--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

ชนบทเผชิญหน้าชนชั้นสูง การบ้านปรองดองใน (โลกาภิวัตน์) !!?

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งเรื้อรังที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ขณะนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขโดยรีบด่วนเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับในเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้จัดเสนอผลวิจัย โครงการปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง ศึกษาเฉพาะกรณีด้านโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน

มีการเปิดเวทีสาธารณะ โครงการปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง ศึกษาเฉพาะกรณีด้านโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน โดย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, รศ.ดร.พอพันธุ์ อุยยานนท์, รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล ห้องประชุมบุญชู ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

>>ปัญหาความเหลื่อมล้ำนำมาสู่ความขัดแย้ง

รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะนำงานวิจัยชิ้นนี้ แบ่งเป็น 7 บท ไม่ต่ำกว่า 300 หน้า เป็นแนวทางหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อไป

ความขัดแย้งที่เกิดในช่วงเดือนเมษา-พฤษภา 2553 เป็นเพราะมวลชน ไม่ยอมรับสภาพการดำรงอยู่ของโครงสร้าง อำนาจทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป โจทย์ใหญ่ในการศึกษานี้ คือปัจจัยอะไรในโครงสร้างของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ที่นำไปสู่การเกิดความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มฝ่ายและพลังทางสังคมต่างๆ และค้นคว้าว่ามีปัจจัยอะไรที่จะช่วยในการปฏิรูปการจัดสรรอำนาจ เพื่อลดทอนความขัดแย้งที่รุนแรงและนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ในสังคมต่อไป พบว่าเครือข่ายหลักๆ ที่นำไปสู่โครงสร้างอำนาจ ม 4 เครือข่าย คือ 1.อุดมการณ์ 2.การ เมือง 3.ทหาร 4.เศรษฐกิจ

“โครงสร้างทางสังคมนั้นจริงๆ แล้วในทางปฏิบัติไม่มีความเท่าเทียมกันมาตลอด แต่มันจะแสดงออกในหลายลักษณะในแง่ของการดูถูก หรือการขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างหญิงชาย คือวิถีความเหลื่อมล้ำมีมาก จนหาความเหลื่อมล้ำได้ง่ายกว่าความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าในหลายร้อยปีที่ผ่านมา ทำไมคนไม่ประท้วงทุกวัน ทำไมคนไม่ขัดแย้งกัน นี่คือโจทย์ว่าทำไมช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำไมความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งมีมาตลอด จึงกลายเป็นจุดที่คนไม่ยอมรับแล้ว คนมีปฏิกิริยาไม่ยอมรับมากกว่าที่เคยมีมาเหตุการณ์ไม่ปกติจากแต่ก่อนทนได้ หรือมีคำตอบอย่างอื่น แต่ตอนนี้คำตอบเหล่านั้นสิ่งที่เคยทนได้ ไม่ทนแล้ว”

“และนี่ก็คือสิ่งที่เราสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น แน่นอนก็ไปโยงถึงความชอบธรรมของสถาบันเครือข่ายต่างๆ ทำให้สิ่งที่เป็นอาญาสิทธิ เริ่มมีคำถามว่าเป็นอาญาสิทธิที่ถูกต้องไหม แล้วมีคนออกมาแสดงออกด้วยทั้งหมด เป็นโจทย์คำถามถึงความขัดแย้งต่างๆ จากนั้นเราจะดูว่าปัจจัยอะไรที่จะช่วยการปฏิรูป การจัดการอำนาจและโครงสร้างอำนาจหรือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพื่อนำไปสู่การลดทอนความขัดแย้งที่รุนแรงและนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในสังคมต่อไป นี่เป็นภาพรวมของงานวิจัยชิ้นนี้” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว

>> ผลจากต้มยำกุ้งทำให้กลุ่มทุนพลิกขั้ว

รศ.ดร.พอพันธุ์ อุยยานนท์ อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึง อดีตการชี้วัดสังคมเศรษฐกิจไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กรุงเทพฯ มีสัดส่วน GDP 1 ใน 3 หรือ 33% แต่ปัจจุบันนี้เหลือ 1 ใน 4 ขณะที่การขยายตัวเกิดขึ้นมากในภาคกลางคือ นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก แสดงว่าอำนาจเศรษฐกิจเริ่มกระจายไปชนบทสำหรับเหนือ, อีสาน, ใต้ ก็มีการก่อสร้างโรงงาน มีผลผลิตทางการเกษตร มีกิจการขนาดใหญ่

