เหมือนๆกัน

เล่นเอาอ้าปากค้างไปตามๆกัน เพราะถ้าเช่นนั้นเจตนารมณ์ของกฎหมายจะเขียนให้ต้องมีการเว้นวรรคเอาไว้ทำต่วยตูนอะไรกัน

ซึ่งถ้าแปลตามที่ 5 เสือ กกต. ออกมาในรูปนี้จริงๆต้องเท่ากับว่า แม้แต่นายสักก็ต้องไม่ผิดด้วยเหมือนกัน แต่เพราะนายสักเป็นเผือกร้อน เนื่องจากหลังจากที่รู้ว่านายเรืองไกรยื่นเรื่องสอย ทางด้านนายสักก็ออกมาสอนหนังสือนายเรืองไกรว่า หัดไปอ่านรัฐธรรมนูญให้ดีก่อนมั้ง

จนสังคมมองว่ากลายเป็นคู่ฟัดไปโดยปริยาย ทำให้ กกต.เองก็ต้องหาทางลงด้วยเช่นกัน
นางสดศรีก็เลยต้องอธิบายว่า กรณีของนายสักที่ กกต.ให้เพิกถอนการสรรหา เป็นการพิจารณาคนละประเด็นกันกับ 31 ส.ว. เพราะนายเรืองไกรได้ร้องเพิ่มว่านายสักยังพ้นจาก ส.ว.เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงวันได้รับการเสนอชื่อจากสภาทนายความยังไม่เกิน 5 ปี

ทำให้ กกต.มีมติเอกฉันท์ให้เพิกถอนการสรรหา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ซึ่งเหมือนกับการที่ กกต.ให้ใบแดง ส.ส. หลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

และเมื่อศาลฎีการับคำร้องจาก กกต.แล้วก็จะมีผลให้นายสักต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ส่วนที่ กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับนายสักและสภาทนายความนั้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการวินิจฉัยบางคณะเห็นว่า ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเป็นผู้รู้กฎหมายดี เมื่อรู้กฎหมายมากแล้วเลี่ยงกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญ

“กรณีของคุณสักก็อาจมีคนมองว่า ละเลยในแง่การตรวจสอบ ส่วนสำนักงาน กกต.โดยเลขาธิการ กกต.ละเลยหรือไม่ หากศาลวินิจฉัยยืนตาม กกต.ก็อาจมองว่า กรรมการสรรหา ส.ว.ได้ละเลยการตรวจสอบได้หรือไม่ แต่หากจะให้ฟ้อง กกต. 4 คน ที่วินิจฉัยก็คงไม่เกี่ยว เพราะ กกต.พิจารณาตามที่มีผู้ร้องคัดค้านเท่านั้น” นางสดศรีกล่าว

ก่อนหน้านี้ บรรดา 31 ส.ว.ระส่ำหนักจากกรณีของนายสัก แต่เมื่อสุดท้ายเกมพลิกมาเป็นร่วงเดี่ยวแทนร่วงหมู่ บรรดา 31 ส.ว.ก็โล่งอก แต่จะมองหน้านายสักสนิทหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะในขณะที่ ส.ว.ลากตั้งทั้งหลายพยายามพร่ำพูดในเรื่องจริยธรรม ต้องยึดในจริยธรรม แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับนายสักที่โดนเชือดเพียงคนเดียว บรรดา ส.ว.ที่เหลือคิดว่าเป็นการมีจริยธรรมหรือไม่ ที่ปล่อยให้นายสักโดนสอยคนเดียว ในกระบวนการร้องเรียนให้ตรวจสอบอย่างเดียวกันเป๊ะ
หรือจะถือว่า มติ 5 เสือ กกต.ที่ออกมา เป็นโล่กำบังได้เป็นอย่างดีแล้ว

แต่เรื่องนี้ไม่จบง่ายๆแน่ เพราะการที่นายสักต้องพ้นจากตำแหน่งตามการวินิจฉัยของ กกต. นอกจากมีโทษต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งมาไม่เกิน 5 ปีแล้วมาสมัครเข้ารับเป็น ส.ว.สรรหา ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 115 (9)

