เชื่อว่าเรื่องวุ่นๆ ภายในตลาดนัดจตุจักรน่าจะมีความคืบหน้าหรือได้ข้อยุติกันไปบ้างในบางประเด็น หลังจากก่อนหน้านี้มีเรื่องราวที่ทำให้ใครต่อใครที่เข้าไปข้องแวะเป็นต้องได้ปวดกบาล จนแทบจะควานหาพาราเซตามอลเพื่อใช้บรรเทาอาการไม่ทัน เพราะปัญหาตลาดนัดจตุจักรในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีมากมายเหลือเกิน ในทางกลับกันก็ต้องยอมรับว่าตลาดนัดแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งทำกินที่สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับใครต่อใครหลายคน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอัตราค่าเช่าแผงค้าที่ทางการรถไฟฯ (ร.ฟ.ท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้ประกาศเคาะราคาก่อนหน้านี้ถึงได้สูงปรี๊ด จนทำให้บรรดากลุ่มผู้ค้าต้องออกมาประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วย กระทั่งทางการรถไฟฯ ต้องรีบถอยเพื่อกลับไปสู่กระบวนการเจรจากันอีกรอบ
ลองย้อนกลับไปดูเรื่องของอัตราค่าเช่าแผงค้ารวมค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางที่ถูกกำหนดขึ้นโดยการรถไฟฯก่อนหน้านี้สักนิดว่าทำไมกลุ่มผู้ค้าถึงบอกรับไม่ได้ โดยอัตราค่าเช่าระบุไว้เดือนละ 3,157 บาท ค่าธรรมเนียมอีก 50,000 บาท ระยะเวลาในสัญญาเช่า 5 ปี ซึ่งหากคิดคำนวณจากสูตรตามที่ได้กล่าวในข้างต้นด้วยจำนวนแผงค้าที่มีอยู่ทั้งหมดจำนวน 8,875 แผง ต้องยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่สร้างความตื่นตระหนกตกใจกันพอสมควร เพราะลำพังแค่ปีเดียวจะมีเงินไหลเข้าสู่ร.ฟ.ท.จากอัตราค่าเช่าแผงค้าประมาณ 186 ล้านบาท และถ้าคิดแบบเบ็ดเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะเติมเต็มสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ เฉียด 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เรียกว่าแค่ลำพังแผงค้าเพียงอย่างเดียวยังสามารถสร้างรายได้ให้การรถไฟฯ ได้ เป็นกอบเป็นกำ และถ้ารวมตัวเลขที่เกิดจากรายได้จิปาถะอื่นๆ รับรองได้ว่าจะทำให้ ร.ฟ.ท.มีความศักดิ์สิทธิ์และมีเสียงดังมากขึ้น กระทั่งเชื่อว่าจะทำให้เป็นที่ยำเกรงของใครต่อใคร
หันไปดูเรื่องของรายได้อื่นๆ กันบ้างจากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จากการตรวจสอบของ “สยามธุรกิจ” เฉพาะแค่ปี 2553 เพียงปีเดียวจากตัวเลขที่จัดเก็บโดยกทม. จะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย เช่น ค่าปรับการกระทำผิดระเบียบของแผงค้า จำนวน 2.88 แสนบาท, ค่าตั้งวางสินค้า 2.6 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมการจำหน่ายสินค้า วันพุธ-ศุกร์ 65 บาท/แผง/วัน จำนวน 1 ล้านบาท, ค่าใช้ซุ้มจำหน่ายเครื่องดื่มจำนวน 7.3 แสนบาท, ค่าซุ้มหนังสือ 500 บ./แผง/เดือนจำนวน 3.4 แสนบาท, ค่าสถานที่ติดตั้งร่มเช่า จำนวน 1.1 แสนบาทค่าตั้งวางสินค้าริมรั้วจำนวน 4.7 แสนบาท, ค่าธรรมเนียม ใช้สถานที่ จำนวน 1.2 ล้านบาท, ตลาดนัดประเภทผู้ค้าส่ง 6.15 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมบริการรถเข็นน้ำ จำนวน 3.8 แสนบาท, ค่าธรรมเนียมรถเข็นไอศกรีมจำนวน 2.4 แสนบาท, ค่าธรรมเนียมรถเข็นสินค้า จำนวน 5.95 แสนบาท, ค่าธรรมเนียมรถเข็นผลไม้ จำนวน 2.01 แสนบาท, ค่าธรรมเนียมรถเข็นทั่วไป, รถเข็นบริการ 9.6 หมื่นบาท, ค่าปรับค่าเช่าสถานที่เพิ่มจำนวน 5.4 ล้านบาท, ค่าปรับริมรางสาธารณะ, ริมรั้วจำนวน 4.1 ล้านบาท
