--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

เมาค้าง !!?

คะแนน 399 ต่อ 199 เสียง ของที่ประชุมรัฐสภาที่เห็นชอบในวาระแรกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ แม้จะเป็นเพียงกระบวนการสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มสลิ่มที่เป็นขาประจำ ออกอาการเป็น “เจ้าเข้า” ต้องออกมาปลุกกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างจริงจัง และอาจกลับมา “สุมหัว” กันสู้อีกครั้ง

อย่างที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุ-ราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอนหนึ่ง ในการสัมมนาพรรคที่หาดใหญ่ว่า ตนฝันร้ายมาตลอด เพราะไม่รู้ว่าหากพวกเสื้อแดง (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช.) คุมประเทศได้อะไรจะเกิดขึ้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้อง “สุมหัว” กันปกป้องประเทศ

ก้าวไม่พ้น “ทักษิณ”

นายสุเทพกล่าวว่า หนักใจหากเรายังไม่ตระหนักว่าประเทศกำลังมีวิกฤต กำลังจะเกิดเหตุร้ายขึ้นในประเทศ และถือว่าประมาทโดยสิ้นเชิง เพราะวิกฤตประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งพรรคการเมืองและเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เพราะไม่ได้เดินมาในแนวทางประชาธิปไตยปรกติ พ.ต.ท.ทักษิณใช้ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาจากการรับสัมปทานผูกขาดจากรัฐในยุคเผด็จการมาเป็นทุนตั้งพรรคการเมือง ซื้อนักการเมืองจนมีอำนาจรัฐและได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯถือว่าตัวเลขที่ออกมาพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณและเครือข่ายมั่นใจว่าทุกอย่างอยู่ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว ซึ่งเป็น “พิธีกรรม” ประชาธิปไตยสำหรับการ “รัฐประหาร” ฉีกรัฐธรรมนูญรูปแบบใหม่

เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิปรายยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 และยกร่างใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมีวาระแอบแฝง

แม้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่นายอภิสิทธิ์ก็ต้องการให้กำหนดไว้ชัดเจนในการแปรญัตติ เช่นเดียวกับต้องไม่ทำให้ความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐลดลง และต้องไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกใช้ไปในลักษณะของการนิรโทษกรรมเพื่อล้มล้างคำพิพากษาของศาลไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ

“สลิ่ม” ประสานเสียง “พันธมิตรฯ”

ขณะที่กลุ่มสยามสามัคคีได้นัดรวมตัวกันในวันที่ 2 มีนาคมนี้ เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย โดยมีนักวิชาการ “ขาประจำ” มาร่วมอภิปราย อาทิ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายเสรี วงศ์มณฑา นายแก้วสรร อติโพธิ และนายบรรเจิด สิงคะเนติ แกนนำกลุ่มสยามสามัคคี

นายประสาร มฤคพิทักษ์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มสยามสามัคคี ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการเรียกแขกที่เคยกระจัดกระจายให้กลับมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯที่หมายรวมถึงประชาชนที่รักความเป็นธรรมและจงรักภักดีต่อในหลวงจะออกมาเคลื่อนไหว กลุ่มพลังประชาธิปไตยต่างๆจะยกระดับการต่อสู้เป็นการผนึกกำลังเป็นแนวร่วมใหญ่ต้านยันระบอบเผด็จการเสียงข้างมากของทุนนิยมสามานย์ ขณะที่ ส.ส.ร. ในกำกับของพรรคเพื่อไทยจะเป็นจำอวดการเมืองที่ไร้ความไว้วางใจจากประชาชน

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการบั่นทอนกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง เพราะมันเป็นการฟอกขาวให้นักโทษจำคุกที่ไม่สำนึกและไม่ยอมรับโทษทัณฑ์ใดๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยจะยอมไม่ได้ และถ้ายังใช้อำนาจแบบย่ามใจ ใช้เสียงข้างมากสามานย์อย่างซ้ำซาก สุดท้ายจะกลายเป็นความแค้นเคืองสะสมของประชาชนที่เครือข่ายทักษิณต้องจ่ายคืนอย่างบอบช้ำกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา”

ขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มพันธมิตรฯได้ออกแถลงการณ์พร้อมจะชุมนุมใหญ่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยจะประชุมในวันที่ 10 มีนาคม เพราะถือว่าเป็นแค่นิติกรรมอำพรางเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ และเปิดทางให้ทุนสามานย์ยึดอำนาจประเทศ รวมถึงลบล้างความผิดในอดีต พร้อมกระชับอำนาจให้เจ้าของพรรค การเมือง ซึ่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงพิสูจน์ชัดว่าการเมืองไทยโดยนักการเมืองไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตามล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะส่วนใหญ่เป็นคนที่บัดซบ ไม่ได้รักชาติ รักประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นการตั้ง ส.ส.ร. จึงเป็นการพิสูจน์ชัดเจนว่าทุกอย่างทำเพื่อพวกเขา ทำเพื่อหัวหน้าพวกเขา ทำเพื่อเจ้าของพรรค ไม่ว่าพรรคใดก็เหมือนกันไม่มีผิด เพียงแต่ว่าบางพรรคปล้นกลางแดด บางพรรคใส่เสื้อนอกปล้น แต่สรุปแล้วคือปล้นคนไทยนั่นเอง

