--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ใช้ไฟทะลุ300ล้านค่าใช้จ่ายกทม.ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯปีนี้เดินเครื่องสูบน้ำ24ชั่วโมงน้ำมากทุบสถิติ

รายงานข่าวจากสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า จากการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง สนน.ใช้งานเครื่องสูบเพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ ทั้งจากน้ำฝนและสถานการณ์น้ำเหนือที่มีปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้คาดว่าจะส่งผลให้ค่ากระแสไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการเดินเครื่องสูบน้ำทั่วกรุงเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติจะมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่เดือนละ 21–30 ล้านบาท ตามสถานการณ์ในช่วงเดือนนั้น ๆ ว่ามีปริมาณน้ำฝนตกในพื้นที่มากหรือไม่ ซึ่งจะมีค่ากระแสไฟฟ้ารวมอยู่ที่ปีละประมาณเกือบ 300 ล้านบาท โดยค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ไฟมากคือ เครื่องสูบน้ำ ที่ติดตั้งอยู่บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำทั่วกรุงเทพฯ รวม 689 เครื่อง กำลังสูบกว่า 520 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สำหรับอุโมงค์ยักษ์พระราม 9–รามคำแหง ที่เปิดใช้งานแล้วนั้น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มีกำลังสูบถึง 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง มีค่ากระแสไฟฟ้าประมาณ 500,000 บาทต่อวัน

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การบริหารจัดการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ ที่นอกจากการเร่งระบายน้ำฝนที่ขังอยู่ตามผิวการจราจรและจุดอ่อนน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ในภาวะน้ำเหนือปริมาณมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ต้องเดินระบบการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องโดยสถานีสูบน้ำหลักต้องเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อเร่งระบายน้ำช่วยบรรเทาปริมาณน้ำที่ท่วมขังอยู่ในจังหวัดตอนบนของกรุงเทพฯ รวมทั้งรักษาระดับน้ำในคลองเพื่อรองรับกรณีฝนตกในพื้นที่ด้วย สำหรับสถิติปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพฯ ขณะนี้พบว่ามีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยฝน 20 ปีซึ่งอยู่ที่ 1,458 มิลลิเมตร โดยในปีนี้ปริมาณฝนถึงแค่กลางเดือนต.ค. ฝนตกมาแล้วกว่า 2,130 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยคิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาณฝนมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2552 ปริมาณฝน 1,910 มิลลิเมตร ปี 2553 ปริมาณฝนอยู่ที่ 1,995 มิลลิเมตร ส่วนปริมาณน้ำเหนือ ที่ขณะนี้ ปริมาณน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 4,430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำที่เขื่อนปล่อยลงมาก็คาดว่าจะมีปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นช่วงระยะเวลานานกว่าทุกปีเนื่องจากยังมีน้ำจำนวนมากที่ต้องเร่งระบายสู่ด้านล่าง.

ต้นฉบับ: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=354&contentId=170200

ที่มา: เดลินิวส์
////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น