แม้ว่าที่ประชุมร่วมของรัฐสภา จะมีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 346 ต่อ 17 งดออกเสียง 7 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ตามที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการ และคณะเสนอ
และคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 เมษายนนี้
แต่ดูแล้ว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการสร้างความปรองดองให้เกิดขั้นกับประเทศไทย คงต้องพยายามก่อหวอดต้านกันสุดฤทธิ์ โดยที่ใช้ข้ออ้างในเรื่อง เป็นการทำเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นตัวกระตุ้นปฏิกริยา
ก้าวข้ามไม่พ้นคนชื่อทักษิณ เพราะยังเป็นสิ่งที่สามารถระดมเกมสหบาทาจากคนที่ไม่ชอบทักษิณได้เป็นอย่างดี
เห็นประโยชน์กันชัดๆแบบนิ้ แล้วเรื่องอะไรที่จะยอมก้าวข้ามพ้นคนชื่อทักษิณ สู้พายเรือในอ่าง แผ่นเสียงตกร่อง ตีกินฉกฉวยผลประโยชน์ไปเรื่อยๆไม่ดีกว่าหรือ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งศึกษาวิจัยโดย สถาบันพระปกเกล้า จะกลายเป็นเหยื่อเกมการเมืองไปเต็มๆ
แม้แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการปรองดอง ก็โดนไปเต็มๆด้วยเช่นกัน
งานนี้ปลุกกระแสต้านจากกลุ่มคนไม่เอาทักษิณกันสุดชีวิตเลยก็ว่าได้
หัวเรือใหญ่ที่เปิดหน้าชกเที่ยวนี้ก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รุ่นปัจจุบัน และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่นำทีม ส.ส.ปชป. แอนนด์ แก๊ง ทั้งหมด ทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการให้ 9 กมธ.สายประชาธิปัตย์ลาออก
หรือแม้แต่กระทั่งก่อนที่จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภา ก็มีการล็อบบี้วุฒิสมาชิกกันอย่างโจ่งครึ่ม
รวมทั้งก่อนลงมติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ก็ดาหน้าอภิปรายให้คณะกรรมาธิการ พิจารณาทบทวนรายงานฉบับนี้อย่างสุดกำลัง อ้างว่าจะเป็นชนวนความขัดแย้งและเห็นว่ารวบรัดแนวทางสร้างความปรองดอง ซึ่งไม่เกิดความยั่งยืน
พร้อมตั้งข้อสังเกตเล่นงานข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าว่า ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะประเด็นการนิรโทษกรรม ซึ่งเกรงอาจก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม
พร่ำพูดวนเวียนซ้ำซากในประเด็นเดิมๆอยู่จนถึงเที่ยงคืน พอมีการเสนอให้ปิดอภิปรายเพราะเห็นว่าพูดกันมามากแล้ว ก็ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ไม่พอใจ ประกาศไม่ประสงค์เข้าร่วม แล้วก็ใช้มุกเดิมๆคือให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ
ถือเป็นการเล่นเกมต้านกันจนวินาทีสุดท้ายเลยก็ว่าได้
ดังนั้นถึงได้บอกว่า ไม่ง่ายเลยที่จะปรองดอง หากยังมีมุมมองที่คำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ผลประโยชน์เฉพาะพรรคกันอยู่เช่นนี้
ก็ขนาด พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีฐานะเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอดีต ผบ.ทบ.ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นขงเบ้งกองทัพบก ก็ยังไม่วายโดนกลุ่มคัดค้านเล่นงาน เมื่อออกมาทำจดหมายเปิดผนึก 11 หน้าเรียกร้องการสร้างความปรองดองให้กับประเทศนี้
บิ๊กจิ๋ว ได้ยกตัวอย่างความปรองดองด้วยการกล่าวถึงการปฏิบัตินโยบาย 66/23 สำเร็จในขั้นตอนที่ 1 คือยุติสงครามกลางเมืองลงได้ แต่ขั้นตอนที่2 คือการสร้างประชาธิปไตยระดับสูง คือการยกเลิกระบอบเผด็จการทุกชนิดคือระบอบเผด็จการรัฐสภา เผด็จการรัฐประหาร ยังไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ต่างๆจนถึงปัจจุบัน
มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง โดยรสช.และคมช. จนเกิดการจลาจลนองเลือดขนานใหญ่หลายครั้งเกิดม็อบต่อสู้ขัดแย้งรุนแรง ระหว่างเสื้อเหลือง เสื้อแดงเกิดการเข่นฆ่าจับกุมคุมขังประชาชนเกิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนับ ร้อยๆคดี มากมายเป็นประวัติการณ์
และแทนที่จะแก้ไขด้วยมาตรการทางการเมือง อย่างถูกต้องตามนโยบาย 66/23 กลับเอาปัญหาที่เกิดจากการเมืองเหล่านี้ไปแก้ในศาลยิ่งทำให้ปัญหาวิกฤติหนัก