ส่วนนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ผ่านการลงประชามติกว่า 14 ล้านเสียง จึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ-บาลพรรคเพื่อไทยเลย เพราะฉะนั้นเหตุผลที่จะแก้รัฐธรรมนูญมีประการเดียวคือ เพื่อจะแทรกการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และจัดโครงสร้างทางอำนาจใหม่ให้กระชับและรับใช้นักการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและกลุ่มทุนของพรรคเพื่อไทยที่อยู่รอบตัว พ.ต.ท.ทักษิณ

แก้เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย

การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มสยามสา-มัคคี กลุ่มเสื้อหลากสี หรือพันธมิตรฯ ไม่สามารถใช้วาทกรรม “ความจงรักภักดี” มาโจมตีได้อย่างที่ผ่านมา เพราะพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลรู้ดีว่าเป็นประเด็นร้อนที่แตะต้องไม่ได้ แม้ แต่มาตรา 112 ก็ตาม จึงประกาศยืนยันมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์โดยเด็ดขาด

แต่ยังมีความพยายามโยงให้สถาบันเกี่ยว ข้องให้ได้ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่ให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องระบุไว้ในการแปรญัตติชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขใดๆในหมวดพระมหากษัตริย์ หรือนายสนธิที่อ้างว่าพันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวเพราะมีความจงรักภักดี

ดังนั้น ทุกกลุ่มที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้อง “จินตนาการ” ว่าพรรคเพื่อไทยมีวาระแอบแฝงเพื่อกระชับอำนาจให้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่เป็นเรื่องปรกติของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ทุกพรรคก็ต้องการได้ ส.ส. มากที่สุด เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากที่สุด แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎกติกา ไม่ใช่ซื้อเสียงหรือปล้นจี้เขามาอย่างบางพรรค

ประเด็น พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศนั้น พรรค เพื่อไทยเองไม่ได้ปฏิเสธ เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ประกาศมาโดยตลอดว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศให้ได้ แต่จะเป็นการนิรโทษกรรมหรือ พ.ร.บ.ปรองดองก็ตาม ก็ไม่ใช่การใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมหรืออำนาจเผด็จการอย่างการทำรัฐประหาร

แม้แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังให้ความเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวิดีโอลิ้งค์มายังเวทีคอนเสิร์ต “การหยุดรัฐประหารเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ” ที่จัดโดย นปช. เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องของประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล

“ทำไมต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเนื่องจากการไม่เป็นประชาธิปไตย การไม่มีความยุติธรรม การที่ผู้รักษากติกาขาดความยุติธรรมทำให้บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย แล้วมีเรื่องบาดหมาง ทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกกันเพราะความไม่มียุติธรรมนั่นเองนะครับ ถ้าทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองอย่างยุติธรรมนะครับ ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นกลางบ้านเมืองจะไม่เป็นอย่างนี้ บ้านเมืองเป็นอย่างนี้เพราะหลายฝ่ายได้เลือกข้างโดยไม่คำนึงถึงกติกาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรามั่นใจว่าถ้าเป็นของประชาชน ทุกอย่างจะเป็นกติกาที่เป็นกลางและเป็นธรรม บ้านเมืองจะได้กลับสู่ภาวะปรกติ ผมไปเห็นแต่ละประเทศมาแล้ว ผมบอกได้เลยว่าศักยภาพประเทศไทยนั้น ถ้าเป็นประชาธิปไตยและทุกอย่างเป็นธรรมจะทำให้ประเทศรุ่งเรืองขนาดไหน”

รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย

จึงไม่แปลกที่โพลสำรวจความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเพิ่มอำนาจให้ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองมากขึ้น แม้บางส่วนวิตกว่าจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง เพราะแต่ละฝ่ายมุ่งแต่จะเอาชนะคะคานเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าประเทศชาติและประชาชน เช่นเดียวกับความขัดแย้งกว่า 5 ปีที่ผ่านมาที่ไม่มีใครต้องการรัฐประหาร และต้องการให้ประเทศไทยเลิกฉีกรัฐธรรมนูญ

ด้านนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี 2540 หวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายหรือถาวรจริงๆ เพราะ 18 ฉบับมากเกินไปแล้ว ถ้ายังมีการแก้ไขและกลับมาสู่วงจรอุบาทว์อีก คำว่า “ล่มสลายของรัฐ” คงไม่ไกลเกินจริง

นายคณินยังระบุว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ส.ส.ร. จึงต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม กระบวนการ ยกร่างต้องเป็นประชาธิปไตยและเป็นอิสระจากระบบราชการ หรือแม้กระทั่งระบบศาล

ขณะที่นายเดโช สวนานนท์ อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 ตั้งคำถามว่า ส.ส.ร. ครั้งนี้ควรจะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ เพราะประเทศไทยถือว่ามีรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก เนื่องจากประเทศไทยปฏิวัติมาหลายครั้ง ส.ส.ร.ชุดใหม่จึงต้องไปเขียนและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรอย่างไร