คือนายสักมีวาระในการดำรงตำแหน่ง ส.ว. เริ่มตั้งแต่ 22 มี.ค.43 - 21 มี.ค. 49 แต่ปรากฏว่าสภาทนายความซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอชื่อนายสักเข้ารับการสรรหา ส.ว. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 54 ซึ่งบวกลบคูณหารแล้ว ก็ขาดไป 10 กว่าวันที่จะครบ 5 ปีจริงๆ

และเมื่อ กกต. จะต้องส่งคำวินิจฉัยให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ก็เลยเกิดมีคำถามขึ้นมาว่า เรื่องนี้ถ้าจะถามถึงจริยธรรมและความยุติธรรมกันแล้ว น่าจะต้องถามหาความรับผิดชอบไปถึงคณะกรรมการสรรหา ด้วยหรือไม่ ว่าทำอย่างไรจึงผิดพลาดบกพร่องเช่นนี้

ปรากฏว่าเสียงสะท้อนจากสังคมเรื่องนี้ นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาธิการสภาทนายความ รับว่าเคยถูก กกต.เรียกไปให้การแล้วว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารสภาทนายความ มีมติส่งนายสักเป็น ส.ว.จริง และได้สอบถามนายสักถึงระยะเวลาที่พ้นตำแหน่งจาก ส.ว.ชุดเดิม

โดยนายสักยืนยันว่าพ้นระยะ 5 ปี แล้ว อ้างว่าเกินมา 8 วันแล้วด้วยซ้ำ ทางสภาทนายความจึงเสนอชื่อนายสักในฐานะเป็นหัวหน้าองค์กรไปเป็น ส.ว.

ที่นายสักอ้างว่าเกิน ก็เพราะตีความว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงรักษาการ ไม่ใช่ระยะเวลาดำรงตำแหน่งจริงๆ แต่ กกต.วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งรักษาการถือว่ายังอยู่ในช่วงเวลาดำรงตำแหน่งจริงๆ จึงยังพ้นตำแหน่งไม่เกิน 5 ปี

ส่วนกรณีมีข่าวว่าจะดำเนินคดีอาญากับกรรมการสภา ทนายความ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องดำเนินคดีกับกรรมการสรรหาด้วย หากคดีถึงศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง แม้นายสักไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.ได้ แต่จะไม่เกี่ยวกับตำแหน่งนายกสภาทนายความ ที่สำคัญหากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่ผิด นายสักก็กลับไปเป็น ส.ว.ได้
เรียกว่ายังกะลุ้นกันจนวินาทีสุดท้าย!!

เช่นเดียวกับทางด้านของ นายเรืองไกร เอง ดูเหมือนว่าลึกๆยังคาใจกับมติ ของ 5 เสือ กกต.ที่ออกมาแบบพลิกล็อกป็อกช่าป็อกดื้อๆ ก็เลยงัดหลักฐานใหม่ ขึ้นมาสร้างความหนักใจให้กับ กกต.อีก โดยใช้ข้อมูลใหม่ว่า มี ส.ว.ประมาณ 10 คน ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งได้ตรวจสอบกับสำนักงานเขตต่างๆแล้ว ก็จะยื่นเรื่องให้ กกต.พิจารณา เพื่อส่งศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไป

ซึ่งข้อนี้เป็นพื้นฐานกฎหมายเลยว่า ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะขาดสิทธิทางการเมือง
นอกจากนี้ในประเด็นตรวจสอบ ส.ว.สรรหา ปรากฏว่านายเรืองไกร ยังได้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ไปขึ้นเวทีพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาโจมตีรัฐบาล ซึ่งแสดงถึงความไม่เป็นกลางทางการเมือง ที่ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดต่อผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.
นายเรืองไกรตั้งข้อสังเกตุด้วยว่า จริงๆได้ยื่นเรื่องของ น.ส.รสนา กับทางผู้ตรวจการไปก่อนที่จะมีกรณีตรวจสอบนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนางนลินี ทวีสิน ซึ่งกรณีนั้นใช้เวลาตรวจสอบแค่ 15 วัน ก็แจ้งผลออกมาแล้ว แต่ทำไมกรณี น.ส.รสนา ที่ถือเป็น ส.ว.ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุดของประเทศ จึงยังไม่มีการแจ้งผลออกมา