สังคมเศรษฐกิจไทย วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2540 มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจ โดย หลังปี 2540 กลุ่มทุนเก่า พวกแบงก์ที่เคยมีอิทธิพลในอดีต กลุ่มทุนเหล่านี้ ควบคุมเงินทุน ควบคุมสินทรัพย์ 70-80% กลุ่มทุนเหล่านี้ ก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เจ้าของทุนซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ๆ ก็ถูกลดทอน จนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าแบงก์จะเติบโต แต่สัดส่วนจริงๆ ของผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิม เช่น ตระกูลโสภณพนิช ตระกูลล่ำซำ ก็เหลือน้อยมาก พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลง แต่กลุ่มทุนใหม่ก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว

“กลุ่มทุนที่เติบโต ซึ่งสะท้อนภาพการเติบโตของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ก็คือ กลุ่มทุนคมนาคม กลุ่มทุนบริการ กลุ่มทุนสื่อสาร ถ้าเราไปดูลำดับเศรษฐีของประเทศไทยในปัจจุบัน ก็จะมีตระกูลใหม่ๆ ซึ่ง 20-30 ปี เราไม่เคยรู้จักตระกูลเหล่านี้ เช่น ตระกูล ชินวัตร, ดามาพงศ์, มาลีนนท์, จึงรุ่งเรืองกิจ, ดำรงชัยธรรม, โพธารามิก แล้วพวกนี้ แม้กระทั่งปัจจุบัน ถือว่าเป็นผู้มีสัดส่วนติดอันดับรายใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นี่คือ พลวัตของกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งมีไดเวิร์สเป็นภาคธุรกิจบริการ ธุรกิจคมนาคม ขณะที่ในอดีตมี 4 กลุ่มหลัก โดยเฉพาะทุนการเงิน ซึ่งมีเครือข่ายแบงก์กรุงเทพฯ แบงก์กสิกร ขณะเดียวกับกติกาของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็สนับสนุนพรรคการเมืองขนาดใหญ่และต้องมีทุนขนาดใหญ่ แม้ว่าตัว รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าต้องมีเงิน แต่ลองดู นะครับ ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคเล็กอยู่ไม่ได้ ออกแบบมาอย่างมีอคติกับพรรคเล็ก เมื่อพรรคใหญ่ทุนมาก ประกอบกับสังคมโลกาภิวัตน์ที่มีระบบเสรีมากขึ้น กลุ่มทุนก็เข้ามาในพรรคไทยรักไทยมากขึ้น แล้วเป็นกลุ่มทุนที่หลายกรณีก็ไม่ได้ถูกภาวะเศรษฐกิจถล่มในปี 2540 ซึ่งทำไมต้องเข้ามา คือเราต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์ กติกาการค้าโลกมันบังคับให้หลายประเทศเปิดการค้าเสรีจริงอยู่ โดยหลักการเป็นเสรี แต่กลุ่มทุนเหล่านี้ ผมคิดว่า ความหมายก็คือปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองแล้วกลุ่มเหล่านี้ ก็เข้ามากำหนดนโยบายทางการเมือง นโยบายทางอำนาจ ในด้านหนึ่งก็ปกป้องกลุ่มทุนของตัวเอง” รศ.ดร.พอพันธุ์ กล่าว

นอกจากนั้น หลังปี 2540 ในอดีตย้อนไป 20 กว่าปี ยุคสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แบงก์ไทยพาณิชย์ แบงก์พาณิชย์ ถือว่า เป็นผู้ทรงอิทธิพลมาก พอทักษิณขึ้นมา เป็นนายกฯ เขาเคยไปกระแหนะกระแหน แบงก์กสิกร แบงก์อะไรว่าสนใจแต่เรื่องปรับฮวงจุ้ย บทบาทของเอกชนในฐานะกลุ่มทุนเก่ามันเริ่มหมดไป หลังปี 2540 นายทุน ใหญ่ๆ เจ้าของทุนเข้ามาการเมืองเต็มตัว อันนี้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เหมือนในอดีต

สำหรับการเมืองไทยหลังปี 2540 เปลี่ยนแปลงไปมากและไม่สามารถถอยหลัง คือสิทธิเสรีภาพของท้องถิ่นไม่สามารถย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญแบบครึ่งใบ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2540 มีคุณูปการ คือเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่ไม่เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง ประกอบกับในช่วงที่ทักษิณเป็นผู้นำรัฐบาลปี 2544 ทำให้บุคคลจำนวนมากได้ประโยชน์

เมื่อการเมืองเปิดกว้าง 5-6 ปี ก็จะเกิดผู้ประกอบการทางการเมืองเข้ามาในระบบการเมือง ยกตัวอย่างในระดับรากหญ้า นักการเมืองระดับเล็กระดับใหญ่ คนที่จะเป็นตัวกลางทางการเมือง คอยจัดการทางการเมือง โดยเฉพาะให้กับพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน นี่คือการเปิดพื้นที่อย่างมหึมา แม้ทักษิณจะถูกรัฐประหาร 19 กันยา 2549 แต่ปรากฏว่า แนวร่วมก็ยังคงอยู่ ผมคิดว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ 2540 บวกนโยบายประชานิยม ทำให้กลุ่มพลังทางการเมือง มันค่อนข้างจะมีความหลากหลาย มีพลังไปสู่ต่างจังหวัด

