--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

พรรคประชาธิปัตย์ ต้องก้าวให้ข้าม คตส.

ประเด็นทางการเมืองกลับมาเป็นที่ร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากเกิดวิวาทะระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” และ ส.ว.อีกบางส่วน กับ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตประธาน คมช. และ ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธาน กมธ.ปรองดอง ในการประชุมร่วมรัฐสภา
ประเด็นที่เป็นปัญหาคงหนีไม่พ้น “ข้อเสนอการปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า” ภายใต้การดูแลของ กมธ. ปรองดอง ชุดของ พล.อ.สนธิ ที่ระบุให้ยุบกระบวนการคดีอาญาของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ คมช. แต่งตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
“รัฐสภาต้องคิดว่า เรากำลังทำงานให้แผ่นดิน ไม่ใช่ทำงานให้คนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ แถลงการณ์คณะปฏิวัตินั้นบ่งบอกว่า ท่านคิดว่าสมัยนั้นมีการทุจริต แทรกแซงองค์กรอิสระ แล้ว กมธ.ปรองดองได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือไม่ แล้วเรื่องยุบ คตส. นี่สร้างมากับมือ ปฏิวัติมากับมือ ในที่สุดจะยกเลิกเหรอ พล.อ.สนธิตอบคำถามหน่อยว่า แถลงการณ์ในเวลา 23.50 น. ของวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องจริง”
อภิปรายโดย นายวิเชียร คันฉ่อง ส.ว.ตรัง
ส่วนการอภิปรายของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ปชป. กล่าวว่า ปชป.สนับสนุนการปรองดอง แต่ไม่สนับสนุนการนำกฎหมายไปล้างผิดให้คนโกง ขณะที่นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. ปชป. กล่าวว่า วันก่อน พล.อ.สนธิแอบทำปฏิวัติ แล้ววันนี้แอบเสนอรายงาน กมธ.ปรองดองจนบรรยากาศแตกแยกกันไปหมด ไม่รู้จะทำร้ายประเทศไปถึงไหน ถามว่า พล.อ.สนธิประธาน คมช.กับวันนี้ที่เป็น ส.ส. เป็นคนเดียวกันหรือไม่
(ข้อมูลจาก มติชน)
จากนั้นความขัดแย้งในสภาก็เกิดขึ้นเมื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม ส.ว.บางส่วน กรูเข้าไปหา พล.อ.สนธิ ในช่วงพักการประชุม จนเป็นประเด็นข่าวใหญ่ประจำวัน แต่สุดท้ายเรื่องก็จบด้วยรัฐสภามีมติเห็นชอบให้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 4 เมษายนนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจาก Flickr ของ Thaigov)

เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าประเด็นสำคัญของความขัดแย้งในรัฐสภา อยู่ที่ “คดีอาญาของ คตส.” ที่สุดท้ายลงเอยด้วยการพิพากษายึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบ 3-4 ปีให้หลัง

ถ้าย้อนดูเหตุการณ์ทางการเมืองไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นต้นมา จะพบว่า “ผลพวง” หรือ “มรดก” ของการรัฐประหารครั้งนั้น มีด้วยกัน 2 อย่างที่สำคัญ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ คดีอาญาของ คตส.

มาถึงวันนี้ เราต้องยอมรับว่าผลพวงของรัฐประหารทั้ง 2 ประการ สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก และในช่วงรอบปีหลังก็มีความพยายามจะแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อปลดล็อคทางการเมือง

ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างชัดเจนว่า หลายฝ่ายในสังคมไทยเห็นตรงกันว่าต้องแก้ไข เพียงแต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าจะมีกระบวนการแก้ไขอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำเสียงข้างมากของรัฐสภาปัจจุบัน (และอีกนัยหนึ่งก็คือฝ่ายที่โดนกระทำจากรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับนี้) กำลังพยายามผลักดันกระบวนการตั้ง ส.ส.ร.3 อย่างเต็มที่ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เอง (ในฐานะฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้) ก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจังมากนัก และจริงๆ แล้วพรรคประชาธิปัตย์เองด้วยซ้ำที่เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ไปครั้งหนึ่งแล้วในช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์