จะไม่ตรวจสอบเลยหรือว่าเป็นกลางทางการเมืองจริงหรือไม่
กรณีอ้างว่าไปขึ้นเวทีเพื่อให้ข้อมูลเรื่องราคาน้ำมัน แต่หากยึดตามประมวลจริยธรรมจริง ก็ควรไปขึ้นเวทีที่เป็นกลาง ไม่ใช่ไปขึ้นเวทีของพรรคการเมืองไม่ใช่หรือ
งานนี้เจอการบ้านจากนายเรืองไกร ให้ต้องตอบคำถามกับสังคมกันโดยถ้วนหน้า
และแน่นอนว่า กกต.เองก็ยังไม่สามารถยุติเรื่องได้ง่าย เพราะนายเรืองไกร ใช้สิทธิ์ผู้ร้องขอให้ กกต. เพิกถอนสิทธิ์ ส.ว สรรหา 31 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขออุทธรณ์คำวินิจฉัยของกกต. ที่ได้ยกคำร้องกรณีให้เพิกถอนสิทธิ์ 31 ส.ว.แล้ว

โดยระบุว่าในเมื่อ กกต. ได้สรุปและแถลงแล้วว่า ส.ว. สรรหาทั้ง 31 รายลาออกก่อนครบวาระ จึงแปลได้ว่า ส.ว.สรรหาทั้ง 31 ราย ไม่ได้อยู่ครบวาระตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 297 อย่างชัดเจน และย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องวินิจฉัยไปตามความในมาตรา 115(9) และมาตรา 116 วรรคสอง การสรรหาจึงไม่ชอบ ส.ว.สรรหาดังกล่าวจะต้องเว้นวรรคไปเป็นเวลา 5 ปีเช่นกัน

จึงเห็นได้ว่า การวินิจฉัยของ กกต. ย่อมขัดกับข้อเท็จจริงที่ กกต. ได้สรุปออกมาโดยข้อเท็จจริง เลยอุทธรณ์ให้พิจารณาทบทวนข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ถ่องแท้อีกครั้งหนึ่ง และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไปตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 240 วรรคสองต่อไป

แถมยังให้ข้อมูลอีกด้วยว่า เมื่อก่อนหน้าเว็ปไซค์ ของกกต. จะสามารถตรวจสอบสิทธิ์การเลือกตั้งของ ส.ว.ได้ โดยการป้อนเลขบัตรประจำตัวประชาชน แต่ขณะนี้หลังจากที่ได้ยื่นเรื่อง 10 ส.ว.ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง กลับมีการปิดหน้าเว็ปส่วนนี้ไปแล้ว เปิดมามีแต่หน้าต่าง ไม่มีเนื้อหาที่จะตรวจสอบได้
ไม่รู้ว่ามีใคร มีบารมีใหญ่โต ถึงขนาดลบหน้าเว็ปขององค์กรอิสระได้ อยากให้ กกต.ตรวจสอบด้วย
รวมทั้งเพื่อต้องการให้ กกต. เป็นกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและสร้างการยอมรับให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง นายเรืองไกรจึงได้จัดเต็มการบ้านให้ กกต.ไปด้วยอีกประเด็นหนึ่ง

นั่นคือการยื่นคำร้องเพิ่มเติมเพื่อขอให้กกต. ให้พิจารณากรณีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้เลือก นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ไปเป็นกรรมการสรรหา ส.ว.คราวที่ผ่านมา ว่าอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่?

เนื่องจากตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส อาจไม่เข้าลักษณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาตามความในมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 113 วรรคหนึ่ง

ซึ่งจะส่งผลให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไม่ชอบตามไปด้วย
เป็นอีกหนึ่งงานเข้า ที่ 5 เสือ กกต. คงต้องมึนอีกเช่นเคย เพราะกรณีนี้ถ้าใช่ตามที่นายเรืองไกรตั้งข้อสังเกตุก็แปลว่า ส.ว.ทั้งหมดที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาได้สรรหาเข้ามานั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบตามไปด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้นงานนี้ กกต. หนีไม่พ้นต้องเหนื่อยอีกอย่างแน่นอน
แต่ก็เป็นบทเรียนให้ใครก็ตามที่คิดว่า มีอำนาจสามารถลากตั้งเข้ามาได้เสียอย่าง
ก็ย่อมต้องเจอตรวจสอบเพื่อสอยได้เช่นกัน!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น