หากมีการศึกษาถึงทัศนคติและระบบแนวคิดระหว่างไทยและลาว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงงานลาวที่มีต่อคนไทยได้จะนำไปสู่มุมมองมิติทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยได้ ขณะเดียวกันยังสามารถนำไปสู่ตัวแปลที่จะสร้างกลไกในการดำเนินการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากกลไกของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินความสัมพันธ์ผ่านนโยบายต่างประเทศเพียงอย่างเดียว
ดังนั้น เพื่อมองให้เห็นถึงภาพมุมมองเดียวกัน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "จากอุษาคเนย์ถึงแดนอาทิตย์อุทัย สถานะของชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติในศักราชใหม่"
"อดิศร เสมแย้ม" นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัยหัวข้อ "ลาวมองไทย เปิดโลกทัศน์แรงงานข้ามชาติ" ได้เปิดมุมมองเรื่องนี้ไว้ว่า เหตุที่เลือกทำงานวิจัยเรื่องทัศนคติของแรงงานลาวที่มีต่อคนไทยนั้น สืบเนื่องมาจากยังไม่ค่อยมีการศึกษาในเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคประชาชน ซึ่งเชื่อว่าสื่อยังคงมีบทบาทในการติดต่อและสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสังคมสมัยใหม่ที่เป็นสังคมข่าวสารและโลกไร้พรมแดนอยู่ ซึ่งรัฐไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนได้ว่ามีมุมมอง การรับรู้ และความเข้าใจต่อไทยอย่างไรบ้าง
"ผมจึงเริ่มทำวิจัยโดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์ในบริเวณพื้นที่ชายแดนของไทย ทั้งส่วนของแรงงานที่ได้รับใบอนุญาตผ่อนผันทำงานและแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย พบว่า การที่สื่อไทยสามารถสร้างแรงดึงดูดได้มากกว่าสื่อลาว ซึ่งถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ทางการเมือง และความได้เปรียบในเรื่องภาษา ที่มีความเข้าใจภาษาลาวมากกว่าภาษาอื่น ประกอบกับการที่รัฐบาลลาวไม่มีนโยบายในการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงสื่อต่างประเทศ ทำให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับไทยได้อีกช่องทางหนึ่ง"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการได้รับสื่อโทรทัศน์ของไทยทุกวัน นั่นจึงเป็นผลสืบเนื่องที่ทำให้ชาวลาวชอบประเทศไทยมากที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง "อดิศร" บอกว่า เรายังพบปัญหาแรงงานในประเทศลาวว่าค่าจ้างแรงงานของลาวค่อนข้างต่ำและมักไม่มีงานทำหลังจากการเก็บเกี่ยว นั่นจึงส่งผลกระทบเกิดภาวะการว่างงานของลาว ดังนั้นการหางานทำในประเทศของตนจึงเป็นไปได้ยาก
"นั่นจึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า แรงงานลาวนึกถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของไทยเป็นสำคัญ เพราะยังคงมองว่าไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่จะทำให้เขามีคุณภาพที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจไทยยังมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว ทั้งยังเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เป็นแหล่งงานของภูมิภาค จึงเป็นเหตุผลทำให้แรงงานลาวตัดสินใจอยากมาทำงานในประเทศไทยอยู่"
แต่ในทางตรงกันข้าม ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แรงงานลาวรู้สึกไม่ชอบประเทศไทยอย่างมากนั่นก็คือ การที่คนไทยมักดูถูกคนลาวมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่ไปประสบพบเจอมา
"อดิศร" ยอมรับว่า จากการวิจัยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มักไม่พบการสำรวจในเชิงของทัศนคติปลายเปิดจากแรงงานมากนัก เพราะส่วนใหญ่เน้นหนักไปในเรื่องการศึกษาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็กเสียมากกว่า
แล้วโดยส่วนตัวเขามองว่า ยิ่งในยุคสมัยใหม่ที่การมองให้เห็นถึงเชิงทัศนคติเป็นส่วนที่จำเป็นมาก เพราะเราจะได้ทราบถึงทัศนคติที่มีอยู่ของแต่ละบุคคล เพื่อจะได้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสมัยใหม่ได้ด้วย
"สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ลองทบทวนดู ในฐานะที่เป็นภาคประชาชนคนหนึ่ง สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีของ 2 ประเทศ ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้ในอนาคต"
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการสร้างการเดินหน้าสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนร่วมกันของทั้งแรงงานชาวลาวและแรงงานอีกหลายเชื้อชาติในภูมิภาคนี้
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น