การเมืองหลังรัฐประหารคล้ายการเผชิญหน้าระหว่างภูมิภาคเหนือกับอีสาน และกลางกับใต้ มีสัดส่วนการเลือกตั้งไปในแนวทางเดียวกัน เลือกตั้งครั้งใด ผลก็ออกมาแบบนั้น

>> “ทหาร” อีกปัจจัยหลักทางการเมือง

รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของปมปัญหาความขัดแย้ง เพราะการสร้างระบอบประชาธิปไตย สถาปนารัฐธรรมนูญ วัฒนธรรมของชนชั้นสูง คือข้อตกลงในระหว่างคนชั้นสูงว่าเราจะอยู่ร่วมกันในความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แล้วทุกคนก็จะรับรู้ร่วมกัน แต่ย้ำว่าเป็นของคนชั้นสูง ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นมาในสมัย พล.อ.เปรม แล้ว กลายเป็นฐานความขัดแย้งกับคนกลุ่มใหม่ โดยความเปลี่ยนแปลงหลังปี 2516 อำนาจ ของผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของกองทัพ หายไปอย่างฉับพลัน ขณะที่ก่อนนั้นมีการต่อรองกัน เมื่อส่วนหัวหลุดไป จึงมีการแบ่งแยกกลุ่มย่อย ต่อสู้ช่วงชิงว่าใครจะมีอำนาจเหนือการเข้าใกล้ หรืออ้างอิงติดอยู่กับสถาบันฯ เป็นหนทางที่จะทำให้บางกลุ่มในกองทัพมีอำนาจ เหนือกว่าคนอื่น ก่อนที่การอ้างอิงลักษณะนี้ จะกระจายตัวจากทหารไปสู่ข้าราชการและ กลุ่มทุน

ขณะเดียวกันเงื่อนไขต่อมา ก็ทำให้ต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง คือการลงทุนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมหาศาล พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นจากกลุ่มทุนการเงินขยายตัวออกไปอย่างมากมาย จึงต้องการเสถียรภาพ ซึ่งต้องมีระบอบประชาธิปไตยกำกับอยู่ เงื่อนไขอย่างน้อย 2 อย่างจึงทำให้มีประชาธิปไตย

ท่ามกลางการเมืองแบบนี้ ทำให้กลุ่มทุนทหารสัมพันธ์กันแนบแน่นมากขึ้น ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่ธนาคารกรุงเทพ กับ พล.อ. เปรม ก็สัมพันธ์กันแนบแน่น ช่วงที่ธนาคาร กรุงเทพมีปัญหา พล.อ.เปรม ก็มีบทบาทคลี่คลายสถานการณ์ของแบงก์ ซึ่งเสถียรภาพที่กองทัพสร้างขึ้นมา มีคนได้ประโยชน์ กลุ่มทุนต่างๆ ข้าราชการขยายตัว ขยายชนชั้นกลางให้มีมากขึ้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน แต่เสถียรภาพนี้ไม่ได้ยังผลดีแก่ชาวนาสักเท่าไหร่ ชาวนาผลิตด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ทางออกคือสร้างความหลากหลายในผลผลิต และออกมาทำงานนอกภาคการเกษตร

เสถียรภาพทางการเมืองแบบนี้ ด้านหนึ่งทำให้คนบางกลุ่มเติบโต แต่บางกลุ่มไม่โต เป็นบทบาทของทหาร แล้วทหารก็จะเล่นบทบาทของผู้ที่ค้ำประกัน ค้ำจุน หรือ ปกป้องรักษาอำนาจทางวัฒนธรรม แล้วควบคุมการเมือง รูปแบบนี้เริ่มตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ท้ายที่สุดแล้วโครงสร้างอันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของคนชั้นสูงนี้ สุดท้ายจะกลายเป็นกลุ่มทุนใหม่ซึ่งเกิดขึ้นและจะมีความเปลี่ยนแปลงอีกชุดตามมา

>> วิถีชนบทเปลี่ยนแปลงจากผลของอำนาจ

ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของขบวนการประชาชนรากหญ้าในบริบทของการช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำ โดยสังเกตการณ์จากหมู่บ้านและตีความตามปรากฏการณ์ พบว่า คนชนบทเปลี่ยนแปลงไป ทั้งภาคเกษตรและนอกการเกษตร รวมทั้งวิถีการบริโภคความคาดหวังกับชีวิต ก็ใกล้เคียงชนขั้นกลางมากขึ้น เป็นชาวชนบทที่กลายเป็นคนเมือง ซึ่งความสัมพันธ์ทางอำนาจก็เปลี่ยน จากที่เคยยอมรับความเอารัดเอาเปรียบก็กลายเป็นไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันก็เกิดขบวนการชาวบ้านที่ออกมาต่อสู้เรื่องต่างๆ ขณะที่คุณทักษิณ ก็ไม่ได้แตะปัญหาโครงสร้างของชนบท เช่น เรื่องที่ดิน แต่ไม่แก้ปัญหาการเกษตร

