--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

รร.นายร้อย จปร.พลิกกลยุทธ์ เล็งเปิดรับ ม.6 ต่อป.ตรี วิทย์-วิศวะ-ศิลปศาสตร์ โควต้า ปีละ 30%....

โรงเรียนนายร้อย จปร.พลิกกลยุทธ์ใหม่ เล็งเปิดรับนักเรียน ม.6 ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี กำหนดโควตาปีละ 30% ชู 3 ปริญญา "วิทยาศาสตร์-วิศวกรรม-ศิลปศาสตร์" เป็นจุดขายตอบโจทย์โลกการศึกษายุคใหม่ นักวิชาการชี้ปรับเปลี่ยนค่านิยมในทางที่ดี หนุนให้วุฒิทหารควบคู่วุฒิการศึกษาตามปกติ

ข่าวจากกระทรวงกลาโหมเปิดเผย ว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ มีแนวคิดที่จะเปิดรับบุคคลพลเรือนที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับการศึกษาใน 3 สถาบันการศึกษาดังกล่าว จากเดิมที่รับเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร สาเหตุมาจากปัจจุบันโรงเรียนเตรียมทหารมีการรับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารน้อยลง ทำให้มีนักเรียนเตรียมทหารเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศน้อยลงด้วย ไม่สอดคล้องกับความพร้อมและศักยภาพของทั้งโรงเรียนในสังกัดเหล่าทัพทั้ง 3 โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคาร สถานที่ และบุคลากร

ดังนั้นเพื่อให้มีการกระจายโอกาสทางการศึกษา และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน รวมทั้งมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า จึงประสงค์จะรับบุคคลพลเรือนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ โดยกำหนดสัดส่วนการรับนักเรียนที่เป็นพลเรือนประมาณร้อยละสามสิบ สำหรับการเปิดสอนจะเปิดสอนเฉพาะสาขาวิชาที่มีความพร้อม ได้แก่ หลักสูตรปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และศิลปศาสตร์

แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือที่ กห 0202/2317 ลงวันที่ 30 กันยายน 2554 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวว่าขัดต่อระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่ และจะต้องดำเนินการอย่างไร

หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) พิจารณา ได้ตอบข้อหารือว่า โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ มีลักษณะเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง ตามมาตรา 21[1] แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ขณะเดียวกันมาตรา 5 (4)[2] แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2533 สภาการศึกษาวิชาการทหารจึงสามารถกำหนดให้บุคคลพลเรือนผู้มีคุณสมบัติสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าเป็นนักเรียนทหารได้

ส่วนจะสามารถให้ปริญญาแก่นักเรียนซึ่งเป็นบุคคลพลเรือนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่สภาการศึกษาวิชาการทหารอนุมัติได้หรือไม่นั้นเมื่อกระทรวงกลาโหมประสงค์จะรับบุคคลพลเรือนเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทั้ง 3 เหล่าทัพ โดยเปิดสอนสาขาวิชาที่มีความพร้อม แต่ไม่ได้มีการศึกษาวิชาการทหาร ดังเช่นนักเรียนวิชาการทหาร บุคคลดังกล่าวย่อมไม่เป็นผู้สำเร็จวิชาการทหาร

สภาการศึกษาวิชาการทหารจึงไม่สามารถอนุมัติให้ปริญญาแก่บุคคลพลเรือนที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาวิชาการทหารได้หากกระทรวงกลาโหมประสงค์จะจัดการศึกษาแก่บุคคลพลเรือนเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาโดยทั่วไปก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษา และอนุมัติปริญญาสำหรับหลักสูตรการศึกษาทั่วไป และกำหนดโครงสร้างการบริหารจัดการทางวิชาการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาที่คณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดเสียก่อน

นายกำจรตติยกวีรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมสามารถให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ เปิดรับพลเรือนเข้าเรียนได้ ตราบใดที่การบริหารการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาวิศวกร จึงต้องให้คำตอบคำถามนักศึกษาให้ได้ว่าเมื่อจบออกมาแล้วจะได้รับใบประกอบวิชาชีพหรือไม่ เพราะการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพ สภาวิชาชีพจะต้องให้การรับรองสถาบันสอนก่อน

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หากโรงเรียนนายร้อยเปิดรับพลเรือนเข้าเรียนจะเป็นการดี เพราะโดยปกติโรงเรียนนายร้อยเป็นโรงเรียนที่มีค่านิยมเดียว หากพลเรือนเข้าไปเรียนด้วยจะทำให้มีความแตกต่างทางความคิดมากกว่าเดิม ความเข้มข้นของความคิดแบบทหารจะน้อยลง เช่น เรื่องรัฐประหาร ส่งผลให้ต้องปรับปรุงลักษณะการสอน และหลักสูตรให้เป็นไปตามค่านิยมของพลเรือนด้วย การสั่งสอน หรือระเบียบวินัยแบบเดิมอาจต้องเปลี่ยนเป็นวิถีประชาธิปไตยมากขึ้น ทั้งเรื่องวิธีการคิด วิธีการเรียนรู้ หรือวิถีชีวิต

"อย่างไรก็ดี หากจบจากโรงเรียนนายร้อยแล้วได้รับวุฒิการศึกษาตามสาขาวิชาอย่างเดียวอาจไม่มีใครสนใจเข้าเรียน เพราะสามารถไปเรียน 3 สาขาที่มหาวิทยาลัยอื่นเปิดสอนได้ ดังนั้นน่าจะให้วุฒิทหารด้วย หรือเปิดโอกาสให้พลเรือนที่จบโรงเรียนนายร้อยมีสิทธิ์สอบเข้ารับราชการทหาร จะดึงดูดให้คนมาเข้าเรียนมากกว่าได้รับวุฒิการศึกษาตามปกติ"

ขณะที่แหล่งข่าวจากสภาการศึกษาวิชาการทหารยอมรับว่าปัจจุบันมีนักเรียนที่สมัครสอบและสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารน้อยลงจริงอาจเป็นเพราะค่านิยมที่เปลี่ยนไป เพราะรู้สึกว่าวิชาชีพทางด้านนี้ไม่ตอบโจทย์วิชาชีพในระดับสากล ที่ต่างมุ่งไปสู่ความเป็นทุนนิยมในอนาคต ประกอบกับปัจจุบันโอกาสเลือกในเส้นทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น มีการเปิดหลักสูตรต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ที่ต่างตอบสนองผู้เรียนให้มีความเป็นเลิศในวิชาชีพ

ระดับสากล สามารถเชื่อมโยงกับโลกทางการศึกษาที่เปิดกว้างขึ้น ยิ่งเฉพาะต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น