แต่ ประเด็นเรื่องคดีของ คตส. ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ (ในฐานะชนวนขัดแย้งตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร) โดยตรง ในทางกฎหมาย คดีตัดสินไปแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในเรื่องที่ดินรัชดาฯ แต่ในทางปฏิบัติ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอมรับผลของคดีนี้และเดินทางหลบหนีไปอาศัยในต่างประเทศ

จุดที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับ คดี คตส. นำมาคัดค้านก็คือ “กระบวนการ” ของ คตส. นั้นไม่ชอบธรรม นับตั้งแต่การแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร, สมาชิกของ คตส. ที่เต็มไปด้วยศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณ, ข้อหาความผิดเรื่องที่ดิน ไปจนการพิจารณาคดีของตุลาการ ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก เพราะตามหลักการด้านยุติธรรมสากล “กระบวนการ” จำเป็นต้องชอบธรรมก่อน จึงจะสามารถพิจารณาตัดสินความถูกผิดได้
“ความไม่ชอบธรรม” เหล่านี้ยังถือเป็นชนวนเหตุสำคัญประการหนึ่งที่กลุ่มคนเสื้อแดงนัดมาชุมนุม จนเกิดความไม่สงบกลางกรุงเทพมหานครทั้งในปี 2552 และ 2553 ความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้ก็กลายเป็น

ปัญหาเรื้อรังที่ยังกัดกร่อนการพัฒนาสังคมไทยมาในรอบ 5 ปีหลัง
การสร้างกระบวนการปรองดองขึ้นมาในสังคมไทยที่แตกร้าว จำเป็นต้อง “ปลดล็อค” ชนวนเหล่านี้ เพื่อให้สภาพสังคมกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ ไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบเสียก่อน จากนั้นการเจรจาจึงจะเกิดขึ้นได้

คดีอาญาของ คตส. ก็ถือเป็นหนึ่งในชนวนความขัดแย้งที่ว่า เหตุเพราะที่มาของกระบวนการนั้นไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีหรือไม่มีความผิด แต่กระบวนการพิจารณาคดีนั้นยังไม่ถูกต้อง ควรจะกลับไปแก้ไขให้ถูกต้องกันก่อน

น้ำหนักของ คตส. ลดน้อยลงมากในรอบปีหลังๆ และเมื่อ พล.อ.สนธิ ในฐานะอดีตประธาน คมช. สนับสนุนข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่ให้ยกเลิกกระบวนการและคดีความของ คตส. เสียเอง ยิ่งทำให้น้ำหนักของคดี คตส. น้อยเข้าไปอีก

การปกป้องคดีอาญาของ คตส. โดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่มีประโยชน์อะไรในทางการเมือง ทั้งต่อประเทศไทย และต่อพรรคประชาธิปัตย์เองด้วย

สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำ ก็คือ หยุดสนับสนุนคดีอาญาของ คตส. และเสนอให้สร้างกระบวนการพิจารณาความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เสียใหม่ ที่ถูกต้องตามหลักการยุติธรรมสากล โดยมีคนไทยทั้งประเทศ ฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน

ไม่ว่าข้อเสนอนี้จะเกิดขึ้นได้สำเร็จหรือไม่ ก็จะไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ว่ารับใช้เผด็จการ เกาะกุมผลประโยชน์จากคณะรัฐประหาร เพราะที่มาของกระบวนการยุติธรรมใหม่ ไม่มีจุดอ่อนให้โจมตีแบบเดียวกับ คตส. อีก

เสียงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เดิมก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะยังยืนอยู่บนจุดยืนดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับคดีของ คตส. ด้วยซ้ำ
เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีและชื่อเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพัฒนาตัวเองเป็นฝ่ายค้านที่ประชาชนคนไทยพึ่งพิงได้ และเพื่อความปรองดองของคนในชาติ พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือกอื่นให้เลือกเดินแล้ว ขอเพียงแค่ต้องรู้ตัวว่าต้องทำอะไรเท่านั้น!!!

ที่มา.Siam Intelligence Unit
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น