--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

มาตรฐานการตรวจสอบบิดเบี้ยว: ต่อปากต่อคำ โดย ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ !!?

 
กลายเป็นปัญหาให้ทั้งน่าขำและน่าขื่นขมอย่างเหลือประมาณสำหรับบทสรุปการร้องทักท้วงของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อกรณีความไม่ชัดเจนในหลักเกณฑ์การรับรองสิทธิผู้สมัครเข้าสรรหาเป็น “วุฒิสมาชิก (สว.สรรหา)” กระทั่งนายสัก กอแสงเรือง อดีตนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทยต้องกระเด็นหลุดจากเก้าอี้

เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะความเก่งกาจ หรือแหลมคมของใคร เพราะ “กฎ กติกา เขียนไว้ชัดเจน” สรุปง่ายๆ เหมือนดังที่ “กกต.ได้วินิจฉัยมาในทำนองว่า คุณสัก ในฐานะผู้ชำนาญการและรอบรู้เรื่องกฎหมาย เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดจึงมีการพ่วงโทษอาญาเข้าไปด้วย” แต่ช้าก่อนครับ “ถ้ามองว่า คุณสักเป็นผู้รอบรู้กฎหมาย แล้วทั้งกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยบุคคลสำคัญเบอร์ต้นๆ ของประเทศ ดูได้ในมาตรา 113 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้แก่ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธาน ป.ป.ช. ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน” อย่างนี้น่าจะยิ่งกว่าปรมาจารย์ชั้นครูของประเทศด้วยกันนะครับ

จะเห็นได้ว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำทั้งหมด ส่วนในขณะนั้นจะเป็นใครมีชื่อเสียงอย่างไรคงไม่ยากต่อการสืบค้น เลยทำให้ “ฝ่ายสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ยิ่งโหมไฟแรงขึ้น เพราะ “ความผิดพลาดอย่างมหันต์” และไม่พึงจะเกิดขึ้นได้นี้ไม่ว่าจะนำเรื่องใดมาอ้างก็ตาม เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อบกพร่องที่ยังมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งคนร่างอาจคิดกันตื้นๆ ว่า ให้คนเพียงห้าหกคนมาสรรหาแทนประชาชนเพื่อเลี่ยงการแทรกแซงทางการเมืองและการซื้อสิทธิขายเสียง น่าจะดีกว่าเหมาะสมกว่า แต่น่าเสียดายที่เมื่อได้สิทธิที่ประชาชนมอบให้แล้ว ยังเกิดข้อผิดพลาดอย่างนึกไม่ถึง

ถ้าจะอ้างว่าคณะกรรมการสรรหารับเรื่องมาจาก “คณะกรรมการกลั่นกรองคุณสมบัติ” ก็ต้องดูว่า หัวหน้าส่วนราชการ เช่น เลขาธิการ กกต. ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยตรงมีส่วนบกพร่องหรือไม่อย่างไร เพราะการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การให้สิทธิคนหนึ่งหรือตัดสิทธิอีกคนหนึ่งย่อมมีผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการแข่งขันอย่างไม่ต้องสงสัย

ยิ่งไปกว่านั้นในทางปฏิบัติระบบวิธีการที่เป็นอยู่นี้ใครเห็นก็คงได้แต่หัวเราะขบขัน เพราะตัวกรรมการสรรหา อาทิ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งวันหนึ่งเคยอยู่ในคณะกรรมการที่เห็นว่า คุณสมบัติผู้สมัครอย่างนายสัก กอแสงเรือง นั้นถูกต้องครบถ้วน แต่มาอยู่ในอีกบทบาทหนึ่งของ กกต. ก็สามารถชี้ออกมาเป็นทางตรงข้ามได้ หรือในกรณีของ ศาลเองซึ่งมีตัวแทนผู้พิพากษาเข้ามาทำหน้าที่ในการสรรหา ในที่สุดเรื่องก็ต้องมา “จบลงที่ศาล เพราะต้องมีการยื่นฟ้องและยื่นคัดค้าน” ยังน่าสงสัยเป็นยิ่งนักว่า ศาลเองจะวางตัวในเรื่องนี้อย่างไร เพราะครั้งที่ร่วมเป็นกรรมการสรรหาก็บอกว่าถูก แต่วันนี้ถ้าต้องมาตัดสินความตามที่ กกต.ร้องมา จะยังเห็นว่าถูกเหมือนแต่ต้นหรือไม่

เรื่องที่เกิดขึ้นต้องถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย การที่ นายสัก มีความผิดนั้นเรื่องหนึ่ง ความผิดพลาดของคณะกรรมการสรรหา และอนุกรรมการกลั่นกรองคุณสมบัติของ กกต. คงจะไปล้มล้างความผิดของนายสักมิได้ แต่กรณีนี้เป็นบทเรียนชี้ให้เห็นถึงกระบวนการตรวจสอบที่บิดเบี้ยว และขาดมาตรฐานอย่างนึกไม่ถึง เพราะไม่ว่าอนุกรรมการกลั่นกรองคุณสมบัติผู้สมัคร จะชี้ถูกผิดมาอย่างไร คณะกรรมการสรรหาชุดใหญ่ ก็ไม่ควรมีหน้าที่เป็นเพียง “ตรายาง” ลงชื่อเห็นชอบตามๆ กันไปโดยไม่ต้องตรวจสอบให้รอบคอบถี่ถ้วน ถึงมีคนพูดกันว่า งานนี้นายสักอาจไม่ไปคนเดียว แต่อาจพ่วงเอาผู้หลักผู้ใหญ่หลุดกันไปได้เป็นยวงๆ ทั้งคนเก่า คนใหม่ของ กกต. และ องค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ภาษิตที่เขาเรียกว่า “ขว้างงูไม่พ้นคอ” มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

ที่มา.คมชัดลึก
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น