ขณะเดียวกัน มีการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำกับการแย่งชิงมวลชนในชนบท ความวุ่นวายทางการเมือง 4-5 ปีที่ผ่านมาเกิดจากกลุ่มอำนาจ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็น กลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มอนุรักษนิยม ขณะที่ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ มีทักษิณ ชินวัตร และแวดล้อมด้วยกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งการแบ่งกลุ่มนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย เป็นกลุ่มที่ผนึกอำนาจในลักษณะพันธมิตรพันธุ์ข้ามชนชั้น โดยต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน แต่ไม่ได้ต้องการหักล้างกันถึงที่สุด แต่เป็นการแย่งชิงกันเพื่อสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นกลุ่มประวัติศาสตร์ แล้วมีช่วงเวลาประณีประนอมเกี้ยเซียะ ไม่ทะเลาะกันจนล้มตาย แต่แย่งกันขึ้นไปสู่การ ครองอำนาจ แล้วสิ่งสำคัญคือ ทั้ง 2 ฝ่าย อยู่ได้ด้วยการแย่งชิงมวลชนในชนบท ไม่สามารถต่อสู้กันได้โดยลำพัง แต่ว่าทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องดึงมวลชนเข้าหาเพื่อสนับสนุน

ปรากฏการณ์สร้างมวลชนสายอนุรักษนิยม มีปฏิบัติการที่ตอกย้ำอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยเกิดการขยายตัวเข้าไปดูกลืนเข้าไปในการพัฒนาชนบทช่วงหนึ่งเรียกว่า ชุมชนชาตินิยม คือ เชื่อในความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบกับช่วงปี 2540 มีการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกิดหมู่บ้านพลเมืองผู้จงรักภักดี มีกระบวนการสร้างมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยม

อีกขบวนการคือ มวลชนคนเสื้อแดง มีจุดร่วมกันคือ ชื่นชมทักษิณ ชื่นชมนโยบาย ไทยรักไทย เลือก ส.ส.เพื่อไทย มีตัวละครใหม่ทางการเมือง เป็นผู้ประกอบการทาง การเมือง ซึ่งมีฐานะจากชาวบ้านธรรมดา ที่อาจจะเป็นผู้รับเหมา คนทำสวนยาง ที่ค้นพบว่า เมื่อเขากระโดดเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมในท้องถิ่น จัดเวทีเชิญ นปช. เชิญเพื่อไทย มาเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงอะไรต่างๆ ปรากฏว่า มันเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจการเมืองได้เป็นหัวคะแนน ได้เป็นโน่นเป็นนี่ คือมีทุนทางวัฒนธรรมการเมืองมีพื้นที่ เช่น นักร้องตลกบางคนกลายเป็น ส.ส. จ่าตำรวจ บางคนยกมือไหว้คนทั้งจังหวัด ตอนนี้เป็น ส.ส. ชื่อดังใส่ชุดแดง ตอนนี้ไปไหนใครก็ยกมือไหว้ เป็นโอกาสในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดาเข้าถึงแวดวงทางการเมือง ยกระดับมีพื้นที่มีตัวตน

ขณะนี้ขบวนการเสื้อแดงในอีสาน และเหนือ ถูกผลักดันด้วยคนเหล่านี้ไม่ต้อง มีใครจะจ้าง แต่เขาอยากจะทำ เพราะเมื่อทำแล้วเขาก็ได้กลับ นี่คือ พลังผลักดันของเสื้อแดงเป็นมิติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย หรือไม่

สถานการณ์ตอนนี้คนชนบทเปลี่ยนจากตัวประกอบในการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำไปเป็นผู้เล่นคนหนึ่งโดยชาวบ้านไม่ยอมที่จะเป็นตัวประกอบอีกต่อไป เขาเขียนบทของเขาเอง มีธงมีผลประโยชน์อุดมการณ์ของตัวเอง มาถึงยุคที่ชนชั้นนำ ต้องเข้าใจเมื่อชาวบ้านตื่นมาเป็นพลังต่อรอง นี่คือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ถ้าชนชั้นนำปฏิเสธที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นปัญหา

แต่ถ้าชนชั้นนำหาทางออกเปิดพื้นที่ จริงจัง สังคมไทยก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปในทางสันติ ไปในทางที่ดี

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น