โยกประชุม ครม. มาประชุมที่ ศปภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะที่วันนี้ ครม. จะพิจารณาประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 ต.ค. หลังหลายจังหวัดเข้าขั้นวิกฤติ และจะมีการปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ด้านนายกฯระบุ อาจพิจารณาวันหยุดเป็นรายจังหวัดไป...
การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เปลี่ยนสถานที่การประชุมจากทำเนียบรัฐบาล มายังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีวาระ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานผลกระทบน้ำท่วมที่มีต่อจีดีพีในภาพรวม ประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นที่ 8-9 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ภาคการเกษตร ราว 4 หมื่นล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม ราว 4.8 หมื่นล้านบาท เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ
ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีการปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ ครม. จะหารือถึงแนวทางการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยจะต้องปรับเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ในส่วนงบเหลื่อมปีที่กระทรวงต่างๆ ขอกันไว้มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ขณะเดียวกันจะต้องปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ของกระทรวงต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนมาตั้งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนสำหรับแก้ปัญหา โดยจะต้องหารือกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
ด้านกระทรวงคมนาคม ขออนุมัติงบประมาณปี 2555 เพื่อการขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินทั้งสิ้น 4,807 ล้านบาท เพื่อให้กรมเจ้าท่านำไปใช้ในการขุดลอกคูคลอง ซึ่งเชื่อว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอจัดตั้งกองทุนมูลค่า 50,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจจะเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อให้ประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 ต.ค. เพื่อให้ประชาชนได้ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำได้ทัน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดเข้าขั้นวิกฤติ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ประสบอุทกภัยปี 54 โดยมี 2 วิธี คือ 1.หนี้เงินกู้ที่มีอยู่เดิมก่อนประสบภัย ให้ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ประสบอุทกภัย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ตามอัตราที่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเรียกเก็บจากสมาชิก 2.เงินกู้สัญญาใหม่เพื่อการฟื้นฟูอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต สัญญารายละไม่เกิน 1 แสนบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี และกระทรวงการคลังอาจจะเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับรถยนต์อีโคคาร์ (รถประหยัดพลังงาน) ให้ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน 1 แสนบาทเท่ากัน
ต้นฉบับ: http://www.thairath.co.th/content/pol/208378ที่มา: ไทยรัฐ
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น