พล.อ.ชวลิตระบุว่าเราเคยใช้นโยบาย 66/23 คือแก้ด้วยมาตรการทางการเมือง ไม่ใช่ด้วยมาตรการกฎหมาย มาตรการทางศาลการใช้กำลังหรือการปราบปราม แต่ใช่มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ เป็นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีไม่มีการจับกุมดำเนินคดีในศาล หรือเช่นฆ่าทรมานใดๆทั้งสิ้น จึงยุติสงครามกลางเมืองช่วงนั้นได้
หากยังดำเนินการตามนโยบาย66/23 ก็แทบไม่ต้องมาถกเถียงกันเรื่องนิรโทษกรรม
ที่สำคัญสามารถหักล้างได้กับข้อโต้แย้งของนายอภิสิทธิ์ที่ว่าจะเป็นการล้มล้าง อำนาจตุลาการ ทำลายระบบยุติธรรม
เพราะการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามนโยบาย 66/23จะเป็นการช่วยให้อำนาจตุลาการเข้าหาระบบยุติธรรม หรือยิ่งทำให้ระบบยุติธรรมของไทยดียิ่งขึ้น คือ ไม่นำปัญหาการเมืองที่เกิดจาก ระบอบเผด็จการรัฐสภา เผด็จการรัฐประหารเข้ามาแก้ในระบบยุติธรรม “ศาล” นอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังทำให้บานปลาย
เนื่องจากฝ่ายที่แพ้จะหมดสิ้นความเชื่อถือศรัทธาในระบบยุติธรรมไทยนำเอาผลการพิพากษา ไปโจมตี ทำให้จำเลยไม่ยอมรับในการตัดสินของศาลไทยเดินทางออกนอกประเทศ จนกลายเป็นปัญหาใหม่อยู่ขณะนี้
บิ๊กจิ๋วจึงมองว่า การนำปัญหาการเมืองไปให้ศาลแก้ คือการทำลายศาล ไม่มีทางสำเร็จมีแต่จะเกิดปัญหามากขึ้น แต่การนิรโทษกรรมปัญหาการเมืองคือการ ช่วยศาล เป็นการสร้างประชาธิปไตยทำให้คนไทยทุกคนทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกระทำได้รับ ประโยชน์ร่วมกันสูงสุด คือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อำนาจรัฐชนิดสูงสุด
บุคคลที่เข้าข่ายเป็นผู้ได้รับการนิรโทษกรรมคือทุกคนทุกฝ่าย ไม่ต้องระบุชื่อ นามสกุล เป็นการเลิกต่อกัน จบต่อกันเป็นการนิรโทษกรรมแบบบูรณาการอย่างปราศจากเงื่อนไข ยุติความแตกแยกสร้างความปรองดองแห่งชาติได้อย่างแท้จริง
และยังเป็นเป็นการเปลี่ยนสถานการณ์เก่าเป็นสถานการณ์ใหม่จะไม่มีปัญหาแบบ เดิมอีกต่อไป ซึ่งรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าล้วนมีเจตนาดีต่อประเทศ
นอกจากนี้ หนังสือเปิดผนึกของ พล.อ.ชวลิต ยังได้สนับสนุนให้ยกเลิกคดีที่มาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส. ) เนื่องจากส่วนตัวเห็นว่า คตส.เกิดจากปัญหาการเมือง คือระบอบเผด็จการรัฐสภา และระบอบเผด็จการรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย
คตส.จึงเป็นสิ่งย่อมไม่ชอบธรรมและไม่ถูกตั้งแต่ต้น หลักการทั้งหลายย่อมต้องเป็นโมฆะ
ปัญหาการเมืองไม่สามารถนำระบบยุติธรรมมาแก้ไขไม่ได้ เพราะผิดที่ผิดทาง เนื่องจากการคอรัปชันนั้นมาจากระบอบเผด็จการรัฐสภา ระบอบเผด็จการรัฐประหาร ซึ่งปัญหาคอรัปชันนั้นเป็นปัญหาของระบอบ ตรงกันข้ามกับประเทศประชาธิปไตยอื่นที่การคอรัปชันเป็นปัญหาบุคคล
ดังนั้น คตส.จึงผิดที่ผิดทาง ผิดปัญหา ผิดหน้าที่ คตส.แก้ไขปัญหาผิดจุด เมื่อผิดก็ต้องหยุดและยกเลิกทุกสิ่งที่ คตส.ทำ
เขียนกันตรงๆ ไม่มีอ้อมค้อมเช่นนี้ แน่นอนว่าต่อให้เป็นบิ๊กจิ๋วอดีตผู้นำกองทัพ อดีตผู้นำรัฐบาล ก็ย่อมหนีไม่พ้นแรงเสียดทานแรงโจมตี
เพราะตอนที่บิ๊กจิ๋ว ดำเนินนโยบาย 66/2523 นั้น นายอภิสิทธิ์ เพิ่งจะมีอายุแค่ 16 ปีเท่านั้น ยังเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศอังกฤษอยู่เลย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะลึกซึ้งกับนโยบาย 66/2523 และการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงเรื่องนี้ของบิ๊กจิ๋ว
แต่จะไปตำหนิหรือว่านายอภิสิทธิ์ที่ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง ก็คงไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ยืนยันว่าตนเองเป็นลูกป๋า และอยู่ในห้วงเวลาที่มีการดำเนินนโยบาย 66/23 ด้วยซ้ำ ก็ยังออกมาวิจารณ์จดหมายเปิดผนึกของบิ๊กจิ๋วในครั้งนี้กับเขาด้วย
ฉะนั้นหาก น.ต.ประสงค์ จะถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มขาประจำที่เป็นขั้วตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ หากมองถึงการออกโรงในแต่ละครั้ง