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.ร. ปี 2540 ตั้งข้อสังเกตว่า รู้สึกแปลกใจที่พูดกันถึงหมวด 1-2 เพราะโดยปรกติผู้ร่างไม่ว่าชุดไหนก็ตามไม่มีใครคิดจะแก้ไขอยู่แล้ว การอภิปรายในสภาก็มีมาก จึงไม่คิดว่าสภากลัวมีการแก้ไข แต่ต้องการใช้มาปรักปรำคนอื่นมากกว่า เป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ประเทศชาติ ศาล และองค์กรอิสระที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่ต้องตรวจสอบซึ่งกันและกัน โดยศาลและองค์กรอิสระ รัฐสภาและรัฐบาล ต้องมีกลไกในการตรวจสอบ หากไม่ดุลและคานเป็นไปไม่ได้เลย แต่ที่เป็นปัญหาเพราะที่มาขององค์กรอิสระไม่มีจุดยึดโยงจากประชาชน จึงทำให้เกิดปัญหา “ผลัดกันเกาหลัง” ระหว่างองค์กรอิสระกับศาล ผู้อยู่ในองค์กร อิสระจึงต้องไปหาจุดว่าที่มาควรจะเป็นอย่างไร

“ส.ส.ร.ชุดใหม่นี้มาจากการเลือกตั้งโดย ตรงของประชาชน ใครจะมาบอกว่าไม่เชื่อถือ เพราะเกรงว่าจะมีพรรคการเมืองครอบงำ ผมคิดว่าท่านคงไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไหนพัฒนาแล้วเขาก็เชื่อถือประชาชน เพราะฉะนั้นข้ออ้างดังกล่าวผมคิดว่าไม่มีเหตุผล และขัดกับหลักการประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะคิดกันได้ ขณะเดียวกันก็ได้เห็นข้ออ้างที่ฟังแล้วขัดในตัว เช่น ถ้ามีสภาร่างแล้วจะเป็นการให้เช็คเปล่า ขณะเดียวกันถ้าให้ ส.ส. หรือ ส.ว. แก้กันเองก็บอกว่าจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สองอย่างที่พูดมาดูเหมือนว่าจะไปทางไหนไม่ได้”

เมาค้าง-เมาอำนาจ

เห็นได้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มสยามสามัคคี กลุ่มเสื้อหลากสี และพันธมิตรฯครั้งนี้ไม่ได้นำเหตุผลในเรื่องของหลักนิติรัฐ นิติธรรม และประชาธิปไตยมาต่อสู้เลย แม้แต่ประเด็นมาตรา 112 ก็ปิดประตูตาย หลังจากพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชิงประกาศว่าไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์และมาตรา 112 อย่างเด็ดขาดเพื่อตัดเกมก่อน เพราะรู้ดีว่าเป็น การ “ชิงสุกก่อนห่าม”

พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มที่ต่อต้านจึงต้องพุ่งเป้ามาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และพยายาม “จินตนาการ” ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีวาระแอบแฝง เพื่อยึดโยงให้เกี่ยวข้องกับสถาบันให้มากที่สุด ซึ่งไม่ต่างกับอาการ “เมาค้าง” จากการ เสพติด “อำนาจ” ซึ่งเคยสุมหัวกันปล้นจี้โค่นล้มพรรคเพื่อไทยและยุบพรรคพลังประชาชน

อาการ “เมาค้าง” และ “เมาอำนาจ” จึงอันตรายยิ่งกว่า “เมาเหล้า” หรือ “เมารัก” เพราะ “น้ำอมฤตแห่งอำนาจ” นอกจากจะทำให้คนไม่เป็นคนแล้ว ยังไม่เกรงกลัวหรือละอายต่อบาป แม้แต่การเป็น “ฆาตกรฆ่าคน” ได้อย่างเลือดเย็นและอำมหิต

ขณะที่การดื่มเหล้าและเมามีคำเตือนว่า “ดื่มเหล้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพตัวเอง” แต่ “เมาอำนาจ” สามารถทำลายบ้านเมืองให้หายนะได้ในชั่วพริบตา อย่างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมากว่า 5 ปี ประเทศไทยวันนี้ยังถูกประณามและจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเผด็จการล้าหลัง เพราะพวก “เมาค้าง” จากการเสพติด “อำนาจ”

เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่รู้จะยกเหตุผลอะไรมาต่อต้าน จึงต้องออกมาปลุกกระแสขับไล่ “ทักษิณ” ออกไปอีกครั้ง ทั้งที่วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณก็มิได้อยู่ในประเทศไทย และคงรู้ตัวดีว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบกลับ อีกทั้งยังทำตัว เป็นทูตพิเศษ เดินทางไปพบปะผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่ต่างอะไรกับนายกรัฐมนตรีตัวจริง

ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ สลิ่ม และพันธมิตรฯยัง “ดื้อ ดึง ดัน” จะไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนี้คงต้อง ไล่ให้ไปอยู่ดาวอังคารแล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น