--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

กรณี ฮิโรยูกิ. กับ ขนาดของ (ใจ) นายกรัฐมนตรี !!?

ขนาดของ "ใจ" ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน
ทั้งๆ ที่นิยามโดยทั่วไปที่ว่า ใจเท่า "กำปั้น" ยังดำรงอยู่

แม้ว่าตามขนบความเชื่อแต่โบราณ มักโน้มเอียงที่จะเห็นว่า ใจของชายชาญมีความแกร่ง มีความใหญ่กว่า ใจของอิสตรี
แต่เมื่อเทียบกับขนาดของใจระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วหลายคนอาจมีความเห็นว่า

"ไม่แน่"

ไม่แน่ว่าขนาดของใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะมีความใหญ่มากยิ่งกว่าขนาดของใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ถามว่าเอาอะไรเป็นมาตรวัด เอาอะไรเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
คำตอบ 1 ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ การเอาการตายของ นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มาเป็นเครื่องวัด ว่า 2 คนนี้มีท่าทีและการแสดงออกอย่างไร

ไม่มีความแจ่มชัดจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่มีความแจ่มชัดจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

มองตามสภาพความเป็นจริง นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ ไม่ได้เป็นฝ่ายแดง ไม่ได้เป็นฝ่ายเหลือง ไม่ได้เป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เป็นฝ่าย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เขาเป็นช่างภาพ เขาสังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์

ในวันที่ 10 เมษายน 2553 อันเป็นวันขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน สี่แยกคอกวัว สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขาออกปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

แล้วเขาก็ตายเพราะกระสุนปืน

วันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นห้วงเวลาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและมีส่วนอย่างสำคัญในการตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม

เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องหาคนสังหาร นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ

ระยะเวลาจากวันที่ 10 เมษายน 2553 กระทั่งถึงวันที่ 2 มีนาคม 2555 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอันเป็นบ้านเกิดของ นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ แม้ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ แต่ก็ควรแสดงความรู้สึก

ความรู้สึกของในการสูญเสียของช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้ตายระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

แต่ตลอดเวลาการเยือนญี่ปุ่นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีท่าทีใด แม้กระทั่งต่อครอบครัวของ นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ

นี่ย่อมตรงกันข้ามกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์สลายการชุมนุมอันนำไปสู่การเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ เป็นเวลากว่า 1 ปี

เป็น 1 ปีที่การสอบสวนสืบสวนหลงทิศผิดทาง หาคำตอบไม่ได้

กระนั้น ภายในระยะเวลาจากเดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนธันวาคม 2554 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็สามารถมีคำตอบ

มีคำตอบว่า นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ ตายเพราะกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร

มีคำตอบกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลสามารถทำสำนวนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดและพนักงานอัยการได้ส่งฟ้องศาลเพื่อให้มีการไต่สวน

ยิ่งกว่านั้น ยังมีคำตอบในเรื่องการเยียวยาด้วยเงินจำนวนหนึ่ง

การเดินทางไปญี่ปุ่นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงนอกจากจะมีสารอันเหมือนเป็นคำตอบต่อครอบครัวของ นายฮิโรยูกิ ยามาโมโตะ แล้วยังมีคำมั่นในเรื่องการเยียวยา

เป็นการแสดงความเสียใจโดยรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

นี่คือความรับผิดชอบในฐานะแห่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ก็เป็นความรับผิดชอบในฐานะแห่งมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน เพราะเมื่อมีการตายอย่างไม่สมควรโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ

เป็นความรับผิดชอบอันต่างไปจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงออกเสมอมา

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนในเรื่องขนาดของ "ใจ" ระหว่างนายกรัฐมนตรี 2 คนของไทย

นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นคนออกคำสั่งอันนำไปสู่การสูญเสีย นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งได้รับเลือกจากประชาชนให้มาชำระสะสางเรื่องเลวร้ายอันเพิ่งเกิดขึ้นในประเทศ

เด่นชัดยิ่งว่าของใครมีขนาดใหญ่กว่า

ที่มา: มติชนออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น