รวมทั้งการอยู่เบื้องหลังในการผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2550 จนถูกเรียกเป็น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการกระทำของ น.ต.ประสงค์ นั่นเอง
หรือแม้แต่กระทั่ง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นหลังแท้ๆ ก็ยังมองเรื่องที่รุ่นพี่ คือ พล.อ.ชวลิต เสนอการสร้างความปรองดองว่าควรใช้มาตรการทางการเมืองตามนโยบาย 66/23 เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ว่า คงจะต้องเอามาประกอบกันหลายอย่าง เพราะนโยบาย 66/23 ออกมานานแล้ว แต่ปัจจุบัน สถานการณ์มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ อะไรที่ดีก็ควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ทั้งหมดต้องนำมาปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ฉะนั้นแม้ว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะไม่คล้อยไปตามการล็อบบี้ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่าฉายาเด็กดื้อของนายอภิสิทธิ์ แอนด์ เดอะแก๊ง ไม่ใช่จะได้มาโดยไม่มีพื้นฐานข้อเท็จจริง จึงรับรองได้ว่า ประชาธิปัตย์จะต้องค้านหัวชนฝาทุกรูปแบบอย่างแน่นอน
แต่คนรู้ทันประชาธิปัตย์อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็พูดชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองเก่ง แต่ไม่กังวลว่าจะเป็นอุปสรรคอะไร เพราะสิ่งที่ฝ่ายค้านกังวลว่ารายงานของคณะกรรมาธิการปรองดองฯ จะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น เป็นคนละเรื่องกัน
“รายงานกับกฎหมายเป็นคนละเรื่อง รายงานเป็นแค่นามธรรม จึงต้องสรุปให้เป็นรูปธรรมโดยการออก พ.ร.บ.ปรองดอง โดยเสียงส่วนใหญ่ในสภา ที่ทุกภาคส่วนต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด หรือไปรังเกียจคนหนึ่งคนใด อย่างนั้นเรียกว่าอคติ คิดแบบไม่ใช่สุภาพบุรุษ และอย่าไปรื้ออดีตขึ้นมาอีก หากใครแพ้โหวตในสภาแล้วยังไม่เคารพก็ไม่ใช่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย”
ส่วนเรื่องการทำความเข้าใจกับฝ่ายค้านเรื่องความปรองดองนั้น อีกร้อยชาติฝ่ายค้านก็ไม่ยอมเข้าใจ
แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ยังคงมองว่าบรรยากาศอย่างนี้ปกติ เพราะการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเห็นตรงกันไม่ได้ ต้องแย้งกันเสมอ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าขณะนี้ไม่มีเงื่อนไขใดที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติ
ที่สำคัญหากรัฐบาลไม่ทำการทุจริต ก็มั่นใจว่ารัฐบาลอยู่ครบวาระแน่นอน
นั่นอาจจะเป็นความมั่นคงของรัฐบาล แต่สิ่งที่จำเป็นในเวลานี้ก็คือเรื่องการสร้างความปรองดอง เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องถอยหลัง หรือย่ำอยู่กับที่อย่างที่เป็นมา 4-5 ปีแล้วเช่นนี้
ทำอย่างไรที่จะให้แก๊งเด็กดื้อทางการเมืองละทิฐิและผลประโยชน์ของกลุ่มของพวก มาฟังคนอื่นโดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ และมีความห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้บ้าง
อย่าลืมว่า จดหมายเปิดผนึกของ พล.อ.ชวลิต ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ทหารประชาธิปไตย” นั้นเขียนอยู่บนหลักการที่เป็นกลาง ใช้เหตุและผลเป็นตัวนำ โดยที่มีมีเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาเป็นหลักฐานช่วยสนับสนุน
ขอแค่มองอย่างเป็นกลาง ว่าคนอย่างบิ๊กจิ๋ว ที่มีความเป็นประชาธิปไตย และจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างสูงที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้ ออกมาพูดอย่างเป็นกลางและจริงใจ รวมทั้งอยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นจริงๆ
ทำไมจึงดาหน้าตั้งป้อมชนเช่นนี้ แล้วเมื่อไหร่ปรองดองจะเกิด???
หรือจะต้องดองเอาไว้เป็นร้อยชาติ อย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิมเปรยเอาไว้จริงๆ....??
ที่มา.บางกอกทูเดย์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++