--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

จับตา ปู - 2 แก้ปมน้ำมันแพง กิตติรัตน์-อารักษ์ กอดคอรื้อพลังงาน !!?

ปรากฏการณ์เข้าใกล้วิกฤตราคาน้ำมันตลาดโลก หรือ Oil Shock ที่ทุกฝ่ายกำลังพากันหวั่นวิตกและเฝ้าระวัง ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้าน้ำมัน กระทรวงพลังงาน และรัฐบาลที่ตั้งเป้าผลักดันเศรษฐกิจกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้โตติดเทอร์โบ 4-5.5% หลังภาคการผลิตฟื้นเต็มที่จากมหาอุทกภัยใหญ่ปลายปี 2554

สถานการณ์ราคาน้ำมันกลายเป็น "หลุมดำเศรษฐกิจ" กำลังลามเป็นโดมิโนมาถึง "ไทย" เมื่อต้นทุนการผลิตพุ่ง ราคาสินค้าแพง เงินเฟ้อไต่ขึ้นสูงเรื่อย ๆ 3.8-4.0% ภาคการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมทุกหมวดสะเทือน ภาคการขนส่งและเจ้าของรถบริการสาธารณะยอมลงทุนเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง ประการสำคัญสุดคือเป็นปัจจัยเขย่า "ผู้ผลิตไฟฟ้า" ขาดทุนพ่วงไปด้วย เพราะต้องนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูงมาผลิตไฟฟ้าขายในราคาต่ำกว่าต้นทุน ต้องดิ้นรนขอขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) รอบหน้า พฤษภาคม-สิงหาคม และกันยายน-ธันวาคมนี้ อีก 25-37 สตางค์/ยูนิต

ในขณะที่ทั้งประเทศตั้งตารอฟังนโยบายกระทรวงพลังงานประกาศปรับ "โครงสร้างราคาพลังงานใหม่" ตามที่ "นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์" รัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยืนยันต้องรอไปจนถึงเดือนเมษายนนี้

ระหว่างนี้ สิ่งที่ กบง.และกระทรวงพลังงานต้องงัดสารพัดวิธีมาพยุงไว้ ไม่ว่าจะเป็น อนุมัติจัดเก็บเงินเพิ่มเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากก๊าซธรรมชาติเหลว (NGV) ภาคขนส่ง และก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน (LPG) ควบคู่กับควบคุมห้ามรถโดยสารสาธารณะขึ้นราคา และยังต้องกู้เงินอุดหนุนมาเติมในกองทุนให้ครบ 30,000 ล้านบาท ยืดเวลาการสต๊อกน้ำมันในโรงกลั่นยาวขึ้นอีก 15 วัน จากปกติ 50 วัน เป็น 65 วัน เน้นสำรองกลุ่มดีเซลมากที่สุด เพราะถึงราคาจะพุ่งสูงขนาดไหน ความต้องการใช้ขยับขึ้นไม่หยุดเช่นกัน ทั่วประเทศใช้วันละ 55 ล้านลิตร

ขีดความสามารถของโรงกลั่นในไทยทำได้วันละ 1 ล้านบาร์เรล เพียงพอต่อการใช้ในประเทศวันละ 8 แสนบาร์เรล

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเทศเคยผ่านความท้าทายจากเหตุการณ์มาแล้วเมื่อปี 2544 กองทุนน้ำมันฯเคยติดลบถึง 80,000 ล้านบาท ผลสุดท้ายก็ใช้วิธีลอยตัวราคาจึงกู้สถานการณ์กลับมาได้ ขณะนี้ประวัติศาสตร์หน้าดังกล่าวกำลังถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งปี 2555 นี้ เมื่อกองทุนติดลบหลักหมื่นล้านบาท เพราะต้องอุดหนุนเชื้อเพลิงบางชนิดไว้ ได้แก่ กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ซึ่งควรจะเก็บจริง 7 บาท แต่ตอนนี้เก็บเพียง 2 บาท ส่วนดีเซลแทนที่จะเก็บ 6 บาท ก็เก็บเพียง 60 สตางค์ ส่วนต่างที่รัฐต้องเร่งอุดให้เร็วที่สุด

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า การสำรองน้ำมันเพิ่มขึ้น 65 วันนั้น เป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงระหว่างที่อิหร่านกำลังมีปัญหาทำให้ทั่วโลกอ่อนไหว หากต้องปิดช่องแคบเฮอร์มุซ เส้นทางขนส่งน้ำมันกระจายไปทั่วโลกกว่า 20% ไทยจึงต้องแบ่งการสำรองน้ำมันดิบ 23 วัน น้ำมันสำเร็จรูป 19 วัน น้ำมันที่อยู่ระหว่างการเดินทาง 13 วัน น้ำมันสำรองไว้ในโรงกลั่นอีก 9 วัน

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น