ตามไปดูกันต่อกับเรื่องของค่าธรรมเนียมและค่าปรับจากการตรวจสอบมีตัวเลขที่น่าสนใจหลายๆ รายการ เช่น การโอนแผงค้าจำนวน 1.9 ล้านบาท , ค่าธรรมเนียมทะเบียนแผงค้าจำนวน 8.8 แสนบาท, ค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงประเภทสินค้า จำนวน 7.2 แสนบาท, ค่าจอดรถ + ค่าปรับจำนวน 7.2 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของค่าเช่าและค่าธรรมเนียมการใช้สถานที่ของธนาคาร, หน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน 1.7 แสนบาท, ธนาคารกรุงเทพจำนวน 5.02 แสนบาท, ธนาคารทหารไทย จำนวน 4.5 แสนบาท, บริษัท ทีโอที จำกัด จำนวน 2.6 แสนบาท, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำนวน 7.8 แสนบาท, ร้านค้าในโครงการแม่ฟ้าหลวง + ซุ้มโครงการหลวง จำนวน 4.05 แสนบาท, สุขาสาธารณะ (ประมูล) จำนวน 4.3 ล้านบาท, ป้ายข่าวสาร จำนวน 2.3 แสนบาท นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของค่าติดตั้งตู้เอทีเอ็ม รวมถึงค่าบำรุงตลอดอายุสัญญาค่าใช้พื้นที่บางส่วนของธนาคารต่างๆ
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อดูจากตัวเลขรายได้ที่จะเกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ดูเหมือนว่าทางร.ฟ.ท.ได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับในเรื่องเหล่านี้ไว้แล้วเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของ นายจรัสพันธ์ วัชโรทัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร ที่ระบุว่านอกจากรายได้แผงค้าตลาดนัดสวน จตุจักรที่การรถไฟฯ จะได้แล้ว ยังมีการให้เช่าพื้นที่ เชิงพาณิชย์ ค่าโฆษณา ซึ่งในปัจจุบันมีการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ กว่า 20 จุด ภายในพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร โดยที่ผ่านมารายได้จากการที่ให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ 50,000-60,000 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับ นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะ ประธานคณะทำงานบริหารพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร ที่ออกมากล่าวว่าร.ฟ.ท.ได้มีการว่าจ้าง ม.ธรรมศาสตร์ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากิจการตลาดนัดจตุจักรทั้งหมด เพื่อทำให้ตลาดเป็นที่น่าสนใจและเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในตลาด รวมทั้งจะศึกษาทิศทางการพัฒนาตลาดนัดจตุจักรให้เป็นจตุจักรไนท์พลาซ่าด้วย คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนมี.ค.นี้
“การเปลี่ยนแปลงอะไรที่กระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าภายในตลาดนัดจตุจักร การรถไฟฯ จะต้องศึกษาและสอบถามความคิดเห็นของพวกเขาก่อน เรื่องทำตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดค้าขายกลางคืน หรือตลาดไนท์พลาซ่า ซึ่งเป็นการพลิกโฉมจากตลาดปกติ เราก็ต้องสอบ ถามด้วย ซึ่งขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น” นายประเสริฐ กล่าว
ตัวเลขรายได้ตามที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนบางตอนที่พึงจะเกิดขึ้นสำหรับการบริหารตลาดนัดจตุจักรนอกเหนือจากรายได้ในส่วนของค่าเช่าแผงค้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าลำพังการจัดเก็บรายได้โดยกทม.อาจจะมีในเรื่องของข้อจำกัดอยู่บ้างโดยเฉพาะการมุ่งแสวงหากำไรในเชิงธุรกิจแบบเต็มตัว เหมือนเช่นบริษัทเอกชนต่างๆ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมือบริหารจากกทม.มาเป็นการรถไฟฯ แทน ขณะเดียวกันเมื่อดูจากตัวเลขตามที่ได้มีการประกาศอัตราค่าเช่าไว้ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าตัวเลขรายได้อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารก็น่าจะมีการขยับเป็นเงาตามตัวอย่างแน่นอน ซึ่งพอจะสะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าทำไมตลาดนัดแห่งนี้ถึงเป็นที่หมายปองสำหรับใครต่อใครในการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินผืนงามผืนนี้
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น