สหรัฐหวนกลับมาให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ในเอเชียอีกครั้งท่ามกลางความไม่พอใจของจีน และเพิ่มความหวาดระแวงเกี่ยวกับอิทธิพลสหรัฐแก่บางชาติ
ประธานาธิบดีโอบามา ประกาศอย่างชัดเจนว่า การรักษาบทบาทผู้นำทางการทหารในเอเชียตะวันออก จะยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับแรกของสหรัฐ ในช่วงที่จีนทุ่มเงินมหาศาลในการเสริมสร้างเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพ ซึ่งทางเดียวที่จะคานอำนาจจีนได้ ก็คือการเพิ่มกำลังทหารในเอเชียให้มากถึง 1 แสนนาย
ทั้งนี้ กำลังพลในปัจจุบันของสหรัฐในเอเชีย ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐมีฐานทัพ 23 แห่ง มีกำลังพลราว 47,000 นาย และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ประธานาธิบดีโอบามา เพิ่งจะลงนามในคำสั่งพิเศษ เพื่อให้ทหารญี่ปุ่น 2,500 นาย จากกองกำลังป้องกันตนเอง เข้าไปประจำการบนแผ่นดินสหรัฐ และยังได้รับไฟเขียวให้ใช้กำลังได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของญี่ปุ่นบนแผ่นดินสหรัฐอีกด้วย
เกาหลีใต้ มีกำลังพลรวม 29,000 นาย แต่ต่อมาได้มีการตกลงกันว่า จะลดจำนวนลงให้เหลือ 28,500 นาย ฮาวาย มีกำลังพลจำนวน 42,360 นาย ส่วนฟิลิปปินส์นั้น สหรัฐเคยมีฐานทัพอยู่ในฟิลิปปินส์ แต่ในปี 2535 สหรัฐต้องย้ายฐานทัพออก หลังจากวุฒิสภาฟิลิปปินส์โหวตให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากประเทศอย่างถาวร และปัจจุบัน สหรัฐขอใช้อดีตฐานทัพ สำหรับเป็นจุดเติมน้ำมันเครื่องบินและเรือรบเท่านั้น
สหรัฐ มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ ประเดิมด้วยการเตรียมส่งนาวิกโยธิน 2,500 นาย ไปประจำการที่เมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย และประชิดกับดินแดนของอินโดนีเซีย ระหว่างปี 2559 ถึง 2560 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีน ที่มองว่า สหรัฐกำลังเตรียมขยาย อิทธิพลเข้าไปคุมทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ สหรัฐยังเตรียมส่งเรือรบสำหรับปฏิบัติการเขตน้ำตื้นไปยังสิงคโปร์ เพื่อช่วยให้กองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก สามารถสับเปลี่ยนกำลังจากที่ตั้งต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้น
สหรัฐ กับญี่ปุ่นเห็นชอบร่วมกัน ที่จะเคลื่อนย้ายกำลังพลนาวิกโยธินสหรัฐ ที่ประจำการอยู่ในฐานทัพสหรัฐ บนเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นจำนวน 4,700 นาย ไปประจำการที่ฐานทัพบนเกาะกวมแทน หลังจากเคยตกลงกันไว้ว่าจะเคลื่อนย้ายกำลังพล จากเกาะโอกินาวาไปยังเกาะกวม มากถึง 8,000 นาย รวมทั้ง ย้ายฐานที่ตั้งของฐานทัพอากาศสหรัฐบนเกาะโอกินาวาด้วย
นอกจากนี้ การถูกต่อต้านจากชาวโอกินาวา และแรงกดดันจากการเมืองภายในของญี่ปุ่น ทำให้สหรัฐ เตรียมจะย้ายกำลังพลอีก 3,300 นาย ไปยังฐานทัพอื่น ๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฮาวาย หรือออสเตรเลีย
ทั้งนี้ ทหารหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐชุดแรกเกือบ 250 นายจากเกือบ 2,500 นายจะเดินทางไปประจำการที่ออสเตรเลียในเดือนหน้า โดยไปประจำการที่เมืองดาร์วิน ตามแผนการของนายโอบามา ที่ประกาศไว้ระหว่างเยือนออสเตรเลีย เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะส่งกำลังทหารเกือบ 2,500 นาย พร้อมด้วยเครื่องบินรบและเรือรบ ไปประจำการในรัฐนอร์ธเทิร์น เทอร์ริทอรี่ของออสเตรเลียภายในปี 2559
เนื่องจากสหรัฐ ไม่ได้มีฐานทัพในแผ่นดินออสเตรเลีย นาวิกโยธินชุดแรกจะถูกส่งไปประจำที่ค่ายทหารโรเบิร์ตสัน ของกองทัพออสเตรเลีย เพื่อฝึกอบรมและซ้อมรบ โดยจะมีการผลัดเปลี่ยนทหารสหรัฐทุก 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของสหรัฐที่ส่งทหารไปยังออสเตรเลียครั้งนี้ สร้างความกังวลแก่ชาติเพื่อนบ้านในเอเชีย ที่มองว่าสหรัฐ กำลังส่งสัญญาณว่าต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตนในภูมิภาคนี้ หลังจากจีน ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว นายมาร์ตี้ นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย บอกว่า การประจำการของนาวิกโยธินสหรัฐ ในออสเตรเลียเป็นสิ่งที่ควรมีการชี้แจงแก่ชาติต่างๆในเอเชียทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่า ความคิดที่จะตั้งฐานประจำการเรือรบหลายลำในสิงคโปร์ กำลังอาจจะต่อยอดไปยังฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย แต่ติดอุปสรรคด้านงบประมาณ แต่ตามแผนการที่วางเอาไว้ ในปี 2568 สหรัฐจะประจำการเรือรบชายฝั่ง (littoral combat ship) หลายลำในสิงคโปร์ และอาจส่งอากาศยาน เช่น เครื่องบินพี-8เอ โพไซดอน ซึ่งกำลังพัฒนาเพื่อใช้ในการติดตามเรือดำน้ำ ไปประจำการยังประเทศพันธมิตรตามสนธิสัญญาอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ และไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐ ไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการเงิน และการทูตของฐานทัพหลักใหม่ ๆในต่างประเทศได้ ดังนั้น กองเรือรุ่นใหม่ในปี 2568 จึงจำเป็นต้องพึ่งพาท่าเรือของประเทศเจ้าถิ่นและสถานที่อื่น ๆ ที่เรือ เครื่องบิน และลูกเรือของสหรัฐ สามารถเติมเชื้อเพลิง แวะพัก ซ่อมบำรุงได้
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น