--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตั้ง กองทุนมหันตภัย. โมเดลใหม่รับมือภัยน้ำท่วม !!?

การจัดตั้ง กองทุนมหันตภัย (Catastrophe Fund) นับเป็นหนึ่งในแนวทางที่ภาคธุรกิจและผู้คนในวงการประกันภัยต่างกำลังพูดถึง มากในวันที่ เพราะถือเป็นหนึ่งในแนวทางออกกับการจัดการปัญหาด้านประกันภัยต่อในระยะยาว เพื่อรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับมหันตภัยอย่างกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในวันนี้

ดังรายงานของ คปภ.ที่เสนอต่อกระทรวงการคลังในการวางแผนรับมือระยะยาวที่มีข้อเสนอเรื่อง การจัดตั้งกองทุนมหันตภัย ซึ่งเป็นการจัดตั้งกองทุนโดยมีคำสั่งของกฎหมาย จัดตั้ง และให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงาน รวมถึงแนวทางการรับประกันภัยร่วม (Co-insurance) ที่เป็นการรับประกันภัยร่วมกันระหว่างบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ซึ่งทำได้ง่ายกว่าการตั้งกองทุน และทุกวันนี้บริษัทประกันภัยในไทยก็จะใช้วิธีการเหล่านี้อยู่แล้ว

ด้วยสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (ไทยรี) ซึ่งเป็นรีอินชัวเรอร์ขนาดใหญ่ของไทยเองก็เริ่มปฏิเสธรับประกันภัยต่อ จากบริษัทประกันภัยแล้ว เพื่อเป็นการปรับตัวรองรับกับความเสี่ยงและความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่นกัน

"อรวรรณ วรปัญญา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานรับประกันภัยธุรกิจ บมจ.ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย บอกว่า ทุกวันนี้ผู้รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) ซึ่งเป็นแหล่งในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยนั้น ก็กำลังเจอภาวะที่แบกรับต้นทุนความเสียหายไปไม่น้อย เพราะเกิดภัยใหญ่ ๆ ในลักษณะ "มหันตภัยแห่งชาติ" ในหลายประเทศในระยะใกล้เคียงกันนี้ ทั้งพายุเฮอริเคนที่สหรัฐ แผ่นดินไหว ที่นิวซีแลนด์ พายุและน้ำท่วมที่ออสเตรเลีย หากจะต้องมาแบกภาระขาดทุนจากภัยน้ำท่วมในไทยไปทุก ๆ ปี ก็อาจจะตัดสินใจไปรับงาน ที่อื่นดีกว่า

"แม้เหตุการณ์น้ำท่วมในไทยจะยังมิได้รุนแรงถึงระดับเป็นมหันตภัย แต่ก็ควรต้องเตรียมหาวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงภัยและรองรับการประกันภัย ต่อในประเทศ เช่นแนวคิดในการตั้งพูลสำหรับกรณีเกิดมหันตภัย เพื่อให้กระจายความเสี่ยงกันออกไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารความเสี่ยง และใช้ได้กับการประกันภัยทุกประเภทอีกด้วย ดังนั้นนี่คือสิ่งจำเป็น"เธอกล่าว

แนวคิดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว คล้ายกับวิธีจัดการเรื่องมหันตภัย อย่าง "แผ่นดินไหว" ของประกันภัยในหลายประเทศ ที่รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ขึ้นมาเพื่อรับประกันภัยต่อจากบริษัท ประกันภัยอีกชั้นหนึ่ง โดยมีรัฐบาลของประเทศเป็นแกนกลางในการบริหารกองทุนและรับดูแลความเสียหายให้

"พุทธพร นิลวรางกูร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมโพธิ์ เจแปน ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีกองทุนหรือระบบขึ้นมาเพื่อดูแลการ รับประกันภัยต่อให้ ซึ่งคล้ายกับวิธีบริหารจัดการประกันภัยต่อในญี่ปุ่น ทั้งกรณีของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และกรณีแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ซึ่งมีกองทุนนี้เข้ามารับประกันภัยต่อภายใต้การดูแลของรัฐบาลทั้งหมด

ขณะที่ "วิชัย สันติมหกุลเลิศ" รองผู้จัดการสาขาประเทศไทย บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า กองทุนลักษณะนี้คงต้องมี เงินทุนในปริมาณที่ใหญ่มากพอ เป็นหลักหมื่น ๆ ล้านบาทขึ้นไป เพื่อให้มีศักยภาพมากพอที่จะบริหารความเสี่ยงและดูแลสินไหมหากมีมหันตภัย ขนาดใหญ่ได้จริง ดังนั้น ในทาง ปฏิบัติแล้วก็ต้องให้รัฐบาลเป็นแกนนำจัดตั้ง เพราะต้องใช้ปริมาณเงินจัดตั้งค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูความจำเป็นควบคู่ไปด้วยว่า ถ้าตั้งกองทุนขึ้นมาแล้ว จะได้ใช้ประโยชน์จากกองทุนมาก-น้อยเพียงใด ตอนนี้คนไทยประมาณ 22 ล้านครัวเรือนมีประกันที่อยู่อาศัยเพียงไม่ถึง 2 ล้านครัวเรือน เพราะคนไทยยังเข้าใจในหลักการ และเห็นประโยชน์ของประกันภัยไม่มากนัก ซึ่งหวังว่ากรณีน้ำท่วมครั้งนี้ก็จะช่วยกระตุกเตือนให้ซื้อประกันภัยกันมาก ขึ้น" วิชัยบอก

แนวคิดของการตั้งกองทุนมหันตภัยแห่งชาติก็เป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญสำหรับ การบริหารความเสี่ยงให้กับระบบประกันภัย ขณะเดียวกันก็ต้องทำแบบควบคู่กันไปกับการผลักดันให้ประชาชนรู้จักประกันภัย กันมากขึ้นด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างจริงจังกับการจัดตั้งกองทุนซึ่งเป็นระยะยาวและลง ทุนมหาศาล


ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น